Skip to main content
sharethis


 


ประชาไท - 6 ก.ค. 50 วานนี้ (5 ก.ค.) เวลาประมาณ 9.20 น. ในการสัมมนาระดับชาติเรื่องโรคเอดส์ ครั้งที่ 11 "เอดส์: ก้าวต่อไปในยุคเศรษฐกิจพอเพียง" ซึ่งจัดโดยสำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานบริการโครงการกองทุนโลก และองค์การอนามัยโลก ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 4-6 ก.ค. 50 ที่อาคารอิมแพคคอนเวนชั่นเซนเตอร์ เมืองทองธานี เยาวชนจากเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ ประมาณ 50 คนได้รวมตัวกันนั่งเป็นวงกลมบริเวณลานกว้างชั้น 2 ของอาคาร เพื่อเรียกร้องให้ยุติการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มต่างๆ ในสังคม


พร้อมกันนั้น นางสาววาสนา พรมเสนา ในฐานะตัวแทนเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย ได้อ่านข้อเสนอจากเครือข่ายฯ ระบุว่า จากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อคติหรือคำพูดต่างๆ ที่บางคำอาจนำไปสู่การตีตราและสร้างการเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียม และการทำลายสภาพจิตใจ ดังเช่น คำว่า สำส่อน มั่วเซ็กส์ ฉาบฉวย โสเภณี เครือข่ายฯ จึงเรียกร้องให้ใช้คำอื่นแทน โดยเสนอให้ใช้คำที่มีความหมายด้านบวก เช่น มีเซ็กส์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้ป้องกัน, เปลี่ยนคู่นอนบ่อย, พนักงานบริการ เพื่อให้เกิดการเคารพและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์และลดการตีตราและเลือกปฏิบัติให้หายไปจากสังคมไทย


รวมทั้ง ชี้แจงว่า เยาวชนไม่ใช่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ เพราะใครก็ตามที่มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ก็ล้วนมีโอกาสเสี่ยงเท่าๆ กัน โดยเฉพาะคนที่มองว่าตัวเองไม่เสี่ยง จึงไม่ได้หาทางป้องกัน


นอกจากนี้ ยังระบุว่า เนื่องจากในงานนี้มีเยาวชนเข้าร่วมน้อยมาก ขณะที่ผู้ใหญ่บอกว่า เยาวชนต้องมีส่วนร่วมมากๆ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ให้ความสำคัญเท่าใดนัก จึงเรียกร้องให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ อย่างทั่วถึง และเรียกร้องให้ให้โอกาสเยาวชนเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม มากกว่าการเป็นไม้ประดับ


สุดท้าย เครือข่ายฯ ระบุว่า พวกเขาซึ่งเป็นเยาวชนไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหา แต่คือทางออกของปัญหา หากเชื่อว่าพวกเขาเป็นตัวปัญหา สิ่งที่ตามมาก็คือการควบคุม กำกับ จำกัดสิทธิ แต่หากเชื่อว่าพวกเขาคือพลัง มีศักยภาพ สิ่งที่ตามมาคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง โดยพวกเขายินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่าย ให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ เพศศึกษา แก่เพื่อนเยาวชน เพื่อร่วมกันสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์และความมีอคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ให้ลดลงจากสังคมไทยด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้ความสนใจกิจกรรมนี้จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เวลาประมาณ 10.00 น. กลุ่มเยาวชนได้สลายการรวมตัวเพื่อเข้าร่วมการสัมมนาในห้องประชุมต่างๆ ตามปกติ


           


ข้อเสนอของเครือข่ายเยาวชนด้านเอดส์ ประเทศไทย
5 กรกฎาคม 2550


ความเท่าเทียมและการเคารพสิทธิ์ความเป็นมนุษย์ของคนแต่ละคน ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอันนำไปสู่ความเข้าใจและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเป็นสุข การให้ความสำคัญต่อทุกกลุ่ม ทุกชนชั้น และการเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียมกัน จะทำให้เยาวชนไม่ถูกแบ่งแยกออกไปจากสังคม เพราะเยาวชนเป็นกำลังสำคัญและเป็นผู้ที่กำหนดอนาคตของชาติ การเริ่มต้นให้โอกาส ส่งเสริมความเท่าเทียม และการสนับสนุนให้เยาวชนได้เข้ามามีบทบาทอย่างจริงจัง จะทำให้ช่องว่างระหว่างวัย ชนชั้นทางสังคมและความคิดที่แตกต่างลดลง ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดในสังคม


จากปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น อคติหรือคำพูดต่างๆ ที่เอ่ยอ้างบางคำอาจนำไปสู่การตีตราและสร้างการเลือกปฏิบัติ ความไม่เท่าเทียม และการทำลายสภาพจิตใจ ดังเช่น คำว่า สำส่อน มั่วเซ็กส์ ฉาบฉวย โสเภณี พวกเราในฐานะที่เป็นผู้ถูกกล่าวหาต่อคำต่างๆ และมีเพื่อนของเราที่ไม่ได้มาที่นี้อีกมากมาย ที่ใช้ชีวิตแตกต่างกันตามสภาพแวดล้อม สังคม วัฒนธรรมความเชื่อคนละแบบ เราอยากส่งเสียงบอกกับผู้ใหญ่และคนที่เกี่ยวข้องที่อยู่ ณ งานระดับชาติแห่งนี้ว่า


1.เราขอเชื้อเชิญให้ทุกคน ใช้คำอื่นแทนคำว่า "สำส่อน" "มั่วเซ็กส์" "ฉาบฉวย" "โสเภณี" เพราะคำข้างต้นเหล่านี้เป็นคำกล่าวที่มีความหมายในแง่ลบซึ่งจะทำให้เกิดอคติ การตีตราและเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ถูกเอ่ยถึงและไม่นำไปสู่ความเข้าใจเรื่องเพศที่แตกต่างหลากหลายแต่กลับสร้างความเชื่อด้านลบเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น เราจึงเสนอให้ใช้คำที่มีความหมายด้านบวก เช่น มีเซ็กส์ที่ไม่ปลอดภัย ไม่ได้ป้องกัน, เปลี่ยนคู่นอนบ่อย, พนักงานบริการ เพื่อให้เกิดการเคารพและให้เกียรติเพื่อนมนุษย์และลดการตีตราและเลือกปฏิบัติให้หายไปจากสังคมไทย


2.เยาวชนไม่ใช่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ไม่มีใครคนใดคนหนึ่งต้องถูกมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง เป็นคนแพร่เชื้อ แต่ว่าหากใครก็ตาม ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ จะทำงานอะไร จะนับถือศาสนา วัฒนธรรม ความเชื่ออะไรก็ตามแต่ หากคนนั้น มีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ปลอดภัย ทุกคนก็มีโอกาสเสี่ยงเท่าๆ กัน ยิ่งคนมองว่าตัวเองไม่เสี่ยงก็ไม่รู้จักหาหนทางป้องกันและมองว่าเอดส์เป็นเรื่องใกล้ตัว ดังนั้นใครก็ตามที่มีพฤติกรรมเสี่ยงก็มีโอกาสเสี่ยงเสมอกัน ไม่ใช่แค่คนบางกลุ่มเท่านั้น ทั้งนี้ เยาวชนมีการรวมตัวกันมากกว่า 200 กลุ่ม ทั่วประเทศไทย และอัตราการติดเชื้อต่างๆ ก็บอกว่าเกิดจากเยาวชน ทว่าความสำคัญของเยาวชนที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานเอดส์ชาตินี้กลับมีไม่มาก เพราะในงานนี้มีเยาวชนเข้าร่วมไม่ถึง 5% ซึ่งนั่นสวนทางกับสิ่งที่ผู้ใหญ่บอกว่า เยาวชนต้องมีส่วนร่วมมากๆ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่ให้ความสำคัญเท่าใดเลย เราขอเสนอให้การจัดงานในครั้งต่อไป หรือการทำงานในพื้นที่ของกลุ่มองค์กรต่างๆ ต้องให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมอย่างทั่วถึง และให้โอกาสเยาวชนเป็นหุ้นส่วนที่เท่าเทียม มากกว่าการเป็นไม้ประดับหรือการทำพอให้เป็นพิธีเพียงเท่านั้น


พวกเรา เยาวชนไม่ได้เป็นผู้สร้างปัญหา แต่เราคือทางออกของปัญหา
หากเชื่อว่าพวกเราเป็นตัวปัญหา สิ่งที่ตามมาก็คือการควบคุม กำกับ จำกัดสิทธิของพวกเรา
แต่หากเชื่อว่าเราคือพลัง มีศักยภาพ สิ่งที่ตามมาคือการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพวกเราอย่างแท้จริง


เรายินดีให้ความร่วมมือกับทุกฝ่ายและขออาสาเป็นผู้ให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ เพศศึกษา แก่เพื่อนเยาวชน เพื่อร่วมกันสร้างความเข้าใจเรื่องเอดส์และความมีอคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ให้ลดลงจากสังคมไทย


ด้วยความเคารพ


 


 


รมว.สธ. ระบุต้นเหตุติดเชื้อเอดส์มาจากสังคม


"นพ.มงคล" ชูมาตรการทางสังคมสามีต้องใช้ถุงยางกับภรรยา พร้อมเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมเอดส์ระดับโลก ห่วงเยาวชนติดเอดส์จากเพศสัมพันธ์ฉาบฉวย ระบุหากไม่ตื่นตัวป้องกันเอดส์จะเป็นต้นเหตุการณ์ตายอันดับ 1 เหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน

นพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดสัมมนาระดับชาติเรื่อง โรคเอดส์ ครั้งที่ 11 และบรรยายพิเศษ
"เอดส์ ก้าวต่อไปยุคเศรษฐกิจพอเพียง" ว่า ปัจจุบันเอดส์เป็นปัญหาสังคมไปทั่วโลก พบว่าประเทศพัฒนาแล้วในเอเชียผู้ติดเชื้อเอดส์ฆ่าตัวตายสูงถึงร้อยละ 30 ขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยได้รับการยกย่องว่าประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาเอดส์ แต่ไม่อยากให้ชะล่าใจ เพราะในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีการจัดประชุมเอดส์ระดับชาติแค่ 2 ครั้ง อีกทั้งสังคมที่เปลี่ยนแปลงทำให้รูปแบบการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์เปลี่ยนไปด้วย โดยแนวโน้มภรรยาติดเชื้อจากสามีมากขึ้น จากเดิมชายติดจากโสเภณี

ดังนั้น การใช้มาตรการทางสังคมในแก้ปัญหาเอดส์จึงมีความสำคัญโดยเฉพาะการส่งเสริมให้สามีใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งเมื่อมีความสัมพันธ์กับภรรยา มิใช่ไม่วางใจกัน แต่เพื่อเป็นการป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งตรงนี้ต้องเสริมความเข้มแข็งให้ภรรยามีอำนาจต่อรองกับสามี

นอกจากนี้ ยังพบว่า เยาวชนมีเพศสัมพันธ์แบบฉาบฉวยโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มขึ้น ซึ่งปี 2550 คาดว่ามีผู้ติดเอดส์รายใหม่ราว 14
,000 คน ในกลุ่มนี้เป็นเยาวชนมากที่สุด

"ทุกหน่วยงานต้องร่วมกัน ทั้งการป้องกันการเข้าถึงสื่อลามกยั่วยุ เว็บโป๊ ซึ่งทางกระทรวงไอซีทีพยายามบล็อกเว็บเหล่านี้ แต่ก็ป้องกันไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ทุกส่วนต้องร่วมป้องกัน" นพ.มงคล กล่าว


 


นพ.มงคล กล่าวอีกว่า ในการเป็นประธานประชุมยูเอ็นเอดส์ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ในนามของประเทศไทยได้เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดประชุมยูเอ็นเอดส์ที่สามเหลี่ยมทองคำ เพื่อให้ทั่วโลกทราบถึงสถานการณ์เอดส์ในภูมิภาคเอเชีย สภาพพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำซึ่งติดกับหลายประเทศเพื่อร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาเอดส์ ปีต่อ ๆ ไปอาจจัดประชุมที่แอฟริกาใต้

จากนั้น นพ.มงคล ได้เปิดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ โดยมีหน่วยงานราชการ ภาคธุรกิจ องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ร่วมออกบูธจำนวนมาก


 


ที่มา: สำนักข่าวชาวบ้าน


 


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net