Skip to main content
sharethis

พลอย–เบญจมาภรณ์ เป็นเยาวชนนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่ต้องกลายมาเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่อายุน้อยที่สุด แม้จะได้รับสถานะพำนักถาวรจากรัฐบาลแคนาดา วัยรุ่นคนนี้คงยังไม่เรียกที่นี่ว่าบ้าน เพราะชีวิตยังมีเวลาเติบโตอีกมาก

สองปีที่แล้วก่อนที่จะลี้ภัย ชั้นเรียนสุดท้ายของพลอยคือ ม.5 สายศิลป์ภาษาญี่ปุ่น เมื่อมาย้ายมาอยู่ที่นี่จึงต้องเรียนชั้นมัธยมใหม่ตั้งแต่แรก เพื่อจะได้รับวุฒิการศึกษา ม.6 และก็ยิ่งยากขึ้นไปอีก สำหรับพลอยผู้ไม่มีทักษะภาษาอังกฤษติดตัวมาเลย ชนิดที่พูดได้แค่ yes, no, ok กว่าจะเข้าที่เข้าทางก็ต้องอาศัยความพยายามอยู่พักใหญ่

หลังตระเวนฝากเรซูเมตามร้านค้าต่างๆ อยู่นาน เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พลอยเริ่มทำงานพาร์ทไทม์ที่ร้านชานมเล็กๆ แห่งหนึ่งในนครแวนคูเวอร์ เหมือนกับฝันที่เป็นจริงเพราะอยากทำงานในร้านชานมมาแต่ไหนแต่ไร ชีวิตจากที่เคยเผชิญอันตรายก็เริ่มรู้สึกมั่นคงปลอดภัย มีเงินมาจ่ายค่าบ้าน ค่ากินอยู่ รวมถึงผ่อนหนี้คืนรัฐบาลแคนาดาที่ก่อนหน้านี้ได้ให้ทุนสำหรับตั้งตัวในการลี้ภัย

 

 

อดีตนักเรียนเลว

“สวัสดีค่ะ ดิฉันนางสาวเบญจมาภรณ์ นิวาส อยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กำลังขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และเป็นผู้ที่ไม่เคยมีอิสระในการเลือกทรงผมเลยตั้งแต่เข้าสู่วงการการศึกษามา”

ย้อนไปเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2563 กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ซึ่งเป็นกลุ่มนักเรียนที่ผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในสถานศึกษา จัดกิจกรรมอภิปรายนอกสภาทางเฟซบุ๊กไลฟ์ พลอยปรากฎตัวในฐานะหนึ่งในผู้อภิปรายก่อนจะเข้าประเด็นปัญหากฎระเบียบทรงผมที่ละเมิดสิทธิต่อเนื้อตัวร่างกายของนักเรียน

แรกเริ่มเดิมที พลอยเป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ตั้งใจเรียนหนังสือ ทำตามกฎทุกอย่าง ไม่เถียงใคร กลัวจะถูกด่าว่า จึงมักทำตามความคาดหวังของคนรอบข้าง สิ่งนี้ทำให้พลอยเป็นคนโปรดของผู้ใหญ่  แต่ในอีกมุมมันก็สร้างภาระทางใจอย่างเลี่ยงไม่ได้อยู่เหมือนกัน

“เราเจ็บปวดจากการเป็นเด็กเชื่องๆ นี่แหละ ครูขอร้องอะไรเราก็ปฏิเสธไม่ได้ พอเวลาเป็นเด็กดี ได้ผลการเรียนดี ไปแข่ง ผู้ใหญ่ก็ใจดีกับเรา มันเจ็บปวดจากการทำตัวตามคาดหวังของสังคม พ่อแม่ก็คาดหวังให้เราเป็นเด็กดี การเรียนดี ครูก็คาดหวังให้เราไปทำกิจกรรมโรงเรียน ทำกิจกรรมหน้าชั้น เพื่อนก็คาดหวังให้เราตอบคำถามในห้อง เราก็ต้องแบกหน้าไปอยู่คนเดียว ครูจะใช้ทำอะไรก็โยนมาที่เราตลอด มันเจ็บปวดจากการเป็นเด็กดีในระบบการศึกษา ทำตามความคาดหวังของคนนั้นนี้ไปหมด เราก็อยากเปลี่ยนแปลงมัน”

การก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ในช่วงปี 2562 จุดประกายความหวังในหมู่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย โลกออนไลน์คึกคักไปด้วยการถกเถียงในประเด็นสังคมการเมือง โดยเฉพาะในเอกซ์ (ชื่อเดิม–ทวิตเตอร์) แพลตฟอร์มที่คนรุ่นใหม่ๆ ใช้กันเป็นเรื่องปกติ  พลอยรับข่าวสารจากแอปฯ นี้ และได้ติดตามแอคเคานต์ของ เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มักผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชนในรั้วสถานศึกษา และอดีตเลขาธิการกลุ่มศึกษาเพื่อความเป็นไท

วันหนึ่งเนติวิทย์โพสต์หานักเรียนที่ต้องการร่วมลงชื่อเพื่อเปลี่ยนแปลงกฎทรงผม พลอยเห็นด้วยในเรื่องนี้อยู่ก่อนแล้วก็เลยลงชื่อไปทันที

การลงชื่อครั้งนี้เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ได้มารู้จักกับนักเรียน ม.ปลาย คนอื่นๆ ในกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท ความเจ็บปวดจากระบบการศึกษากลายเป็นจุดร่วมที่ทำให้ต่อมาพลอยและเพื่อนกลุ่มนี้ร่วมกันก่อตั้งองค์กรนักเรียนเลว 

หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2563 พาให้เกิดการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในหลายมหาวิทยาลัย ลุกลามให้ม็อบต่อต้านรัฐบาลขณะนั้นผุดขึ้นตลอดปี ปรากฎการณ์การประท้วงในระลอกนั้นถูกประกอบสร้างขึ้นทั้งจากชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ ความรู้สึกไม่เป็นธรรมทางการเมืองที่มีมาตลอดทศวรรษ ปัญหาเศรษฐกิจ และความไม่พอใจมาตรการจัดการโควิด-19 ที่กำลังระบาด

 

กิจกรรมบนถนนครั้งแรกในนามกลุ่มนักเรียนเลว ที่มีชื่อแคมเปญว่า “เลิกบังคับหรือจับตัด” กลายเป็นกระแสไวรัลในทวิตเตอร์ พลอยสวมชุดนักเรียนนั่งอยู่ใต้ BTS สยาม สวมป้ายคล้องคอที่เขียนว่า “นักเรียนคนนี้ทำผิดกฎของโรงเรียน เพราะไว้ผมยาวเกินติ่งหู และตัดผมหน้าม้า” เพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาบริเวณนั้นเข้ามาตัดผม เพื่อสะท้อนปัญหาการละเมิดสิทธิเด็กในโรงเรียน

(ภาพเมื่อ 27 มิ.ย. 2563 จากทวิตเตอร์ของกลุ่มนักเรียนเลว) 

นักเรียนเลวเป็นหนึ่งในกลุ่มที่เคลื่อนไหวคู่ขนานไปกับการชุมนุมในภาพใหญ่ เด็กมัธยมกลุ่มนี้เปลี่ยนความคับข้องใจจากการถูกกดขี่โดยระบอบอำนาจนิยมในโรงเรียนให้กลายเป็นแคมเปญรณรงค์หลายรูปแบบ

เดือนมกราคม ปี 2564 พลอยขณะนั้นอายุ 16 ปี เป็นหนึ่งในเยาวชนที่ถูกอัยการสั่งฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการเข้าร่วมการชุมนุม “15ตุลาไปราชประสงค์” เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2563 ภายหลังจากการเข้าสลายการชุมนุมบริเวณทำเนียบรัฐบาลเมื่อเช้ามืดของวันเดียวกัน 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ทะลุวัง

หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่าแรกเริ่มพอยตั้งใจขับเคลื่อนเฉพาะประเด็นการศึกษาเพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สุด แต่เมื่อได้ศึกษาหาข้อมูลมาเรื่อยๆ ก็พบว่าเมืองไทยยังมีปัญหาอีกมากในหลายด้าน แต่ละปัญหาก็เกี่ยวพันแยกกันไม่ขาด บางเรื่องก็เข้าใจมากเป็นพิเศษด้วยความที่เจอมากับตัว

การวาดรูปและเขียนนิยายคืองานอดิเรกของพอย เจ้าตัวมีความฝันอยากทำงานเขียนเป็นอาชีพ แต่การจะเลี้ยงตัวเองได้ด้วยสิ่งนี้มันก็ยากมากๆ เรื่องความไม่มั่นคงทางอาชีพของแรงงานสร้างสรรค์จึงเป็นอีกเรื่องที่พอยมักจะออกมาส่งเสียง

อีกเรื่องคือความเท่าเทียมทางเพศ ในสมัยยังเป็นเยาวชนเคยประกาศว่าอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองคือนอนไบนารี (คนที่ไม่เห็นว่าเพศของตัวเองจำกัดอยู่กับเฉพาะกับเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น) โดยพยายามสร้างความเข้าใจว่ามีคนกลุ่มนี้อยู่จริง เนื่องจากในยุคที่ผู้คนเริ่มมีความตระหนักรู้ในประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังคงมีการล้อเลียน กระทั่งปฏิเสธการมีอยู่ของนอนไบนารี

รู้ตัวอีกทีก็กลายมาเป็นเยาวชนนักกิจกรรมที่ส่งเสียงหลายๆ ประเด็นไปพร้อมๆ กัน รวมถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งอย่างหลังนี้ส่งผลให้ชีวิตพลิกผันจนถึงขั้นกลายเป็นผู้ลี้ภัย

ตามข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พลอยขณะนั้นเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มทะลุวัง ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จำนวน 2 คดี

สำหรับคดีแรก พลอยพร้อมด้วย เมนู–สุพิชฌาย์ ชัยลอม และ ใบปอ–ณัฐนิช ถูกจับกุมที่จังหวัดเพชรบุรีขณะกำลังเดินทางไปพักผ่อนจากการถูกกล่าวหาว่าแชร์โพสต์งบประมาณสถาบันกษัตริย์จากเพจทะลุวัง เนื่องจากพลอยอายุไม่ถึง 18 ปีจึงถูกแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชน (อ่านคำฟ้อง)

ส่วนคดีที่สอง จากกรณีร่วมกิจกรรมกับกลุ่ม “ทะลุวัง” ทำโพลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2565 โดยมี ใบปอ, บุ้ง เนติพร และ เมนู–สุพิชฌาย์ ชัยลอม ถูกดำเนินคดีจากเหตุเดียวกัน แต่แยกดำเนินคดีในศาลอาญา

ในคดีนี้ตำรวจได้ไปขอออกหมายจับพลอยเช่นกัน แต่ศาลเยาวชนฯ ไม่อนุมัติ ทำให้ตำรวจต้องออกเป็นหมายเรียก และแยกดำเนินคดีในศาลเยาวชนฯ (อ่านคำฟ้อง)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

ชีวิตที่มีบุ้ง

คนจำนวนมากกลับมามีความหวังกับประเทศไทยอีกครั้งเมื่อเห็นเยาวชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แต่เบื้องหลังของภาพเหล่านี้คือพวกเขาอาจต้องขัดแย้งกับครอบครัว หลายคนถูกพ่อแม่ตัดเงิน ถูกครอบครัวใช้ความรุนแรง ถูกขู่ว่าจะส่งไปเรียนต่างประเทศ เลวร้ายที่สุดคือถูกตัดขาดจากครอบครัวอย่างไม่ไยดี

พลอยเป็นหนึ่งในเยาวชนกลุ่มนี้ที่มีปัญหากับครอบครัวจนต้องออกจากบ้าน ต่อมาจึงตัดสินใจไปอาศัยอยู่กับ บุ้ง–เนติพร เพราะตนเองก็ไม่มีทางเลือก โดยเห็นว่าบุ้งไม่ใช่คนอื่นคนไกลและก็ดูเป็นผู้ใหญ่ที่น่าจะเชื่อใจได้

คนทั่วไปจดจำพลอยในฐานะเด็กที่เคลื่อนไหวกับทะลุวังทั้งๆ ที่อายุไม่ถึง 18 ปี บ้างอาจคุ้นๆ ว่าช่วงหนึ่งพลอยโพสต์ขายสติกเกอร์หาเลี้ยงตัวเอง แต่ไม่มีใครรู้ถึงว่าความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของพลอยเป็นอย่างไร

กระทั่งเดือนกันยายน ปี 2565 พลอยประกาศแยกทางกับกลุ่มทะลุวัง โดยระบุเหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับแนวทางการเคลื่อนไหว และรู้สึกว่าตนอาจถูกแสวงประโยชน์จากความเป็นเยาวชนจาก บุ้ง–เนติพร อดีตสมาชิกกลุ่มทะลุวังที่เป็นผู้ปกครองของพลอยอยู่ช่วงหนึ่ง การออกมาประกาศในครั้งนั้นทำให้กลุ่มทะลุวังเผชิญข้อครหาจากสังคมพอสมควร มีความเห็นแตกออกเป็นหลายฝั่ง จากนั้นเรื่องก็เงียบไป

ต่อมาเรื่องนี้กลับมาเป็นกระแสอีกครั้งในช่วงจัดตั้งรัฐบาล เดือนสิงหาคม ปี 2566 หลังจากที่กลุ่มทะลุวังไปทำกิจกรรมที่พรรคเพื่อไทย แล้วปรากฎว่ามีภาพเยาวชนนักกิจกรรมในกลุ่มดูจะมีสภาวะทางอารมณ์ไม่มั่นคง นั่นเป็นจังหวะที่พลอยกลับมาพูดถึงเรื่องนี้อีกครั้งในเอกซ์ นำมาซึ่งการถกเถียงที่ว่า เมื่อเด็กและเยาวชนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่จะระวังการแสวงประโยชน์หรือสถานการณ์ที่เด็กตกอยู่ในความเสี่ยงทางร่างกาย จิตใจ และกฎหมายอย่างไร

เมื่อเกิดข้อขัดแย้งกันในทางส่วนตัวของคนในขบวนการประชาธิปไตย มันเป็นเรื่องที่พูดลำบาก ผู้ที่ออกมาพูดเผชิญความเสี่ยงว่าจะถูกเมิน ถูกกังขา หรือถูกซ้ำเติมจากสังคม

พลอยเล่าว่า บางช่วงที่ทำกิจกรรมร่วมกับทะลุวัง ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐหนักขึ้นเรื่อยๆ กระแสม็อบซาลงจนไม่อยากเคลื่อนไหวต่อ เพื่อนหลายคนทยอยหยุดเคลื่อนไหวแล้วกลับไปหาครอบครัว พลอยก็อยากไปจากตรงนี้เหมือนกัน แต่ก็ไม่สามารถออกมาจากบุ้งได้ เพราะถูกตัดขาดจากเครือข่ายทางสังคมอื่นไปแล้ว ทั้งหมดนี้ทำให้สุขภาพจิตพลอยเข้าขั้นแย่

ทั้งนี้ หลังจากที่ บุ้ง-เนติพร เสียชีวิตขณะอดอาหารเรียกร้องสิทธิประกันตัวในเรือนจำ พลอยออกมาประกาศอโหสิกรรมให้บุ้ง พร้อมยืนยันว่าไม่มีใครสมควรเสียชีวิตในคุกจากคดีทางการเมือง

ลี้ภัย

เหตุผลที่ทำให้พลอยตัดสินใจลี้ภัยคือ ระดับการคุกคามที่หนักขึ้นจนลามไปถึงคนในครอบครัว แม่ของตนได้รับจดหมายข่มขู่จากบุคคลที่ใช้ชื่อปลอม

 

จดหมายที่แม่ได้รับ ผู้ส่งระบุชื่อ "บุญมา มาเพื่อชาติ" ที่เป็นชื่อปลอม 

คำขู่ที่ส่งมาในซองจดหมาย

คำขู่ที่ส่งมาในซองจดหมาย

อีกกรณีคือ มีบุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโทรมาหาพ่อกับแม่แล้วพูดทำนองว่ามีทุนการศึกษาจะให้เพื่อให้พลอยกลับไปเรียนหนังสือ

“เขาอ้างว่าเขาเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงศึกษาธิการ มีทุนการศึกษามาให้เราเพราะว่าเห็นเราเรียนดี อยากให้เรากลับไปเรียนหนังสือ พ่อก็เลยบอกว่าขอแอดไลน์หน่อย อยากรู้ว่าเป็นใคร แล้วพอแอดไลน์ไป รูปโปรไฟล์ก็คือ (ทรงผม) ขาวสามด้าน”

พลอยตั้งข้อสังเกตว่า ไม่น่าจะใช่เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ ดังที่แอบอ้าง เพราะเท่าที่ดูจากภาพในไลน์ ดูจะคล้ายกับทหารมากกว่า อย่างไรก็ตามประชาไทไม่สามารถตรวจสอบเรื่องดังกล่าวได้ 

 

ภาพโปรไฟล์ในแอปพลิเคชันไลน์ของบุคคลที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่รัฐโทรมาขู่พ่อกับแม่

พร้อมระบุชื่อและยศมาดังนี้ “Nu_Manu สุรสีห์ 40 หส.หน.ฝสธ.รองผบ.ทสส/วปอ.32”

ช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2565 พลอยตัดสินใจออกนอกประเทศพร้อมกับ เมนู–สุพิชฌาย์ โดยใช้เวลาระหว่างกระบวนการลี้ภัย 3 เดือน โดยช่วงแรกไปอยู่ที่ประเทศเพื่อนบ้านก่อน ทว่าก็ไม่ได้ปลอดภัยขึ้นมาเท่าไหร่ ถูกข่มขู่ว่าจะมีชะตากรรมไม่ต่างจากผู้ลี้ภัยคนก่อนๆ ที่ถูกบังคับสูญหาย จึงย้ายไปยังอีกประเทศหนึ่งที่ดูจะปลอดภัยกว่า หลังจากได้รับความช่วยเหลือจากองค์กรระหว่างประเทศก็ทำให้ทั้งคู่มาถึงแคนาดาได้อย่างปลอดภัย

เมื่อประชาไทถามว่า อะไรที่ทำให้เยาวชนคนหนึ่งผ่านมรสุมเรื่องร้ายเหล่านี้มาได้ พลอยให้เครดิตเพื่อนๆ ที่เคลื่อนไหวด้วยกัน รวมถึงแม่และน้อง ที่คอยเป็นกำลังใจให้เสมอไม่ว่าจะเลือกเดินทางที่ดูบ้าบิ่นขนาดไหน

“ช่วงที่ออกไปใหม่ๆ ไม่สามารถติดต่อแม่ น้อง เพื่อนได้เลย ร่ำลาไม่ได้ด้วยซ้ำ เศร้ามาก ช่วงออกใหม่ๆ น่าจะร้องไห้ทั้งอาทิตย์ เรื่องที่เศร้าและเสียใจที่สุดน่าจะเป็นเรื่องแม่กับน้อง น้องก็ยังเด็กอยู่ และแม่ก็เป็นคนที่ซัพพอร์ตมาตลอด ก็เลยเสียใจที่ไม่ได้อยู่กับแม่กับน้อง”

ในปัจจุบัน พลอยจริงจังกับการเขียนนิยายในเวลาว่าง ยังคิดไม่ตกกับเรื่องสอบเข้ามหาวิทยาลัยคล้ายๆ กับวัยรุ่นคนอื่น แต่สนใจเข้าเรียนด้านอักษรศาสตร์เป็นพิเศษ หากอยู่เมืองไทยคงเลือกคณะแนวนี้เหมือนกัน เพราะว่าไม่ชอบเลขจริงๆ มหาวิทยาลัยที่เล็งไว้ถือเป็นอันดับต้นๆ ของแวนคูเวอร์ ซึ่งก็ทำให้พลอยยังหวั่นๆ

ส่วนความตั้งใจที่อยากเห็นโลกใบนี้เปลี่ยนแปลง อยากทำให้เมืองไทยดีขึ้น สิ่งนั้นนั้นยังมีอยู่ เพียงแต่วิธีการเคลื่อนไหวคงไม่ใช่แบบที่ตัวเองเคยทำตอนอายุ 15 แล้ว หลังจากนี้ไปคงเปลี่ยนบทบาทตัวเองมาเป็นผู้สนับสนุนผู้ลี้ภัยรุ่นใหม่ในอนาคต บอกเล่าประสบการณ์การเคลื่อนไหวตั้งแต่เยาวชน อยากขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ในแบบที่ตัวเองมีความสุขกับมันเพื่อจะได้ทำไปยาวๆ 

 

ช่วงฤดูร้อนของปี 2566 พลอยมีโอกาสวาดภาพลงนิตยสารที่ชื่อว่า Ink ซึ่งเป็นนิตยสารรายปีประจำห้องสมุดใหญ่แวนคูเวอร์ ที่คอยรวบรวมผลงานศิลปะของเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีและนำมาจัดแสดง ภาพวาดของพลอยเล่าเรื่องราวของวาฤทธิ์ เยาวชนที่ถูกยิงเสียชีวิตหน้า สน.ดินแดง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net