Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

รายงานพิเศษพลเมืองเหนือ
สุธิดา สุวรรณกันธา

วัดฝีมือ "พรหมเจริญ อินเตอร์เทรด "
ปั้น "OTOP SHOP" ดันสินค้ารากหญ้าโกอินเตอร์

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของรัฐบาล ด้วยเล็งเห็นว่าโครงการนี้จะกระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาค จะเห็นได้ว่าในระยะ 3 - 4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้สนับสนุนการพัฒนาคุณภาพสินค้า OTOP สู่ระดับสากล และปัจจุบันสินค้า OTOP ของไทยได้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วโลก ด้วยการพัฒนามาตรฐานการผลิตระดับนานาชาติของผู้ผลิตในชุ ม ชน และความมุ่งมั่นในการส่งเสริมด้านการตลาดของรัฐบาล ทำให้มั่นใจได้ว่าอนาคต OTOP จะเป็นกลไกทางเศรษฐกิจที่นำรายได้สู่ประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป

สด ๆ ร้อน ๆ เมื่อไม่นานมานี้ รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้เปิดฉาก "OTOP SHOP" ศูนย์รวมสินค้าจากชุมชนที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการส่งออก รวบรวมจัดแสดงไว้ภายในพื้นที่ที่สะดวกในการเข้าเยี่ยมชม โดยมีการจัดวางสินค้าอย่างสวยงามเป็นหมวดหมู่แบบเดียวกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ เบื้องต้นกรมส่งเสริมการส่งออกเลือกพื้นที่นำร่อง OTOP SHOP 2 แห่งคือ แห่งแรกที่อาคาร Thailand Export Mart ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพฯ และแห่งที่สองที่ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคเหนือ บนถนนสิงหราช อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

หากใครได้มีโอกาสแวะเวียนเข้าไปเที่ยวชม "OTOP SHOP" เชียงใหม่มาแล้ว อาจนึกไม่ถึงว่าสินค้ามากมายหลากหลายที่ผ่านการขัดสีฉวีวรรณ ถูกจัดวางเป็นหมวดหมู่อย่างลงตัวและสวยงาม บนพื้นที่ 750 ตารางเมตร ล้วนเป็นฝีมือของชุมชนคนรากหญ้าจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่กำลังถูกต่อยอดสู่เวทีการค้าระดับสากล

"อภิสิทธิ์ พรหมยานนท์" กรรมการผู้จัดการ บริษัท พรหมเจริญ อินเตอร์เทรด จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทท้องถิ่นในเชียงใหม่ อยู่บนเส้นทางการค้าและการส่งออกมานานร่วม 13 ปี ได้รับเลือกจากกรมส่งเสริมการส่งออก ให้เข้ามาบริหารจัดการโครงการ "OTOP SHOP" เชียงใหม่ บอกกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า การมี OTOP SHOP ซึ่งเป็นโครงการที่ร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน เกิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นศูนย์กลางการติดต่อธุรกิจ เป็นศูนย์รวมการส่งออกซื้อขาย โดยให้บริษัทเอกชน เข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางให้กับผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า OTOP ในชุมชนต่าง ๆ ทั้งรายย่อย รายกลาง ที่เกิดขึ้นมาเป็นจำนวนมากในขณะนี้ แต่ส่วนใหญ่ยังไม่มีความชำนาญและไม่เข้มแข็งมากพอในเรื่องการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ซึ่งการที่หน่วยงานราชการ จะรับผิดชอบในเรื่องการทำตลาดให้โดยตรง อาจเป็นเรื่องยากและไม่คล่องตัวเท่ากับให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการ

สำหรับแนวทางบริหารจัดการโครงการนี้ จะเน้นหนักใน 2 ส่วนหลักคือ การให้บริการติดต่อธุรกิจในรูปแบบ B to B หรือ Business to Business โดยทางบริษัทจะเป็นศูนย์กลางหลักที่จะติดต่อและตกลงเจรจาการค้ากับลูกค้าในต่างประเทศ ซึ่งในระยะเริ่มต้นทางกรมส่งเสริมการส่งออกจะส่งเสริมกิจกรรมในต่างประเทศ เช่น การเชื่อมโยง OTOP SHOP เข้ากับสำนักงานของกรมส่งเสริมการส่งออกในต่างประเทศ ประสานและติดต่อผู้ซื้อในต่างประเทศ เป็นต้น อีกแนวทางหนึ่งก็คือ จะเน้นทำยอดขายตลาดภายในประเทศ ที่วางสัดส่วนไว้ในปีแรก 2547 ไว้ที่ประมาณ 20 - 30 % ที่เหลือจะเป็นสัดส่วนของตลาดส่งออกทั้งหมด แต่ตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นไป จะเน้นหนักตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 90% ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของโครงการ OTOP SHOP

สินค้าที่ถูกนำมาดีสเพลย์ไว้ภายใน OTOP SHOP แห่งนี้ มีหลากหลายมากกว่า 1,700 รายการ หรือประมาณ 8,500 ชิ้น แต่ในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 รายการ สินค้าทั้งหมดทางบริษัท พรหมเจริญอินเตอร์เทรด ได้ติดต่อจัดหามาจากผู้ผลิตโดยตรงจาก 17 จังหวัดภาคเหนือ ซึ่งจะมีทั้งสินค้าที่มาจาก SMEs และสินค้า OTOP ของกลุ่มชุมชน จากจำนวนผู้ผลิตทั้งหมด 120 ราย แต่ในเบื้องต้นนำมาแค่ 80 ราย โดยสินค้าจะถูกผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนนำมาจัดแสดงทุก ๆ 3 เดือน เพื่อความหลากหลาย ซึ่งวิธีการนั้น จะคัดเลือกจากผู้ประกอบการ OTOP และ SMEs ที่ผ่านการคัดสรรในระดับ 3 - 5 ดาว ที่มีศักยภาพส่งออกได้ ทั้งนี้ ในระยะแรกของการดำเนินการนอกจากทางบริษัท จะเป็นตัวกลางช่วยกระจายสินค้าให้ผู้ประกอบการ OTOP ทั้งปลีกและส่งแล้ว ในระยะต่อไปบริษัทจะว่าจ้างให้กลุ่มผู้ผลิต OTOP ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ ผลิตสินค้าที่ผู้สั่งซื้อต่างประเทศต้องการ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มช่องทางตลาดได้อีกทางหนึ่ง

"สินค้าที่จากผู้ผลิตที่นำมาจัดแสดงใน OTOP SHOP จะไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ แต่อนาคตหากจะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นก็จะเก็บให้น้อยที่สุด อาจจะประมาณ 500 บาทต่อเดือน ซึ่งตลาดต่างประเทศเรามั่นใจว่าเราทำได้แน่ ๆ ส่วนตลาดในประเทศจะเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเชียงใหม่ ที่นี่เป็นแหล่ง ช้อปแห่งใหม่ ตอนนี้ก็เริ่มประสานกับ ททท. โรงแรมและบริษัททัวร์ต่าง ๆ แล้ว เราคิดว่าถ้านักท่องเที่ยวเดินเข้ามาชมแค่วันละ 100 ราย เราก็พอใจแล้ว"

อภิสิทธิ์ บอกว่า การเข้ามาดำเนินการของพรหมเจริญ อินเตอร์เทรด ในโครงการ OTOP SHOP มีอายุโครงการ 5 ปี โดยจะทำการต่อสัญญาแรก 3 ปีต่อ 2 ปี โดยการบริหารจัดการหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการบริษัทเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด ที่คาดว่าจะมีต้นทุนดำเนินการทั้งค่าจ้างบุคลากร ค่าใช้จ่ายในส่วนสำนักงาน ค่าสาธารณูปโภคพื้นฐานประมาณเดือนละ 200,000 บาท ซึ่งแม้โครงการนี้จะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนก็ตาม โดยรัฐจัดทำโครงการวางรูปแบบให้ เพื่อให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ซึ่งระยะแรกนี้คงอยู่ระหว่างการประเมินผลงานว่าจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งระยะต่อไปทางบริษัท อยากเสนอให้ภาครัฐสนับสนุนเรื่องกิจกรรมทางการตลาดต่างประเทศ การประชาสัมพันธ์โครงการ และการพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ เนื่องจากสินค้าที่ทางบริษัทรับมาจากผู้ผลิตนั้น บางส่วนต้องนำมาปรับเรื่อง Packaging ใหม่เพื่อให้ตรงกับความต้องการของตลาด

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การเปิด OTOP Shop เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการสร้างเวทีการค้าระดับสากลให้แก่ผู้ผลิต ทั้งนี้ โดย OTOP Shop ณ ศูนย์ส่งเสริมการส่งออกภาคเหนือ จังหวัดเชียงใหม่ จะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางการค้าสินค้า OTOP ของภูมิภาคนี้

"ภาคเหนือเป็นดินแดนที่มีความเจริญรุ่งเรือง ทั้งในด้านศิลปะและวัฒนธรรมมายาวนาน สินค้าที่ผลิตล้วนมีความงดงามด้วยฝีมือเชิงช่างวที่สะท้อนถึงการสืบสานมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น การจัดตั้ง OTOP Shop ขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและสังคมของภาคเหนือ จึงเป็นการยืนยันถึงความเชื่อมั่นในศักยภาพการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้"

ทุกวันนี้สินค้าหัตถกรรมหลากหลายอันมีชื่อเสียงของท้องถิ่นได้ก้าวสู่ความเป็น OTOP และสามารถเพิ่มพูนรายได้สู่ภูมิภาคอย่างชัดเจน และเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้นี้ OTOP Shop จะเป็นแหล่งกระจายรายได้ให้แก่ผู้ผลิตทุกชุมชนอย่างทั่วถึงตามนโยบายภาครัฐและตรมพันธกิจของกระทรวงพาณิชย์ ในการนำรายได้จากการส่งออกร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้เจริญก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง

ทั้งนี้ รูปแบบการจัดแสดงคล้ายคลึงกับห้างสรรพสินค้า และแบ่งพื้นที่จัดแสดงเป็น 5 ส่วน ได้แก่ OTOP Promotion Area เป็นส่วนจัดแสดงสินค้ารวมทั้งหมด 5 ประเภทสินค้า เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ให้เห็นถึงศักยภาพและที่มาของสินค้า OTOP ส่วนต่อไปเป็น Retail Area ทั้งหมด 4 Area จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประเภทต่าง ๆ เช่น เสื้อผ้าและเครื่องประดับตกแต่ง ของใช้และของประดับตกแต่ง บ้าน อาหารและสมุนไพร รวมทั้งศิลปะประดิษฐ์ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมี Intertrader Lounge เป็นส่วนสำหรับการเจรจาการค้าและต้อนรับลูกค้า ส่วนสำนักงานพร้อมอุปกรณ์สำหรับอำนวยความสะดวกในการทำธุรกิจ ส่วน Coffee Bar จัดมุมกาแฟเพื่อให้บริการผู้ที่มาเยี่ยมเยือน และส่วนสำหรับจัดเก็บ สต๊อกสินค้า

"การนำสินค้าที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการส่งออกมารวบรวมจัดแสดงไว้ในพื้นที่สะดวกในการเข้าเยี่ยมชน โดยมีการจัดวางสินค้าอย่างสวยงามเป็นหมวดหมู่แบบเดียวกับห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และมีการดำเนินการด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์สินค้า โดยบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารเชิงธุรกิจจะเป็นช่องทางในการขยายตลาดและโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเหล่านี้" นายการุณ กล่าว.

โครงการความร่วมมือด้านข่าวภูมิภาค พลเมืองเหนือ-ประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net