Skip to main content
sharethis


14 กรกฎาคม ชมรมสมาชิกวุฒิสภา 2543-2549 จัดเสวนาโต๊ะกลม เรื่อง "กฎหมายความมั่นคงเพื่อใคร" โดยมีนักการเมือง นักวิชาการ และ อดีต ส.ว. เข้าร่วม

 



นายจาตุรนต์ ฉายแสง หัวหน้ากลุ่มไทยรักไทย กล่าวว่า การออกกฎหมายการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักรฉบับนี้ เป็นงานที่เกินหน้าที่ของรัฐบาลและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งองค์กรที่มาเพียงชั่วคราวไม่ควรทำอะไรในเรื่องใหญ่ หากไปหยิบยก พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินขึ้นมาปรับแก้จะดีกว่า อย่างไรก็ตาม การออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อวัตถุประสงค์ด้านการเมือง ไม่ใช่เพราะต้องการแก้ปัญหาภาคใต้ แต่เป็นความต้องการที่จะสืบทอดการปกครองระบอบเผด็จการทหาร และสร้างความมั่นคงให้กับระบอบเผด็จการทหาร กฎหมายนี้อาจทำให้นายกรัฐมนตรีอยู่ภายใต้อำนาจผู้บัญชาการทหารบกและกองทัพ อีกทั้งป้องกันการเคลื่อนไหวแสดงความเห็นทางการเมืองด้วย


 



 "ต่อไปใครแสดงความเห็นคัดค้านรัฐบาล จะถูกมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง แต่หากรัฐบาลไม่ถูกกับผู้บัญชาการทหารบก เมื่อมีม็อบผู้บัญชาการทหารบกจะไม่ห้าม และอาจเข้ายึดอำนาจ ซึ่งนักกฎหมายบอกว่าเป็นรัฐาธิปัตย์ ฉีกรัฐธรรมนูญเมื่อใดก็ได้ การเขียนกฎหมายฉบับนี้เหมือนเป็นการเตรียมรัฐประหารล่วงหน้า และสืบทอดอำนาจ ผู้นำคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อาจปูทางให้ผู้บัญชาการทหารบกคนปัจจุบันไปเป็นนายกรัฐมนตรีในอนาคต" นายจาตุรนต์ กล่าว


 



นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ใน 2-3 เดือนนี้มีทหารไปตามอดีต ส.ส.ไทยรักไทย รวมทั้งมีทหารไปข่มขู่ขอให้สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญโดยลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญด้วย


 



ด้าน รศ.ดร.กำชัย จงจักรพันธ์ คณะบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (ผอ.รมน.) มากกว่ากระบวนการยุติธรรมตามปกติ และเหมือนให้อำนาจ ผอ.รมน. แทนคณะรัฐมนตรีที่มาจากกระบวนการประชาธิปไตย เพราะเป็นการให้อำนาจโดยทั่วไป ไม่จำกัดเวลา สถานที่ ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน ที่จะมาทบทวนเหมือน พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีการพิจารณาใหม่เมื่อครบกำหนด 3 เดือน อีกทั้งไม่มีการตรวจสอบ จึงทำให้คิดได้ว่าเป็นกฎหมายเพื่อความมั่นคงของใคร เพื่อใคร เพราะกฎหมายเกี่ยวข้องกับความมั่นคงที่มีอยู่ก็น่าจะเพียงพอ


 



ขณะที่นายจรัล ดิษฐาอภิชัย กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า เท่าที่ติดตามเรื่องดังกล่าว เชื่อว่านายกรัฐมนตรีเริ่มมีท่าทีถอยแล้ว ทั้งนี้การออกกฎหมายดังกล่าวเพื่อรองรับสิ่งที่ กอ.รมน.กำลังดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงว่าจะมีการผลักดันให้ออกกฎหมายฉบับนี้ ก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลบังคับใช้ ขณะที่ประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกว่าด้วยสิทธิพลเมือง หากกฎหมายฉบับนี้ออกมาจะมีส่วนกระทบกับสิทธิมนุษยชน


 



ส่วนนายสุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า รู้สึกว่าเป็นแกะดำในมหาวิทยาลัย เพราะไม่มีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการมากนัก และถือเป็นการยึดอำนาจเงียบ เป็นการก่อให้เกิดรัฐทหารใหม่ ทั้งนี้เห็นว่าภาพลักษณ์ของไทยขณะนี้ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหาร เหมือนกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า และเห็นว่า เป็นกระบวนการที่ให้อำนาจทหารจนกลายเป็นสถาบันหนึ่ง และเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ควรออกจากกระบวนการรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง


 



นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.ตาก กล่าวว่า กฎหมายดังกล่าวเปรียบเหมือนกฎหมายคอมมิวนิสต์ มอบอำนาจให้ผู้บัญชาการทหารบกมหาศาล มากกว่าที่ระบุไว้ในกฎอัยการศึก เมื่อมีรัฐธรรมนูญออกมา และรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กฎหมายนี้จะยืนอยู่ได้อย่างไร แม้รัฐธรรมนูญจะออกมาภายหลัง แต่หลักการของกฎหมายขัดกันกับรัฐธรรมนูญ จะต้องยึดรัฐธรรมนูญ โดยกฎหมายที่ขัดกับรัฐธรรมนูญจะต้องเป็นโมฆะ ผู้ที่เขียนต้องพิจารณาตรงนี้แล้วว่า ต้องไม่เป็นโมฆะ


 



"กรณีที่นายประกิจ ประจนปัจจนึก เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) บอกว่าเป็นแบบสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งตกค้างจากอาณานิคมอังกฤษ ถึงแม้จะเป็นอิสระแล้ว แต่ไม่มีการยกเลิกเพราะยังมีคอมมิวนิสต์ ซึ่งกฎหมายของสหรัฐอเมริกาและต่างประเทศมุ่งที่จะปราบปรามผู้ก่อการร้าย เพราะมีเหตุการณ์ 11 กันยายน แม้จะกระทบต่อสิทธิเสรีภาพ และขณะนี้มีความพยายามจะแก้กฎหมายนี้ แต่กฎหมายของเรากลับให้อำนาจกับทหารมากกว่าประเทศอื่น เพราะต่างประเทศให้อำนาจกับฝ่ายบริหาร" นายพนัส กล่าว


 



ภายหลังการสัมมนา ทางชมรมสมาชิกวุฒิสภาได้ร่วมกับนักวิชาการ ออกแถลงการณ์ ขอให้ยุติการออก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ. .......หลังร่วมกันวิเคราะห์ โดยให้เหตุผลที่คัดค้านว่า เป็นเพราะบทบัญญัติในร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการจำกัด ลิดรอน และคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนในทุกเรื่อง เป็นการยกอำนาจรัฐทั้งหมดให้ผู้บัญชาการกองทัพบก ให้อำนาจมหาศาลแก่กองทัพและเจ้าหน้าที่พนักงานทหารให้สามารถจับกุมคุมขังและทำอะไรประชาชนได้ไม่จำกัด โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนต่อสู้ปกป้องตนเอง ตามวิธีปฏิบัติตามศาลปกครองได้ (มาตรา 36) และยังได้บัญญัติให้เจ้าพนักงานตามกฎหมายนี้ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญาเมื่อกระทำผิดอีกด้วย


 



 "การออกร่าง พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร พ.ศ........ จึงเป็นกฎหมายที่เพิกถอนสิทธิพลเมืองทั้งประเทศอย่างถาวร เป็นยิ่งกว่าการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร เพราะแผ่นดินไทยจะอยู่ภายใต้อำนาจทหาร" แถลงการณ์ระบุ


 



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทางชมรมสมาชิกวุฒิสภาและนักวิชาการจะนำแถลงการณ์ดังกล่าว มอบให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก และประธาน คมช. ในวันจันทร์ 16 กรกฏาคมนี้


 


 


..........................................


ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า http://www.naewna.com


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net