Skip to main content
sharethis

อีก 15 วันหมดอายุความ กมธ.การกฎหมาย แถลงข่าว ตำรวจยังไม่สามารถตามตัวจำเลย/ผู้ต้องหาคดีตากใบได้สักคนเดียว และมีอีก 2 คนเดินทางออกนอกประเทศ ด้านหัวหน้าพรรคประชาชน เรียกร้องถึงนายกฯ ใช้การประชุม ASEAN+3 คุยกับญี่ปุ่น ติดตามจำเลยคดีตากใบ

 

10 ต.ค. 2567 เพจเฟซบุ๊ก The Reporters ถ่ายทอดสดออนไลน์วานนี้ (9 ต.ค.) กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติ และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.การกฎหมาย) แถลงต่อสื่อ หลังการประชุม กมธ.การกฎหมายฯ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาคดีสลายการชุมนุมหน้า สภ.ตากใบ เมื่อปี 2547 และทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 ราย เบื้องต้นศาลนราธิวาส ประทับรับฟ้องมีจำเลย 7 คน และคดีที่ สภ.หนองจิก จากเดิมพนักงานสอบสวนมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง แต่อัยการมีความเห็นแย้งสั่งฟ้อง คดีนี้มีผู้ต้องหา 7 ราย ทำให้ 2 คดีตากใบ มีจำเลย/ผู้ต้องหา รวมกันทั้งสิ้น 14 ราย

ประธาน กมธ.การกฎหมายฯ เผยว่า ตอนนี้ตำรวจยังไม่สามารถตามตัวจำเลยและผู้ต้องหาได้เลยสักคน และมีจำเลยอย่างน้อย 2 คนเดินทางไปต่างประเทศ และหากไม่สามารถตามตัวจำเลยและผู้ต้องหาทั้งหมดมาได้ภายในวันที่ 25 ตุลาคมนี้ คดีจะไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ และจะหมดอายุความ

กมลศักดิ์ กล่าวหลังการประชุมติดตามความคืบหน้าของคดีตากใบ ของ กมธ.การกฎหมายฯ ซึ่งวันนี้มีตำรวจภูธร ภาค 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กมธ.ความมั่นคงฯ สำนักงานอัยการภาค 9 สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ เข้าร่วม โดยสรุปว่า ทั้ง 14 รายตามที่ออกหมายจับนั้น ตำรวจได้ไปติดตามภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน แต่ไม่พบตัว และเมื่อประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) พบข้อมูลมีจำเลย 2 รายเดินทางออกนอกประเทศ แต่ขอสงวนชื่อและนามสกุล เบื้องต้น มีการประสานงานกับกรมการต่างประเทศเพื่อออก 'หมายแดง' แล้ว เหลือเพียงขั้นตอนการแปล

ในส่วนผู้ต้องหาที่ยังรับราชการ 12 คน ตำรวจแจ้งว่ามีการประสานงานไปยังผู้บังคับบัญชาเพื่อให้มามอบตัวแล้ว แต่ได้รับการแจ้งว่าผู้ต้องหาทั้ง 12 รายไม่มาทำงาน ทำให้ตอนนี้ยังไม่สามารถตามตัวจำเลย/ผู้ต้องหาได้เลยสักคนเดียว

อย่างไรก็ดี กมลศักดิ์ กล่าวต่อว่า ถ้าหากตามตัวมาได้ในวันที่ 25 ตุลาคมพอดี ได้มีการสอบถามทางอัยการว่าจะส่งฟ้องทันหรือไม่ ซึ่งทางอัยการเผยว่า เขาร่างสำนวนเสร็จแล้ว จับคนไหนมาวันสุดท้าย อัยการพร้อมจะยื่นฟ้องทันที

แนะนายกฯ ใช้การประชุม ASEAN+3 คุยกับญี่ปุ่นตามตัวจำเลย

วันนี้ (10 ต.ค.)  ที่ห้องแถลงข่าวสภาผู้แทนราษฎร ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุธ หัวหน้าพรรคประชาชน แถลงข่าวเรียกร้องให้แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ใช้โอกาสระหว่างประชุมอาเซียน + 3 คุยกับประเทศญี่ปุ่นตามตัวจำเลยคดีตากใบ

ทั้งนี้ การประชุมอาเซียน + 3 ประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน บวกกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุธ (กลาง)

สืบเนื่องจากวานนี้ (9 ต.ค.) กมลศักดิ์ ลีวาเมาะ สส.พรรคประชาชาติ และประธาน กมธ.การกฎหมายฯ แถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์การติดตามจับกุมจำเลย/ผู้ต้องหาคดีตากใบ 14 คน และพบว่ามีจำเลย 2 คนที่กำลังเดินทางไปต่างประเทศที่อังกฤษ และญี่ปุ่น ซึ่งทุกหน่วยงานกำลังดำเนินงาน ในส่วนของตำรวจได้ออกหมายแดงของตำรวจสากล หรือ Interpol แล้ว อยู่ระหว่างขั้นตอนการแปล

ณัฐพงษ์ เผยว่า แม้ว่าไทยจะไม่มีสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับญี่ปุ่น แต่นายกรัฐมนตรีสามารถใช้ช่องทางทางการทูตระหว่างรัฐบาลต่อรัฐบาล หรือนายกรัฐมนตรีต่อนายกรัฐมนตรีได้ แต่กระบวนการค่อนข้างนาน อีกช่องทางที่มีประสิทธิภาพคือการขอให้ญี่ปุ่น และอังกฤษ เนรเทศจำเลยกลับไทย ในฐานะบุคคลผู้ไม่พึงประสงค์ของประเทศปลายทาง (Deportation) ซึ่งสามารถทำได้ เนื่องจากจำเลยถูกออกหมายจับในคดีที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรง

ณัฐพงษ์ จึงอยากเสนอแนะและเรียกร้องไปยังนายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้เวทีที่กำลังประชุมอยู่ใน ASEAN+3 ในเวลานี้ หารือนอกรอบกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในการขอดำเนินการทั้ง 3 ช่องทางอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะช่องทางการขอเนรเทศบุคคลผู้ไม่พึงประสงค์จากประเทศญี่ปุ่น กลับมาดำเนินคดีในประเทศไทยให้ทันก่อนหมดอายุความ

หัวหน้าพรรคประชาชน ได้รับทราบมาว่า นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย อันวาร์ อิบราฮิม ในฐานะว่าที่ประธานอาเซียนคนต่อไป ได้แสดงวิสัยทัศน์ที่จะส่งเสริมกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ จึงหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้เวทีเจรจาในครั้งนี้ในการส่งเสริมกระบวนการสันติภาพในชายแดนใต้ รวมถึงติดตามเรื่องของการติดตามตัวจำเลยกลับมาดำเนินคดี รวมถึงกระบวนการอื่นๆ ที่จะส่งเสริมสันติภาพในชายแดนใต้

"ย้ำอีกครั้งว่า ด้วยเวลาจำกัดเพียง 15 วันที่เหลือก่อนที่คดีจะหมดอายุความ วันนี้เราต้องการเจตจำนงทางการเมืองของผู้นำประเทศ ถ้าเราไม่สามารถใช้เวทีทางการทูตในการเจรจาให้ประเทศที่เข้าร่วมประชุม ASEAN+3 ในขณะนี้ช่วยกันส่งตัวจำเลยกลับมาดำเนินการในประเทศไทย ผมคิดว่าบาดแผลที่ลึกที่สุดของพ่อแม่พี่น้องในคดีตากใบ ก็จะไม่ได้รับการเยียวยา และกระบวนการสันติภาพในจังหวัดชายแดนใต้ก็จะไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น วันนี้จึงผมอยากให้นายกรัฐมนตรีได้แสดงเจตจำนงทางการเมือง อีกทั้งในโอกาสที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้มีตัวแทนในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ให้ท่านใช้เวทีในการเจรจาระหว่างประเทศ หารือนอกรอบกับผู้นำต่างชาติ เพื่อติดตามจำเลยกลับมาดำเนินคดีในคดีตากใบด้วย" ณัฐพงษ์ กล่าว

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net