Skip to main content
sharethis

KNU เผยประเทศไทยส่งกลับผู้ลี้ภัยจากเมียนมาจำนวน 29 ราย จนถูกกองทัพพม่าบังคับเกณฑ์ทหาร แต่ภายหลังผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้ก่อเหตุสังหารผู้คุมค่ายทหารพม่า ก่อนหนีเข้าพื้นที่กองพล 4 ของ KNU 

 

20 ก.ย. 2567 เว็บไซต์สื่อสัญชาติพม่า อิรวดี รายงานเมื่อ 10 ก.ย. 2567 มีชาวพม่าประมาณ 27 ราย เดินทางเข้าไปในพื้นที่ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง หรือ KNU กองพลที่ 4 ซึ่งมีอาณาเขตบริเวณรัฐมอญ หลังพวกเขาก่อเหตุสังหารผู้คุมค่ายเกณฑ์ทหารของกองทัพพม่า  ขณะที่มีชาวพม่าอีก 2 รายที่อยู่ในกลุ่มเดียวกันที่หายตัวไป

อย่างไรก็ตาม ก่อนเกิดเหตุดังกล่าว มีรายงานด้วยว่า ชาวพม่าทั้ง 29 คนเคยลี้ภัยจากภูมิภาคตะนาวศรี รัฐมอญ เพื่อหางานทำในฝั่งไทย แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองไทยส่งตัวกลับเมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ทั้งนี้ พะโดซอเอนา (Padoh Saw Ehna) เลขาธิการ KNU เขตมะริด-ทวาย กล่าวยืนยันว่า ชาวพม่าทั้ง 29 คนถูกกองทัพพม่าเกณฑ์ทหาร เพื่อไปเป็นทหารที่หน่วยบัญชาการปะลอ

ต่อมา ระหว่างที่ชาวพม่าทั้ง 29 คนอยู่ในค่ายเกณฑ์ทหารได้ก่อเหตุสังหารผู้คุมค่ายกองทัพพม่าเสียชีวิต 2 ราย และทำการยึดอาวุธของเจ้าหน้าที่ ก่อนหลบหนีไปที่พื้นที่ภายใต้การควบคุมของ KNU เบื้องต้น มีเพียง 27 คนที่เดินทางไปที่กองพลที่ 4 ของ KNU แต่อีก 2 คนยังไม่ทราบชะตากรรม

ทั้งนี้ กลุ่มคนทั้ง 29 คนมาจากพื้นที่รัฐต่างๆ ในประเทศเมียนมา อย่างรัฐกะเหรี่ยง หรือรัฐมอญ รวมถึงเป็นชาติพันธุ์หลายชาติพันธุ์ เช่น ชาวยะไข่ มอญ และกะเหรี่ยง

พะโดซอเอนา กล่าวว่า ในจำนวนนี้มี 22 รายที่อาสาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรป้องกันชาติกะเหรี่ยง (KNO) ซึ่งเป็นฝ่ายกำลังรบของ KNU ขณะที่อีก 5 คนที่เหลือมีความประสงค์เดินทางกลับบ้าน

ก่อนหน้านี้มีรายงานข่าวว่าผู้ลี้ภัยกลุ่มนี้หนีออกจากประเทศ เพราะต้องการหนีการถูกบังคับเกณฑ์ทหาร ซึ่งเป็นกฎหมายที่สภากองทัพพม่าบังคับใช้เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หลังจากที่เผชิญกับภาวะขาดแคลนกำลังทัพ เนื่องจากฝ่ายพันธมิตรสามภราดรภาพ ซึ่งประกอบด้วย กองกำลังโกก้าง MNDAA กองกำลังปะหล่อง หรือดาราอั้ง TNLA และกองกำลังอาระกัน AA เปิดปฏิบัติการรุกคืบทางตอนเหนือของรัฐฉาน และโจมตีฐานที่มั่นอื่นๆ ของกองทัพพม่า

โกมินอู สมาชิกมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนา กล่าวว่า ทางการไทยได้ส่งตัวผู้อพยพเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายกลับพม่าราว 100 รายต่อเดือน ผ่านช่องทางด่านข้ามแดนของจังหวัดระนอง-เกาะสอง

ภาคประชาสังคมเคยออกมาวิจารณ์นโยบายส่งตัวกลับผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาของรัฐบาลไทยว่าอาจละเมิดหลักการไม่ผลักดันกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง (Non-refoulement) ซึ่งเป็นหลักจารีตประเพณีระหว่างประเทศ และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการซ้อมทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย มาตรา 13 

นอกจากนี้ จากข้อมูลเดือน ก.ย. 2567 กองทัพพม่าได้ทำการฝึกทหารชุดที่ 5 แล้วหลังจากที่มีการออกกฎหมายบังคับเกณฑ์ทหารฉบับใหม่ซึ่งระบุให้ชายอายุ 18-35 ปี และหญิงอายุ 18-27 ปี ต้องรับราชการทหารเป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปี กองทัพพม่ายังได้มีการจัดตั้งหน่วยรักษาความปลอดภัยประชาชนที่บังคับเกณฑ์ชายอายุ 35 ปีขึ้นไป เข้าร่วมเป็นกองกำลังระดับท้องถิ่นด้วย

หลังออกกฎหมายใหม่นี้มีคนหนีออกจากพม่าเพิ่มขึ้นซึ่งส่วนใหญ่เดินทางหนีไปยังไทย ในขณะที่บางส่วนก็หันไปเข้าร่วมกองกำลังต่อต้านรัฐบาลทหาร

กองทัพพม่าเริ่มการฝึกทหารเกณฑ์อย่างเป็นทางการนับตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยมีการเกณฑ์ชุดละ 5,000 ราย ซึ่งถ้าหากเป็นเรื่องจริงในตอนนี้กองทัพพม่าก็จะสามารถเกณฑ์กำลังพลรวมเป็น 25,000 รายแล้ว ภายในเวลาแค่ 6 เดือน

 

เรียบเรียงจาก

Myanmar Junta Begins Training Fifth Batch of Military Draftees, Irrawaddy, 10-09-2024

KNU: Myanmar Junta Conscripts Kill Guards and Escape, Irrawaddy, 12-09-2024
 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net