Skip to main content
sharethis

‘พริษฐ์’ พรรคก้าวไกล อภิปรายร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ แก้จากดับเบิลเมเจอริตี (เสียงข้างมาก สองชั้น) สู่ซิงเกิลเมเจอริตี (เสียงข้างมากชั้นเดียว) ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติออนไลน์ได้ และอื่นๆ พร้อมรับหลักการทุกร่าง หารือชั้น กมธ.

คลิปพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอ พ.ร.บ. ร่างประชามติฉบับพรรคก้าวไกล เมื่อ 18 มิ.ย. 2567

18 มิ.ย. 2567 รัฐสภา แยกเกียกกาย กรุงเทพฯ ในการประชุมสภาสมัยวิสามัญ เป็นพิเศษ โดยมี วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่…) พ.ศ. … จำนวน 4 ฉบับ คือของคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคภูมิไจไทย โดยจะพิจารณารวมทั้ง 4 ฉบับ เนื่องจากมีเนื้อหาในทำนองเดียวกัน

พริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ ตัวแทนพรรคก้าวไกล ลุกขึ้นอภิปรายร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ฉบับที่ …) พ.ศ. … ฉบับพรรคก้าวไกล โดย พริษฐ์ ระบุว่า จะขออภิปรายแบ่งเป็น 3 หัวข้อหลัก คือ 1. ร่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอแก้ไขเหมือนกับร่างอื่นๆ 2. ร่างของพรรคก้าวไกลที่แตกต่างจากพรรคอื่นๆ และ 3. ร่างของพรรคก้าวไกล ที่ไม่ได้มีการแก้ไข แต่ยินดีร่วมหารือในชั้นรับหลักการ

เบื้องต้น พริษฐ์ กล่าวว่า เรื่องการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ มักถูกเชื่อมโยงกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเหตุที่ทำให้การทำ พ.ร.บ.ประชามติ เป็นเรื่องเร่งด่วน เนื่องจากคณะรัฐมนตรีเคยออกมติ เมื่อ 23 เม.ย. 2567 เขียนไว้ชัดเจนว่ารัฐบาลยังไม่เดินหน้าทำประชามติครั้งแรก จนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่เขายังมีคำถามว่า ทำไม ครม.เพิ่งเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ เมื่อไม่นานมานี้ ทั้งที่ร่างของพรรคก้าวไกล และอื่นๆ เสนอไปเมื่อ ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า ในทางกลับกันปัจจัยการจัดทำรัฐธรรมนูญไม่ควรเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในการออกแบบ พ.ร.บ.ประชามติอย่างไร เพราะประชามติควรใช้เป็นเครื่องมือในการสอบถามประเด็นเรื่องอื่นๆ ที่สำคัญได้

สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เป้าหมายการอภิปรายร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ของพรรคก้าวไกล เพื่อทำให้กติกาประชามติมีความเป็นธรรม มีความยืดหยุ่น มีความทันสมัย และมีความหลากหลายมากขึ้น โดย พริษฐ์ สรุปทั้งหมด 7 ประเด็น

แก้ Double Majority สู่ Single Majority

พริษฐ์ กล่าวว่า เดิมประชามติต้องผ่าน 2 เกณฑ์ การลงประชามติจะมีผล คือ 1. เกณฑ์ชั้นบน ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียงทั้งหมด 2. เกณฑ์ชั้นล่าง ต้องมีผู้ออกเสียงข้างมากเกินจำนวนกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงทั้งหมด หากไม่ผ่านเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่ง ประชามติก็จะไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชน แม้ว่ามีหลายประเทศมีการใช้เกณฑ์ ‘ดับเบิลเมเจอริตี’ แต่เกณฑ์นี้ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม

“ไม่ว่าประเด็นที่ถูกถามจะเป็นเรื่องใดก็ตาม การที่เรามี Double Majority กลายเป็นทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบได้เปรียบอย่างไม่เป็นธรรม และเปิดช่องที่ทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบกับประเด็นที่ถูกถามในประชามตินั้น สามารถเลือกใช้วิธีนอนอยู่บ้าน รณรงค์ไม่ไปลงคะแนนเสียง เพื่อกดให้จำนวนคนหรือสัดส่วนคนที่ออกไปใช้สิทธิลง และหวังคว่ำประชามติไม่ให้ผ่านเกณฑ์ แม้ว่าประเด็นประชามติเป็นประเด็นที่คนให้ความสนใจ และคนไม่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกถามมีน้อยกว่าคนที่เห็นด้วยกับประเด็นที่ถูกเสนอประชามติเสียด้วยซ้ำ” พริษฐ์ กล่าว

พริษฐ์ กล่าวว่า เพื่อป้องกันความไม่เป็นธรรมดังกล่าว จึงมีการนำเสนอให้มีการปรับจาก Double Majority มาเป็น Single Majority โดยยกเลิกเกณฑ์ชั้นบน ที่เกี่ยวกับสัดส่วนคนออกมาใช้สิทธิออกเสียง และเหลือแค่เกณฑ์ชั้นล่าง ที่เกี่ยวกับสัดส่วนการลงคะแนนของผู้ออกมาใช้สิทธิออกเสียง

ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่างพรรคก้าวไกล กับพรรคเพื่อไทย คือการใช้เกณฑ์ชั้นล่างว่าประชามติจะมีผล ก็ต่อเมื่อคนที่ลงคะแนนเห็นชอบเป็นเสียงข้างมาก มากกว่าคนที่ลงคะแนนไม่เห็นชอบ หรือคนที่ลงคะแนนเห็นชอบ มากกว่าคนที่กาในช่องไม่แสดงความคิดเห็น แต่ร่างของพรรคก้าวไกล และ ครม. ต่างไปเล็กน้อยระบุว่า จะมีผลต่อเมื่อคนที่มาออกเสียงลงประชามติจะเห็นชอบนั้นมีมากกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง หรือพูดง่ายๆ คือคะแนนที่เห็นชอบเสียงข้างมาก ต้องมีคะแนนมากกว่าคนที่ไม่เห็นชอบ และคนที่กาช่องไม่ออกความเห็น มารวมกัน

แก้ให้จัดลงประชามติ วันเดียวกับการเลือกตั้งทั่วไป-ท้องถิ่นได้

พริษฐ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ 2 การพยายามทำให้การทำประชามติยืดหยุ่นยิ่งขึ้น คือการปลดล็อกกฎหมายทุกมาตราให้ กกต. จัดประชามติจัดตั้งวันเดียวกับการเลือกตั้งระดับชาติ หรือการเลือกตั้งท้องถิ่น ได้สะดวกยิ่งขึ้น เขาคิดว่าจะเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ประหยัดเวลาให้ประชาชน แต่ยังประหยัดงบประมาณกับรัฐในการจัดทำประชามติ และการเลือกตั้ง แม้ว่ากฎหมายประชามติไม่ได้ห้ามไม่ให้จัดวันเดียวกับการเลือกตั้ง 

ก่อนหน้านี้ ทางพรรคก้าวไกล ได้ใช้กลไกของ กมธ.พัฒนาการเมืองฯ ขอความเห็นด้านกฎหมายจาก กกต.ให้ส่งความเห็นให้ และทางพรรคก้าวไกล ได้ปลดล็อกทุกอุปสรรคในการจัดทำประชามติในวันเดียวกับวันเลือกตั้งทั่วไป หรือวันเลือกตั้งท้องถิ่น ทั้งหมดแล้ว 

ประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอ แต่พรรคอื่นๆ ไม่เสนอ

การเสนอคำถามประชามติของประชาชนทำผ่านออนไลน์ได้

พริษฐ์ กล่าวว่า ประเด็นที่พรรคก้าวไกลเสนอ แต่พรรคอื่นๆ ไม่ได้เสนอ คือเรื่องการทำให้การเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติไปที่คณะรัฐมนตรี สามารถทำผ่านออนไลน์ได้ เพราะสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า ก่อนหน้านี้ตามปกติประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายถึงคณะรัฐมนตรีผ่านช่องทางออนไลน์ได้แล้ว แต่ปัจจุบัน กกต.ไปกำหนดกระบวนการเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ไม่ได้ ต้องพิมพ์เอกสารเป็นกระดาษล่ารายชื่อแบบแคมเปญ ConforAll เมื่อเดือน ส.ค. 2566

สส.พรรคก้าวไกล ระบุว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลเสนอในร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ คือการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้อง เพื่อรับประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นกลไกมาตรฐานที่มีอยู่แล้วใน พ.ร.บ.เข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. 2564 ซึ่งรับประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อ 1 หมื่นคนผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเสนอแก้ไขกฎหมายมาที่สภาฯ และสิทธิของประชาชนในการเข้าชื่อ 5 หมื่นรายชื่อผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาที่รัฐสภา

นอกจากนี้ สิ่งที่พรรคก้าวไกลมี แต่พรรคอื่นๆ ไม่มี คือการพยายามทำให้การทำประชามติหลากหลายมากขึ้น คือการเปิดกว้างให้ประชามติมีคำถามและชุดคำตอบที่มากกว่า ‘เห็นชอบ’ และ ‘ไม่เห็นชอบ’ แต่สิ่งที่พรรคก้าวไกลต้องการเสนอคือการแก้ไขมาตราดังกล่าว เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบคำถาม และชุดคำตอบ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

พริษฐ์ ระบุว่า เขาอยากเปิดช่องให้คำตอบประชามติมีตัวเลือกมากกว่า 2 ตัวเลือก ยกตัวอย่างการทำประชามติที่นิวซีแลนด์ เมื่อ ค.ศ. 2011 (พ.ศ. 2554) เรื่องประชาชนนิวซีแลนด์อยากใช้ระบบเลือกตั้งแบบไหน โดยคำตอบมี 4 ตัวเลือก และตัวอย่างที่ 2 คือการพยายามเปิดช่องว่า แม้ว่าคำตอบมีแค่ 2 ตัวเลือก แต่เป็นไปได้หรือไม่ที่จะทำให้ข้อความที่อยู่ใน 2 ตัวเลือกนั้นไม่ได้มีแค่ “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย”

ยกตัวอย่าง สหราชอาณาจักรทำประชามติเกี่ยวกับเรื่องการออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) เพราะตอนแรกประชามติที่ถูกออกแบบโดยมี 2 ตัวเลือก คือ ‘เห็นชอบ’ (Yes) หรือ ‘ไม่เห็นชอบ’ (No) แต่มีคนทักท้วงขึ้นมาว่าอาจจะยังมีประชาชนที่ยังลังเลใจ ไม่แน่ใจว่าจะลงคะแนนด้านไหน และมีแนวโน้มว่าจะมีการลงคะแนนในเชิงบวก หรือ Yes มากกว่าในเชิงลบ หรือ No ซึ่งสหราชอาณาจักรมีการรับฟังทุกข้อทักท้วงและมีการปรับคำถามและก็ชุดหรือตัวเลือกคำตอบ จนมาเป็นการถามว่า ‘คุณคิดว่าสหราชอาณาจักรควรจะยังเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป หรือออกจากสหภาพยุโรป’ และคำตอบไม่ได้มีแค่ ‘Yes’ หรือ ‘No’ แล้ว แต่เขียนว่าควรเป็นสมาชิก หรือเห็นควรว่าควรออกจากสหภาพยุโรป

ประเด็นที่พรรคก้าวไกลไม่ได้เสนอ แต่ปรากฏในร่างอื่นๆ และยินดีที่จะรับพิจารณาใน กมธ.

พริษฐ์ ระบุว่า มี 3 ประเด็นคือ 1. เรื่องการเพิ่มความเป็นไปได้ในการลงคะแนนโดยไม่ต้องใช้คูหาแบบเดิม 2. ให้ กกต.จัดให้ทุกฝ่ายลงคะแนนความเห็นอย่างเท่าเทียมกัน และ 3. จำแนกระหว่างผลการทำประชามติที่มีผลบังคับทางกฎหมาย กับประชามติที่มีผลแค่การปรึกษาหารือ (อยู่ในร่างของพรรคภูมิใจไทย)

พริษฐ์ กล่าวว่า แต่เพื่อเร่งให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติโดยเร็ว ให้ พ.ร.บ.ประชามติมีความเป็นธรรม มีความทันสมัย มีความหลากหลาย เขาและพรรคก้าวไกลยินดีที่จะรับหลักการทุกร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ฉบับที่ … พ.ศ. … เพื่อทำงานร่วมกันในชั้น กรรมาธิการ เพื่อหาข้อสรุปในเชิงรายละเอียดที่เป็นที่ยอมรับทุกฝ่าย

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net