เก็บตกเสวนา : ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน

โครงการตลาดวิชาการมหาวิทยาลัยชาวบ้านและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเสวนาเปิดประเด็นจากหนังสือ "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน : จากวันนั้นถึงวันนี้" แต่งโดย รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ณ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ "ประชาไท" เก็บความนำเสนอ

โครงการตลาดวิชาการมหาวิทยาลัยชาวบ้านและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จัดเสวนาเปิดประเด็นจากหนังสือ "ความเป็นมาของทฤษฎีแบ่งแยกดินแดน : จากวันนั้นถึงวันนี้" แต่งโดย รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2550 ณ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ "ประชาไท" เก็บความนำเสนอ

 

 

 

รศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

สิ่งที่ประวัติศาสตร์ให้คือการมองเห็นอนาคตโดยเข้าใจในอดีตของตัวเอง บทเรียนประวัติศาสตร์ไม่ได้มาเถียงกันเรื่องใครถูกผิด มิฉะนั้นจะไปไหนไม่ได้ คำอธิบายว่า "แบ่งแยกดินแดน" ไปผูกกับ 2 กรณีคือ กรณีกบฏหะยีสุหลง กับกรณีดุซงญอ ซึ่งเกิดในพ.ศ. 2491 เหมือนกัน โดยเกิดจากบริบทที่นำไปสู่ปัญหาอันมาจากกระบวนการสร้างประชาธิปไตยในประเทศไทยหลัง 24 มิ.ย.2475 และการสร้างชาติยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์โลกทั้งก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2

 

หลัง พ.ศ. 2491 มีกลุ่มพลังการเมืองใหม่ตั้งแต่ภาคเหนือถึงภาคใต้ นักการเมืองที่มีคดีเป็นปัญหากลับเป็นกลุ่มภาคอีสานเสียมากกว่าภาคใต้ ตัวแทนของรัฐชาติหรือชาตินิยมไทยคือรัฐส่วนกลาง ในขณะที่ตัวแทนท้องถิ่นคือนักการเมืองท้องถิ่น แต่รัฐส่วนกลางล้วนเข้ามาผูกขาดอำนาจอธิปไตยหมด จนบริบทหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ความขัดแย้งรุนแรงมากขึ้นเมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาเป็นผู้นำ กลุ่มท้องถิ่นถูกผูกโยงกับส่วนกลาง พวกแนวคิดกระบวนเสรีไทยก็ถูกปราบเป็นส่วนใหญ่ ตรงนี้เป็นทัศนะการมองปัญหาต่างกัน ท้องถิ่นจะมองจากความชอบธรรมของตัวเอง แต่รัฐส่วนกลางมองอย่างผูกขาด ในภาคใต้ก็มีเช่นกันคือการเรียกร้องวัฒนธรรม ศาสนา อย่างไรก็ตาม กว่าที่ความเชื่อจะถูกถ่ายทอดอย่างเป็นกระบวนก็ต้องใช้เวลา

 

สิ่งที่น่าสนใจในการต่อสู้ขัดแย้งยุคแรก ช่วงรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์นั้นไม่ได้มองในปัญหาเป็นเรื่องเสถียรภาพของรัฐ จึงพร้อมเจรจากลายเป็นข้อเรียกร้อง 7 ประการของหะยีสุหลง แต่ก็ถูกตีความหลายประการ จากหลายภาคส่วนและในหน่วยงานรัฐบาลจนแม้แต่ Wording ในข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงก็ใช้ไม่ตรงกัน ถึงกระนั้นก็มีการเจรจาและตกลงกันในระดับหนึ่ง ทว่าไม่ได้สร้างผลอะไรให้เกิดขึ้นเพราะเกิดการรัฐประหารในเวลาต่อมา

 

มุมมองรัฐไทยต่อชุมชนมุสลิมนั้น จะเห็นว่าลักษณะความสัมพันธ์ในหมู่มุสลิมมีความแน่นเหนียวจึงทำให้เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจและคิดว่าถ้าไม่มีการจัดตั้งก็ไม่น่าจะเรียกร้องเป็นเรื่องราวได้ นอกจากนี้ในเรื่องศาสนา ผู้นำศาสนาจะเป็นผู้นำมลายูมุสลิมด้วย ดังนั้นความขัดแย้งทางศาสนาแม้ไม่ใช่ความขัดแย้งทางการเมืองเสมอไป แต่ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มาจากความเชื่อทางศาสนาจะถูกตีความง่ายกว่า

 

กรณีกบฏดุซงญอคือการที่รัฐมองปัญหาต่างจากสภาพเป็นจริงจนเป็นต้นแบบการปราบการประท้วงด้วยความรุนแรง ซึ่งความจริงไม่ใช่การประท้วง แต่เป็นการป้องกันตนเองจากกลุ่มโจรจีนมลายูมุสลิม

 

พ.ศ. 2491 จอมพล ป. พิบูลสงครามกลับมามีอำนาจอีกครั้ง ในช่วงเวลานั้นสหรัฐอเมริกาก็ประกาศสงครามเย็นปราบคอมมิวนิสต์ ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงประกาศรักษาประชาธิปไตยด้วย กลุ่มเคลื่อนไหวต่างๆในช่วงเวลานี้เลยถูกเลยถูกมองว่าเป็นกลุ่มหัวรุนแรง ทั้งหมดทำให้รัฐมีความชอบธรรมในการใช้กำลังในการสยบทุกอย่างที่ตีความว่าบ่อนทำลายเสถียรภาพต่างๆ

 

000

มารค ตามไท

อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)

 

หลายครั้งเวลาทำความเข้าใจคือ มีความจริงที่ไม่ครบถ้วน มีคำถามว่ารัฐขอโทษแล้วทำไมภาคใต้ยังมีปัญหา เมื่อไปถามหลายคนในพื้นที่ด้วยคำถามนี้ ทุกคนตอบง่ายว่าเพราะขอโทษผิดเรื่อง คือขอโทษแทนสิ่งที่รัฐบาลชุดก่อนทำ ซึ่งความจริงคือต้องขอโทษในสิ่งที่รัฐบาลใน 60 หรือ 100 ปีก่อนทำ นี่คือความจริงที่ไม่ครบ

 

นอกจากนี้ประเด็นที่อยากให้ชวนคิดคือ คำว่า 'แบ่งแยกดินแดน' เป็นวลีที่พูดกันในภาษาไทย ซึ่งในภาษาอื่นอาจความหมายไม่คล้ายแบบนี้ ความหมายและการใช้ภาษาคืออะไร ทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนหมายความว่าอะไร เช่นคำว่า Liberation หรือดังที่กระบวนการต่างๆ เช่น พูโล ใช้ศัพท์ว่า 'ปลดแอก' มันมีความหมายต่างกันมากกับคำว่า 'แบ่งแยกดินแดน' จึงเป็นปัญหาในพื้นที่ในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา 

 

เหตุที่มองว่าปัญหาภาคใต้ไม่ใช่การแบ่งแยกดินแดน เพราะคำว่าแบ่งแยกนั้นไม่ได้หมายถึงเป็น 'รัฐอิสระ' แต่เป็นลักษณะอื่น ได้แก่รูปแบบการแบ่งการปกครองไม่ใช่การแบ่งพื้นที่ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา เพราะหากใช้ในภาษาที่ไม่น่ากลัวก็คือ 'การกระจายอำนาจ' แต่การใช้คำว่า 'แบ่งแยกดินแดน' เป็นการเลือกใช้วาทกรรมที่ตั้งใจใช้ เพราะสามารถได้รับการสนับสนุนจากสาธารณชนได้ง่ายกว่าวาทกรรมอื่น

 

อีกประเด็นที่ควรคำนึงถึงคือเรื่องชาตินิยม พูดกันมากแต่ไม่ค่อยพูดถึง 'ชาตินิยมปัตตานี' การประชุมครั้งหนึ่งในคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.)ก็ถกกันกลับไปมา คือการใช้คำว่า ไทยมุสลิมเชื้อสายมลายู กับ มลายูมุสลิม สัญชาติไทย นอกจากนี้คนในพื้นที่เองกลับมีแรงที่กีดกันที่ไม่ให้กระบวนการสากลมายุ่งซึ่งเป็นห่วงกันมากในช่วงแรก

 

คำถามคือ ทำไมในประเทศอื่นเวลามีกระบวนการแบบนี้ องค์กรสากลอื่นเข้ามายุ่งได้มากกว่า เช่น เจไอหรืออะไรก็ตาม ในพื้นที่มองว่าเพราะไม่ใช่เรื่องคนอื่นแต่เป็นเรื่องปัตตานีเอง ถ้าให้คนอื่นมายุ่งก็เป็นเรื่องบุญคุณไป

 

นอกจากนี้ข้อเรียกร้องของหะยีสุหลงในอดีต ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากข้อเรียกร้องทุกวันนี้ เคยคุยกับนักศึกษาปัตตานี เขาเคยบอกว่าอยากจะเลือกฮีโร่ของเขาเอง ไม่ใช่ฮีโร่ของไทย คือ ฮีโร่นักสันติวิธีหรือการพยายามต่อสู้ของหะยีสุหลง จิตสำนึกนี้ก็ไม่ได้หายไปไหนจากในพื้นที่

 

หลายคนอยากให้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและส่วนราชการ แต่ต้องมองลึกๆ ว่าปัญหาจะหมดจริงหรือไม่ คิดว่าไม่ เพราะแม้เรื่องอยุติธรรมหายไป แต่ถ้าถูกกำหนดจากที่อื่นก็ไม่แน่ว่าปัญหาภาคใต้จะหาย เช่น การมีศูนย์บริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต. ) ทำหน้าที่อบรมเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเข้าใจก่อนลงไปทำงานในพื้นที่มันก็คือการอบรมคนข้างนอกเข้ามาทำงานในพื้นที่ แต่แตกต่างจากปกติตรงที่ทำให้ดี อย่างไรก็ตามมันก็คือเอาคนข้างนอกเข้ามา ตราบใดมีตรงนี้คนกลุ่มหนึ่งจะไม่วางมือ ปัญหาคือคนไม่วางมือมีกี่คน

 

คนไม่กี่คนจะเรียกว่าทฤษฎีแบ่งแยกดินแดนได้หรือไม่ เพราะในปัจจุบันคนไม่เยอะสามารถสร้างความวุ่นวายได้เยอะแยะมากมายจึงยังเป็นเรื่องที่ต้องหาวิธีจัดการ ข้อถกเถียงที่เจอบ่อย เช่น การแบ่งแยกดินแดนที่มีอยู่เป็นคนจำนวนน้อยไม่ต้องสนใจ ให้ไปสนใจส่วนอื่น ถ้าคิดแบบนี้จะพลาดเพราะความรุนแรงมีจากทั้งสองฝ่าย คำถามคือแต่ละฝ่ายทำแม่นแค่ไหน เพราะถ้าทำไม่แม่นสมมติมีญาติพี่น้องอีก 50 % ปัญหาก็จะเพิ่ม และที่ทำให้ตกใจคือจากการคุยกับสมาพันธ์ครูในพื้นที่เขาบอกว่าอีกฝ่ายแม่นกว่าดังนั้นทิศทางของปัญหาจึงขยายขึ้น

 

อุปสรรคมองจากมุมรัฐ คือ เราเข้าใจว่ารัฐอดีตกับปัจจุบันไม่ต่างกัน จึงมองแนวเดียวหมดทำให้ไม่สามารถใช้มาตรการเฉพาะหน้าบางอย่าง ตัวอย่างเช่นอเมริกาทำกับมาติน ลูเธอร์ คิง ตอนแรกรัฐบาลอเมริกามองเป็นตัวป่วนต้องจัดการ ต่อมารัฐบาลภายหลังยอมรับความผิดพลาด จนมาตั้งวันมาตินลูเธอร์ ไม่ได้แปลว่าในอดีตไม่เป็นอุปสรรคต่อรัฐ แต่ก็ไปหาฮีโร่ของคนในพื้นที่และตั้งวันระลึกถึง

 

คำว่ายอมรับคือมีความภูมิใจของคนต่อผู้นำในอดีตต่อมาเขาไปโดนกระทำอะไรก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะไม่ดี กำลังพูดถึงตัวอย่างวันหะยีสุหลงกับวันมาร์ติน ลูเทอร์ คิงส์

 

000

จรัญ ภักดีธนากุล

ปลัดกระทรวงยุติธรรม

 

คิดว่าเรากำลังเล่นแย่งชิงประชาชนไม่ใช่แค่แย่งชิงพื้นที่อย่างเดียวจึงขึ้นกับใครแม่นยำกว่ากัน ถ้าเรามีกระบวนการดึงและการบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพ แม่น การนำสันติสุขกลับมาก็เป็นไปได้ แต่ถ้าพลาด คือการบังคับกฎหมายหย่อนยานหรือเข้มงวดในทางผิดพลาดก็เท่ากับเป็นเงื่อนไขกลายเป็นรัฐไทยทำสงครามกับประชาชน ยิ่งแรงก็ยิ่งพ่ายแพ้ ซึ่งรัฐคงไม่ยอมแพ้ก็จะรุกลามคนบาดเจ็บมากขึ้น 

 

ต้องยอมรับว่าเราทอดทิ้งพื้นที่นี้มานาน การทำต้องทำทั้งกอบกู้ช่วยเหลือประชาชนที่เคยทอดทิ้งให้เห็นประโยชน์ในการอยู่ร่วมกันให้ได้เช่นเดียวกับการวมกันของสหภาพยุโรป(EU) ที่แม้ไม่ได้ร่วมประเทศก็ร่วมประโยชน์กันได้ ทำอย่างไรให้รู้สึกว่าทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น ซึ่งต้องลงทุนให้เห็นประจักษ์จริงๆ

 

ส่วนการใช้กำลังคุกคามข่มขู่กลับมองว่าเป็นจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม แม้สร้างความกลัวมากแต่ก็ทำลายความชอบธรรม ประชาชนที่เห็นโอกาสและความจริงใจที่ดีกว่าก็จะมาสมัครสามัคคีมากกว่า ถ้าตั้งหลักได้ต้องทำให้แม่น ถ้าไม่แม่นก็ไม่ทำเราก็จะไม่สูญเสีย ประชาชนจะได้คลายความหวาดกลัว ต้องทำบ่อยๆ เรื่อยๆ เก็บคะแนนมากพอจะยุติความรุนแรงได้

 

จุดอ่อนที่ไม่อยากให้เดินคือการสร้างความโกรธแค้นใส่กัน อย่าขยายตรงนี้ไป สิ่งที่ทำให้ขยายคือความรู้สึกประชาชนในพื้นที่จะรู้สึกว่าทำไมเกรงกลัว ไม่มีน้ำยาจึงอยากให้ใช้กำลังสยบ ตรงนี้มีและขยายตัวเร็ว แต่ทำอย่างนี้จะเดินไปสู่การแพ้ทั้งสองฝ่าย

 

 

 

 

-----------------

หมายเหตุ

 

- กรณี กบฏดุซงญอ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เมษายน 2491 ที่ บ้านดุซงญอ ต.จะแนะจ.นราธิวาส และมีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ราว 400 คน

 

28 เมษา 48 ครบ 1 ปี กรือเซะ 57 ปี ดุซงญอ

http://www.prachatai.com/news/show.php?Category=nm&No=4169

 

- หะยีสุหลง มีชื่อเต็มว่า "ฮัจยี มูฮัมหมัด สุหลง บิน อับดุลกาเดร์ อัลฟาตอนี" ถูกกล่าวหาว่าต้องการ "แบ่งแยกดินแดน" ถูกอุ้มหายไปโดยเชื่อกันว่าถูกทำลายชีวิตด้วยการจับมัดใส่กระสอบนำไปถ่วงน้ำด้วยฝีมือเจ้าหน้าที่รัฐไทย ข้อหาทำนองนี้ถูกขยายไปครอบคลุมและทำลายชีวิตของ 4 อดีตรัฐมนตรีอีสาน ได้แก่ ทองอินทร์ ภูริพัฒน์ (อุบลราชธานี) จำลอง ดาวเรือง (มหาสารคาม) ถวิล อุดล (ร้อยเอ็ด) และเตียง ศิริขันธ์ (สกลนคร) ในปี พ.ศ. 2492

 

ข้อกล่าวหา หะยีสุหลง มาจากการที่เมื่อวันที่ 3 เมษายน 2490 ได้ยื่นข้อเรียกร้อง 7 ข้อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พลเรือตรีหลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ข้อเรียกร้องประวัติศาสตร์คือ (เนื้อความอาจแตกต่างกันไปในหลายหน่วยงาน)

1. ขอให้แต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งซึ่งมีอำนาจเต็มมาปกครองใน 4 จังหวัด คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสตูล ให้มีอำนาจที่จะปลด ระงับ หรือโยกย้ายข้าราชการได้ บุคคลผู้นี้จักต้องถือกำเนิดในจังหวัดใดจังหวัดหนึ่งของ 4 จังหวัด และจักต้องได้รับการเลือกตั้งมาจากประชาชนใน 4 จังหวัดนั้น

2. ข้าราชการใน 4 จังหวัดจักต้องเป็นมุสลิมจำนวน 80 %

3. ให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยเป็นภาษาราชการของ 4 จังหวัด

4. ให้ภาษามลายูเป็นภาษากลางของการสอนในโรงเรียนชั้นประถมศึกษา

5. ให้ใช้กฎหมายมุสลิมในศาลศาสนา แยกออกไปจากศาลจังหวัดซึ่งเคยมีผู้พิพากษามุสลิม (KATH) นั่งพิจารณาร่วมด้วย

6. ภาษีเงินได้และภาษีทั้งปวงที่เก็บจากประชาชนใน 4 จังหวัดจักต้องใช้จ่ายเฉพาะใน 4 จังหวัดนั้น

7. ให้จัดตั้งคณะกรรมการมุสลิมมีอำนาจเต็มในการดำเนินการเกี่ยวกับคนมุสลิมทุกเรื่อง โดยให้อยู่ในอำนาจสูงสุดของผู้นำตามข้อ 1.

 

- มาร์ติน ลูเทอร์ คิงส์ สำหรับในประเทศสหรัฐอเมริกาถือว่าวันที่ 15 มกราคม เป็นวันมาร์ติน ลูเทอร์ คิงส์ ซึ่งเป็น National Holiday เพราะถือว่าเป็นบุคคลสำคัญที่สุดสำหรับประวัติศาสตร์อเมริกันสมัยใหม่ ในการเรียกร้องสิทธิความเท่าเทียมกันระหว่างสีผิว ระหว่างคนขาวและคนดำ เนื่องจากคนดำในอเมริกาถูกมองว่าเป็นพลเมืองชั้นล่าง ไม่มีสิทธิเทียบเท่ากับคนผิวขาว เช่น ไม่มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่มีสิทธิใช้สาธารณูปโภคร่วมกับคนขาว เช่น ร้านอาหาร โรงเรียน ห้องน้ำ มาร์ติน ลูเทอร์ คิงส์ เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพของคนผิวดำในอเมริกา แต่ถูกลอบยิงถึงแก่ชีวิตที่เมืองเมมฟิส รัฐเทนเนสซี โดยเจมส์ เอิร์ล เรย์ ชาวผิวขาว ในปี 1968

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท