Skip to main content
sharethis

'ผ่านมา 2 รัฐบาล 5 ปี แต่เรื่องไม่คืบ' อดีตลูกจ้าง 3 บริษัทสิ่งทอ เดินขบวนมาเคาะประตูทำเนียบ เรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี 'แพทองธาร' และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เปิดโต๊ะหารือ แก้ปัญหาอดีตลูกจ้างถูกค้างค่าชดเชย-ค่าจ้าง สูงถึง 279 ล้าน 

 

8 ต.ค. 2567 ผู้สื่อข่าวรายงานวันนี้ (8 ต.ค.) เวลา 10.34 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ถนนพิษณุโลก ขบวนอดีตลูกจ้าง 3 บริษัทสิ่งทอ ประกอบด้วย เอเอ็มซีสปินนิ่ง อัลฟ่าสปินนิ่ง และ บอดี้แฟชั่นไทยแลนด์ เดินทางเพื่อขอเปิดเจรจากับ ครม. นำโดย แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี หลังแรงงานถูกทยอยเลิกจ้างตั้งแต่ปี 2562 แต่นายจ้างกลับค้างค่าชดเชย-ค่าจ้าง-ค่าล่วงเวลา และอื่นๆ จนปัจจุบัน รวมทั้งหมด 279 ล้านบาท (ไม่รวมค่าดอกเบี้ย)

อดีตลูกจ้าง 3 บ.สิ่งทอ เคาะประตูทำเนียบ ขอ ครม.เปิดโต๊ะหารือแก้ปัญหาถูกลอยแพค้างค่าชดเชย 279 ล้าน

ประมวลภาพบรรยากาศการชุมนุม ผู้อ่านสามารถคลิกที่ลูกศร ซ้าย-ขวา เพื่อเลื่อนดูภาพอื่นๆ

เบื้องต้น แรงงานมีข้อเรียกร้องโดยคร่าว ดังนี้ 1. ให้มีการแก้ไขปัญหาลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างไม่จ่ายค่าชดเชย โดยดึงงบฯ รายจ่ายกลาง และให้รัฐบาลไปตามเงินที่เหลือกับนายจ้าง หรือนำทรัพย์สินของนายจ้างที่ยึดมาขายทอดตลาด

2. ดำเนินคดีกับนายจ้างก่อนหมดอายุความปี 2568 เนื่องจากนายจ้าง 3 บ. มีพฤติการณ์หลบเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้าง ค่าดอกเบี้ย และอื่นๆ และหวังให้เป็นเยี่ยงอย่างแก่คดีอื่นๆ

3. เพิ่มเพดานเงินสงเคราะห์ลูกจ้างจาก 60% เพิ่มเป็น 100% ของเงินค่าจ้างค้างจ่าย เพื่อนำมาเยียวยา และบรรเทาปัญหาอดีตลูกจ้าง

และ 4. เรียกร้องให้กระทรวงแรงงานมีการกำหนดมาตรการป้องกันกรณีนายจ้างไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยให้เป็นมาตรฐาน โดยอาจให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างสามารถลูกจ้างได้เต็มจำนวน หรือให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงให้กับการเลิกจ้างด้วยการจัดเก็บเงินจากนายจ้างล่วงหน้า

ก่อนหน้านี้ ธนพร วิจันทร์ สมาชิกเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน เคยยื่นข้อเสนอถึงกระทรวงแรงงานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว (2566) ให้กระทรวงแรงงาน และคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพิ่มเพดานจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้าง โดยขยายเพดานจากเดิม 60% เพิ่มเป็น 100% และข้อเสนอให้มีการจัดตั้งกองทุนประกันความเสี่ยงเลิกจ้างโดยการเก็บเงินจากนายจ้าง โดยหากมีการเลิกจ้าง ก็จะนำเงินกองทุนฯ ตรงนี้มาจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง

แต่อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการไตรภาคีของกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้างไม่เห็นด้วยกับทั้ง 2 ข้อเสนอ โดยให้เหตุผลว่า เงินในกองทุนฯ ไม่เพียงพอที่จะจ่ายให้อดีตลูกจ้างทั้ง 3 บริษัทได้เต็มเพดาน 100% เนื่องจากมีเงินเพียง 149 ล้านบาทเศษ

ทางผู้นำขบวนการแรงงานจึงเสนอให้กระทรวงแรงงาน ยื่นเรื่องขอที่ประชุม ครม.เบิกงบประมาณรายจ่ายกลาง เพื่อมาบรรเทาความเดือดร้อนของอดีตลูกจ้าง แต่เรื่องดังกล่าวยังคงไม่ได้รับการเสนอเข้าที่ประชุม

นอกจากนี้ ในเรื่องการติดตามดำเนินคดี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) อัพเดทล่าสุด เมื่อ 23 ก.ค. 2567 ได้แจ้งว่าตำรวจไม่สามารถทำอะไรกับคดีความนี้ได้แล้ว เนื่องจากทางกรมบังคับคดีไม่มีอะไรเหลือให้ยึดมาขายทอดตลาดได้แล้ว 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

หลังจากนั้นได้มีการผลัดกันขึ้นปราศรัยถึงปัญหา และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้แรงงานโดยปีใหม่ รัฐวงษา แกนนำตัวแทนแรงงานบอดี้แฟชั่น ปราศรัยหวังว่า แพทองธาร จะช่วยเหลือคนงาน ถ้าไม่เดือดร้อน ก็ไม่มา เลยอยากให้นายกมาดูแลพี่น้องแรงงานโดยด่วน

นอกจากนี้ คนงานยังได้หยิบยกปัญหาความล่าช้าของการติดตามค่าชดเชยนายจ้าง โดยตอนนี้มีแรงงานเสียชีวิตอย่างน้อย 2 ราย โดยยังไม่ได้รับค่าชดเชยจากนายจ้าง ซึ่งรายล่าสุดเพิ่งเสียชีวิตเมื่อ ส.ค. 2567

เวลาประมาณ 11.30 น. สมคิด เชื้อคง รองเลขานายกฯ ฝ่ายการเมือง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และภาคส่วนอื่นๆ ได้ลงมารับหนังสือจากปีใหม่ ตัวแทนแรงงาน จากนั้น ได้เชิญแรงงานทั้งหมดขึ้นไปหารือที่ห้องประชุม 3 อาคารสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อหารือการแก้ไขปัญหาต่อไป

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net