Skip to main content
sharethis

ครบรอบหนึ่งปีสงครามอิสราเอล-ฮามาส อิสราเอลยังไม่ยุติสงครามและมีการขยายปฏิบัติการโจมตีเลบานอนเพื่อมุ่งเป้าทำลายกลุ่มฮิชบอลเลาะห์ นอกเหนือจากความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อประชาชนปาเลสไตน์ เลบานอน และอิสราเอล เองแล้ว มีการวิเคราะห์ว่ามันยังส่งผลเสียต่ออิสราเอลหลายด้านถ้าหากยังคงยื้อสงครามต่อไป

1 ปีผ่านไป หลังจากที่อิสราเอลเปิดฉากโจมตีพื้นที่ปาเลสไตน์ ฝ่ายอิสราเอลได้ใช้กำลังทหารโจมตีกาซ่าและก่อความรุนแรงอย่างเกินขอบเขตต่อประชาชนชาวปาเลสไตน์รวมถึงปิดล้อมพื้นที่ดังกล่าว นอกจากนี้อิสราเอลยังปฏิบัติการโจมตีเลบานอนรอบล่าสุดเพื่อพยายามถอนรากถอนโคนกลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์ และมีการสังหาร ฮัสซัน นัสรัลเลาะห์ ผู้นำฮิซบอลเลาะห์ได้สำเร็จ

แต่ทว่ามีบทวิเคราะห์จากกองบรรณาธิการอัลจาซีราชี้ว่า การทำสงครามยืดเยื้อของอิสราเอลนั้นทำให้อิสราเอลอ่อนล้าและเริ่มถูกโดดเดี่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ และถึงแม้ว่าจะมีความช่วยเหลือจากสหรัฐฯ แต่เศรษฐกิจของอิสราเอลเองก็กำลังแย่ลง ท่าเรือไอลัต ซึ่งเป็นท่าเรือเดียวของอิสราเอลบนทะเลแดงที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ก็ได้ถูกยื่นฟ้องล้มละลาย การเกษตรของอิสราเอลก็ชะงักงัน และอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็ไม่เหลืออยู่อีกต่อไป

มีความรุนแรงและการโจมตีด้วยขีปนาวุธโต้ตอบใส่อิสราเอลและใส่เรือขนส่งสินค้าที่ผ่านทะเลแดง ซึ่งต้นเหตุของเรื่องนี้คือการที่อิสราเอลไม่ยอมเจรจาหยุดยิง แต่ยังคงมุ่งหน้าโจมตีกาซ่าต่อไป ยิ่งไปกว่านั้นอิสราเอลยังมีปฏิบัติการทางทหารต่อเนื่อง โดยการบุกโจมตีเลบานอนทางตอนใต้เพื่อมุ่งเป้าทำลายกลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์

สงครามที่มีแต่เสีย

สื่ออัลจาซีราระบุว่า การที่อิสราเอลทำสงครามกับกลุ่มติดอาวุธฮิชบอลเลาะห์จะกลายเป็นภาระทางเศรษฐกิจและทางการทหารกับอิสราเอลเอง รวมถึงมีโอกาสสูงที่อิสราเอลจะถูกดึงไปสู่สงครามที่ตัวเองไม่อาจชนะได้ในระยะยาว เพราะการจะกำจัดฮิซบอลเลาะห์โดยสิ้นเชิงได้นั้นเป็นเรื่องยาก ในขณะที่ฮิชบอลเลาะห์แค่ขอให้ตัวเองอยู่รอดได้ก็บอกว่าตัวเองเป็นผู้ชนะได้แล้วแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549

ในขณะเดียวกันสงครามที่อิสราเอลก่อในเลบานอนรอบล่าสุดก็ส่งผลทำลายล้างสร้างความทุกข์ยากให้กับประชาชนชาวเลบานอน โดยจากข้อมูลเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม ที่ผ่านมา มีชาวเลบานอนเสียชีวิตจากการโจมตีโดยอิสราเอลอย่างน้อย 2,011 รายแล้ว มีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 9,535 ราย มีคนพลัดถิ่นจากสงครามมากถึง 1.2 ล้านราย มีอยู่ 172,100 รายที่ต้องไปอาศัยอยู่ในศูนย์พักพิงของรัฐบาล

ไม่เพียงเท่านั้น การโจมตีเลบานอนล่าสุดมันยังกลายเป็นการส่งผลให้มีการโจมตีโต้ตอบกลับต่ออิสราเอลเองด้วย ทำให้พวกเขาต้องรับศึกหลายด้าน รวมถึงจากอิหร่านที่เพิ่งจะยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลราว 180 ลูก ซึ่งนักวิเคราะห์มองว่าเป็นการโจมตีเพื่อโต้ตอบการที่อิสราเอลสังหาร ฮัสซัน นาสรัลเลาะห์ ผู้นำกลุ่มติดอาวุธฮิซบอลเลาะห์ และ อิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำฮามาส

สำหรับการโจมตีจากอิหร่านนั้นมีนักวิเคราะห์ชื่อ เบห์นัม เบนทาเลบลู นักวิจัยอาวุโสที่มูลนิธิเพื่อการปกป้องประชาธิปไตย บอกว่า อิหร่านต้องการที่จะแก้แค้น ในขณะที่นักวิเคราะห์ด้านการทหารรายอื่นๆ ตั้งข้อสังเกตว่า สาเหตุที่ในครั้งนี้ขีปนาวุธของอิหร่านโจมตีใส่อิสราเอลเข้าเป้าเป็นจำนวนมากเป็นเพราะว่าระบบการป้องกันการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลนั้นเหลือไม่พอใช้

ถึงแม้ว่าอิสราเอลจะเคยได้รับชัยชนะในสงครามครั้งก่อนหน้านี้มาแล้วหลายหน แต่สื่ออัลจาซีราก็ระบุว่าความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในรอบนี้ต่างกันออกไป

วาทกรรมในอดีตของอิสราเอล ยังใช้ได้อยู่ไหม?

อิสราเอลมีวาทกรรมในการเล่าประวัติศาสตร์ของตัวเองคือวาทกรรมที่ว่าพวกเขาต่อสู้แบบ "คนกลุ่มน้อยต่อสู้กับคนหมู่มาก" หรือวาทกรรมที่ว่าตัวเองเป็นประเทศเล็กๆ ที่สู้รบปรบมือกับผู้รุกรานหลายทิศทาง แต่ตัวเองก็สามารถเอาชนะได้ แต่วาทกรรมที่มองตัวเองเป็นผู้ชนะแบบนี้เองที่สร้างความโอหังให้กับอิสราเอลจนกลายเป็นสังคมที่กองทัพมีอิทธิพลมากทั้งในทางการเมืองและวัฒนธรรมของอิสราเอล

ประชาชนชาวอิสราเอลส่วนมากเคยรับราชการทหารมาก่อน ในขณะเดียวกันผู้นำประเทศส่วนใหญ่ก็เคยดำรงตำแหน่งในหน่วยพิเศษของกองทัพหรือเคยดำรงตำแหน่งนายพลมาก่อน

อับราฮัม มาสโลว์ นักจิตวิทยาชาวอเมริกันเคยระบุในเชิงเปรียบเปรยไว้ว่า "ถ้าคุณมีเครื่องคือค้อนเพียงอย่างเดียว คุณก็จะเห็นทุกปัญหาเป็นตะปูไปหมด" ซึ่งใช้เปรียบเปรยกับกรณ๊อิสราเอลได้ว่า การใช้กองทัพแก้ปัญหาไปทุกเรื่องนั้นกลับกลายเป็นการสร้างปัญหาทางการเมืองให้กับอิสราเอลเอง จนทำให้อิสราเอลกลายเป็นอย่างปัจจุบันนี้

อัลจาซีราระบุว่าสังคมอิสราเอลกลายเป็นสังคมขวาจัด โดยเฉพาะกับคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหารก็ที่มีแนวคิดเหยียดปาเลสไตน์มากขึ้นเรื่อยๆ ระบบการเมืองอิสราเอลเองก็มีความอ่อนแอโดยอาศัยรัฐบาลผสมที่มักจะถูกกลุ่มพรรคการเมืองสุดโต่งพรรคเล็กๆ กดดัน ส่วนผู้นำอิสราเอลก็มักจะคงอำนาจตัวเองเอาไว้ได้ด้วยการอาศัยเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินจากสงคราม การคิดแบบติดกลุ่มแบบที่ทำให้คนไม่กล้าคิดต่างสร้างหายนะให้กับทั้งอิสราเอลเองและกับประเทศใกล้เคียง

ขณะเดียวกันฝ่ายที่ต้องสู้รบกับอิสราเอลรู้ดีว่าพวกเขากำลังเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุง หรือก็คือเป็นผู้มีกำลังกับเทคโนโลยีที่น้อยกว่าแต่กำลังต่อกรกับกองทัพอิสราเอลที่มีกำลังมากกว่ารวมถึงมียุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยกว่า ซึ่งพวกเขามองแล้วว่าการสู้รบโดยตรงคงเป็นไปไม่ได้ที่จะชนะ พวกเขาจึงหันมาใช้วิธีการแบบ 'สงครามอสมมาตร' ที่ฝ่ายอ่อนแอกว่าจะใช้ยุทธวิธีนอกรูปแบบดั้งเดิมในการบั่นทอนกำลังศัตรูไปเรื่อยๆ ซึ่งในที่นี้คือสิ่งที่ข้าศึกของอิสราเอลกำลังนำมาใช้ ทำให้เกิดการบั่นทอนเศรษฐกิจอิสราเอลไปเรื่อยๆ ส่วนฝ่ายพันธมิตรของอิสราเอลก็เริ่มหมดศรัทธาต่อการทำสงครามทำลายล้างไปทั่วของอิสราเอล

ผลกระทบทางการทูต

แต่อิสราเอลก็ยังคงทำสงครามตามรูปแบบเดิมกับศัตรู เพราะคิดว่าตัวเองจะชนะ ทั้งๆ ที่ไม่มีทีท่าว่าจะหาข้อยุติกับสงครามกาซ่าได้ และความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติอาหรับก็ยากที่จะกลับมาปกติ ส่วนสหรัฐฯ พยายามจะดึงอิสราเอลเข้ามาสู่กระบวนการทางการทูตแทนการสู้รบ แต่ไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ล่มไม่เป็นท่า

กลุ่มชาติอาหรับได้ออกปากวิจารณ์อิสราเอลในเรื่องสงครามกาซ่ามากขึ้นเรื่อยๆ  ซึ่งพวกเขามองว่าเป็นทั้งความไร้จริยธรรมและการทำลายเสถียรภาพของภูมิภาค ยิ่งอิสราเอลทำการโจมตีเลบานอนยิ่งจะทำให้ปัญหาแย่ลงและก่อให้เกิดความชะงักงันทางเศรษฐกิจ รวมถึงทำให้ความสงบเรียบร้อยระหว่างประเทศเสื่อมถอยลง

สหประชาชาติเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์อิสราเอลอยู่เสมอเช่นกัน แต่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ก็ทำการลดทอนอำนาจและบทบาทต่อโลกของยูเอ็น ทำให้มติของยูเอ็นถูกเพิกเฉย และไม่สนใจเสียงสะท้อนจากสมัชชาใหญ่ของยูเอ็น อัลจาซีร่ามองว่าถ้าหากปล่อยให้เกิดการไม่อดกลั้นต่อความต่างและการแบ่งขั้วแบบนี้ต่อไปก็มีโอกาสที่จะเกิดสงครามใหญ่แบบสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ ซึ่งในตอนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสงครามจากอิสราเอลจะไปสิ้นสุดที่ตรงไหน

อัลจาซีราระบุอีกว่าการมีที่แนวคิดอุดมการณ์แบบสุดโต่งเติบโตภายในอิสราเอล ทำให้เกิดความชอบธรรมในการกวาดล้างเผ่าพันธุ์ และพวกเขาเชื่อว่ามันถึงเวลาแล้วที่พวกเขาจะกระทำสิ่งนี้กับปาเลสไตน์

ในขณะที่ชาวปาเลสไตน์สูญเสียอย่างหนักจากการทำลายล้างของอิสราเอล ทหารและพลเรือนของอิสราเอลก็ถูกทำให้เคยชินต่อความเจ็บปวดสูญเสียของชาวปาเลสไตน์ในนามของการปกป้องตัวเอง แต่ในขณะเดียวกันอิสราเอลก็ไม่ได้ปลอดภัยอย่างแท้จริง

เรียบเรียงจาก

Analysis: Israel and the forever war, Aljazeera, 03-10-2024

https://www.aljazeera.com/features/2024/10/3/analysis-israel-and-the-forever-war

Iran’s missile attack on Israel raises questions about limits of arsenal, Washington Post, 05-10-2024

https://www.washingtonpost.com/world/2024/10/05/iran-missiles-attack-israel-deterrence/

Death toll from Israeli airstrikes on Lebanon rises to 2,011, with 9,535 injured, Anadolu Ajansi, 04-10-2024

https://www.aa.com.tr/en/middle-east/death-toll-from-israeli-airstrikes-on-lebanon-rises-to-2-011-with-9-535-injured/3351906

Who was Hassan Nasrallah, the Hezbollah leader killed by Israel?, NPR, 28-09-2024

https://www.npr.org/2024/09/28/g-s1-25302/who-was-hassan-nasrallah-the-hezbollah-leader-killed-by-israel

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net