Skip to main content
sharethis

'ภูมิธรรม' นำถกแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ตั้งทำเนียบเป็นวอร์รูม เผย ครม.อนุมัติเงินเยียวยาน้ำท่วม 3,000 ล้านบาท ตั้งคณะทำงานสรุปรูปแบบเยียวยาเสนอ ครม.ภายใน 1 สัปดาห์

 

19 ก.ย. 2567 เว็บไซต์ กรุงเทพธุรกิจ รายงานวานนี้ (18 ก.ย.) ห้องประชุม 108 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (รมว.กลาโหม) เป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ครั้งที่ 1/2567 โดยภายหลังประชุมภูมิธรรม แถลงผลการประชุมแก้ไขปัญหาว่า 1. ติดตามประมวลข้อมูลสถานการณ์และบูรณาการปฏิบัติงานในการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สำนักงานสถานการณ์กลับสู่สภาวะปกติ 2. บูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศทรัพยากรน้ำ และคาดการณ์ วิเคราะห์สภาพสภาพอากาศ จากการขึ้นลงของน้ำทะเล เพื่อการแจ้งเตือนสร้างการรับรู้ 3. ประสานการช่วยเหลือผู้ประสบภัย การเตรียมที่พักอาศัยการจัดส่งอาหารและอุปกรณ์ยังชีพอย่างเพียงพอ 4. เผยแพร่ข่าวสารให้ประชาชนรับทราบทันต่อเหตุการณ์ 5. เชิญหน่วยงานและบุคคลภายนอกที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ไขปัญหา 6. รายงานผลการดำเนินงาน ตามที่ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการศูนย์มอบหมาย

ภูมิธรรม กล่าวว่า ภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนเป็นสิ่งที่สำคัญ การจัดการปัญหาเฉพาะหน้าที่จะเกิดขึ้น คาดว่าฝนและพายุที่จะเข้าในภาคเหนือและภาคอีสานภายในกลางเดือน ต.ค. น่าจะหมดลง พายุฝนอาจจะเกิดขึ้นที่ภาคใต้ เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้เราจะดำเนินการเฉพาะหน้าในการจัดการปัญหาต่อเนื่องจนจบภายในปีนี้ (2567) และเชื่อว่าไม่น่ามีผลกระทบกับประชาชน โดยจะใช้ห้องประชุมนี้เป็นวอร์รูมในการประสานงานต่างๆ ใครมีปัญหาอะไรสามารถแจ้งมาที่ศูนย์นี้ได้ทันที

ภูมิธรรม กล่าวว่า ในการประชุมได้มีการตั้งคณะกรรมการย่อยขึ้นมา และในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 17 ก.ย. ได้อนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาท ในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก่อน ซึ่งเป็นการยืนยันมติในกรอบเดิม เพื่อให้ประชาชนได้สามารถเข้าถึงการดูแลเยียวยาอย่างทันท่วงที แต่กรอบนี้เราทราบกันดีว่าเป็นกรอบเดิมที่ใช้ทำงานกันอยู่ แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อปัญหาประชาชน จึงได้ตั้งคณะทำงานมาชุดหนึ่งเพื่อหาข้อสรุปในการเยียวยาประชาชนเพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้ให้ไปแล้วเมื่อวันที่ 17 ก.ย. ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย เป็นคณะที่ให้ไปศึกษาทั้งรูปแบบปริมาณและจำนวนปริมาณที่ดูแลประชาชนจะสามารถจบได้ภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อจะนำเสนอให้ ครม.มีมติเห็นชอบในการที่จะดูแลให้

ภูมิธรรม กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการตั้งคณะทำงานด้านประชาสัมพันธ์ โดยจะมีกระทรวงดิจทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  กรมประชาสัมพันธ์ และตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะใช้กรมประชาสัมพันธ์เป็นแม่ข่ายในการดำเนินการตรงนี้ทั้งหมด ในการดูแลประชาชนให้จบภายใน 1 เดือนนี้ และจะมีการชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบเป็นระยะๆ ตอนนี้ตนอยากให้ทุกฝ่ายพยายามช่วยกันแก้ไขปัญหาให้ประชาชน เพราะทุกข์ของประชาชนเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงได้ ในการที่จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่หน้างานมีกำลังใจในการทำงานก็น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ตอนนี้รัฐบาลก็ให้กำลังใจคนที่อยู่หน้างานทั้งหมด

รองนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการหารือเกี่ยวกับการเตือนภัยล่วงหน้า ซึ่งจะมีทั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมอุตุนิยมวิทยา โดยให้กระทรวงดีอีรับผิดชอบดำเนินการ ซึ่งเราสามารถตรวจทิศทางของลมและมรสุมที่เข้ามาได้ จะได้เตือนภัยให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า การทำงานของเราจะต้องใช้วิธีการเยียวยาและป้องกัน ซึ่งนายกฯ สั่งการว่า ทรัพย์สินและประชาชนเป็นความสำคัญอันดับแรก โดยจะมีหน่วยเฉพาะหน้าจะเข้าไปดำเนินการอันดับแรก วิธีการทำงานของเราคือให้หน่วยราชการทุกหน่วยที่อยู่หน้างาน ไปช่วยดูแลจัดการประชาชนอย่างเต็มที่ และแจ้งมาที่ศูนย์ ตอนนี้ทุกหน่วยจัดกำลังของตนเองเข้าไปดูแลทั้งหมดแล้ว เพื่อแก้ไขปัญหาให้จบภายใน 1 เดือนถึง 1 เดือนครึ่งให้ประสบความสำเร็จ

ภูมิธรรม กล่าวว่า ในเรื่องของการแจ้งเตือนภัยประสานงาน จะมีการประสานกับโอเปอเรเตอร์ค่ายโทรศัพท์มือถือต่างๆ เพื่อจะสามารถเตือนภัยประชาชนได้ทันที โดยกระทรวงดีอี จะเป็นผู้ประสานงาน อย่างไรก็ตาม หลังจากการประชุมวันนี้จะมีการปฏิบัติทันที ห้องนี้จะเป็นห้องวอร์รูมที่ดูแลเรื่องนี้ทั้งหมด ทุกฝ่ายสามารถมาติดต่อเรื่องนี้ได้ ในส่วนของรัฐบาลก็จะมีการบรีฟงานตลอดเวลาและต่อเนื่อง ในส่วนของเจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้อง จะมีการจะมีการบรีฟสถานการณ์ตลอดเวลาและต่อเนื่อง เพื่อที่จะรายงานให้กับตนและนายกฯ รับทราบ ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มอบหมายให้ตนมีอำนาจในการสั่งการล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอประชุม และเจ้าหน้าที่สามารถรายงานให้ตนทราบภายหลังได้กับสิ่งที่ดำเนินการไปแล้ว

ขณะที่วันนี้ (19 ก.ย.) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์น้ำท่วม และผู้ประสบภัย ระหว่าง 19 ส.ค. จนถึง 19 ก.ย. 2567 ถึงสถานการณ์น้ำท่วม 30 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ตาก พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิษณุโลก นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ เลย อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ระยอง ชุมพร ภูเก็ต ยะลา นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสตูล รวม 153 อำเภอ 704 ตำบล 3,747 หมู่บ้าน โดยประชาชนได้รับผลกระทบ 147,744 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตรวม 45 ราย และได้รับบาดเจ็บรวม 24 คน

ปัจจุบันยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 6 จังหวัด รวมพื้นที่ได้รับผลกระทบ 31 อำเภอ 165 ตำบล 910 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 33,667 ครัวเรือน ได้แก่ เชียงราย หนองคาย บึงกาฬ อยุธยา สตูล และพิษณุโลก

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net