Skip to main content
sharethis
  • ประชาไทสัมภาษณ์ทีมผู้จัดนิทรรศการ ‘ซ่อน(ไม่)หา(ย)’ อีเวนต์ศิลปะที่บอกเล่าเรื่องราวว่ารัฐไทยซ่อนอะไรเอาไว้ผ่านสิ่งของและเกมครอสเวิร์ด โดยคำใบ้จะถูกซ่อนไว้ในแต่ละจุดของนิทรรศการ รอให้ผู้ชมมาเดินดูและค่อยๆ เติมคำตอบลงไปทีละช่อง
  • นิทรรศการจัดแสดงแล้ววันนี้ถึง 27 ต.ค. 2567 ที่ KINJAI CONTEMPORARY (MRT สิรินธร ทางออก 1)
  • เวลาเปิดทำการ: วันอังคาร - วันอาทิตย์  12.00 - 20.00 น. (ปิดทำการวันจันทร์)

 

 

ที่มาของชื่อนิทรรศการ

การที่เราใช้ชื่อนิทรรศการว่า ซ่อน(ไม่)หา(ย) อาจทำให้หลายๆ คนก็เข้าใจไปว่ามันเป็นนิทรรศการที่ทำเรื่องคนถูกอุ้มหายหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้ว เรารู้สึกว่าชื่อมันครอบคลุมถึงการพยายามของรัฐหรือผู้มีอํานาจในการทําบางอย่างเพื่อซ่อนเรื่องราว ซ่อนคนหรือซ่อนข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เขาไม่อยากให้พูดถึง

แล้วก็ในขณะเดียวกันชื่อมันก็เมนชั่นถึงคนทั่วไปแบบพวกเราทุกคนนี่แหละ ที่เราจะต้องพูดถึงเรื่องราวของบุคคลเหล่านี้ บอกเล่าเรื่องราวของเขาไม่ให้มันหายไป

ส่วน Presumption of Innocence ที่เป็นชื่อภาษาอังกฤษต่อท้าย มาจากแรกเริ่มที่ตัวโครงการนี้มันเคยมีชื่อว่า “สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์มาก่อน” ชื่อนี้จึงเป็นหลักการที่เราต้องการเน้นย้ำในการทํานิทรรศการครั้งนี้เพราะว่าหนึ่งในปัญหาที่มันส่งผลกระทบต่อคนที่โดนคดี 112 ก็เกิดมาจากการที่หลักการนี้มันไม่เคยถูกใช้จริงกับคนที่โดนคดีทางการเมือง ทำให้ในนิทรรศการนี้เรายิ่งจำเป็นต้องตั้งคำถามกับมัน

ทำไมถึงเลือกนำสิ่งของมาจัดแสดง

โจทย์เราต้องการเล่าเรื่องราวของคน แต่ว่าเราก็ไม่อยากให้มันเป็นข้อความยาวเป็นพรืดๆ ประกอบกับข้อดีของการใช้สิ่งของคือมันช่วยเล่าเรื่องของคนได้ดีขึ้น

แล้วพอเราตั้งใจจะเล่าเรื่องของคน เราก็ไม่ได้อยากให้เห็นว่าเป็นเรื่องของนักเคลื่อนไหวคนนั้นคนนี้ในลักษณะที่เจาะจง เพราะว่าหลายๆ ครั้งเราเห็นว่าพอมีนักเคลื่อนไหวที่เปิดหน้าสู้ คนในสังคมก็เหมือนตัดสินไปก่อนที่จะได้รู้จักตัวตนของเขาด้วยซ้ำ ในนิทรรศการจึงอยากสื่อสารเรื่องราวของพวกเขาออกมาโดยที่ไม่ได้ไปเน้นว่าเจ้าของเรื่องราวนั้นคือใคร แล้วจากนั้นก็ปล่อยให้ผู้เข้าชมนิทรรศการได้รู้สึกกับมัน

 

 

เห็นว่ามีประโยคบนฝาผนังแต่ไม่ได้บอกว่าใครพูด ผู้จัดจงใจไม่บอกถูกไหม

ใช่ เราไม่ได้บอกตรงๆ ว่าเจ้าของประโยคและเจ้าของเรื่องราวพวกนี้คือใคร แต่เราคิดว่าคนที่เขารับรู้เรื่องข่าวสารการเมืองก็น่าจะรู้ว่าเป็นเรื่องราวของใคร

หรือถ้าเป็นกลุ่มที่ไม่ค่อยได้ตามข่าว ก็อาจจะรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง หรือไม่รู้เลย ซึ่งก็ไม่เป็นใคร ไม่ได้คาดหวังว่าคนที่เข้ามาดูจะต้องมีความรู้มาก่อน แต่ถ้าหากว่าหลังจากที่เขาดูแล้วเขารู้สึกสนใจมากพอ มันก็อาจจะเป็นแรงกระตุ้นให้เขาไปค้นหาข้อมูลดูเองต่อก็ได้

เพราะว่าเรารู้สึกว่าปัญหาหนึ่งที่คนที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องเชิญก็คือ พอคนในสังคมเรารับรู้ว่าคนนี้เป็นนักเคลื่อนไหวแล้วมันก็อาจทำให้ถูกมองด้วยอคติบางอย่าง ซึ่งมันอาจไปลดทอน เบียดบังประเด็นที่พวกเขาต้องการจะสื่อสารไปหมดเลย เราก็เลยมองว่าจะเป็นไปได้ไหม ถ้าเราจะเอาเรื่องราวของพวกเขามาสื่อสารโดยที่ไม่ต้องบอกว่าคนนี้คือใคร คนนี้ชื่ออะไร เพื่อลดอคติบางอย่างต่อการรับรู้และประเด็นที่พวกเขาต้องการส่งเสียง

 

 

มีแผ่นกระดาษที่เป็นเกมครอสเวิร์ดมาให้ผู้เข้าชมทำไปด้วยในขณะเข้าชมงาน ทำไมต้องเป็นครอสเวิร์ด

การใช้เกมครอสเวิร์ดเปรียบได้กับสังคมที่เราอยู่ มีกฎเกณฑ์บางอย่างที่ถูกต้องให้คนต้องเดินตาม บวกกับในแง่ของการทํานิทรรศการ เราต้องการให้คนที่เข้ามาดู มีปฏิสัมพันธ์กับงานด้วย ให้เขาได้ค้นหาคำตอบเพื่อที่จะกรอกมันลงไปให้ครบช่องให้ได้ ครอสเวิร์ดจึงมีหน้าที่คล้ายกับตัวกลาง ให้เขาไล่ทำไปตามแต่ละข้อ เพื่อหาว่าสุดท้ายแล้วคําตอบมันคืออะไร

ความคาดหวังของผู้จัด

ความคาดหวังอย่างแรกในการเล่นเกมครอสเวิร์ดครั้งนี้คือ อย่างน้อยคุณได้รับรู้เรื่องราวของคนเหล่านี้ เราว่ามันน่าจะทําให้เขาสะท้อนใจบางอย่าง เพราะว่าเรื่องราวเหล่านี้มันก็คือความฝันความหวังของแต่ละคนที่อยากเห็นสังคมดีขึ้น ซึ่งเราว่าทุกคนมีจุดร่วมตรงนี้กันอยู่

จากที่ได้พูดคุยกับผู้เข้าชมนิทรรศการที่ได้มาลองเล่นแล้ว พบว่ามันให้ความรู้สึกหลากหลายมาก ทุกคนมีความรู้สึกที่แบบแทบไม่เหมือนกันเลย บางคนแบบรู้สึกผิดที่ตอบครอสเวิร์ดไม่ได้ เพราะว่าเขาอาจจะเคยตามข่าวม็อบแต่พอถึงจุดหนึ่งก็ไม่ค่อยได้ตาม บางคนก็ตามข่าวนะ แต่ก็งงว่าทําไมตัวเองตอบไม่ได้ เป็นความรู้สึกเหมือนกับว่าเขายังใส่ใจเรื่องนี้ไม่มากพอ

สิ่งนี้เซอร์ไพรส์เราไหม

เซอร์ไพรส์ (ตอบทันที) เพราะว่าบางความรู้สึกที่มันเกิดขึ้นกับผู้ชมบางกลุ่มเราไม่ได้คาดคิดมาก่อนว่ามันจะเกิด ความรู้สึกเหล่านี้แล้วแล้วจริงจริงก็ดีเหมือนกันที่ที่ได้พูดคุยกันเพราะว่า

อย่างเช่นที่ยกตัวอย่างไปว่าเขารู้สึกผิด ซึ่งผู้จัดงานหรือศิลปินเนี่ยก็ไม่ได้ตั้งใจให้ใครรู้สึกผิด เพราะเราก็ไม่ได้คาดหวังว่าทุกคนจะตอบคําถามได้ หรือหวังว่าทุกคนจะได้รับคําตอบแบบเดียวกันหมด เพราะว่าสุดท้ายแล้วมันเป็นงานศิลปะ แล้วแต่ว่าแต่ละคนเขารับสารได้แค่ไหน เขาอยากตีความไปยังไง มันก็เป็นอิสระของแต่ละคนเหมือนกัน

นิทรรศการนี้ต้องการสื่อสารกับใคร

กลุ่มเป้าหมายวางไว้กว้างๆ ประมาณ 2 กลุ่ม ก็คือกลุ่มแรกที่พอรับรู้แหละว่ามาตรา 112 มันมีปัญหาอยู่ แต่ว่าอาจจะไม่ได้รู้ลึกว่าคนที่โดนคดีได้รับผลกระทบอะไรต่อชีวิตบ้าง ส่วนอีกกลุ่มนึงก็คือ ไม่มีความรู้ในเรื่องนี้มาก่อนเลย หรือไม่รู้สึกว่า ม.112 มีปัญหา

สิ่งที่เราสื่อสารออกไปหรือว่าเรื่องราวหลักในนิทรรศการก็จะเป็นเรื่องราวชีวิตของคนๆ หนึ่ง แสดงให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้างกับตัวคนๆ นั้น

สิ่งที่น่าสนใจคือ ความที่แกลเลอรีตั้งอยู่ติดกับโรงเรียน แล้วก็อยู่ใกล้กับมหาวิทยาลัย ทำให้กลุ่มผู้ชมที่เข้ามาเป็นนักศึกษากับนักเรียนเยอะกว่าที่เราคาดไว้ ซึ่งหลายๆ คนก็ให้บอกเราว่า เขาไม่เคยรับรู้เรื่องราวพวกนี้มาก่อน พอเขาได้รู้มันก็ทําให้เขาสะเทือนใจ เราก็เลยคิดว่า การที่ได้สื่อสารกับคนที่เขาอาจจะไม่ได้สนใจการเมืองแล้วทําให้เขาเห็นมันมากขึ้นน่ะ ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ทำให้รู้สึกว่ามันก็ประสบความสําเร็จเหมือนกัน

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net