Skip to main content
sharethis

ประชาไทพูดคุยกับประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในเชียงรายหลายจุด หลังผ่านพ้น 1 เดือนในวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ เพื่อร่วมถอดบทเรียนการสื่อสารและการแจ้งเตือนภัยว่ามีปัญหาตรงไหน รวมไปถึงในแรงงานข้ามชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษาไทยซึ่งมีจำนวนมาก สุดท้ายประชาชนในพื้นที่คาดหวังให้ปรับปรุงการแจ้งเตือนอย่างไร

 

เมื่อเริ่มจากดูเอกสารแผนเผชิญเหตุอุทกภัย จังหวัดเชียงราย ปี 2566-2567 ซึ่งประชาชนเข้าถึงได้ในเว็บไซต์ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย หน้าที่ 32-33 มีการระบุถึงระดับและแนวทางการแจ้งเตือนอุทกภัยให้กับประชาชนที่ให้ความสำคัญกับความเร็ว และความถูกต้องของข้อมูลทั้งแบบทางการและไม่ทางการ เช่น การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย วิทยุชุมชน ประกาศเสียงตามสาย และอื่นๆ

  • การแจ้งเตือนภัยผ่านทางวิทยุกระจายเสียง และสื่อมวลชนทุกสำนัก โดยมีสำนักงานประชาสัมพันธ์เชียงรายเป็นผู้รับผิดชอบ
  • การแจ้งเตือนภัยผ่านเสียงตามสายหรือหอกระจายข่าวของตำบล หมู่บ้าน และชุมชน โดยมีที่ทำการปกครองอำเภอ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
  • การติดตามสภาพภูมิอากาศ โดยมีกรมอุตุนิยมวิทยาเป็นผู้รับผิดชอบ ในการแจ้งเตือน โดยมีช่องทางแจ้งเตือน โทรศัพท์ โทรสาร แอปพลิเคชัน LINE และเว็บไซต์ของหน่วยงาน
  • การแจ้งเตือนปริมาณน้ำฝนประจำวัน มอบหมายให้ ส่วนสำรวจอุทกวิทยาที่ 2 (เชียงราย) ส่วนสำรวจอุทกวิทยาที่ 4 (เชียงแสน) หน่วยจัดการต้นน้ำ สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 (เชียงราย) โดยมีช่องทางแจ้งเตือน โทรศัพท์ โทรสาร แอปพลิเคชัน LINE และเว็บไซต์ของหน่วยงาน

อย่างไรก็ตาม ภายในเอกสารไม่ได้ระบุว่าต้องใช้ถ้อยคำแจ้งเตือนอย่างไร แต่มีแนวปฏิบัติตามความรุนแรงของสถานการณ์ตั้งแต่หนักลงมาถึงเบา รวม 5 ระดับ คือ แดงคือหนักสุด ส้ม เหลือง ฟ้า และเขียว ตามลำดับ

  • ระดับ ‘สีแดง’ คือระดับอันตรายที่สุดให้ประชาชนอยู่เฉพาะพื้นที่ปลอดภัยและรอฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัด
  • ระดับ ‘สีส้ม’ คือสถานการณ์เสี่ยงอันตรายสูง ต้องให้อพยพไปยังสถานที่ปลอดภัย และกำชับให้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
  • ระดับ ‘สีเหลือง’ คือ ภาวะเสี่ยงอันตราย มีแนวโน้มที่จะรุนแรงมากขึ้น ให้เตรียมตัวรับมือกับสถานกาณณ์ และปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด
  • ระดับ ‘สีฟ้า’ คือ สถานการณ์อยู่ระหว่างเฝ้าระวัง ต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด 24 ชั่วโมง และสุดท้าย สีเขียว คือสถานการณ์ปกติ ให้ติดตามข่าวสารเป็นประจำ

ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดเชียงราย เพื่อขอความเห็น และถอดบทเรียนเรื่องการแจ้งเตือนภัย แต่ทางเจ้าหน้าที่ขอปฏิเสธ เนื่องจากอยู่ระหว่างภารกิจฟื้นฟูเชียงรายจากภัยพิบัติน้ำท่วม

ถอดรหัส รัฐใช้วิธีไหน แจ้งเตือนประชาชน

อัศเจรีย์ นามวงศ์ กำนันผู้ใหญ่บ้าน บ้านแม่ข้าวต้ม อ.เมือง จ.เชียงราย อธิบายว่า สำหรับการแจ้งเตือนในพื้นที่ กำนันฯ จะได้รับข้อมูลจากที่ว่าการอำเภอเชียงราย และให้ประชาสัมพันธ์เสียงตามสายให้กับคนในหมู่บ้าน โดยการแจ้งเตือนใช้ทั้งการประกาศเสียงตามสาย และเพจเฟซบุ๊กของ อบต.บ้านแม่ข้าวต้ม

"13.00 น. น้ำทะลักเข้าสู่ตำบลบ้านแม่ข้าวต้มแล้ว อีกประมาณไม่ถึง 2 ชั่วโมง น้ำจะเข้าถึงตำบล ดังนั้นแล้ว ให้พ่อแม่พี่น้องทุกท่านอยู่เฝ้าระวังและช่วยกันเก็บข้าวของให้เรียบร้อย ท่านที่อยู่กับผู้ป่วยติดเตียงให้อพยพออกมาจากพื้นที่ โดยแจ้งผู้ใหญ่บ้านว่าท่านใดอยากออกมาบ้าง" ตัวอย่างของประกาศเสียงตามสายในบ้านแม่ข้าวต้มจากอัศเจรีย์

กำนันบ้านแม่ข้าวต้ม ระบุว่า การประกาศจะมีความถี่ 1-2 ชั่วโมงต่อ 1 ครั้ง เพื่ออัพเดทสถานการณ์ให้มากที่สุด การประเมินสถานการณ์ทำแบบวันต่อวัน เพราะต้องวิเคราะห์ว่าน้ำที่มาเป็นน้ำท่วมแบบไหน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง หรืออื่นๆ

นอกจากการประกาศเสียงตามสาย เพจเฟซบุ๊กองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแม่ข้าวต้ม ได้มีการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนภัยก่อนน้ำท่วม ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. เวลาประมาณ 14.23 น. ระบุข้อความดังนี้

 

ต่อมา เพจเฟซบุ๊กของ อบต.บ้านแม่ข้าวต้ม มีการแจ้งข้อมูลเมื่อ 12 ก.ย. ให้ผู้ประสบภัยสามารถนำรถไปจอดหนีน้ำท่วมได้ตามสถานที่ที่ทางภาครัฐจัดเตรียมไว้ให้ รวมถึงมีการรายงานความคืบหน้าสถานการณ์เป็นระยะๆ  

อัศเจรีย์ เปิดเผยว่า บ้านแม่ข้าวต้มเป็นตำบลที่รองรับน้ำจากตำบลอื่นๆ เปรียบเสมือนเป็นปลายน้ำ น้ำท่วมจากในอำเภอเมืองเชียงรายจะมาลงที่บ้านแม่ข้าวต้มเป็นตำบลสุดท้าย ภายในหมู่บ้านมีประมาณ 400 หลังคาเรือน โดยน้ำเริ่มท่วมเมื่อ 12 ก.ย. 

ข้อมูลจากการสัมภาษณ์พบด้วยว่าการสื่อสารในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน และมีความยืดหยุ่น ซึ่งคาดว่าขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของหัวหน้าหมู่บ้านหรือหัวหน้าชุมชน

บุรพล มุ้งทอง ปลัดอำเภอเมืองเชียงราย หัวหน้าฝ่ายความมั่นคง ให้สัมภาษณ์ว่า ในการแจ้งเตือนจะแจ้งผ่านกำนันผู้ใหญ่บ้านหรือแจ้งชุมชน โดยมีทั้งการประกาศเสียงตามสาย และให้นายอำเภอไปเคาะประตูเรียก ซึ่งมีการไปเรียกตั้งแต่เที่ยงคืนก่อนที่น้ำจะเริ่มท่วม (12 ก.ย.) จนกระทั่งตี 3-4 น้ำเริ่มท่วมขึ้นมา อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าก็มีคนขนของอพยพไม่ทัน โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ แต่ก็มีคนที่พอขนออกมาได้เยอะ

ใช้ LINE เพราะเข้าถึงประชาชน

‘จ่าน้อย’ ร้อยโทมานิต สุวรรณทา ข้าราชการบำนาญ เป็นประธานโครงการบ้านธนารักษ์ กองทัพบก ต.ริมกก อ.เมือง จังหวัดเชียงราย เลือกใช้วิธีส่งข้อความเข้ากลุ่ม LINE หมู่บ้าน เพื่อแจ้งเตือนน้ำท่วมให้ลูกบ้านรับทราบ เนื่องจากการส่ง LINE ค่อนข้างเร็ว และสะดวก

จ่าน้อย ผู้เป็นประธานชุมชนมาตั้งแต่ปี 2553 อธิบายว่า ชุมชนธนารักษ์จะมีบางส่วนตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำกก เขาเริ่มส่งข้อความถึงลูกบ้านตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 10 ก.ย.ที่ผ่านมาเพื่ออัพเดทสถานการณ์น้ำท่วม จนเวลา 2 ทุ่ม ย้ายไปตั้งวอร์รูมที่แม่น้ำกก โดยใช้สปอตไลท์ส่องที่แม่น้ำ เพื่อสังเกตระดับน้ำ และมีการวางกระสอบทรายกั้นริมตลิ่งไว้ด้วย

ประธานชุมชนธนารักษ์ กล่าวต่อว่า คืนนั้นพอดูระดับน้ำไปเรื่อยๆ ปรากฏว่าระดับน้ำขึ้นเร็วผิดปกติจนล้นแนวกั้นกระสอบทรายเข้ามา ทางชุมชนจึงถอนตัวจากวอร์รูมเพื่อมาประชุม และส่งข้อความย้ำเตือนลูกบ้าน ให้เตรียมรับมือและอพยพ

“ผมจะบอกว่าเรียนสมาชิกธนารักษ์ทุกท่าน ขณะนี้มวลน้ำได้ข่าวจากท่าตอนมันสูงขึ้นผิดปกติ สมมติมวลน้ำอย่างมหาศาลจะมาถึงเราช่วงบ่ายสอง จะทำให้น้ำเพิ่มระดับสูงขึ้น ก่อให้เกิดอันตราย หรือเสี่ยงภัย จึงให้ทุกท่านได้พิจารณาและอพยพก่อน ก่อนที่มวลน้ำนี้จะเข้ามาในหมู่บ้านเรา” จ่าน้อย ยกตัวอย่างข้อความที่ส่งให้

จ่าน้อย อธิบายว่า ตอนเริ่มส่งข้อความเย็นวันที่ 10 ก.ย. ต่อเนื่องมาเลยจนถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่งของวันที่ 11 ก.ย. และจะพยายามแจ้งเตือนเรื่อยๆ

ชุมชนธนารักษ์ มีบ้านอยู่ทั้งหมดประมาณ 270 หลังคา มีบ้านที่ว่างเปล่าประมาณ 30 หลังคา คนที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่เป็นข้าราชการบำนาญ จ่าน้อย ระบุว่า หลังการแจ้งเตือนมีคนอพยพออกประมาณ 80% อีก 20% ที่เหลือคือ เขาห่วงบ้าน และอยากจะรอดูสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด ถ้าไม่ไหว เขาจึงจะตัดสินใจอพยพออก ส่วนสถานการณ์ตอนน้ำท่วมที่ชุมชนธนารักษ์ตอนนั้น จ่าน้อย ใช้คำว่า ‘อ่วม’ เพราะน้ำสูงเกือบถึงเพดานชั้นที่ 1 ของบ้านทุกหลัง

สภาพชุมชนธนารักษ์ เชียงราย (ที่มา: เฟซบุ๊ก มานิต สุวรรณทา)

ประธานชุมชนธนารักษ์ อธิบายว่า ภาครัฐมีการประสานงานแจ้งข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วม และข้อมูลศูนย์พักพิงผู้ประสบภัย โดยการแจ้งข้อมูลผ่าน LINE จากนั้นเขาจะรับมาแจ้งผ่านกลุ่ม LINE ที่มีสมาชิกเป็นลูกบ้านอยู่ต่ออีกทอด เพื่อทั้งแจ้งเตือน และสอบถามและรวบรวมข้อมูลน้ำท่วมจากลูกบ้านคนอื่นๆ เพื่อเอามาประเมินสถานการณ์

สำหรับศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยมี 2 แห่งที่สามารถไปได้ คือ วัดน้ำลัดวัดซาง และโบสถ์คริสตจักรทวีรัตน์ ซึ่งอยู่ใกล้ชุมชน โดยเขาแจ้งลูกบ้านผ่าน LINE เช่นกัน แต่อย่างไรก็ตาม คนในหมู่บ้านเลือกจะไปอาศัยที่บ้านญาติที่ตั้งอยู่นอกเขตพื้นที่น้ำท่วมมากกว่า และจะกลับมาที่หมู่บ้านอีกครั้งหลังจากสถานการณ์ดีขึ้น

ชาวบ้านนอกเมือง แทบไม่ได้ยินการแจ้งเตือน

ศศิธร หวันแก้ว อายุ 31 ปี ชาวตำบลดอยฮาง อ.เมือง จ.เชียงราย ให้สัมภาษณ์ว่า บ้านของเธออยู่ในพื้นที่ที่ห่างจากตัวเมือง โดยได้รับผลกระทบคือสะพานที่ใช้ข้ามแม่น้ำกกชำรุดจนไม่สามารถข้ามจากอำเภอเมืองกลับบ้านได้ ต้องค้างโรงแรม แต่คนที่ได้รับผลกะทบหนักคือญาติของเธอที่อยู่ใกล้แม่น้ำกก

ศศิธร กล่าวว่า พ่อของเธอเป็นหัวหน้าชุมชน หรือภาษาเหนือเรียกว่า 'พ่อหลวง' ปกติเวลามีการสั่งการจากภาครัฐ เขาจะส่งข้อความเข้ามาใน LINE แต่รอบนี้ไม่มีการแจ้งข้อมูล ทำให้พ่อของเธอไม่ได้ประกาศให้ชาวบ้านรับมือ หรือเตรียมตัวอพยพไปที่อื่น ทุกคนใช้ชีวิตปกติ และเหมือนมาทราบทีหลังตอนเดินทางเข้าไปในเมืองแล้วพบว่าน้ำท่วม ก็โพสต์บนโซเชียลมีเดีย หรือส่งข้อความหากันเองใน LINE

"เรารู้ เพราะว่ามันเกิดขึ้นและได้รับผลกระทบไปแล้ว พี่ออกจากบ้านไม่ได้เพราะน้ำท่วม ทั้งๆ ที่ก่อนน้ำท่วม ถ้ามันมีประกาศ คนอาจจะทราบว่ามาทำงานไม่ได้ ต้องจัดตารางงานกันใหม่ แต่ทั้งหมดมันเงียบมากเลย ทุกคนใช้ชีวิตปกติอยู่เลย ไปเรียน หรือไปทำงาน ไม่มีใครทราบเลยว่าจะมีน้ำท่วมเข้าเมืองเชียงราย

"เราไม่รู้ด้วยว่าถ้าเราจะติดตามข่าว จะต้องติดตามข่าวจากเพจไหน จะท่วมหรือไม่ยังไง ก็คือไม่รู้เลย เราต้องไปกดตามข่าวในเพจโซเชียลมีเดีย 10-20 เพจ เพื่อดูว่าสถานการณ์น้ำท่วมเป็นอย่างไร หรือดูไลฟ์ของชาวบ้านกันเองว่าเขาอยู่ตรงนี้น้ำกำลังท่วมอยู่ กลายเป็นว่าถามๆ กันเอง หรือส่งข่าวกันเอง" ศศิธร กล่าว

ปัญหาการแจ้งเตือนเข้าไม่ถึงประชาชนไม่ได้มีแค่ศศิธร คนเดียว 'ภูมิ' (สงวนนามสกุล) อายุ 40 ปี เขาอาศัยใน ต.รอบเวียง อ.เมือง เชียงราย เขาเผชิญน้ำท่วมตั้งแต่ตอนตี 3 ของวันที่ 11 ก.ย.ที่ผ่านมา 

พนักงานบริษัทอายุ 40 ปี เล่าให้ฟังว่า เขาใช้วิธีติดตามข่าวเอาเอง ไม่มีสัญญาณเตือนภัย ไม่มีประกาศอพยพ แต่ที่อพยพออกมาก่อน เพราะเพื่อนที่เป็นนักธรณีวิทยาคำนวณน้ำโดยใช้แอปฯ แล้วเตือนใน LINE ประกอบกับเขาติดตามข่าวจากหลายๆ แหล่ง เมื่อมองว่า 'ไม่รอดแน่' ก็เลยย้ายไปอยู่บ้านของแม่ที่ไม่โดนน้ำท่วม

ภูมิ ระบุว่า ส่วนตอนที่ได้ยินเสียงเตือนคือเป็นเสียงไซเรนประมาณ 8.00-9.00 น. ของวันที่ 11 ก.ย. 2567 ซึ่งตอนนั้นระดับน้ำท่วมประมาณครึ่งล้อรถยนต์แล้ว

แม้จะออกก่อนน้ำท่วมหนัก แต่ทรัพย์สินของภูมิ ก็เสียหายหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ชุดนักเรียน มอเตอร์ไซค์ ตู้เย็น ทีวี เสื้อผ้า และเฟอร์นิเจอร์ โดยเขารู้สึกเสียใจ และเสียดายเงินที่ต้องซื้อของใหม่ทั้งหมด

ภาพเหตุการณ์น้ำท่วมที่ 'ภูมิ' บันทึกไว้ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. เวลาประมาณ 8-9 โมงเช้า

สภาพบ้านของภูมิ หลังเผชิญเหตุน้ำท่วม

เพียรพร ดีเทศน์  ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า เธอได้รับผลกระทบ 2 จุดด้วยกัน คือ “มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา” และที่บ้าน

เพียรพร กล่าวว่า ที่มูลนิธิของเธอ ตั้งอยู่ที่บ้านป่างิ้ว ต.รอบเวียง อ.เมือง ห่างจากแม่น้ำกก 500-600 เมตร เป็นร่องน้ำเก่า ซึ่งไม่ได้ท่วมมานานหลาย 10 ปี แต่ครั้งนี้ก็ต้องเผชิญน้ำท่วมใหญ่ 

เพียรพร เล่าว่าที่มูลนิธิฯ เจอน้ำท่วมตั้งแต่วันที่ 11 ก.ย. เวลาประมาณ 10 โมงเช้า แต่ก่อนหน้านี้ไม่ได้ยินเสียงสัญญาณเตือนน้ำท่วมจากภาครัฐเลย 

สมาชิกองค์กรแม่น้ำนานาชาติ เผยว่า ตอนตัดสินใจอพยพย้ายของในมูลนิธิฯ เป็นเพราะได้เช็กไลฟ์สดออนไลน์ช่วงเช้า 6.40 น. ประกอบกับการเช็กระดับน้ำในแม่น้ำกกที่ค่อนข้างสูงจนผิดปกติ เธอเลยตัดสินใจให้คนที่มูลนิธิฯ อพยพของย้ายไปที่วัดดอยฮ่องลี่ และนำเอกสารขึ้นไปบนชั้น 2 ของมูลนิธิฯ เพื่อไม่ให้ทรัพย์สินเสียหาย

“ไม่มีใครประกาศอะไรเลยเหรอ ไม่มีใครแจ้งเหรอ" แล้วถ้าคนไม่รู้เลยจะทำยังไง รัฐต้องทำหน้าที่ปกป้องป้องกันเขาสิ” เพียรพร กล่าว

ภาพน้ำท่วมที่มูลนิธิ "มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา" (ที่มา: เฟซบุ๊ก Pai Detes)

สำหรับบ้านของเพียรพร ที่บ้านดู่ อ.เมือง ใกล้สนามบินนานาชาติแม่ฟ้าหลวง ซึ่งจุดนี้ค่อนข้างห่างจากแม่น้ำกก เธอได้รับการแจ้งเตือนเสียงตามสายจากผู้ใหญ่บ้านประมาณ 5 ทุ่มของวันที่ 11 ก.ย. พูดเพียงสั้นๆ ระบุว่า

"ยกตัวอย่าง ซอย 13 ซอย 18 ซอย 15 ซอย 3 ซอย 2 ซอยที่อยู่หันไปทางสนามบินฯ แม่น้ำกก ให้เก็บของเน้อ และย้ายรถ เตรียมอพยพ"

"พูดทั้งหมด 2 ครั้ง และเรางงๆ เพราะว่าเราหลับๆ ตื่นๆ วิ่งออกไปฟัง เรามีเบอร์ผู้ใหญ่บ้าน เลยโทรไปถามว่าเอายังไงต่อ ผู้ใหญ่บ้านตอบว่า ‘ผมทราบแค่นี้ ผมยุ่งมากเลยกำลังเก็บของเหมือนกัน’ แต่เราไม่ได้ยินว่าให้ไปที่ไหน" เพียรพร กล่าว

อย่างไรก็ดี บ้านของเพียรพร น้ำท่วมเข้ามาประมาณช่วงบ่ายของวันที่ 12 ก.ย. แต่ไม่ได้ท่วมหนัก เป็นน้ำไหลเข้ามา เพราะระดับพื้นดินที่บ้านสูง สามารถรับมือได้โดยการเอาเครื่องสูบระบายน้ำไปในพื้นที่ว่าง

ไหนว่าจะเตือนภัยทางวิทยุ!

จากการเช็กแผนเผชิญเหตุน้ำท่วมเชียงราย ระบุให้ทางภาครัฐประสานงานกับรายการวิทยุเพื่อประกาศเตือนภัยน้ำท่วม แต่ศศิธร ประชาชนจากดอยฮาง ยืนยันว่าวันที่เกิดเหตุน้ำท่วมในตัวอำเภอเมืองเชียงราย เธอฟังรายการวิทยุทุกเช้าเวลาขับรถไปทำงาน ก็ไม่ได้มีการเตือนแต่อย่างใด

“ไม่มีเลยค่ะ เราฟังวิทยุตอนไปทำงานตลอด ไม่ได้ยินข่าวแจ้งเตือนอะไรเลย 9.00-10.00 น.ที่มันจะมีข่าว ก็ไม่ได้มีประกาศเตือน ไม่งั้นเราก็คงเตรียมตัวรับมือไปแล้วบางส่วน” ศศิธร กล่าว

'ไม่เคยท่วมหนักขนาดนี้' ทำหลายคนอพยพไม่ทัน

จากการสอบถามแทบทุกคนทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชน มองว่าผู้ใหญ่หรือผู้สูงวัยบางคนไม่อยากรีบอพยพ เพราะเป็นห่วงทรัพย์สิน เขาอยากดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะอพยพจริงๆ ถ้ารู้สึกน้ำท่วมหนักจนไม่สามารถอยู่ได้ ทำให้หลายคนอพยพไม่ทัน และอีกปัจจัยคือ หลายคนไม่เคยเผชิญสถานการณ์ที่น้ำท่วมหนักขนาดนี้ที่เชียงราย บางคนนึกว่าท่วมแค่หัวเข่า 

อัศเจรีย์ กำนันบ้านแม่ข้าวต้ม ถึงกับออกปากว่า ไม่ใช่ความรู้สึกที่มันท่วมหนักกว่าครั้งก่อนๆ "แต่เป็นข้อเท็จจริงเลย"

มงคลกร ศรีวิชัย อาจารย์ประจำหลักสูตรวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโลโยลีมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย อธิบายว่า เขาอาศัยที่บ้านดู่ อ.เมือง ห่างจากแม่น้ำกก ประมาณ 4-5 กิโลเมตร ถือว่าห่างมาก แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาต้องเผชิญสถานการณ์ที่น้ำล้นตลิ่งจากแม่น้ำกกแล้วท่วมไกลถึงตำบลนางแล

“พ่อผมอายุ 75 ปี บอกว่าตั้งแต่เขาเล็กจนโตเขายังไม่เคยเห็นน้ำท่วม (อ.เมือง) เชียงราย แล้วลามมาถึงนางแลได้เลย นี่เป็นครั้งแรกในชีวิตของเขา” มงคลกร กล่าว

แรงงานข้ามชาติพม่า เจอ ‘กำแพงภาษา’

อาจารย์สืบสกุล กิจนุกร สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ผู้ก่อตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติจังหวัดเชียงราย อธิบายว่า ชุมชนแรงงานข้ามชาติชาวพม่าอาศัยอยู่ทั้ง 18 อำเภอในจังหวัดเชียงราย แต่ส่วนใหญ่กระจุกอยู่เยอะที่ตัวอำเภอเมือง และอำเภอแม่สาย มีจำนวนราว 1-2 หมื่นคน (ยังไม่ได้รวมกับลูกหลานแรงงานข้ามชาติ)

สืบสกุล เผยว่า ปัญหาใหญ่ของการแจ้งเตือนแรงงานข้ามชาติก็คือใช้ ‘ภาษาไทย’ ทั้งหมด อาจจะมีแรงงานข้ามชาติบางคนฟังภาษาไทยได้ แต่การกระจายข่าวอาจจะไม่ได้ประสิทธิภาพเต็ม 100%

“การกระจายข่าวจากภาครัฐในหมู่คนไทยก็มีปัญหาอยู่แล้ว ไม่มีการแจ้งข่าวเตือนภัย หรืออะไรอย่างเป็นทางการ ดังนั้น คนที่เป็นแรงงานข้ามชาติ หรือชาวต่างชาติ ก็ยิ่งได้รับทราบข้อมูลน้อยลงตามลำดับ” สืบสกุล กล่าว

เขากล่าวว่าทางศูนย์ฯ ใช้วิธีการเช็กข่าวจากโซเชียลมีเดีย และอพยพแรงงานข้ามชาติเมียนมาไปที่วัดศรีเกิด และวัดป่าก่อ ใน อ.เมือง จึงโชคดีที่ไม่มีใครได้รับผลกระทบจนถึงแก่ชีวิต มีเพียงหอพักถูกน้ำท่วม และทรัพย์สินเสียหาย

ประชาชนขอแจ้งเตือน ต้อง ‘2 ง่าย’

ความเห็นของประชาชนหลายคนมองตรงกันว่า ภาครัฐต้องประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในการแจ้งเตือน โดยอยู่บนหลัก “เข้าถึงง่าย” และ “มองเห็นง่าย” มีหลากหลายรูปแบบ เช่น การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย หรือมีเทคโนโลยีอื่นๆ

บางคนยกตัวอย่าง การแจ้งเตือนผ่านข้อความ ‘SMS Alert’ หรือการแจ้งเตือนบนแพลตฟอร์มของ ‘Google’ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ พวกเขาอยากให้มีแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่ประชาชนสามารถเข้าไปเช็กสถานการณ์ระดับน้ำได้ตลอดเวลา คล้ายกับแอปพลิเคชันตรวจวัดคุณภาพอากาศ หรือ PM 2.5

ภูมิ เสนอว่า ภาครัฐอาจต้องมีการประกาศแบบ คสช. คือเน้นย้ำประกาศแจ้งเตือนทุกชั่วโมง ผ่านสถานีโทรทัศน์เฉพาะกิจ หรือผ่านระบบกระจายเสียงต่างๆ เขาเชื่อว่าความถี่ของการประกาศจะทำให้ประชาชนเข้าใจความรุนแรงของสถานการณ์ที่เกิดขึ้น และเตรียมตัวรับมือน้ำท่วมได้ทัน

สืบสกุล เสนอว่า รัฐมีแผนรอบรับน้ำท่วมชัดเจน ต้องมีแผนอพยพคนออกมาจากบ้านเรือนตัวเอง ส่วนหนึ่งที่คนไม่อยากอพยพ เพราะเขาเป็นห่วงทรัพย์สินของเขา และเขาไม่มั่นใจว่าจะไปอยู่ไหน

ศศิธร เห็นด้วยว่า สังคมในเมืองเชียงรายมีความเป็นพหุวัฒนธรรม และอาจเผชิญกำแพงภาษาในการสื่อสาร โดยเธอเสนอให้ภาครัฐอาจต้องประสานงานกับภาคประชาชนมากกว่านี้ โดยให้ภาคประชาชนหรือผู้นำหมู่บ้านที่สามารถสื่อสารกับแรงงานข้ามชาติได้เป็นคนไปแจ้งเตือน ซึ่งเธอคิดว่าน่าจะช่วยลดอุปสรรคการแจ้งเตือนในหมู่แรงงานข้ามชาติชาวพม่าได้

ทำงานร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน และกองกำลังชาติพันธุ์

มงคลกร ประเมินว่า ในอนาคต น้ำท่วมมีโอกาสหนัก และกินบริเวณกว้างมากขึ้น เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทำให้ฝนตกเป็นปริมาณและค้างอยู่ในจุดเดิมยาวนานขึ้น ที่ที่ปลอดภัยอาจไม่ปลอดภัยอีกต่อไป

ดังนั้น ทุกคนหวังว่าภาครัฐที่ครอบครองทรัพยากรการจัดการ งบประมาณ การเข้าถึงข้อมูล การทำงานร่วมมือรัฐบาลทหารพม่า และกองกำลังชาติพันธุ์ จะสามารถพยากรณ์และการวางแผนรับมือน้ำท่วมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากต้นน้ำของทั้งแม่น้ำก และแม่น้ำแม่สายที่เอ่อล้นจนท่วมตัวเมืองและอำเภอแม่สาย อยู่ในเขตประเทศเมียนมา

อย่างไรก็ดี ธีรรัตน์ สําเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และประธานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) ส่วนหน้า จ.เชียงราย ระบุว่า รัฐบาลกำลังมีแผนสร้างความร่วมมือกับทางฝั่งพม่าในการติดตั้งเครื่องวัดระดับน้ำในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อแจ้งเตือนระดับน้ำให้แม่นยำและทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net