คนอีสาน : เราถูกทำให้แพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้ลงประชามติ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ศรายุธ  ตั้งประเสริฐ

23 สิงหาคม 2550

 

 

 

บทความนี้ต้องการที่จะนำเอาความคิดเห็นในการลงประชามติของประชาชนในจังหวัดมุกดาหารมาอธิบายโต้แย้งกับการอธิบายถึง "ลักษณะทางการเมืองที่ล้าหลังของคนอีสาน"โดยคณะรัฐประหาร ในนามคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) และกลไกของ คมช. นักการเมือง นักวิชาการและสื่อมวลชนกระแสหลัก รวมไปถึงการโต้แย้งชุดความเข้าใจที่ฉาบฉวยและตื้นเขินของบรรดาคนชั้นกลางในเมืองที่มีต่อคนยากจนในชนบท

ทำไมคนมุกดาหารไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

จังหวัดมุกดาหารมีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจในหลายประการด้วยกัน ดังนี้

1. เมื่อเปรียบเทียบกัน มุกดาหาร ถูกจัดอยู่ในกลุ่มจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรในภาคชนบทซึ่งมีฐานะยากจน แต่ก็มีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจน้อยกว่าคนเมือง

2. มุกดาหาร ไม่ใช่ฐานเสียงของพรรคใดพรรคหนึ่งแต่เป็นพื้นที่ที่มีการแก่งแย่งกันตลอดเวลาของหลายพรรคการเมือง เช่น ไทยรักไทย ประชาธิปัตย์ ชาติไทย ราษฎร กิจสังคม ฯลฯ

3. ผลจากการที่ไม่ได้เป็นพื้นที่ฐานเสียงของพรรคไทยรักไทยทำให้มุกดาหารได้รับอานิสงส์ หลังเหตุการณ์ รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 จังหวัดมุกดาหาร ไม่ได้ถูกจัดเป็นพื้นที่ที่ถูกประกาศเป็นเขตกฎอัยการศึก

ถึงแม้ว่าจะไม่เป็นเขตกฎอัยการศึก แต่ก่อนการลงประชามติ ในจังหวัดมุกดาหารมีการเคลื่อนไหวของ กอ.รมน. และกลไกของมหาดไทยมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเรียกประชุมกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การทำปฏิญญาหมู่บ้านในการพัฒนาระบอบประชาธิปไตย โครงการอาสาสมัครพัฒนาประชาธิปไตย การลงมาตรวจราชการของนายกรัฐมนตรี การสัมมนาผู้นำชุมชน แบบสำรวจความคิดเห็น เอกสารเผยแพร่ของจังหวัดและ กอ.รมน.  ตลอดจนการประชุม/สัมมนาที่จัดโดยองค์กรอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียกับงบประมาณของรัฐบาลชุดนี้  รวมทั้งการวิ่งรถโฆษณาของนักการเมืองท้องถิ่น ทั้งหมดนี้กระทำในวาระของการรณรงค์ให้ประชาชนไปใช้สิทธิ แต่เนื้อหาที่แท้จริงแล้วก็คือการจูงใจให้ประชาชนไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น

           

เหตุผลของเจ้าหน้าที่รัฐในการชักจูงให้ประชาชนไปรับร่างรัฐธรรมนูญ เนื้อหาโดยสรุปมีดังนี้

1. ร่างรัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยกว่าที่ผ่านมา  มีผลประโยชน์ให้ประชาชนมากกว่า (อย่างเกินจริง)

2. ถ้าไม่รับบ้านเมืองก็จะไม่สงบ ไม่มีการเลือกตั้ง และอาจจะเกิดเหตุการณ์นองเลือด (อย่าให้ทหารหมดความอดทน)

3. ในหลวงฯ ท่านอยากให้รับ / ท่านอายุมากแล้วเสียสละมากแล้ว ถ้าสงสารท่านก็ให้รับ (ซึ่งมีคำถามว่าเป็นการนำเอาสถาบันมาใช้ได้คุ้มหรือไม่กับผลลัพธ์ที่ออกมา)   

ขณะเดียวกัน การเคลื่อนไหวของฝ่ายไม่รับร่างมีเพียงการจัดประชุมวงเล็กๆ ในบางพื้นที่ แจกเอกสาร เนื้อหาแสดงความไม่ชอบของที่มา กระบวนการร่าง และเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ (ที่ ส.ส.ร.ออกมายอมรับในบางประการและปกปิดในอีกหลายประการ) แต่ไม่มีการเคลื่อนไหวของนักการเมือง ไม่มีการแจกเงิน ไม่มีการเคลื่อนไหวของพระภิกษุ (หรือถ้าจะมีก็น้อย)       

จากการพูดคุยถึงทัศนะความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ พอจะสรุปความคิดเห็นในการรับ/ไม่รับร่างได้ ดังนี้

1. เหตุผลในการรับร่าง อยากให้มีการเลือกตั้ง อยากให้สถานการณ์กลับสู่สภาพปกติ

2. เหตุผลในการไม่รับ  อ่านไม่ทันและไม่มั่นใจกับคณะผู้ร่าง/ไม่เอาทหาร/ไม่ชอบที่ข้าราชการทำตัวเป็นใหญ่  (ไม่มีใครเคยพูดถึงเรื่องการไม่บรรจุศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติเลย)

หลังการลงประชามติ ชาวมุกดาหาร มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 104,907 คน หรือประมาณ 75.24% ของผู้ใช้สิทธิในจังหวัดทั้งหมดและได้ ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 3 ของกลุ่มจังหวัดในภาคอีสานที่มีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ  ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่ามากกว่าคะแนนเสียงที่พรรคไทยรักไทยเคยได้รับในการเลือกตั้งปี พ.ศ.2548 (49,7 09 คะแนน) ถึง 55,798 คะแนน

ถ้าการอธิบายอย่างที่อาจารย์

สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ นักวิชาการ/คอลัมนิสต์ /นักประชาธิปไตย (ที่สนับสนุนการรัฐประหาร) ผ่านสื่อมวลชน (20 ส.ค.50) ว่า เสียงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของประชาชนภาคอีสานเกิดจากเหตุผล 2 ประการคือ อิทธิพลของพรรคไทยรักไทย และการชี้นำโดยมีพระสงฆ์ทำงานเดินสายคว่ำรัฐธรรมนูญ เช่นนั้นแล้วปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในจังหวัดมุกดาหารจะอธิบายว่าอย่างไร

หรือคำกล่าวของ พล.อ.สนธิ ประธาน คมช.ที่ว่า"รัฐได้รณรงค์ให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเท่านั้น ไม่ได้รณรงค์ให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" (20 ส.ค.50) นั้น จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นที่จังหวัดมุกดาหารว่าอย่างไร

ผู้เขียนมีข้อสมมติฐานว่า การอ้างแต่ข้อดีของรัฐธรรมนูญ (ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนลักษณะหนึ่ง) การอ้างความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การอ้างถึงสถาบันชั้นสูง แต่ในทางกลับกัน ลักษณะการบริหารงานแบบอำนาจนิยมในระบบราชการ การส่อลักษณะการทุจริตในโครงการของรัฐ เช่นโครงการอยู่ดีมีสุข (ซึ่งก็เป็นโครงการประชานิยมที่คณะรัฐประหารเคยโจมตีนั่นเอง) การปรากฏตัวของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในการกระชุมพบปะพูดคุยแทบทุกครั้งในชุมชน ประกอบกับ  ความไม่คืบหน้าในผลงานการบริหารประเทศของรัฐบาล เศรษฐกิจตกต่ำ ข้าวของแพง (ข้าวเหนียว กก.ละ 30 บาท ในขณะที่ข้าวจ้าว กก.ละ 22 บาท) และการที่สื่อมวลชนเสนอข่าวไปในทิศทางเดียว โจมตีแต่ไทยรักไทยและกลุ่มที่เคลื่อนไหวไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะโจมตีคนอีสานว่ามีการรับเงินให้ล้มร่างรัฐธรรมนูญ  ทั้งหมดนี้ทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากลในสังคมไทย และอาจเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ประชาชนจังหวัดมุกดาหาร ไม่ไว้วางใจและแสดงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในที่สุด

หากจะนำปรากฏการณ์ของจังหวัดมุกดาหาร ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่ใช่ฐานเสียงของไทยรักไทย  และไม่ได้อยู่ในเขตประกาศกฎอัยการศึก  ผลการลงประชามติที่ชาวมุกดาหารมีเสียงไม่รับถึง 75.24% มาอธิบายว่าเป็นตัวแทนความคิดเห็นที่เป็นอิสระของคนยากจนในอีสานทั้งภาค (5,149,957 เสียง) ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งน่าจะรวมไปถึงคณะรัฐประหารด้วยแล้ว  ผลของประชามติคราวนี้ก็คือการตอบโจทย์ที่คณะรัฐประหารตั้งไว้ อย่างสุภาพและเจียมเนื้อเจียมตัวที่สุดของคนยากคนจนในอีสาน เพียงแต่ว่าจะมี คณะรัฐประหาร/คนชั้นกลาง/นักวิชาการ/นักประชาธิปไตยหรือสื่อมวลชน รวมทั้งเพื่อนร่วมชาติสักกี่คนที่จะยินยอมรับฟังอย่างเคารพว่ามีศักดิ์ศรีมีน้ำหนักเท่าเทียมกับคนชั้นกลางหรือคนในภาคส่วนอื่นหรือไม่

ถ้าหากความกล้าหาญและเจตนารมณ์ในการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคนอีสานถูกตีความและประณาม จากคนชั้นกลางที่มีความรู้ ฐานะทางเศรษฐกิจ และสติปัญญาที่จะเข้าถึงอุดมคติของประชาธิปไตยได้มากกว่า (ซึ่งเป็นเช่นนี้ตลอดมา) ว่า ไม่มีการศึกษา เห็นแก่ผลตอบแทนเฉพาะหน้า ซื้อสิทธิขายเสียง เป็นฐานเสียงให้พรรคการเมือง คำถามที่คนอีสานคงอยากตั้งคำถามกลับถ้าทำได้ก็คือ เหตุผลในการที่พวกท่าน (คนชั้นกลาง) ไปลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญนั้นมีความเกี่ยวโยงกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยแค่ไหน หรือเพียงเพื่ออยากให้สังคมยุติความขัดแย้ง เศรษฐกิจดีขึ้น สงสารในหลวง กลัวการนองเลือด ซึ่งถ้าเหตุผลในการรับร่างรัฐธรรมนูญมีเพียงเท่านี้แล้ว กิจกรรมการลงประชามติของพวกท่านก็คงเป็นกิจกรรมที่ไร้ความหมายสิ้นดีสำหรับอุดมการณ์ประชาธิปไตย

 

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังการลงประชามติ

นักสันติวิธีบางคนยอมรับการรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 เพราะว่าเป็นการรัฐประหารที่ไม่มีการนองเลือด  เช่นเดียวกันกันลงประชามติ 19 สิงหาคม พ.ศ.2550 ก็คงจะไม่มีประเด็นความรุนแรงใดๆ ในทัศนะของพวกเขา แต่การออกมาพูดของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะรัฐประหาร ว่า 14 ล้านเสียง ที่รับร่างรัฐธรรมนูญเป็นเสียงที่บริสุทธิ์ (24 ส.ค.50) และจะกำหนดให้หน่วยงานความมั่นคงลงมาดำเนินการแก้ไขปัญหาในพื้นที่สีแดง (พื้นที่ที่มีการแสดงมติไม่รับร่างมากกว่า) จึงเกิดคำถามตามมาว่า 10 ล้านเสียงที่ไม่รับร่างจะเป็นเสียงที่ไม่บริสุทธิ์หรือ  อะไรที่คณะรัฐประหารมองว่าเป็นปัญหา และจะลงมาแก้ปัญหาด้วยวิธีการใด อะไรจะเกิดขึ้นกับคนอีสานบ้าง ในเมื่อการนับเสียงประชามติซึ่งทำการนับที่หน่วย เท่ากับเป็นการเปิดเปลือยความคิดเห็นของประชาชนในระดับหมู่บ้านต่อหน่วยงานความมั่นคงของรัฐด้วย 

 

ถ้าเรามองประเด็นความรุนแรงให้มากไปกว่าความรุนแรงทางกายภาพแล้ว ท่าทีของ พล.อ.สนธิ รวมถึงนักวิชาการลูกอีสานอย่างอาจารย์สมเกียรติ ในการประณามคนอีสาน ถือเป็นความรุนแรงในเชิงโครงสร้างหรือไม่ การอ้าง 14 ล้านเสียงว่าเป็นชัยชนะ โดยไม่สนใจ 10 ล้านเสียงหรือผู้ไม่ไปใช้สิทธิว่ามีเจตนารมณ์อย่างไร และตีตราว่าเป็นปัญหาของประเทศ เท่ากับเป็นการแยกประชาชนออกเป็นสองฝ่าย หากเป็นเช่นนั้นแล้ว อะไรเล่าคือการยุติความแตกแยกของคนในชาติ อันเป็นเหตุผลข้อหนึ่งของคณะรัฐประหารที่เคยให้ไว้แต่แรก อะไรเล่าคือความแตกต่างของรัฐบาลทักษิณและคณะรัฐประหาร และอะไรเล่าคือการยุติความขัดแย้งที่คณะรัฐประหารนำมาเชิญชวนให้ผู้คนออกมารับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะสิ่งที่คนยากจนในอีสานมองเห็นได้ก็คือคือการดูถูกและการไม่เคารพความคิดเห็นที่พวกเขาได้แสดงออก นอกจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ดำรงอยู่ตลอดมาแล้ว  ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่เกิดจากการไม่เคารพความแตกต่างทางความคิด วัฒนธรรม ศักดิ์ศรีความเป็นคนที่เท่าเทียมกันของคนในสังคมไทยด้วย

บทส่งท้าย

ผู้เขียนมีข้อสงสัยอยู่ว่า ในขณะที่อีสานหลากหลายด้วย นักคิด นักเขียน ปราชญ์ ผู้รู้ นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม นักวิชาการ NGOs ฯลฯ ซึ่งต่างก็มีชีวิตดำรงอยู่ได้ด้วยความรักและความรอบรู้ถึงทุกสรรพสิ่งในแผ่นดินอีสานในทุกๆ มิติ แต่จากการที่คนอีสานกว่า 5 ล้านคนถูกกล่าวประณามโดยนักรัฐประหาร กลับไม่มีผู้ใดเลยออกมาแสดงความคิดเห็นโต้แย้งแทนพวกเขาเหล่านั้น จึงทำให้ผู้เขียนเกิดความสงสัยว่า พวกเขาเหล่านั้นเห็นด้วยกับตรรกะของนักรัฐประหาร/คนชั้นกลางไปแล้ว หรือว่าความกล้าหาญที่พวกเขามีอยู่ได้หดหายไปจนหมดสิ้นแล้ว

 

              

                                                                 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท