ความปั่นป่วนหลัง "บังคับใช้สิทธิ" : เขาว่าไทยเป็นหัวขโมย ?!!?

กระทรวงสาธารณสุขมาถูกทางหรือไม่ หลังประกาศบังคับใช้สิทธินำเข้ายาติดสิทธิบัตร 3 ตัวที่ราคาถูกกว่า, การตอบโต้จากบริษัทยาและสหรัฐอเมริกาเป็นเรื่องถูกต้องเพียงใด, ผลกระทบวงกว้างด้านเศรษฐกิจกับชีวิตผู้ป่วยจะคำนวณอย่างไร, ความเป็นธรรมกับบริษัทยาที่อุตส่าห์ "ลงทุนวิจัยมหาศาล" อยู่ตรงไหน .... คำตอบอยู่ในหนังสือ The Truth About the Drug Companies งานวิชาการเชิงสืบสวนสอบสวนที่น่าสนใจที่สุดในสถานการณ์นี้ !

 

มุทิตา  เชื้อชั่ง

 

 

- - - Present  - - -

 

ปลายปีที่แล้ว กระทรวงสาธารณสุขไทยตัดสินใจออกประกาศมาตรการบังคับใช้สิทธิ หรือ ซีแอล(1) เป็นครั้งแรกกับยาต้านไวรัส 2 ชนิด ยารักษาโรคหัวใจอีก 1 ชนิด เพื่อให้สามารถผลิต หรือนำเข้ายาติดสิทธิบัตรจากที่อื่นที่ราคาถูกกว่ามาใช้รักษาผู้คนในประเทศได้ ตามกรอบเวลา ปริมาณ และการจ่ายค่าชดเชยแก่เจ้าของสิทธิบัตรซึ่งได้กำหนดไว้ในประกาศนั้น(2)

 

แม้จะไม่มีข้อกังขาว่ามาตรการนี้เป็นช่องว่างที่องค์การการค้าโลกเว้นวรรคไว้ให้ประเทศยากจนหรือประเทศกำลังพัฒนา (ที่ใจกล้า) ทั้งหลายนำไปปรับใช้ได้ตามความเหมาะสม แต่ในทางปฏิบัติไม่เคยมีประวัติว่ารัฐบาลไทยในสมัยใดจะกล้าใช้มาตรการนี้ต่อรองกับบริษัทยาข้ามชาติ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องจากเอ็นจีโอ และการเฝ้าคอย "วันฟ้าใส" ของผู้ป่วยยากจนโดยเฉพาะผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์จำนวนมากที่ต้องกินยาต่อเนื่องแต่เข้าไม่ถึงยา เนื่องจากกำแพงราคาที่สูงลิ่ว

 

ทันทีที่มีการประกาศใช้ซีแอล แรงกดดันจากทั่วสารทิศก็พุ่งเข้าสู่รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารชุดนี้ในหลากหลายระดับ เพราะความสำเร็จของประเทศไทยจะกลายเป็นความปวดหัวของบริษัทยา หากมันไปเป็น "แรงบันดาลใจ" ให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะการที่ไทยกล้าประกาศใช้ซีแอลกับยาตัวใหม่ อย่างยาละลายลิ่มเลือดรักษาโรคหัวใจ ซึ่งไม่ใช่ยาต้านไวรัสเอชไอวีเหมือนที่ประเทศใจกล้าอื่นๆ เคยทำกันมา

 

ขณะที่อีกฟากหนึ่งก็มีแรงสนับสนุนจากองค์กรระหว่างประเทศหลากหลายองค์กรที่ส่งเสียงเชียร์นโยบายนี้ เอ็นจีโอในประเทศมีการเคลื่อนไหวรณรงค์บอยคอตบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างแอ็บบ็อต แลบอลาทอรี่ส์ ที่ตอบโต้การประกาศซีแอลของรัฐบาลด้วยการถอนการขึ้นทะเบียนยาใหม่ 7 ชนิด  ซึ่งนับเป็นการเดินหมากต่อรองอย่างไม่คำนึงถึงชีวิตของผู้ป่วย

 

ท่ามกลางการประลองกำลังที่เกิดขึ้นอย่างเข้มข้น บริษัทยาหลายแห่งตัดสินใจยอมตบเท้าเข้ามาขอลดราคายากันฮวบฮาบ แลกกับการที่รัฐบาลจะไม่ใช้มาตรการซีแอลจริงดังที่ออกประกาศ รวมถึงบริษัทที่แข็งกร้าวที่สุดอย่าง แอ็บบ็อตด้วย กระนั้นก็ตาม ราคายาที่บริษัทยอมลดลงก็ยังถือว่าแพงอยู่ดีเมื่อเทียบกับการใช้มาตรการซีแอลไปนำเข้ายาชื่อสามัญแบบเดียวกันนี้จากอินเดีย

 

ง่ายเกินไปที่เรื่องนี้จะจบในเวลาเพียงเท่านี้ ล่าสุด สำนักผู้แทนการค้า (ยูเอสทีอาร์) ได้ออกรายงานชิ้นสำคัญยกไทยขึ้นชั้นเป็นประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ในเรื่องการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จากที่เคยอยู่ในการจับตามองระดับธรรมดา แม้จะไม่พูดตรงไปตรงมา แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าสาเหตุสำคัญมาจากการประกาศใช้ซีแอลนั่นเอง

 

รายงานนี้อาจมีผลสำคัญต่อการตัดสินใจของสหรัฐที่จะตัดสิทธิพิเศษทางการค้า หรือจีเอสพี ที่มีอุตสาหกรรมบางสาขาของไทยได้รับสิทธิในการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐโดยไม่ต้องเสียภาษีอยู่ ดังนั้น การตอบโต้โดยรายงานฉบับนี้จึงสร้างความหวั่นไหวไม่น้อยแก่ภาคธุรกิจ แรงกดดันภายในประเทศจึงหนักอึ้งขึ้นมากจนหัวขบวนอย่าง นพ.มงคล  ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขต้องออกปากถึงความทดท้อและเตรียมเดินทางไปชี้แจงกับสหรัฐเร็วๆ นี้ ...

 

 

- - -  Past  - - -

 

ว่ากันตามความเป็นจริงของโลกใบนี้ มาตรการที่ไทยเผชิญอยู่ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด มีหลายประเทศที่ตัดสินใจใช้มาตรการนี้ สหรัฐเองมีการบังคับใช้สิทธิกับยารวมไปถึงสินค้าอื่นๆ มากมายหลายรายการ แต่หากเป็นประเทศกำลังพัฒนาหรือยากจน การลุกมาประกาศซีแอล มักจะเจอกับแรงกดดันมหาศาล

 

 

แอฟริกาใต้ ประเทศซึ่งเผชิญวิกฤตด้านสาธารณสุขจากเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากที่สุดในโลก เคยออกกฎหมายเพื่อบังคับใช้สิทธิ และถูกบริษัทยาข้ามชาติ 39 บริษัทร่วมกันฟ้องว่า ขัดรัฐธรรมนูญ โดยไม่สนใจว่า ในรัฐธรรมนูญก็มีการประกันสิทธิของคนแอฟริกาใต้ในการเข้าถึงการรักษา ในที่สุด แม้ว่าบริษัทยาจะถอนฟ้องแต่กฎหมายนี้ก็ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติ เพราะถูกผูกมัดด้วยเงินบริจาคจากประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้แอฟริกาใต้ต้องใช้ยาชื่อการค้าเท่านั้น และแม้ว่าจะมีราคาถูกลงจากการลดราคาแต่ก็มีไม่เพียงพอกับผู้ป่วยชาวแอฟริกัน

 

มาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้านที่มีประชากรราว 24 ล้านคน การประมาณการขั้นต่ำพบว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีราว 65,000 คน  รัฐบาลมาเลเซียก็เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยที่ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับการจัดหายาให้ผู้ติดเชื้อ กระทรวงสาธารณสุขมาเลย์จึงต่อรองราคากับบริษัทยามาตั้งแต่ 2544 มีการลดราคาลงด้วย แต่ก็ไม่เพียงพอ

 

เดือนพฤศจิกายน 2545 กระทรวงสาธารณสุขมาเลเซียจึงเสนอครม.ให้มีการบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ เพื่อนำเข้ายา ARVs ที่เป็นยาชื่อสามัญ การต่อรองกับบริษัทยามีมาอีกหลายระลอก ขณะที่หน่วยงานราชการในประเทศก็ส่งเสียงร้องให้กระทรวงสาธารณสุขทบทวนมาตรการนี้ด่วน "เพราะกระทบกระเทือนการลงทุนจากต่างประเทศ"

 

รัฐมนตรีช่วยสาธารณสุขในขณะนั้นเปิดเผยความรู้สึกในเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคว่าด้วยการเจรจาการค้าระดับทวิภาคี ที่มาเลเซีย (27 ส.ค.48) ว่า เขาถูกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการค้าการลงทุนกดดันตลอดเวลา พอๆ กับที่ถูกบริษัทข้ามชาติกดดันให้เปลี่ยนใจ จนแทบจะถอดใจหลายต่อหลายครั้ง

 

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด สาธารณสุขยังคงยืนยันกับครม.ให้ใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ และได้นำเข้ายาต้านไวรัส 3 ตัว เป็นเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ 1 พ.ย.2546 โดยยาเหล่านี้จะถูกส่งไปให้โรงพยาบาลรัฐเท่านั้น และกระทรวงสาธารณสุขจะเป็นผู้กำหนดปริมาณการนำเข้าและมีการจ่ายชดเชยกับบริษัทอย่างเป็นธรรม แต่บริษัทยาปฏิเสธจะรับค่าชดเชย ทั้งยังฟ้องรัฐบาล และขู่ว่าจะถอนการลงทุนในประเทศ โดยบริษัทหนึ่งแสดงความเป็นห่วงยิ่งว่า กรณีของมาเลเซียจะเป็นเยี่ยงอย่างให้ประเทศอื่นในแถบนี้ทำตาม คำฟ้องยังอยู่ที่ศาลมาเลเซีย และไม่สู้จะมีความเคลื่อนไหวใดๆ

 

นี่เป็นเพียงหนังตัวอย่างบางส่วน(3) ...

 

 

 - - - Question - - -

 

"รัฐบาลปฏิวัติไทยถอยหลังตามอย่างพม่า"  โฆษณาที่องค์กร USA For Innovation โจมตีรัฐบาลไทยกรณีการประกาศใช้ซีแอล ซึ่งกลุ่มผลประโยชน์ในสหรัฐเห็นว่าเป็นการละเมิดสิทธิบัตร ในคำบรรยายของโฆษณานั้นผูกโยงการละเมิดสิทธิบัตรซึ่งเป็นสิ่งไม่ชอบธรรม เข้ากับความไม่ชอบธรรมในที่มาของรัฐบาลปัจจุบัน

 

จุดอ่อนอันเด่นชัดของผู้บริหารประเทศขณะนี้ทำให้โจทย์เรื่องนี้ตอบได้ยากลำบาก แม้กระทั่งกับคนในประเทศเองก็ตาม มีคนจำนวนไม่น้อยที่จบทุกอย่างตั้งแต่เรื่องความไม่ชอบธรรมของการทำรัฐประหารแล้ว เรื่องอื่นไม่ต้องพูดถึง ขณะที่อีกฟากฝั่งหนึ่งก็ปรากฏชัดว่าคำเรียกร้องต่อมาตรการนี้ไม่เคยเป็นผลในรัฐบาลที่มาตามครรลองประชาธิปไตย และผู้ติดเชื้อราว 80,000 คน (จากจำนวนทั้งหมดราว 1 ล้านคน) ที่ต้องการยาต้านไวรัสราคาแพงเหล่านั้นก็ต้องมีชีวิตอยู่ในวันคืนอันมืดครึ้มเรื่อยมา

 

อย่างไรก็ตาม จุดยืนและความคิดทางการเมือง ตลอดจนยุทธศาสตร์ในการใช้มาตรการนี้ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันได้  แต่อีกโจทย์หนึ่งที่ตอบได้ชัดเจนกว่า และจำเป็นต้องทำให้กระจ่าง (เสียที)  คือ

 

มาตรการบังคับใช้สิทธินี้เป็นธรรมต่อบริษัทยาที่ต้องลงทุนศึกษาวิจัยอย่างมหาศาลเพื่อให้ได้ตัวยาใหม่ๆ มารักษาผู้คนหรือไม่

 

"การวิจัยและพัฒนา" นับเป็นวาทกรรมสำคัญที่สร้างความชอบธรรมให้กับราคายาที่บริษัทตั้ง และระบบสิทธิบัตรที่คุ้มครองสิทธิผูกขาดในยาเหล่านั้น แต่นอกเหนือจากคำกล่าวอ้างกว้างๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่าแล้ว รายละเอียดต่างๆ กลับเป็นสิ่งมืดดำ ยิ่งกว่านั้น ผู้คนก็ไม่ได้สนใจที่จะตั้งคำถามกับมันแม้แต่น้อย....

 

 

 - - - Answer - - -

 

 

 

 

แพทย์หญิงมาร์เซีย แอนเจลล์ (Marcia Angell) อดีตหัวหน้ากองบรรณาธิการวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ และปัจจุบันเป็นอาจารย์ในภาควิชาเวชศาสตร์สังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้เขียน "หนังสือวิชาการเชิงสืบสวนสอบสวน" ที่น่าสนใจหลายเล่ม เล่มหนึ่งที่สามารถตอบคำถามอันดำมืดเรื่องอุตสาหกรรมยาได้ดี คือ "The Truth About the Drug Companies" หรือชื่อไทยว่า "กระชากหน้ากากธุรกิจยาข้ามชาติ" แปลโดยนักวิชาการผู้เชี่ยวชาญไทย 6 คน(4)

 

หนังสือเล่มนี้ชำแหละทุกมิติความมืดดำของบริษัทยาอย่างประณีต เพื่อให้เห็นว่าอเมริกันชนก็ประสบกับมายาคติบางอย่างและภาวะยากลำบากไม่ต่างกัน นอกจากนี้ยังอธิบายบริบททางการเมือง สังคมของสหรัฐอเมริกา เพื่อให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างการเมืองที่ผลิตนโยบายกับอุตสาหกรรมยาที่ยิ่งใหญ่และมีรายสูงที่สุดในโลก และนั่นคงไม่ยากที่จะนำไปสู่ความเข้าใจได้ว่าเหตุใดบริษัทยาจึงเอาเป็นเอาตายกับการใช้ซีแอลยิ่งนัก

 

ใหญ่ขนาดไหนเชียว ...

 

ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าบริษัทยายักษ์ๆ ในโลกนี้ล้วนอยู่ในอเมริกาและยุโรป แต่ส่วนใหญ่แล้วจะสำแดงตนเป็นบริษัทสหรัฐ เพราะสหรัฐนับเป็นประเทศพัฒนาแล้วประเทศเดียวที่ไม่มีการควบคุมราคายา ในขณะที่ประเทศอื่นไม่ว่าออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน ฯลฯ ต่างมีการควบคุมราคาทั้งสิ้น

 

นั่นทำให้ตลาดยาในอเมริกามีมูลค่าสูงมาก ไอเอ็มเอส (International Medical Statistics) ซึ่งเป็นบริษัทจัดทำข้อมูลด้านการแพทย์และอุตสาหกรรมยาที่ได้รับการอ้างอิงมากที่สุด ประมาณการยอดขายยาทั่วโลกที่หมอสั่งในปี 2545 ว่ามีราว 400,000 ล้านเหรียญ และครึ่งหนึ่งนั้นขายในสหรัฐ

 

หรือพูดง่ายๆ ว่า ทุกวันนี้คนอเมริกันต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อยาตามหมอสั่งมากถึง 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นราวปีละ 12%

 

ตัวเลขปี 2533 บริษัทยาที่ใหญ่ 10 อันดับแรกของโลก มีกำไรนับเป็น 25% ของยอดขาย ในปี 2544 บริษัทยา 10 บริษัทที่ติดชาร์ตร่ำรวยที่สุด 500 อันดับในนิตยสารฟอร์จูน ก็มีกำไรสูงพุ่งแซงอุตสาหกรรมประเภทอื่นแม้แต่ธนาคารพาณิชย์ ที่ตลกกว่านั้น (แต่ขำไม่ออก) คือ บริษัทยา 10 อันดับนั้นมีผลกำไรรวมแล้วมากกว่า 490 บริษัทที่เหลือรวมกัน

 

ถ้ายังไม่เชื่อว่าเขารวยจริงๆ ละก็ ดูได้อีกจากเงินเดือนผู้บริหาร

 

เร็วๆ นี้สำนักข่าวเอพีรายงานว่า Miles White กรรมการบริหารของบริษัทวัย 55 ปีได้รับเงินตอบแทนในปี 2006 ถึง 22.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยราว 800 ล้านบาท ทางบริษัทยังจะตบรางวัลแก่เขาเป็นมูลค่า 4 ล้านเหรียญเพื่อเป็นแผนจูงใจให้เขายังคงนำพาบริษัทดำเนินกิจการไปอย่างแข็งแกร่ง คำนวณคร่าวๆ รายได้ที่เขาจะได้จากบริษัททั้งหมดนั้นตกราว 26.9 ล้านเหรียญสหรัฐ 

แล้วคนอเมริกัน สบายดีไหม ...

 

ตอบได้ทันทีว่าไม่สบายเท่าไรนัก โดยเฉพาะคนแก่ที่ยากจน พวกเขาจำนวนไม่น้อยยอมลดมื้อยาลง เพราะไม่มีมีค่ายาพอ เฉลี่ยแล้วคนแก่สหรัฐต้องจ่ายค่ายาตัวละ 1,500 เหรียญ (55,000 บาท) ที่สำคัญ ส่วนใหญ่เป็นกันคนละหลายโรค

 

คนอเมริกันจึงหันไปนิยมซื้อยาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา ซึ่งราคาถูกกว่าครึ่งต่อครึ่ง โดยคนแก่ส่วนใหญ่มักจะจัดตั้ง "ทัวร์ซื้อยา" โดยแกล้งจัดทัวร์เหมือนไปเที่ยวแคนาดา แต่ความจริงไปซื้อยากันทั้งคันรถ เมื่อการนี้แพร่หลายขึ้น ก็มีการผลักดันให้รัฐออกกฎหมายห้าม รวมไปถึงการสั่งซื้อยาจากร้านขายยาแคนาดาผ่านอินเตอร์เน็ตซึ่งมีอเมริกันชนใช้บริการกันราว 1-2 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตาม  มีการกดดันให้แก้กฎหมายนี้อย่างหนักจนสภาผู้แทนราษฎรต้องยินยอมในปี 2546 ให้ อย.รับรองให้มีการนำเข้ายาจากแคนาดาได้ กระนั้น ผู้ผลิตและวิจัยยาของอเมริกาก็ได้ผลักดันวุฒิสมาชิกหลายคนออกจดหมายเวียนคัดค้านหนักหน่วง แต่ก็ไม่เป็นผล

 

จะทำอย่างไรได้ ในเมื่อเขาลงทุนวิจัยมหาศาล ...

 

หากมองให้ลึกเข้าไปในคำโฆษณา จะพบว่างานวิจัยทั้งหลายที่บริษัทกล่าวอ้างนั้นล้วนมาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันสุขภาพแห่งชาติของสหรัฐซึ่งได้งบมาจากภาษีอากรนั้นเอง กระบวนการนี้เริ่มขึ้นหลังจากที่มีการออกกฎหมายให้มหาวิทยาลัยสามารถจดสิทธิบัตรงานค้นพบจากการวิจัยและขายต่อให้บริษัทยาได้  ทั้งที่ก่อนหน้านั้นงานวิจัยจากภาษีอากรต้องเป็นสมบัติสาธารณะ นี่ทำให้  1 ใน 3 ของยาที่บริษัทนำออกสู่ตลาด พึ่งพา ฉกฉวยเด็ดยอดเอาจากงานวิจัยพวกนี้

 

หันดูงบในการวิจัยของบริษัทเอง บริษัทยักษ์ใหญ่ 10 อันดับแรกใช้งบวิจัยเพียง 11% ของยอดขายในปี 2533 และเพิ่มนิดหน่อยเป็น 14% ในอีก 10 ปีต่อมา รายจ่ายก้อนใหญ่ที่สุดกลับเป็น "ค่าการตลาดและการบริหาร" ที่สูงราว 36% ของยอดขายในปี 2533 และคงตัวมาตลอดทศวรรษ  อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเหล่านี้ได้จากรายงานที่อุตสาหกรรมยาต้องรายงานต่อตลาดหลักทรัพย์ แต่รายละเอียดค่าใช้จ่ายจริงของการวิจัยและพัฒนานั้นก็ยังเป็นสิ่งที่มืดดำ

 

ขอเพียงบริษัทผลิตยาตัวใหม่ๆ มารักษามนุษยชาติ ...

 

ปัจจุบันมีสัญญาณบ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมยากำลังอยู่ในภาวะยากลำบากมาก ขนาดที่โฆษกบริษัทแห่งหนึ่งเอ่ยปากว่า "มันเป็นพายุลูกใหญ่" สาเหตุหลักเนื่องจากมียาขายดีหลายตัวที่หมดอายุสิทธิบัตรและกำลังจะหมดอายุสิทธิบัตรขณะที่ยาใหม่ก็มีอยู่น้อยมากในสายการผลิต ในจำนวนยา 78 รายการ ที่สำนักงานอย.ของสหรัฐรับขึ้นทะเบียนในปี 2545 มีเพียง 17 รายการที่เป็นยาสำคัญตัวใหม่ และในจำนวนนั้นมีเพียง 7 รายการที่อย.จัดว่ามีสรรพคุณเหนือกว่ายาเก่า

 

มายากลของราคาที่บริษัทชอบเล่นนั้น มีทั้งการขึ้นราคาแบบตรงไปตรงมา ตัวอย่างเช่น ก่อนที่สิทธิบัตรจะหมดอายุ ยาคลาริทิน ซึ่งเป็นยาแก้แพ้ที่ขายดีที่สุดในสหรัฐของบริษัทเชอลิ่ง-พลาว ขึ้นราคาถึง 13 ครั้งในช่วง 5 ปี หรือรวมๆ แล้วขึ้นราคาไปกว่าร้อยละ 50 ประชาสัมพันธ์บริษัทอ้างว่า การขึ้นราคาแบบนี้พบได้ไม่บ่อย แต่จำเป็นเพื่อเป็นทางให้สามารถลงทุนในงานวิจัยและพัฒนาต่อไปได้

 

ส่วนการขึ้นราคายาอย่างมีชั้นเชิงที่นิยมทำกันมาก เช่น การทำยา-ต่อ-ท้าย หรือ mee-too-drug เป็นการดัดแปลงยาเก่าที่มีอยู่แล้วนิดหน่อยแล้วไปจดสิทธิบัตร เพื่อฉกฉวยส่วนแบ่งการตลาดที่สร้างกำไรดีอยู่แล้วให้ผูกขาดได้ยาวนานขึ้น

 

นอกจากนี้ยังพบว่าบริษัทยาเริ่มเข้ามามีบทบาทแทรกแซงงานวิจัยให้แพทย์เข้าใจผิดว่ายาใหม่มีประสิทธิภาพสูงกว่า และปลอดภัยกว่ายาตัวเดิมอย่างเกินจริง ทั้งยังมีการทุ่มงบไปในส่วนประชาสัมพันธ์กึ่งติดสินบนแพทย์ให้ใช้ยาของบริษัทตัว เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่มากในสหรัฐและหลายๆ ที่

 

แล้วไม่มีปฏิกิริยาตอบโต้อะไรบ้างหรือ ...

 

ในช่วงหลายปีมานี้ ประชาชนมีข้อสงสัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เกี่ยวกับข้ออ้างเรื่องการวิจัยและพัฒนากับราคายาที่แพงลิบลิ่ว บริษัทประกันสุขภาพเอกชนและบรรดานายจ้างเริ่มออกมาต่อรองปัญหายาแพง โดยเสนอการแยกประเภทแบบ "เภสัชตำรับ" โดยให้จัดการจ่ายค่ายาเป็นสามระดับคือ จ่ายเต็มให้ยาชื่อสามัญ , จ่ายบางส่วนให้ยาต้นตำรับที่จำเป็น และไม่จ่ายเลยสำหรับยาราคาแพงที่ไม่มีประโยชน์เหนือกว่ายาราถูก

 

ที่สำคัญมลรัฐต่างๆ ในสหรัฐราวครึ่งประเทศกำลังผลักดันเภสัชตำรับ ขณะที่ช่วงไม่กี่ปีนี้บริษัทยาถูกฟ้องทั้งแพ่งและอาญาในข้อกล่าวหาเช่น การเบิกค่ายาเกินในโครงการสงเคราะห์ด้านรักษาพยาบาลผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ การจ่ายสินบนให้แก่แพทย์, การเข้าร่วมในการขัดขวางการแข่งขัน, การร่วมกันโฆษณาที่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด,

 

ตัวอย่างที่ก้าวหน้าอันหนึ่งคือรัฐเมน ที่ออกกฎหมายคุมราคายาเป็นรัฐแรกในปี 2543 ซึ่งเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวขององค์กรรากหญ้านำโดยผู้สูงอายุที่เป็นกลุ่มคนที่เข้าร่วม "ทัวร์ซื้อยา" มากที่สุด กฎหมายดังกล่าวชื่อ "เมนเรซีเป" เสริมพลังให้มลรัฐในการต่อรองราคายากับบริษัทเพื่อให้ได้ยาถูกสำหรับผู้ไม่มีประกันสุขภาพ มลรัฐสามารถเข้าไปจัดการกำหนดเพดานราคา หากบริษัทไม่ยอมลดราคาอาจถูกพิจารณาตัดชื่อยาของบริษัทออกจากเภสัชตำรับของมลรัฐ ยังไม่ทันที่หมึกลงนามผ่านกฎหมายจะแห่ง สมาคมผู้ผลิตและวิจัยยาของอเมริกาก็ท้าท้ายกฎหมายนี้โดยการฟ้องศาลของรัฐบาลกลางว่าละเมิดรัฐธรรมนูญบัญญัติที่ว่าด้วยการค้า หลังจากต่อสู้กันนาน 3 ปี คดีนี้ก็ถึงศาลฎีกา โดยศาลฎีกาปฏิเสธที่จะยับยั้งกฎหมายนี้ และส่งคดีกลับมาที่ศาลชั้นต้นใหม่ และยังต่อสู้กันจนปัจจุบัน มีอีกหลายมลรัฐที่ทำคล้ายๆ กันนี้และทนายของ PHaMA ก็ได้ฟ้องร้องเพื่อยับยั้งกฎหมายทุกฉบับ

 

ฯลฯ

 

 

- - - - - - - - - - - -

 

หนังสือเล่มนี้น่าจะทำให้เห็น "ความเป็นธรรม" ในระดับที่กว้างขวางขึ้น

 

และยังทำให้เห็นด้วยว่า ถึงสุดแล้ว สถานการณ์ขับเคี่ยวในประเทศไทยหลังจากประกาศใช้ซีแอล คงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการต่อรอง ต่อสู้ ระหว่างมวยคนละรุ่น

 

ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดว่าอนาคตของ "มวยเล็กแต่ใจใหญ่" อย่างประเทศไทยจะเป็นเช่นไร

 

"วันฟ้าใส" ของคนป่วยที่ยากจนจะมีกับเขาบ้างหรือไม่

 

ไม่ว่าในยุคสมัยของรัฐบาลหน้าไหนก็ตาม ....

 

 

 

 

 

 

เชิงอรรถ

 

(1)  การบังคับใช้สิทธิ ซึ่งเป็นมาตรการที่กำหนดไว้ในข้อตกลงว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก มี 2 ลักษณะ คือ การบังคับใช้สิทธิโดยรัฐ (Government Use) และการบังคับใช้สิทธิโดยเอกชน (Compulsory Licensing)

 

กรณีที่ไทยใช้อยู่นี้อันที่จริงไม่ใช่ CL แต่เป็น Government Use ทำได้ภายใต้ภาวะฉุกเฉินของประเทศ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ รัฐต้องแจ้งให้ผู้ทรงสิทธิทราบ และสามารถบังคับใช้สิทธิได้ทันที โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้ทรงสิทธิ ทั้งนี้ รัฐต้องจ่ายค่าตอบแทนอย่างเหมาะสมให้กับผู้ทรงสิทธิด้วย

 

(2) กระทรวงสาธารณสุข ในสมัยของ น.พ.มงคล ณ สงขลา ได้ออกประกาศบังคับใช้สิทธิ 3 ฉบับดังนี้

 

ฉบับแรกเป็นประกาศเรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ ประกาศเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549  เพื่อผลิตยาต้านไวรัส Efavirenz  ซึ่งมีชื่อทางการค้าว่า Stocrin ภายใต้เงื่อนไข      

- ให้ใช้สิทธิตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554

- เพื่อจัดให้มียาชื่อสามัญดังกล่าวจำนวนที่เพียงพอในการให้บริการแก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้จำนวนไม่เกินกว่า 200,000 คนต่อปี ไว้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 และผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและลูกจ้างของทางราชการ

- กำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้ทรงสิทธิบัตร จำนวนร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญดังกล่าวโดยองค์การเภสัชกรรม

 

ฉบับที่ 2 เป็นประกาศเรื่องการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ กรณียาโคลพิโดเกรล (Clopidogrel) หรือภายใต้ชื่อทางการค้าว่า Plavix เป็นยารักษาโรคเส้นเลือดอุดตันทั้งในสมองและในหัวใจ ประกาศเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2550 ภายใต้เงื่อนไข

- ให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะหมดระยะเวลาของสิทธิบัตรหรือหมดความจำเป็นต้องใช้ยานี้

- เพื่อจัดให้มียาชื่อสามัญดังกล่าวจำนวนเพียงพอในการให้บริการแก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้เฉพาะผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545 ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533 และผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและลูกจ้างของทางราชการ ทั้งนี้ไม่จำกัดจำนวนผู้ที่จะใช้ยานี้ โดยให้อยู่ในดุลพินิจของแพทย์

- กำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้ทรงสิทธิบัตร จำนวนร้อยละ ๐.๕ ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญดังกล่าวโดยองค์การเภสัชกรรม

 

ฉบับที่ 3 เป็นประกาศเรื่อง การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์ กรณียาสูตรผสมระหว่างโลพินาเวียร์และริโทนาเวียร์ ( Lopinavir & Ritonavir ) หรือภายใต้ชื่อทางการค้า Kaletra เป็นยาต้านไวรัสฯ ชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิผลสูงในสูตรการรักษาผู้ป่วยที่ดื้อยา ภายใต้เงื่อนไข

- ให้ใช้สิทธิตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนถึงวันที่ 31 ม.ค. 2555

- เพื่อจัดให้มียาชื่อสามัญดังกล่าวจำนวนที่เพียงพอในการให้บริการแก่ผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยานี้จำนวนไม่เกินกว่า 50,000 คนต่อปี ไว้บริการเฉพาะผู้มีสิทธิตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 2545ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม 2533และผู้มีสิทธิในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและลูกจ้างของทางราชการ

- กำหนดค่าตอบแทนให้แก่ผู้ทรงสิทธิบัตร จำนวนร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการจำหน่ายยาชื่อสามัญดังกล่าวโดยองค์การเภสัชกรรม

 

(3) ข้อมูลอ้างอิงจาก หนังสือ "สิทธิบัตรยา : ยาใจคนรวย" เขียนโดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล

 

(4) หนังสือ "กระชากหน้ากากธุรกิจยา" แปลโดย นพ.วิชัย โชควัฒน, รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์, ภก.สรชัย จำเนียรดำรงการ, ผศ.สุนทรี วิทยานารถไพศาล, รศ.ดร.ภิญญุภา เปลี่ยนบางช้าง, ดร.ปิยะรัตน์ นิ่มพิทักษ์พงศ์  จัดพิมพ์เมื่อ มีนาคม 2549 สนับสนุนการพิมพ์โดย สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ราคา 200 บาท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท