Visible Man 2006#3 : "นวมทอง" อัศวินผู้ควบ "แท็กซี่" ประดุจม้า..ปะทะ "รถถัง" ราวกับประดาบกับกังหันลม

แม้ว่าเรื่องราวของ "นวมทอง ไพรวัลย์" จะเงียบหายไปแล้ว พร้อมๆ กับควันที่ลอยอ้อยอิ่งออกจากเมรุเผาศพของวัดบัวขวัญเมื่อ 9 พ.ย.49 แต่เชื่อเถิดว่าชื่อของคนเล็กๆ คนนี้ได้ถูกจารึกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปแล้วเรียบร้อย ไม่มีใครไม่รู้จักเขา ไม่ว่าคนที่คิดว่าเขาเพี้ยนหรือคนที่หลั่งน้ำตาให้กับการเสียสละนี้ก็ตาม

โดย มุทิตา เชื้อชั่ง

 

 

 

แม้ว่าเรื่องราวของ "นวมทอง ไพรวัลย์" จะเงียบหายไปแล้ว พร้อมๆ กับควันที่ลอยอ้อยอิ่งออกจากเมรุเผาศพของวัดบัวขวัญ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549  แต่เชื่อเถิดว่าชื่อของคนเล็กๆ คนนี้ได้ถูกจารึกอยู่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยไปแล้วเรียบร้อย ไม่มีใครไม่รู้จักเขา ไม่ว่าคนที่คิดว่าเขาเพี้ยน หรือคนที่หลั่งน้ำตาให้กับการเสียสละนี้ก็ตาม

 

 

ค ว า ม ต า ย ข อ ง ช า ย ค น ห นึ่ ง

 

เช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ข่าว "แท็กซี่พลีชีพ/แท็กซี่ใจเด็ด/แท็กซี่ขับชนรถถัง" ผูกคอตายแถวสะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อคืนก่อน แพร่กระจายออกไปพร้อมๆ กับเนื้อหาในจดหมายลาตาย ซึ่งทำให้หลายคนตกตะลึง ปั่นป่วน ทั้งชวนให้นึกถึงวีรกรรมครั้งแรกของชายผู้นี้ที่ผู้คนอาจไม่ทันได้ให้ความสนใจมากนัก

 

แน่นอน ชีวิตของเขาทั้งชีวิตคือคำตอบที่ชัดเจนไร้คำถาม จากที่เคยถูกสงสัยว่า "เพี้ยน" หรือถูกเหมาว่า "รับจ้าง" เมื่อครั้งที่เขาขับรถแท็กซี่พุ่งชนรถถังหลังการรัฐประหารใหม่ๆ เพื่อต่อต้านเผด็จการ

 

เนื้อหาในจดหมายของเขาที่สะท้อนออกอย่างตรงไปตรงมาถึง "ความเชื่อมั่นและศรัทธา" ใน "ประชาธิปไตย" อย่างแรงกล้า ผสมผสานกับลักษณะ "ฆ่าได้หยามไม่ได้" แบบลูกผู้ชายโบราณ ยิ่งทำให้เกิดเสียงเล่าขาน สดุดีปฏิบัติการทางการเมืองครั้งนี้อย่างล้นหลาม งานศพของเขากลายเป็นที่รวมของผู้คนตั้งแต่ขวาสุดไปจนถึงซ้ายสุด ตั้งแต่ระดับชนชั้นนำไปจนถึงปัจเจกชนต๊อกต๋อยไร้นิยาม

 

 

ขณะเดียวกัน "นวมทอง ไพรวัลย์" ก็ถูกคอลัมนิสต์กล่าวถึงในสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ไม่น้อย มีทั้งน้ำเสียงชื่นชม ยกย่อง พยายามวิเคราะห์กระบวนการหล่อหลอมทางความคิด ตลอดจนการตั้งคำถามกับการตัดสินใจของเขา ---ชายผู้นี้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาถึง 60 ปี ใยจึงอ่อนไหวกับการยึดอำนาจครั้งนี้อย่างสูงสุด / ทำไมในการรัฐประหารสมัย รสช. เมื่อปี 2535 จึงไม่ปรากฏการต่อสู้ใดๆ ของเขา---

 

อาจเพราะ "นวมทอง ไพรวัลย์" เป็นแค่คนธรรมดาที่จบเพียง ป.4 ไม่มีประวัติอันบ่งชี้พัฒนาการของความคิดทางการเมืองได้อย่างแจ่มชัด การตั้งคำถามเช่นนี้จึงเกิดขึ้น หรืออาจเพราะความเคยชินต่อวิธีคิดแบบ "ตัวตนหนึ่งเดียว" "ความเสมอต้นเสมอปลายของจุดยืนทางการเมือง" การเรียกร้องทวงถามถึงประวัติการต่อสู้ของนวมทองจึงมีให้ได้ยินโดยไม่ได้นึกถึงความเป็นไปได้อื่นๆ อีกมากมาย

 

หรือบางทีมันอาจเป็นสิ่งปกติในวัฒนธรรมของสังคมนี้ที่ความเคลือบแคลงใจจะเกิดขึ้นเป็นพิเศษเมื่อพบความมหัศจรรย์ในคนเล็กคนน้อย !

 

กระนั้นก็ตาม แม้คนที่มีจุดยืนแตกต่างและตั้งคำถามกับการตายของนวมทองอย่างถึงที่สุด หรือคนที่ไม่เห็นด้วยกับ "วิธีกา" ของเขาที่สุดก็ยังต้องคารวะให้กับ "หัวใจ" ของเขา เคารพต่อการละทิ้งชีวิตเพื่อความคิด ความเชื่อของเขา

 

นี่อาจเป็นดอน กีโฮเต้ ที่หลุดออกมาในโลกแห่งความจริง และไม่ยอมมองชีวิตอย่างที่มันเป็น หากแต่มองชีวิตอย่างที่มันควรจะเป็น ....  

 

สำหรับกลุ่มคนจำนวนหนึ่งที่ร่วม "โลก" เดียวกับ "นวมทอง ไพรวัลย์" เหตุการณ์นี้นับเป็นความโศกเศร้าที่ยิ่งกดทับลงในจิตใจ หลังจากโศกเศร้ากับความตายของประชาธิปไตยไทยไปหมาดๆ  และสำหรับบางคนมันอาจระคนกับความอดสูใจที่เขาไม่สามารถต่อต้านสิ่งที่เขาไม่เห็นด้วยได้แม้เพียงครึ่งของนวมทอง ขณะที่มีอีกบางคนอาจมองเห็นความหวังใน "หลักหมายของประชาธิปไตย"

 

"การออกมาต่อสู้ของลุงนวมทองด้วยชีวิต มันสะท้อนว่าบัดนี้ความคิด ความเชื่อ อุดมคติเกี่ยวกับประชาธิปไตยได้ลงไปถึงคนระดับล่างแล้ว มันไม่เคยมีครั้งไหนที่มีการออกมาประกาศการต่อสู้โดยคนระดับรากหญ้าเท่าครั้งนี้ มันเป็นหลักกิโลของประชาธิปไตยที่สำคัญ" ใครคนหนึ่งว่าไว้อย่างนั้น

 

 

 

ป ริ ศ น า  "ป ร ะ ช า ธิ ป ไ ต ย"

 

แม้จะมีการวิเคราะห์กันมากมาย แต่ไม่มีใครรู้ได้จริงๆ ว่า ทำไมนวมทองจึงเอาชีวิตเข้าแลกเพื่อต่อต้านการรัฐประหารที่ทำลายระบอบประชาธิปไตย (ล้วนๆ ไม่มีคำสร้อยต่อท้าย--ดูในจดหมายที่เขียนก่อนตาย) ของเขา โดยที่เขาก็เคยถูกกล่อมเกลาในสถาบัน "ทหาร" มาก่อน

 

ไม่มีใครรู้ แม้แต่ภรรยาของเขา "บุญชู ไพรวัลย์" หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า "ป้าเล็ก" ก็ตาม

 

บุญชู ไพรวัลย์ หรือป้าเล็ก ภรรยาลุงนวมทอง ปลีกเวลาขายของมานั่งพูดคุย

 

ป้าเล็กภรรยาอายุ 51 ปีของลุงนวมทองเล่าประวัติของสามีว่า เขาเป็นคนจังหวัดกาญจนบุรี จบการศึกษาระดับป.4 เคยเป็นทหาร สังกัด ม.พัน 3 และ ม.พัน 4  ก่อนจะมาเป็นพนักงานขับรถให้กับ กฟผ. ในปี 2512 และแต่งงานกับป้าเล็กในปี 2525 จนกระทั่งเพิ่งออกจาก กฟผ. ก่อนเกษียร 2 ปี เพื่อมาขับรถแท็กซี่เมื่อปี 2547

 

ลุงนวมทองเป็นคนใจดี รักครอบครัว เขาและเธอเป็นคู่สามีภรรยาที่ต่างปฏิบัติหน้าที่ต่อกันอย่างดี เป็นครอบครัวเดี่ยวทั่วไปที่ไม่ได้เอาใจใส่หรือพูดคุยกับประเด็นทางการเมืองกันเป็นพิเศษอะไร และเธอก็ทำหน้าที่ช้างเท้าหลังที่ไม่เคยเข้าไปก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวของสามี เธอจึงไม่อาจตอบคำถามใครหลายคนที่พุ่งเข้าใส่ได้ว่า อุดมการณ์ทางการเมืองเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร …. สิ่งที่ทำได้คือการเคารพในการตัดสินใจของสามีเท่านั้น

 

"ใครๆ ก็ดึงฉันขึ้นมาว่าให้ภูมิใจนะ แต่ฉันก็บอกว่า แล้วตลอดชีวิตที่เหลือมันจะเป็นยังไง" ป้าเล็กว่า

 

เธอไม่ได้ตอบเต็มปากเต็มคำว่าภาคภูมิใจในความเป็น "วีรชนประชาธิปไตย" ของลุงนวมทองที่ใครหลายคนหยิบยื่นให้หรือไม่ แต่เธอหันไปหยิบจดหมายที่เขาเขียนไว้ก่อนตายมาอ่านให้ฟังอีกครั้งแทน ด้วยน้ำเสียงที่ขาดหายเป็นห้วงๆ  พร้อมกับน้ำตาที่เริ่มไหลรินออกมาอย่างไม่รู้ตัว

 

 

 

ชี วิ ต ที่ เ ห ลื อ อ ยู่

 

ทุกวันนี้ คำสัญญาเรื่องความช่วยเหลือต่างๆ จากหลายคน หลายหน่วยงาน หายไปอย่างไร้วี่แววราวกับทั้งหมดนั้นเป็นความฝัน ซึ่งจู่ๆ ป้าเล็กก็ตื่นขึ้นมาพบว่าตัวเองกลายเป็นหัวเรือใหญ่ของบ้าน โดยรายได้มาจากการขายของเล็กๆ น้อยๆ เช่นเดิม

 

"ที่ใครต่อใครเค้าบอกจะช่วยเรื่องบ้านที่ติดหนี้ไว้ กับเรื่องอะไรต่อมิอะไรนี่หายกันไปหมดเลย"

 

ป้าเล็กกับอาชีพขายของเล็กๆ น้อยๆ อันเป็นรายได้หลักของครอบครัว

 

ป้าเล็กเล่าด้วยว่าหลังจากงานศพยังมีจดหมายลึกลับเขียนมาข่มขู่เธอถึงบ้านไม่ให้ทำอะไรมากไปกว่านี้ "เขาบอกว่าจบงานศพก็ให้จบไป"

 

เมื่อถามถึงสภาพชีวิตตอนนี้ เธอบอกว่า ลำบากกว่าเดิมมาก รายได้จากขายของมีเพียงเล็กน้อย เมื่อก่อนตอนลุงอยู่ ลุงจะเอาเงินที่ขับรถแท็กซี่มาให้ทุกวัน วันละ 300- 500 บาท

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากเงินขายของแล้ว ยังมีเงินจากโครงการมูลนิธินวมทอง ไพรวัลย์ ที่ร.ต.ดร.วิชัย จิตรพิทักษ์เลิศ เป็นที่ปรึกษา โดยให้เดือนละ 3,000 บาทเป็นเวลา 5 ปี

 

 

 

"กระตั้ก" หมาแสนรู้ตัวโปรดของครอบครัวไพรวัลย์

 

 

ในส่วนของลูกๆ "จิ๊ก" ลูกชายคนเล็กของป้าเล็กกำลังเรียน กศน. ส่วน "แจง" ลูกสาวคนโตจบคณะคหกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องแต่งกายและออกแบบแฟชั่น เมื่อปีที่แล้วจากสถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตโชติเวช

 

"พ่อคงอยากให้คนหันมาสนใจเรื่องประชาธิปไตย ซึ่งมันก็คงเป็นอย่างที่พ่ออยากให้เป็น หนูเสียใจแต่ก็ภูมิใจ" แจงบอกความรู้สึก

 

ถ้าใครยังจำได้ ทางกองทัพเคยรับปากว่าจะรับเธอเข้าไปทำงานในหน่วยงาน เมื่อครั้งเรื่องของลุงนวมทองกำลังได้รับความสนใจจากสังคม แต่ตอนนี้เธอทำงานที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่นแถวบ้าน พร้อมกับรับปะผ้า เปลี่ยนซิป แก้ทรงเสื้อผ้า จากลูกค้าแถวบ้าน

 

"ไม่มีติดต่อมาอีกเลย คนเค้าคงลืมกันไปแล้ว ไม่ใช่ "คง" แล้วสิ คนลืมกันไปหมดแล้วแหละ เสร็จงานพ่อ ทุกอย่างก็เงียบกริบ" แจงเล่า

 

 

. . . . . . . . . . .

 

บัดนี้ คำสัญญาต่างๆ ลอยหายไปในอากาศ ผู้คนเลิก "จดจ่อ" กับเรื่องราวของแท็กซี่ใจเด็ด แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่เป็นที่ "จดจำ" แม้ใครจะดูถูกดูแคลนพลังความทรงจำของสังคมไทยแค่ไหนก็ตาม

 

เพราะเมื่อบางคนยอมตายเพื่อความคิด ความเชื่อ ความใฝ่ฝัน ไม่ว่ามันจะถูกหรือผิด ความตายก็ได้ทำหน้าที่เป็นสะพานทอดสู่ความเป็นอมตะแล้ว 

 

ที่สำคัญ "นวมทอง ไพรวัลย์" ได้กลายเป็น "สัญลักษณ์" อันหนักแน่นของ "ประชาธิปไตย" ที่จับต้องได้ในพ.ศ.นี้ ท่ามกลางสภาวะที่ประชาธิปไตยถูกท้าทาย ถูกจับไปผสมกับสิ่งตรงข้าม จนกลายเป็น "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" ซึ่งนับเป็นความพยายามอันเก่าแก่ที่สุด หยาบที่สุด และถนัดที่สุดของสังคมไทยในการแก้ปัญหา ทั้งๆ ที่โจทย์ของสังคมการเมืองไทยนั้นสลับซับซ้อนยิ่งขึ้นทุกวัน

 

สัญลักษณ์นี้อาจนิ่งสงบอยู่ภายใต้ความคลุมเครือของปัจจุบัน แต่หากเส้นทางที่ดำเนินอยู่นี้ถูกพิสูจน์ว่า "ผิด" ในวันใด สัญลักษณ์นี้อาจทรงพลังปลุกทั้งสังคมให้ตื่นขึ้นอีกครั้ง....

 

---------------------

 

@ อ่านข่าวย้อนหลัง @

 

จดหมายจากใจแท็กซี่พลีชีพ "ชาติหน้าเกิดมาคงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก"

 

ฟังเพลง "วันของเรา" จากจิ้น กรรมาชน และบทกวีคารวะแด่ แท็กซี่วีรชน(ที่นี่ที่เดียว)เวอร์ชั่นเต็มมาแล้ว

 

แท็กซี่พลีชีพ สวดศพ คืนที่ 2 วุ่น เมียระบุถ้าวุ่นวายมากจะสวดศพแค่ 3 วันแล้วเผา

 

เครือข่าย 19 กันยาฯ ออกแถลงการณ์ไว้อาลัย "นวมทอง ไพรวัลย์"

 

เปิดเทปลุงนวมทองหลังเผา "เพราะเขาเป็นทหารจึงไม่รู้จักคำว่าประชาธิปไตย"

 

"ประกายไฟ" จากชุน เต อิล แรงงานเกาหลี ถึงนวมทอง ไพรวัลย์ แท๊กซี่วีรชน และคนอื่นๆ

 

สัมภาษณ์: จอม เพชรประดับ และถ้อยคำสุดท้ายของ "นวมทอง ไพรวัลย์"

 

 

--------

หมายเหตุ - สำนวนพาดหัวนำมาจากวรรณกรรมคลากสิกของโลกเรื่อง ดอนกีโฮเต้:แมน ออฟ ลามันชา 

 

ทำความรู้จัก ดอน กีโฮเต้

 

อ่านเรื่องย่อ "Don Quixote de la Mancha"

 

มิเกล เด เซรบันเตส ซาเบดรา ผู้ให้กำเนิดดอนฯ

 

ดอนกิโฮเต้ยังไม่ตาย

 

 

 

 

โครงการ Visibleman 2006

 

คือการมองย้อนหลังในระยะเวลา 1 ปี

และค้นหาคนที่เรา "ประชาไท" เห็นเด่นชัดที่สุด

 

Visibleman ของเรา ไม่ใช่ข้อสรุปจากผลการศึกษา มิใช่ผลงานทางวิชาการ หรือการวิจัยใดๆ

แต่เราปรารถนาให้ผู้อ่านเห็นถึงนัยที่เราเลือก

กระบวนการเลือก กระบวนการการทำงาน การถกเถียง ตลอดจนการหาข้อสรุปของเรา

 

เพราะเหตุนี้ เราจึงตระหนักดีว่า

ความน่าเชื่อถือและพลังของการเลือกบุคคลผู้ที่จะเป็น Visibleman ของเรานั้น อยู่ที่เราแต่ละคน

ยิ่งเราแต่ละคนเติบโตขึ้นเท่าไร ลุ่มลึกมากเท่าใด

ความน่าเชื่อถือในโครงการ Visibleman ก็มากขึ้นเท่านั้น

 

เราปรารถนาให้โครงการ Visibleman ได้แสดงถึงความอ่อนด้อยของเรา

ตลอดจนการเติบโต ความรู้ของเรา และรายงานต่อผู้อ่านอย่างซื่อตรง

 

กล่าวอีกอย่างก็คือ

โครงการ Visibleman

ไม่ใช่เพียงเพื่อการเสนอนัยของ "บุคคลที่เราเห็น" ในปีที่ผ่านมา

หากแต่ยังหมายถึงการรายงานพัฒนาการของเราต่อผู้อ่านด้วย

 

…………………………….

 

Visibleman 2006 ได้เปิดให้ผู้สื่อข่าวและเจ้าหน้าที่ "ประชาไท" เสนอชื่อ

ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549

ก่อนจะจัดทำข้อเสนอ ความเห็น ข้อมูล เพื่อร่วมถกเถียงหาข้อสรุป

ในวันที่ 18 ธันวาคม 2549

และทยอยนำเสนอต่อผู้อ่าน

ตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2549

จนไปสิ้นสุดที่รายชื่อผู้ที่สมควรเป็น Visibleman 2006 ของ "ประชาไท"

ในวันที่ 4 มกราคม 2550

โดยมีรายชื่อพร้อมผู้เสนอ ดังนี้

 

รายชื่อ  Visibleman 2006  และผู้เสนอ

 

กษัตริย์ คเยนทรา วีระ วิกรม ชาหะเทวะ    เสนอโดย  พงษ์พันธุ์  ชุ่มใจ
พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์   เสนอโดย  ชูวัส  ฤกษ์ศิริสุข และ
    พิณผกา  งามสม
นวมทอง ไพรวัลย์ เสนอโดย  มุทิตา  เชื้อชั่ง
จาตุรนต์ ฉายแสง เสนอโดย  ภาพันธ์  รักษ์ศรีทอง
จูหลิง ปงกันมูล เสนอโดย  มูฮัมหมัด  ดือราแม
อังคณา นีละไพจิตร เสนอโดย  นัดดา  มะลี
น้องเดียว - ด.ช.พัทธดนย์ เกลี้ยงจันทร์ เสนอโดย  เสาวภา  พุทธรักษา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล เสนอโดย  อรพิณ  ยิ่งยงพัฒนา
ครูตี๋ - นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เสนอโดย  องอาจ  เดชา
พล.อ. สพรั่ง กัลยาณมิตร เสนอโดย  วิทยากร  บุญเรือง
สุรพล นิติไกรพจน์ เสนอโดย  จิรนันท์  หาญธำรงวิทย์ 
วรเจตน์ ภาคีรัตน์ เสนอโดย  พิณผกา  งามสม
พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เสนอโดย  พิณผกา  งามสม

จิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุก

เสนอโดย  ตติกานต์  เดชชพงศ

 

……………………………..

 

 

  

โครงการ Visibleman 2006

 

ดำเนินการถกเถียง แลกเปลี่ยน และหาข้อสรุป

โดย รุจน์ โกมลบุตร

คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกรรมการประชาไท

 

 

 

 

 

 

เอกสารประกอบ

@ รวมบทความ-คอลัมน์เกี่ยวกับ "นวมทอง ไพรวัลย์" @

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท