พักรบการเมือง ค้น "ระดับจิต" สังคมไทย กับ "สุวินัย ภรณวลัย"(ตอนที่ 1)

ในกระบวนการต่อสู้ทางการเมืองครั้งล่าสุดของสังคมไทย วาทกรรม "ระบอบทักษิณ" ถูกหยิบยกขึ้นกล่าวถึงและวิวาทะกันอย่างกว้างขวาง อาทิ "เราต้องสู้กับระบอบทักษิณไม่ใช่สู้กับตัวคุณทักษิณ แต่ขั้นแรกต้องเอาทักษิณออกไปก่อน" ระบอบทักษิณคือการคอร์รัปชั่นทั้งโคตร หรือระบอบทักษิณคือทุนนิยมสามานย์ หรือระบอบทักษิณไม่มีจริง แต่คือโลกาภิวัตน์เสรีนิยมใหม่+คอร์รัปชั่นแบบเอื้ออาทรพวกพ้อง และล่าสุดระบอบทักษิณอาจจะเป็นอะไรคล้ายๆ กับผลผลิตของปฏิญญาฟินแลนด์ ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ที่การจำกัดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ให้เหลือเพียงสัญลักษณ์

 

ปรากฏการณ์ความหลากหลายของคำจำกัดความและเป้าหมายในการต่อสู้ที่เกิดขึ้นนี้ สุวินัย ภรณวลัย ผู้ศึกษาเรื่องบูรณาการศาสตร์ กล่าวว่า เป็นเพราะที่ผ่านมาการวิเคราะห์การเมืองจะถูกมองแบบเชิงเดี่ยวมากๆ เช่นทุนเก่าสู้กับทุนใหม่ หรือโลกทัศน์แบบหนึ่งสู้กับโลกทัศน์อีกแบบหนึ่ง หรือไม่ก็ ทุนสามานย์ก็ยังดีกว่าศักดินาล้าหลัง แต่ไม่ว่าจะเรียกแบบไหนก็ตาม ก็เป็นการมองแบบล้าหลัง เพราะเป็นการมองเป็นส่วนๆ

 

"ในสายตาของผม การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ คนทุกโลกทัศน์เข้ามา ถ้าตามศัพท์ที่ผมเรียกก็คือเป็นการต่อสู้ของคนทุกระดับจิตสู้กัน

 

"ถ้าหากมองว่าเป็นการขับเคลื่อนกันระหว่างระดับจิตที่มีขีดจำกัดของตัวเองกับฝ่ายที่พยายามรักษาสภาพที่บิดเบี้ยวของโครงสร้างทางจิตของตัวเองเอาไว้ กับส่วนที่พยายามจะทะลุทะลวงออกไป อันนี้นี่ก็น่าจะเป็นภาพที่ใกล้เคียงกว่า

 

"และแต่ละระดับจิตของมันมีพลังขับเคลื่อนไปในทางที่เรียกว่า Wholesome คือเป็นไปในทางที่มีสุขภาวะ หรือมีทุกขภาวะ การแบ่งแยกว่าเป็นซ้ายเป็นขวา หรืออนุรักษ์นิยมหรือก้าวหน้าก็ไม่เวิร์ก เพราะเส้นแบ่งนี้คลุมเครือมาก"

 

ในขณะที่การเมืองไทยยังไม่รู้ทิศทางว่าจะเดินไปจบลงตรงไหนอย่างไร และในระหว่างขั้นตอนการ "เช็คบิล" เหล่านักการเมืองโดยอำนาจตุลาการนั้น ประชาไทขอพักยกไปสำรวจบางคำอธิบายเกี่ยวกับสภาวการณ์ทางการเมืองและสังคมที่เกิดขึ้นสมัยระบอบทักษิณจากทรรศนะโดยอาศัยการวิเคราะห์ผ่าน "ระดับจิต"  

 

"ระดับจิต" ในความรับรู้ของสังคมไทยจะยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก และมีการพูดถึงกันในวงแคบๆ ของผู้ที่สนใจเรื่องทางจิตเวช เรื่องทางจิตวิญญาณ และบูรณาการศาสตร์ อาทิ น.พ.ธีรเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์, น.พ.ประสาน ต่างใจ, ดร.สุวินัย ภรณวลัย และกลุ่มจิตวิวัฒน์ แต่ก็มีการจัดเสวนาวงเล็กๆ และมีงานเขียนออกมาบ้างไม่มากชิ้นนัก

 

ในบรรดานี้ ผู้ที่นำเรื่องระดับจิตมาอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองดูจะมีเพียงคนเดียวคือ ดร.สุวินัย ภรณวลัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นนักวิชาการคนแรกๆ ที่ใช้แนวทางบูรณาการศาสตร์อธิบายระบอบทักษิณอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเข้าใจถึงที่มาและตัวตนของระบอบทักษิณ ตัวตนของผู้สร้างระบอบทักษิณ และความคิดความเชื่อของผู้คนในยุคระบอบทักษิณ รวมไปถึงการก้าวให้พ้นไปจากระบอบทักษิณ โดยประเด็นสำคัญเบื้องต้นที่เขานำเสนอ คือการทำความเข้าใจระดับจิตของ พ...ทักษิณ ชินวัตร และระดับจิตของคนในสังคมไทย

 

ปัญหาของทักษิณที่สุวินัยเสนอต่อสังคมนั้นเสนอด้วยมุมมองบูรณาการศาสตร์ เขาอธิบายว่าระบอบทักษิณที่กระทำต่อสังคมนี้ เป็นการกระทำต่อความเป็นเนื้อแท้ทางจิตวิญญาณของคนในสังคมเลยทีเดียว มิไยต้องพูดถึงปัญหาความชอบธรรมในการดำเนินนโยบาย

 

ในมุมมองของเขา นี่คือปัญหาใหญ่ของชาติ เพราะผู้นำแบบทักษิณได้สร้างปัญหาไปถึงระดับจิตของผู้คนในสังคมไทยและไม่เปิดโอกาสให้จิตของประชาชนได้เติบโตขึ้นอย่างมีสุขภาวะ....นี่คือปัญหาที่ใหญ่เสียกว่าเรื่องความชอบธรรมในการดำเนินนโยบาย

 

ทั้งนี้ ขณะที่วิเคราะห์วิพากษ์อย่างเป็นระบบ เมื่อถึงขั้นของการเสนอทางออก เขากลับมุ่งไปยังการปฏิบัติของปัจเจกบุคคล โดยให้เหตุผลว่า "ถ้าปัจเจกรวมกันก็จะกลายเป็นขุมพลัง ถ้าไม่มีปัจเจกก็สร้างเครือข่ายไม่ได้ ถ้าปัจเจกไม่เปลี่ยนแปลงโครงสร้างของตัวเองมันทำอะไรไม่ได้"...

 

ระดับจิต (meme) คืออะไร

จากคำอธิบายของดร.สุวินัย จากบทความ "ระดับจิตของทักษิโณมิกส์" (จากหนังสือแกะรอยทักษิโณมิกส์, สำนักพิมพ์โอเพ่นบุ๊กส์)  ทฤษฎีระดับจิต พัฒนาการต่อมาจากทฤษฎีเกลียวพลวัต (Spiral Dynamics) ของ แคลร์ เกรฟส์ (Clare W. Graves) ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เทียบเคียงได้กับงานชีววิทยาที่ยิ่งใหญ่อย่าง Human Genome Project จนเรียกได้ว่าเป็น Human Consciousness Project โดยได้ทำการทดสอบวิจัยรูปแบบพัฒนาของจิตมนุษย์กับคน 50,000 คนทั่วโลก ซึ่งต่อมา ดอน เบ็ค (Don Beck) และ คริสโตเฟอร์ โควาน (Christopher Cowan) ได้นำโมเดลนี้มาปรับปรุงใช้ทดสอบแก้ไขปัญหาการแบ่งแยกสีผิวในประเทศแอฟริกาใต้เป็นผลสำเร็จ โดยทำการแบ่งระดับจิตของมนุษย์ออกเป็น 9 ระดับ แล้วใช้สี 9 สีเป็นตัวแทนระดับจิตของมนุษย์ ซึ่งมีระดับต่างกัน

 

ปรัชญาของการใช้สีแทนระดับจิต บางครั้งเรียกว่า "มีม" (meme) มีความหมายถึง ระบบค่านิยมหลักที่กำหนดพฤติกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยต้องการจะชี้ให้เห็นว่า คนเราไม่ได้แตกต่างกันที่ภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของฐานะ ตำแหน่ง หรือสีผิว แต่สิ่งที่แตกต่างกันอยู่ที่ภายใน หรือที่ระดับจิต ซึ่ง ดอน เบ็ค อธิบายว่า

 

"วิวัฒนาการของจิต คือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังปัญญา พฤติกรรม บุคลิกภาพของมนุษย์ (จิตปัจเจก) และรูปแบบ ความเชื่อ หรือค่านิยมของสังคม (จิตร่วมหรือวัฒนธรรม) รูปแบบของความเชื่อหรือค่านิยมนี้ เรียกว่า มีมส์ (memes)...แต่ละสี จะบ่งบอกถึงโลกทัศน์ ปัญญา อุปนิสัย และพฤติกรรมของแต่ละคนที่มีต่อสังคมโดยรวมในชั่วขณะนั้น ซึ่งแตกต่างกันไปตามระดับหรือสี" (ประสาน ต่างใจ, มติชนรายวัน 3 กรกฎาคม 2547)

 

ผู้ที่ทำให้ความรู้เรื่องระดับจิตแพร่หลายและได้รับความสนใจมากขึ้นคือ เคน วิลเบอร์ (Ken Wilber) ซึ่งเป็นต้นตำรับของวิชาบูรณาการศาสตร์ และได้รับการยกย่องว่าเป็นนักปรัชญาแห่งศตวรรษที่ 21 โดยเขียนไว้ในหนังสือที่ชื่อ Spectrum of Consciousness

 

ระดับจิตทั้ง 9 หรือ แถบสีทางจิต (meme) แบ่งออกเป็น 2 ชั้น (tier) โดย 6 ระดับแรกเป็น ชั้นที่หนึ่ง (First-tier thinking) ซึ่งเป็นระดับจิตที่คิดเรื่องของตัวเองเป็นหลัก (subsistence levels) ไม่ว่าจะเป็นความอยู่รอดในเชิงปัจจัย 4 ความอยู่รอดทางธุรกิจ หรือความอยู่รอดทางการเมืองของตนเอง จิตของคนใน 6 ระดับแรก มักขัดแย้งปะทะกันทางความคิดเสมอ เพราะต่างก็ยังยึดมั่นในตัวกู ของกู

 

ส่วนชั้นที่สอง (Second-tier thinking) มี 3 ระดับ (ระดับที่ 7-8-9) เป็นระดับจิตที่เริ่มข้ามพ้นตัวตน (transpersonal) สามารถพัฒนาภายในจิตใจได้อย่างเป็นองค์รวม และรอบด้าน (entire spectrum of interior development) โดยระดับจิตทั้ง 9 ขั้น มีรายละเอียดดังนี้

 

(1) มีมสีเบจ (Beige) เป็นจิตระดับสัญชาตญาณดั้งเดิม ที่มุ่งต่อสู้ดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตให้รอด จิตจะคำนึงแต่การหาอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม และความปลอดภัยเป็นหลัก

 

มีมสีเบจ เป็นระดับจิตของฝูงชนที่อดอยาก ของผู้คนที่อยู่ระหว่างความตื่นตระหนกกับการสู้รบในสงคราม ของเด็กเกิดใหม่ ของคนชรา ของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ระยะสุดท้าย พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 0% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 0.1%

 

(2) มีมสีม่วง เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในไสยศาสตร์อย่างงมงาย เป็นระดับจิตที่โน้มเอียงในการมองทุกอย่างเป็นขาวกับดำอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นดี-เลว เทพ-มาร จิตของคนระดับนี้ยังเชื่อในเรื่องคำสาปแช่ง โชคลาง และวิญญาณของบรรพบุรุษ มีความผูกพันแบบชนเผ่า

 

ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีม่วงนี้ เห็นได้ในกลุ่มที่เชื่อในพิธีกรรมไสยศาสตร์อย่างถอนตัวไม่ขึ้น พวกพ่อมด หมอผี ซึ่งพบมากในโลกที่สาม พลังทางสังคมของคนระดับจิตขั้นนี้คือ 1% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 1%

 

(3) มีมสีแดง เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในอำนาจของเทพเจ้า (power Gods) มุ่งหวังการปกป้องคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เต็มไปด้วยแรงผลักดัน หลงใหลในความเป็นฮีโร่ ชอบแก้ไขปัญหาด้วยการใช้กำลังความรุนแรง เป็นโลกทัศน์ของคนที่เห็นว่า ชีวิตคือการต่อสู้เพื่อเอาชนะ ชิงไหวชิงพริบ หาความสุขทางผัสสะ (ทางกาย) อย่างสุดฤทธิ์ โดยไม่คิดหน้าคิดหลัง ไม่สนใจเรื่องของอนาคต

 

ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีแดง เห็นได้ในพวกวัยรุ่นที่ชอบตีกัน นักพนัน พวกที่หลงใหลฮีโร่ นักกีฬา พวกคลั่งดารานักร้อง พวกนิยมพระเอกอย่าง เจมส์ บอนด์ หรือขุนแผน พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 5% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 20%

 

(4) มีมสีน้ำเงิน เป็นระดับจิตของคนที่เชื่อในเรื่องระเบียบวินัย กฎระเบียบอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตามระเบียบ ธรรมเนียม กฎหมายที่สังคมวางไว้ให้โดยไม่ตั้งคำถาม มีความรู้สึกรักชาติ ยึดถือความถูกต้องตามคัมภีร์ตำราเป็นหลักในการดำรงชีวิตอย่างเหนียวแน่น และไม่สามารถยอมรับวิถีการดำรงชีวิตที่แตกต่างไปจากนั้นได้ เป็นจิตของคนระดับที่สามารถอุทิศชีวิตให้กับอุดมการณ์ความเชื่อของตนได้

 

ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีน้ำเงิน เห็นได้ในกลุ่มรักชาติ กลุ่มลูกเสือ พวกอำนาจนิยม พวกเชื่อในลัทธิศาสนาแบบสุดโต่ง (fundamentalist) และพวกที่เชื่อในเรื่องการจัดระเบียบสังคมอย่างเข้มงวด รวมทั้งพวกที่ยึดติดในขนบธรรมเนียมประเพณีอย่างเหนียวแน่น พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้ คือ 30% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 40%

 

(5) มีมสีส้ม เป็นระดับจิตที่เชื่อในความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์ (scientific achievement) มีความเป็นตัวของตัวเองสูง ไม่ยึดติดกับความเชื่อเป็นกลุ่ม (herd mentality) อย่างพวกมีมสีน้ำเงิน ชอบค้นหาความจริงด้วยตัวเอง ชอบตั้งสมมติฐาน หาคำตอบด้วยระบบเหตุผล และการทดลอง คิดแบบภววิสัย มองโลกแบบวิทยาศาสตร์ที่พยายามหาทางควบคุมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติ

 

เป็นระดับจิตของคนที่เน้นมุ่งไปที่ความสำเร็จภายนอก เพื่อได้มาซึ่งความสุขทางวัตถุ เป็นผู้ที่มุ่งใช้การบริหารการจัดการตามหลักวิชาการและวิทยาศาสตร์ในการกำหนดเศรษฐกิจ การเมือง และสภาวะของมนุษย์

 

เป็นระดับจิตของคนที่มองว่า โลกนี้คือกระดานหมากรุกสำหรับการเล่นแข่งขัน ชีวิตคือเกมการแข่งขันที่ผู้ชนะเป็นฝ่ายได้ และผู้แพ้เป็นฝ่ายเสีย เป็นจิตของคนที่หมกมุ่นแต่เรื่องกลยุทธ์ และชอบแสวงหาความได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ ถูกครอบงำด้วยแนวคิดแบบรัฐบรรษัท (corporatist state)

 

ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีส้มเห็นได้ในภาคเอกชน พวกล่าความสำเร็จ กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มการเงิน นักการตลาด นักล่าอาณานิคม เป็นต้น พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 40% (มากที่สุดในขณะนี้) ขณะที่ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 30% และมีแนวโน้มมากขึ้นโดยกำลังค่อยๆ เข้ามาแทนที่กลุ่มมีมสีน้ำเงิน ซึ่งมีแนวโน้มลดลง

 

(6) มีมสีเขียว เป็นระดับจิตที่ใส่ใจในเรื่องความมีน้ำใจ ชุมชน ห่วงใยสิ่งแวดล้อม ต้องการเห็นความผูกพันสมานฉันท์ระหว่างเพื่อนมนุษย์ ต้องการให้มีการเชื่อมต่อกันเป็นเครือข่าย คนระดับจิตนี้เห็นว่า การเติบโตทางจิตวิญญาณหมายถึงการพ้นไปจากความโลภ และการแบ่งพรรคแบ่งพวก

 

เป็นระดับจิตของคนที่ใช้หัวใจตัดสินใจมากกว่าใช้สมอง ต่อต้านโครงสร้างอำนาจการควบคุมและครอบงำ ใช้ความรู้สึกตัดสินการเลือกมีความสัมพันธ์ เชื่อมั่นการตัดสินปัญหาโดยใช้ประชามติและการเจรจา ยอมรับค่านิยมที่หลากหลายและแตกต่าง จึงเป็นพวกสัมพัทธ์นิยมแบบพหุนิยม (pluralistic relativism) ซึ่งไม่เชื่อว่ามีความถูกต้องเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

 

ตัวอย่างของจิตระดับมีมสีเขียว เห็นได้ในพวกโพสต์โมเดิร์น หรือพวกหลังสมัยใหม่ พวกนิยมนิเวศวิทยาแนวลึก กลุ่มกรีนพีซ กลุ่มพิทักษ์สิทธิสัตว์ กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิมนุษยชน กลุ่มที่นิยมงานของฟูโกลต์และแดริดา (Foucault and Derida) พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 15% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 5%

 

(7) มีมสีเหลือง เป็นระดับจิตแบบบูรณาการ (integrative) ที่มองเห็นความเชื่อมโยงของโลก จิต (mind) และธรรมจิต (Spirit) ตระหนักถึงกระบวนการอันยิ่งใหญ่ของชีวิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างไม่รู้จบสิ้น และสนองตอบต่อชีวิตอย่างเป็นไปเอง (spontaneity) อย่างเป็นธรรมชาติ จึงสามารถดำเนินชีวิตอย่างลื่นไหลดุจสายน้ำ

 

เป็นระดับจิตที่สามารถบูรณาการความคิดต่างๆ เข้าด้วยกัน เชื่อในเรื่องพลังปัญญาญาณ และความสามารถภายในตนเองว่า มีความสำคัญยิ่งกว่าการได้มาซึ่งอำนาจ ลาภยศสรรเสริญทั้งปวง พลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 5% ทั่วโลกมีประชากรในระดับจิตนี้ราวๆ 1%

 

(8) มีมสีเทอร์ควอยส์ (Turquoise) เป็นจิตแบบองค์รวม (holistic) ที่สามารถผสานความรู้สึกและความรู้เข้าด้วยกัน สามารถใช้ความสมานฉันท์ของทุกระดับจิต สามารถใช้ปฏิสัมพันธ์ของจิตระดับต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ เริ่มมีความเข้าใจเชิงรหัสนัย (mystic) และญาณ ทัศนะพลังทางสังคมของคนระดับจิตนี้คือ 1% ทั่วโลกมีประชากรในระดับนี้ราวๆ 0.1%

 

(9) มีมสีคอรอล (Coral) เป็นจิตแบบองค์รวมบูรณา (integral and holistic) ที่พัฒนาต่อจากมีมสีเทอร์ควอยส์ที่กำลังก่อตัวขึ้นมาอย่างช้า ก่อนอื่นต้องขอย้ำว่า มีมแต่ละสีล้วนมีด้านที่เป็นประโยชน์ในตัวของมันเอง และมีมสีระดับที่สูงกว่าย่อม "ก้าวข้ามและหลอมรวม" มีมสีระดับที่ต่ำกว่าเอาไว้ในตัวเอง

 

มีมกับทักษิณ

จากการวิเคราะห์ของสุวินัย ประชาชนของทักษิณคือ….

"สีเขียวไม่เอาแน่นอน ส้มถ้าหากไม่ใช่ได้ผลประโยชน์จากแกก็ไม่อยู่ มีมสีน้ำเงิน....ถ้ารักในหลวงก็ไม่เอา เขา (ทักษิณ) โดดเดี่ยวมากนะ มีมสีแดงก็เอาเงินซื้อ คนที่รักมีน้อยมาก อาจจะเป็นมีมสีเบจซึ่งได้ประโยชน์จากนโยบายเอื้ออาทรซึ่งพลังสังคมคือศูนย์"

 

ทักษิณสร้างศัตรูกับทุกมีม

สุวินัยอธิบายว่า ในการต่อสู้กับระบอบทักษิณในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาคนทุกระดับจิตเข้าร่วม หรือเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง ไม่ว่าจะมาโดยสมัครใจหรือมาโดยถูกปั่นหัว หรือถูกซื้อเอา

 

ตัวระบอบทักษิณสร้างศัตรูกับทุกมีม

 

มีมสีน้ำเงินที่จงรักภักดี ถูกท้าทายเรื่องพระราชอำนาจ แม้จะไม่ได้ตั้งใจ แต่ทิศทางทุนนิยมเป็นแบบนั้น สุวินัยยกตัวอย่างกรณีของประเทศญี่ปุ่นซึ่งพัฒนาไปสู่ความเป็นทุนนิยมเต็มรูป สิ่งที่ตามมาก็คือ อำนาจของจักรพรรดินั้นปลาสนาการไปกระทั่งประชาชนทั่วไปรู้สึกมึนชาหรือเฉยๆ ต่อการมีอยู่ของสถาบันกษัตริย์

 

มีมสีส้ม ถูกท้าทายเรื่องของการผูกขาด ไม่ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม คนไหนที่ไม่ใช่พวก ก็จะถูกคัดออก ไม่ได้รับผลประโยชน์

 

มีมสีเขียว ถูกท้าทายเรื่องสิทธิมนุษยชน เช่นกรณีปัญหาภาคใต้ ปัญหาการฆ่าตัดตอนเพื่อปราบปรามยาเสพติด ปัญหาเรื่องหลักการประชาธิปไตย

 

มีมสีเหลือง ซึ่งมีอยู่ไม่มากแต่เป็นปัญญาชนแนวหน้าอย่างสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือน.พ.ประเวศ วะสี ก็ถูกท้าทายทางจิตวิญญาณ เนื่องจากแนวทางของทักษิณทำให้คนโลภ และหลงใหลวัตถุนิยม

 

 

 

(โปรดติดตามตอนต่อไป : สัมภาษณ์ สุวินัย ภรณวลัย)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท