Skip to main content
sharethis

ประชาไท -- 19 มิ.ย. 48 "ท่ามกลางสงครามทรัพยากร พื้นที่ของชาวบ้านยิ่งคับแคบลงไปทุกที เดี๋ยวนี้ต้องเตรียมปืนผาหน้าไม้ไว้ป้องกันตัวเพราะว่าไม่มีทางเลือก ในช่องทางประชา ธิปไตย การเคลื่อนไหวภาคประชาชนจึงถือเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสังคมกับรัฐบาล แต่สุดท้ายถ้าลงหลักปักฐานไม่ได้ ก็จะเหลือแต่ชาวบ้านที่ต้องเผชิญชะตากรรมเพียงลำพัง" ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวภาพรวมของการต่อสู้ภาคประชาชน

วันนี้มีการสัมมนาหัวข้อ "สงครามทรัพยากร: อีกกี่ศพ? อีกกี่เจริญ?" จัดขึ้นเนื่องในวาระครบรอบ 1 ปี การเสียชีวิตของเจริญ วัดอักษร ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยช่วงแรก นางกรณ์อุมา พงษ์น้อย ภรรยาเจริญ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของคดีลอบสังหารเจริญ วัดอักษร ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถทวงความยุติธรรมกลับคืนมาได้ เนื่องจากกระบวนยุติธรรมมีความล่าช้าและกรมสอบ สวนคดีพิเศษยังไม่จริงใจเท่าที่ควร หลังจากนั้นทั้งตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์และคัดค้านต่างๆ รวมถึงนักวิชาการ ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยความเป็นกันเอง

นางมณี บุญรอด ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม จ.อุดรธานี เล่าถึงการคุกคามที่เกิดขึ้นกับกลุ่มตน จากการคัดค้านการขอใบประทานบัตรของบริษัทเหมือนแร่โพแทช ที่ไม่ให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นในผลกระทบที่จะเกิดขึ้น

นางมณี กล่าวด้วยแววตามุ่งมั่นว่า "เราถูกคุกคามแต่ไม่เคยท้อ ขึ้นหลังเสือแล้วลงไม่ได้เราจะเอาชีวิตเป็นเดิมพัน จับมือกันสู้กับรัฐ คิดคือกันต่อสู้นำกัน เราบ่ย่านท้อถอย การเสียชีวิตถือว่าได้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติแล้ว"

ขณะที่ นางสะไรด๊ะห์ โต๊ะหลี ตัวแทนเครือข่ายคัดค้านโครงการท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย จ.สงขลา เป็นแกนนำที่ถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด และมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เล่าถึงตำรวจที่คอยทำร้ายและใส่ร้ายป้ายสีว่าร่วมมือกับผู้ก่อการร้าย 3 จังหวัดภาคใต้ ขณะที่รัฐพยายามพลักดันโครงการเต็มที่
"ตำรวจเป็นผู้กระทำแล้วเราจะหาที่พึ่งได้จากตรงไหน ตำรวจติดป้ายที่โรงพักว่าเพื่อประชาชนแต่ไม่ใช่แล้ว กลายเป็นคนของบริษัทไปหมดแล้ว แม้ไม่สังหารแต่ทรมานทางจิตใจ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ ตลอด ทำไมคนทำถูกจึงกลายเป็นผิดไปหมด" นางสะไรด๊ะห์ เล่าพร้อมน้ำตา

ด้าน นางสุนันท์ พรหมยารัตน์ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์แก่งคอย จ.สระบุรี ซึ่งรัฐมีแผนย้ายโรงไฟฟ้าจากบ่อนอกมาก่อสร้างที่นี่ กล่าวว่า "ดีใจที่ได้รับมรดกจากบ่อนอก มันมาปลุกให้พวกเราตื่นว่าสิ่งแวดล้อมกำลังถูกทำลายไปมากแค่ไหน จนทำให้เราได้มารวมตัวกันด้วยเพียง 1 เสียง 2 มือและความจริงใจ การแพ้ชนะไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่ดีใจที่ได้ต่อสู้เพื่อปกป้องกันทรัพยากรสิ่งแวดล้อมแม้จะโดนคุกคามทุกครั้งที่เคลื่อนไหวก็ตาม"

อย่างไรก็ตาม รศ.เกษียร เตชะพีระ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเป็นการก่อการร้ายภาคเอกชนเพื่อการพัฒนา โดยกลุ่มคนอิทธิพลท้องถิ่น ที่มากับระบอบการเลือกตั้ง เพราะเห็นว่าการเมืองภาคประชาชนหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มีการเติบโต การประสานช่วยกันเป็นเครือข่ายกว้างขวางเกินไป จนถือว่ามีการพัฒนาการต่อสู้สูงสุด จึงเท่ากับไปบั่นทอนอำนาจของกลุ่มทุนและธุรกิจทั่วประเทศ กลุ่มทุนเองจึงต้องหันไปก่อการร้ายด้วยการเชือดไก่ให้ลิงดู

ดร.เกษียร กล่าวอีกว่า "ทุนเข้าสู้ระบบการเมืองจากระบอบการเลือกตั้ง โดยมีสภาพเงื่อนไขใหม่เกิดขึ้น คือสมคบกับกลุ่มอิทธิพลและผู้มีอำนาจทางการเมือง ทำให้ชาวบ้านต้องต่อสู้กับเกมการเมือง เพราะรัฐเข้ามาละเมิดสิทธิมนุษยชนและต้อนให้ประชาชนจนมุมจนหาความยุติธรรมไม่ได้"

สำหรับทางออกของภาคประชาชนยังมีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน แต่ก็ใช่ว่าช่องทางจะเปิดกว้างและสำเร็จดังที่หวัง เนื่องจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอง ไม่สามารถฟ้องคดีได้โดยตรง และรัฐบาลไม่เคยให้ความใส่ใจ

นายวสันต์ พานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เคยปฏิบัติตามสักเรื่องเดียว การเมืองภาคประชาชนจึงเท่ากับล้มเหลว ทั้งที่มีรัฐธรรมนูญรองรับอ้างสิทธิเสรีภาพและให้ประชาชนมามีส่วนร่วม แต่กฎหมายลูกไม่มีออกมาเลย ซึ่งรัฐบาลก็เพิกเฉยมาโดยตลอด

"ความจริงต้องถ่วงดุลกันระหว่างองค์กรภาคประชาชนและรัฐบาล ตอนนี้กรรมการสิทธิมนุษยชนรับเรื่องการร้องทุกข์และการฟ้องร้องจนงานล้นมือ แต่มีปัญหาที่การทำงานกลับชะงักงัน เราทำอะไรไม่ได้เพราะรัฐบาลไม่สนใจ ก็ได้แต่เป็นเพื่อนใจให้ชาวบ้านเท่านั้น" นายวสันต์ กล่าวด้วยความอ่อนใจ

ธิติกมล สุขเย็น

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net