Skip to main content
sharethis

112 WATCH สนทนากับ ‘ฟูอาดี้ พิศสุวรรณ’ อดีตที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล และเป็น นักวิจัยรับเชิญที่สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงสถานะของไทยในเวทีโลก เมื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนภายในบ้านยังมีหลายเรื่องต้องจัดการ ขณะเดียวกันไทยก็สมัครเป็นคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) ที่กำลังจะประกาศผลวันที่ 9 ต.ค.นี้ และบทบาทของผู้นำโลกเสรีประชาธิปไตยจะกดดันให้ไทยยกระดับสิทธิมนุษยชนได้มากเพียงไหน

 
มีความคิดเห็นอย่างไรต่อรายงานของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในปี 2566 ?

(อ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่ลิงก์นี้) https://www.state.gov/reports/2023-country-reports-on-human-rights-practices/thailand/?fbclid=IwZXh0bgNhZW0CMTAAAR1-cXPOLgPeMW0BzV5RxFT5S95geRq0LN8IT2zD_v9mcs3cz-k9U-psA-0_aem_AbwzJ2FeFSgaiITx2PAr30umHAqNZiSDYjfmPGtizdtiNEytwy6H6jmCcVoBJemlyqyKROdnmc5-tJZumaEEAxe5

เรื่องนี้ดูจะไม่ค่อยดูมีความหวังและยังส่งผลไม่ค่อยดีต่อการรื้อฟื้นสถานะของประเทศไทยบนเวทีระหว่างประเทศ พวกเราที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมักจะเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนแบบนี้อยู่บ่อยครั้ง มีหลายกรณีสำคัญที่เป็นที่สนใจในพื้นที่สาธารณะ เช่น การจากไปของบุ้ง-เนติพร การตัดสินคดีของลูกเกด-ชลธิชาและแนวโน้มการยุบพรรค ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิของประชาชนหลายล้านคน

ดังนั้น รายงานนี้เป็นการช่วยให้ชุมชนระหว่างประเทศทราบว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวางในประเทศไทย และสิ่งนี้จะมีผลให้ประเทศต่างๆ ต้องทบทวนว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศไทยอย่างไร

รายงานนี้ทำโดยหน่วยงาน DRL (Democracy, Rights, and Labor) เป็นหน่วยงานภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ ทราบมาว่า DRL เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนคุณค่าสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลสหรัฐฯ งานนี้เป็นงานที่สร้างความเป็นผู้นำด้านการเผยแพร่คุณค่าด้านสิทธิมนุษยชน และเข้าไปจัดการประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานอื่นในกระทรวงการต่างประเทศที่ทำงานด้านความสัมพันธ์ระดับภูมิภาคที่เป็นความสัมพันธ์แบบวันต่อวัน ผมมองว่าหน่วยงานในส่วนหลังนี้เป็นตัวแทนของการเข้าไปเกี่ยวพันด้านต่างๆ ของสหรัฐในแง่มุมด้านผลประโยชน์ แม้ว่าทั้งสองหน่วยงานทำงานร่วมกันในฐานะเครื่องมือของนโยบายต่างประเทศ แต่บางครั้งงานของทั้งสองก็ขัดกันเอง (ผลประโยชน์กับการเผยแพร่คุณค่าหลายครั้งก็ไม่ได้ไปด้วยกัน)

ผมเชื่อว่าไม่ว่าความตึงเครียดระหว่างหน่วยงานทั้งสองจะเป็นเช่นไร สิ่งนี้ก็เป็นจุดแข็งของนโยบายต่างประเทศของประเทศสหรัฐฯ เพราะแต่ละหน่วยงานก็จะทำให้นโยบายที่ออกมามีความสมดุล

มันเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่แนวทางปฏิบัติด้านนโยบายต่างประเทศที่กล่าวไปข้างต้นก็ควรตรวจสอบและใช้มาตรฐานเดียวกันกับการทำรายงานเหล่านี้ต่อประเทศอื่นๆ ด้วย ดังนั้น จุดยืนของสหรัฐฯ ต่อกรณีฉนวนกาซาและอิสราเอล ซึ่งดูเหมือนว่าจะขัดแย้งกับคุณค่าที่สำคัญบนเวทีระหว่างประเทศก็ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดเช่นกัน

รายงานฉบับนี้ส่งผลอย่างไรต่อจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนของไทยในเวทีระหว่างประเทศ ?

คิดว่ารายงานฉบับนี้เป็นแค่ข้อมูลชิ้นหนึ่งที่ทำให้ชุมชนระหว่างประเทศทราบว่า มีสิ่งใดเกิดขึ้นบ้างในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม มันทำให้ชื่อเสียงที่ไม่ค่อยดีในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนในช่วงหลังนี้แย่ลงกว่าเดิม เนื่องจากสิ่งที่ประเทศไทยไปประกาศบนเวทีระหว่างประเทศกับสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศมันไม่สอดคล้องกัน อย่างที่ Richard Hasset ได้กล่าวว่า นโยบายระหว่างประเทศเริ่มต้นขึ้นจากในประเทศของตนเอง ดังนั้น ถ้ายังมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศตัวเอง เช่น การละเมิดสิทธิหรือการจับกุมประชาชนจากความเห็นต่างทางการเมือง จุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนในเวทีระหว่างประเทศของไทยก็จะไม่มีพัฒนาการ

ในปัจจุบัน ประเทศไทยพยายามที่ลงสมัครสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชน ขณะที่ประเทศไทยยังพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ประเทศไทยก็ได้ถูกจับจ้องจากเวทีระหว่างประเทศ หากว่าประเทศไทยได้เป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯ ความน่าเชื่อถือของ UN ก็จะอ่อนแลง เพราะว่าประเทศไทยมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างต่อเนื่อง เช่น การปราบปรามด้วยกฎหมายแบบตามใจผู้มีอำนาจต่อฝ่ายค้านและผู้ที่วิจารณ์ตน ไม่ว่าผลลัพธ์ในประเด็นนี้จะเป็นอย่างไร แต่การละเมิดสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยจะส่งผลต่อผลลัพธ์ในการได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนฯแน่นอน

ยิ่งไปกว่านั้น การละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทยยังส่งผลโดยตรงต่อประเด็นที่เป็นผลประโยชน์ที่จับต้องได้ เช่น ข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-อียู ซึ่งประเทศไทยต้องการให้ประเทศในกลุ่มอียูยกเว้นวีซ่าให้กับพลเมืองชาวไทย หรือการเข้าเป็นสมาชิก OECD ของไทยก็จะได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้

รัฐบาลไทยอยู่ในอำนาจมาเกือบครบ 1 ปี คุณให้คะแนนนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลอยู่ในระดับใด ?

มันยากที่จะวัดได้ เพราะว่าคุณต้องถามตัวเองว่าเราใช้มาตรฐานประชาธิปไตยแบบไหนที่เราเอามาเป็นเกณฑ์ในการให้คะแนน เช่น รัฐบาลเข้ามาสู่อำนาจได้อย่างไร มันถูกทำให้เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายต่างประเทศในเชิงคุณค่าอย่างไร ถ้าตัดสินนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลเศรษฐาด้วยการเทียบกับมาตรฐานที่หากพรรคก้าวไกลสามารถเข้าสู่อำนาจได้ แบบนี้ถือว่ารัฐบาลล้มเหลว เพราะพวกเขาไม่สามารถนำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชน, ประชาธิปไตยและนิติรัฐมาเป็นเครื่องมือในการบรรลุเป้าหมายเชิงนโยบายที่ประเทศไทยต้องการได้ เครื่องมือเหล่านี้หายไป เพราะรัฐบาลเน้นแต่การทูตเชิงผลประโยชน์ เช่น การค้า การช่วยเหลือ และการทหารเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายของตน

รัฐบาลเศรษฐาพยายามแสดงให้เวทีต่างประเทศเห็นว่ารัฐบาลไทยคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แต่ความพยายามเหล่านี้ล้มเหลว เมื่อรัฐบาลเศรษฐากล่าวสุนทรพจน์ที่เวที UN กล่าวว่าประเทศกำลังกลับมามีจุดยืนบนเวทีโลก และประโยคช่วงแรกของสุนทรพจน์นี้ก็อ้างถึงเรื่องสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม ภายใน 24 ชั่วโมงหลังจากที่เศรษฐากลับประเทศ ศาลรัฐธรรมนูญก็ได้ตัดสิทธิทางการเมืองของอดีตนักการเมืองของพรรคอนาคตใหม่ และศาลอาญาได้ละเมิดสิทธิประกันตัวต่อนักกิจกรรมทางการเมืองที่เป็นที่สนใจในสังคม สิ่งนี้ทำให้เห็นว่ารัฐบาลมีแต่เพียงลมปากว่าจะดูแลเรื่องสิทธิมนุษยชน และพรรคเพื่อไทยเองก็จะได้ประโยชน์จากการยุบพรรคและตัดสิทธินักการเมืองของพรรคก้าวไกล

ถ้าพรรคก้าวไกลได้กลายเป็นรัฐบาล อะไรคือนโยบายต่างประเทศในอุดมคติของคุณ

ก่อนที่ผมจะตอบคำถามนี้ ผมต้องบอกก่อนว่าผมอยากจะพูดจากจุดยืนของตัวเอง ไม่ใช่ในฐานะตัวแทนของพรรคก้าวไกล หรือสถาบันใดที่ผมเกี่ยวข้อง ผมเป็นนักวิเคราะห์นโยบายที่มีจุดยืนที่มองต่ออนาคตของประเทศไทยเหมือนกับก้าวไกล แต่ผมยังมีอิสระในความคิดและข้อเขียนของผม

นโยบายต่างประเทศในอุดมคติของผม (หากว่าพรรคก้าวไกลได้อยู่ในอำนาจ) จะมีส่วนผสมระหว่างวิธีการเชิงคุณค่าและวิธีเชิงผลประโยชน์เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของประเทศให้ได้ ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นมหาอำนาจระดับกลาง (อ่านประเด็นนี้อย่างละเอียดได้ที่บทความของอาจารย์ปวินชื่อว่า “Roots of Resilience: Interests and Values in Thai Foreign Policy”)

ตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยไม่สามาถใช้นโยบายเชิงคุณค่าเพื่อดึงดูดให้ส่วนอื่นๆ ของโลกมาเคารพเรา ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันแม้จะมีถูกยอมรับในด้านประชาธิปไตยที่ดีขึ้น แต่ประเทศไทยก็ยังไม่เป็นที่น่านับถือเพียงพอ หรือมีสถานะที่น่าเชื่อถือพอที่จะให้ประเทศอื่นๆ ยอมปรับตัวให้ตัวเองเป็นประชาธิปไตยหรือเคารพสิทธิมนุษยชนมากขึ้น

ถ้าพรรคก้าวไกลได้เข้าสู้อำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2023 นโยบายต่างประเทศจะมีฐานคือการใช้หลักการประชาธิปไตยเพื่อบรรลุเป้าหมาย สิ่งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สนใจความสำคัญของการต่อรองทางการทูต เพราะอย่างไรประเทศไทยก็ยังถือว่าเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียนและมีกำลังทางทหารที่ส่งเสริมนโยบายต่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม การมีจุดยืนที่เข้มแข็งด้านประชาธิปไตยจะเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่ใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายของประเทศด้วย

สำหรับนโยบายต่างประเทศ พรรคก้าวไกลมีแนวทางที่ชัดเจนโดยใช้หลักการ 3 R ประการแรก Revive ประการที่สอง Rebalance ประการสุดท้าย Recalibrate หลักการเหล่านี้คือส่วนผสมระหว่างฐานคิดเชิงผลประโยชน์กับเชิงคุณค่า

ประการแรก การฟื้นคืนชีพ (Revive) คือการฟื้นคืนบทบาทของประเทศไทยต่ออาเซียน การจะทำสิ่งนี้ได้ประเทศไทยต้องได้รับการยอมรับจากภูมิภาคจากการมีจุดยืนที่ชัดเจน รัฐบาลที่มีจากการเลือกตั้งที่ได้รับอาณัติมาจากประชาชนจะช่วยเสริมความพยายามนั้น แถลงการณ์ข้อเสนอของพรรคก้าวไกลมีจุดยืนชัดเจนว่าจะให้มีการสร้างศาลด้านสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ซึ่งศาลนี้จะอยู่บนหลักการ ASEAN Minus X (หลักการนี้ใช้เมื่อเกิดเหตุจำเป็น ประเทศสมาชิกบางประเทศอาจร่วมกันดำเนินการบางอย่างตามมติเสียงข้างมากโดยไม่ต้องรอให้ทุกประเทศในอาเซียนยินยอมก่อน) หลักการนี้จะทำให้ประเทศในอาเซียนที่มีจุดยืนคล้าย ๆ กันในภูมิภาคสามารถริเริ่มบางอย่างร่วมกันได้ หรืออย่างน้อยก็เปิดพื้นที่พูดคุยกันก่อนได้

ประการที่สอง จุดสมดุลใหม่ (rebalance) ประเด็นนี้เกี่ยวข้องการรักษาความเป็นอิสระเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic autonomy) ซึ่งทำให้ประเทศไทยจะมีความสัมพันธ์กับมหาอำนาจใดจะขึ้นอยู่กับผลประโยชน์มากกว่าที่จะต้องเลือกข้างระหว่างจีนหรือสหรัฐ พรรคก้าวไกลจะสร้างมาตรฐานที่สูงขึ้นสำหรับนโยบายต่างประเทศเชิงคุณค่าให้มากกว่าที่ประเทศสหรัฐฯทำ เช่น พรรคก้าวไกลมีจุดยืนต่อต้านการส่งระเบิดลูกปลายให้กับประเทศยูเครนของประธานาธิบดีไบเดน เนื่องจากระเบิดลูกปลายเป็นการโจมตีแบบหว่านแห ซึ่งสิ่งนี้ขัดกับหลักการพื้นฐานด้านความมั่นคงของมนุษย์และขัดต่อหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยระเบิดพวง (Convention on Cluster Munitions) ซึ่งหวังว่าประเทศไทยจะลงนามเข้าร่วมอนุสัญญานี้ นอกจากนี้ ประเทศพม่าเองก็ใช้ระเบิดลูกปลายใส่พลเมืองของตัวเองทำให้มีผู้ลี้ภัยทะลักเข้ามาในไทย การที่ไทยไม่สามารถคัดค้านการตัดสินใจของสหรัฐฯจะทำให้ไทยสูญเสียความน่าเชื่อถือในการคัดค้านวิธีการทำสงครามของรัฐบาลทหารพม่า พรรคก้าวไกลเชื่อว่า ประเทศไทยสามารถจัดการกับความตึงเครียดเชิงภูมิรัฐศาสตร์ในฐานะประเทศมหาอำนาจระดับกลางได้ สิ่งนี้ต่างจากพรรคเพื่อไทยและนักคิดนโยบายต่างประเทศที่เป็นอนุรักษ์นิยมที่มองว่าประเทศไทยเป็นเพียงรัฐขนาดเล็ก

ประการสุดท้าย เปลี่ยนวิธีคิด (Recalibrate) สิ่งนี้คือการเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับจุดยืนของประเทศไทยในเวทีโลก หากมองว่าประเทศไทยเป็นมหาอำนาจระดับกลาง นั่นก็หมายความว่ายังเหลือพื้นที่หลายส่วนที่ประเทศไทยสามารถมีบทบาทนำได้ เช่น การที่สองพรรคใหญ่สนับสนุนร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สิ่งนี้อาจจะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสนับสนุน Soft power ของไทยด้านสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) ในเชิงระหว่างประเทศ ประเทศไทยต้องคิดให้มากกว่าการเพิ่มสิทธิให้กับปัจเจกชนที่เป็น LGBTQ+ แต่จะต้องนำประเด็นนี้มาเพิ่มอิทธิพลทางการเมืองให้กับประเทศไทย

อีกประเด็นที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนวิธีคิดได้คือการจัดการกับอาชญาการข้ามชาติ ศูนย์กลางสแกมเมอร์ที่ตั้งอยู่ที่ประเทศเมียนมาร์และกัมพูชาต่างส่งผลกระทบต่อผู้คนทั่วโลก ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ทั้งประเทศสหรัฐฯและจีนต่างก็สนใจ เพราะทั้งสองต่างได้รับผลกระทบจากสแกมเมอร์ พรรคก้าวไกลเสนอว่าให้ใช้ประเด็นที่สหรัฐและจีนต้องพบเจอเป็นโอกาสให้สามารถร่วมมือกันได้ และใช้ประเทศไทยเป็นตัวกลางในความร่วมมือนี้

สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยที่กำลังแย่ลง กลุ่มประเทศหลักที่สนับสนุนสิทธิมนุษยชนอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปควรมีบทบาทอย่างไรเพื่อที่จะทำให้รัฐบาลไทยคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การกดดันจากภายนอกเช่นนี้จะได้ผลหรือไม่ ?

ผมขอพูดก่อนว่าสิ่งที่ผมพูดในที่นี้คือจุดยืนส่วนตัว สิ่งที่ผมจะพูดต่อจากนี้เป็นความศรัทธาและความหวังต่อประเทศไทยที่ผมอยากให้เป็น

ผมคิดว่าความเชื่อมโยงและการตรวจสอบจากระหว่างประเทศยังเป็นเรื่องที่สำคัญ นั่นคือเหตุผลที่ทำไมถึงมีการถกเถียงในประเด็นที่ประเทศไทยจะเป็นคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ แม้ว่าประเทศไทยจะมีสถิติที่ไม่ค่อยดีในเรื่องสิทธิมนุษยชน เพราะว่าการที่ประเทศไทยได้เป็นคณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนฯ จะทำให้ประเทศไทยถูกตรวจสอบและถูกกดดันให้ทำหน้าที่นั้นให้ถึงที่สุด

สิ่งที่ผมหวังว่าประเทศที่มีวิธีคิดด้านประชาธิปไตยจะเข้าใจว่าวิธีการปราบปรามของรัฐได้เปลี่ยนไปแล้ว ระบอบประชาธิปไตยทุกวันนี้ล้มลงได้ด้วยการปราบปรามด้วยองค์กรตุลาการมากกว่าที่จะเกิดจากการยึดอำนาจของทหารการที่ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายทำให้ฝ่ายค้านหรือผู้เห็นต่างทางการเมืองหยุดเคลื่อนไหวเป็นวิธีที่ดีกว่าการทำรัฐประหาร เพราะทำให้ผู้มีอำนาจสามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบอันเลวร้ายจากการทำรัฐประหารได้ การที่สหรัฐฯและสหภาพยุโรปจัดประเภทการโจมตีทางกฎหมายเป็นการทำลายผู้เห็นต่างทางการเมืองก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีผลลัพธ์อะไรที่จับต้องได้ ดูเหมือนว่าจะไม่มีความหวังอะไรจากการจัดประเภทแบบใหม่นี้อย่างน้อย ฝ่ายผู้มีอำนาจฉลาดในการค่อยๆ ปรับวิธีการปราบปรามผู้เห็นต่างเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบระหว่างประเทศ หนังสือเรื่อง Tyranny of the Minority ของ Steven Levitsky และ Danial Ziblatt จะอธิบายปรากฎการณ์นี้ได้ดีว่าประเทศไทยไม่ใช่ที่เดียวที่พบเจอปัญหาเดียวกัน

ผมไม่ได้หวังว่าระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศจะมีพัฒนาการมากขึ้น และยอมรับในไม่ช้าว่า การปราบปรามแบบนี้เป็นภัยคุกคามอย่างร้ายแรงต่อระบอบประชาธิปไตยเหมือนกัน ยิ่งไปกว่านั่น ประเทศสหรัฐอเมริกามีความน่าเชื่อถือในด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนน้อยลงก็ยิ่งทำให้การปฏิรูประบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่อาจเกิดขึ้นในเร็ววัน เพราะการที่สหรัฐสนับสนุนอิสราเอลแก้แค้น (ต่อกลุ่มฮามาส) อย่างไม่ได้สัดส่วนจนทำให้พลเรือนเสียชีวิตและการที่ Donald Trump อาจจะกลับมาประธานาธิบดีอีกครั้ง

ประเทศจีนก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลเช่นกัน ผมเชื่อว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาจีนได้ทำให้ประเทศกลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยต้องระวังมากขึ้น เมื่อพวกเขาเว้นระยะความสัมพันธ์กับรัฐบาลประยุทธ์ สิ่งนี้ทำให้ประเทศจีนรีบเข้ามาแทนที่ ดังนั้น ทุกวันนี้เราจะเห็นว่าประเทศไทยกำลังมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับจีนและรัสเซียมากขึ้นทุกวัน แม้ว่าสหรัฐฯ จะเป็นพันธมิตรเก่าแก่ของเราก็ตาม บทเรียนนี้ทำให้สหรัฐและสหภาพยุโรปเชื่อว่าพวกเขาไม่สามารถเข้มงวดเรื่องสิทธิมนุษยชนกับประเทศไทยมากเกินไป แม้ว่าสถานะด้านสิทธิมนุษยชนในไทยจะแย่ลงก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่ายังมีประเทศที่สนับสนุนประชาธิปไตยจะแสดงความกล้าหาญทางจริยธรรม แต่ก็ยังพยายามสานสัมพันธ์กับประเทศไทย สิ่งนี้จำเป็นต้องมีความสามารถในทางการทูตและการที่จะใช้ทั้งไม้แข็งและไม้อ่อนเพื่อกระตุ้นให้ประเทศไทยมีความรับผิดชอบในฐานะที่กำลังจะได้เป็นคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนฯในไม่ช้า นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายให้ประเทศไทยเคารพสิทธิของพลเมืองตัวเองที่ประกาศในรัฐธรรมนูญและสนับสนุนให้มีจุดยืนเกี่ยวกับระเบียบโลกแบบเสรีนิยม ประเทศที่สนับสนุนประชาธิปไตยยังจำเป็นต้องมองเป้าหมายระยะยาวในการกำหนดผลประโยชน์ร่วมกับประเทศไทย

ที่มา : https://112watch.org/fuadi-pitsuwan-on-thailands-human-rights-policy/

112 WATCH เป็นการรวมตัวของผู้คนและองค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยในประเทศไทย โครงการนี้ริเริ่มโดย ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ศาสตราจารย์จากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต เมื่อราวปลายปี 2564 โดยจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรในการทำงานสื่อสารเพื่อหยุดยั้งการใช้มาตรา 112 ผ่านช่องทางหลักคือ https://112watch.org/

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net