Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง


 


ในรายงานชิ้นนี้จะขอนำย้อนไปทบทวนดูความสำเร็จของพรรคไทยรักไทย ที่ใช้วิธีทางการตลาดและการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองในการกรุยทางสู่การเข้าสู่อำนาจรัฐ เมื่อการเลือกตั้งสองครั้งที่ผ่านมา


 


ซึ่งแนวคิดที่นำมาเสนอนี้ได้รับอิทธิพลมาจากการศึกษาของนักวิชาการทางการตลาดของไทยอย่าง ดร.นันทนา นันทวโรภาส ซึ่งได้ชี้ให้เห็นถึงประเด็นทางด้านการตลาดและการประชาสัมพันธ์ทางการเมืองอย่างเป็นระบบ ซึ่งแตกต่างไปจากงานในกระแสอื่นๆ ที่มักจะละความสำคัญของศาสตร์ทางทุนนิยมในการอธิบายปรากฏการณ์ทางการเมืองของไทย


 


ซึ่งการตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนด วิธีการ และรูปแบบการรณรงค์หาเสียง (ทั้งในและนอกฤดูเลือกตั้ง) ของพรรคไทยรักไทย โดยจากมุมมองของ ดร.นันทนา นันทวโรภาส ซึ่งได้อิทธิพลจากนักวิชาการทางด้านการตลาด-การเมือง ชาวอเมริกันอย่าง Bruce I. Newman นั้นเห็นว่าจากนี้ไปพรรคการเมืองทุกพรรคจะเดินตามรอยพรรคไทยรักไทย คือบูรณาการใช้ศาสตร์ทางการตลาดมาเป็นเข็มทิศนำทางสู่การเข้าครองอำนาจรัฐและใช้ครองใจประชาชนในขณะที่มีอำนาจ


 


โดยในงาน งานเสวนาหัวข้อ 'การเมืองไทยเรื่องการตลาดกับการตลาดเรื่องการเมืองไทย' เมื่อวันที่ 9 .. ที่ผ่านมา ดร.นันทนา ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในวงสัมมนาอย่างน่าสนใจ โดยได้อธิบายว่าพรรคไทยรักไทย ได้ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดแบบเต็มสูบ เจาะกลุ่มเป้าหมายหลัก และกลุ่มเป้าหมายย่อย โดยลงทุนจ้างนักการตลาดและนักการประชาสัมพันธ์มืออาชีพเป็นงบประมาณมหาศาลเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของพรรค จนสามารถชนะการเลือกตั้งและได้ตั้งรัฐบาล


 


"พรรคการเมืองในต่างประเทศใช้การตลาดมานานแล้ว ต่อไปนี้กระแสที่นักการเมืองเน้นการขายจะเคลื่อนสู่พรรคการเมืองที่เน้นด้านการตลาดเต็มตัว แบบเดิมนั้นผลิตภัณฑ์ไม่สำคัญเน้นที่นักขาย พูดเก่ง ขายเก่ง แต่แบบใหม่จะมาแทนที่ พรรคไทยรักไทยเข้ามาถูกที่ถูกเวลาถูกจังหวะในตอนนั้น และขายนโยบายตอบรับกลุ่มเป้าหมายทุกเซคเมนท์ เช่น กลุ่มชาวนา คนชั้นกลาง นักธุรกิจรายย่อย เยาวชน"


 


ดร.นันทนา อธิบายรายละเอียดในการเลือกใช้ถ้อยคำ และคำในการประกาศนโยบายของพรรคไทยรักไทยมในอดีตว่ากะทัดรัด ชัดเจน จดจำง่าย เช่น กองทุนหมู่บ้าน 5 ล้าน,30 บาทรักษาทุกโรค เน้นการตลาดแบบถึงเนื้อถึงตัวคือเข้าถึงทุกครัวเรือน


 


"แม้แต่การเลือก สส.ก็ไม่ใช่ว่าฟังคำแนะนำของใคร แต่จะทำโพลสำรวจ พบว่าเขตท้องที่ไหนมีคะแนนสำรวจสูงถึงค่อยใช้เงินดูดมาเข้าพรรค คือพรรคนี้จะเน้นการทำสำรวจวิจัยตลาดก่อนลงมือทำอะไร และทักษิณไม่เคยหยุดทำแคมเปญ แม้ตอนนี้จะอยู่ต่างทวีปแต่สามารถสร้างประเด็นข่าวชิงพื้นที่สื่อในไทยได้ตลอดเวลา ลองเทียบดูว่าพรรคที่น่าจะได้ส้มหล่นจากการรัฐประหารมีพื้นที่ข่าวแบบนี้บ้างไหม มีคนเคยพูดว่า 19 กันยา 49 คปค.ทำส้มหล่นใส่คุณอภิสิทธิ์ แต่จนบัดนี้จะถึง 19 กันยา 50 แล้ว คุณอภิสิทธิ์ยังก้มเก็บส้มนั้นไม่ได้เลย ดูหนังสือที่เขาพิมพ์ออกมายังใช้คำแบบนามธรรม แบบฝันๆ อยู่ ซึ่งมันไม่ประสบความสำเร็จในแง่การตลาด มองไม่ออกว่ากลุ่มเป้าหมายของพรรคเป็นใคร"


 


ดร.นันทนายังได้วิเคราะห์อีกว่าวิธีบริหารการตลาดแบบทักษิณคือจัดการสนองความต้องการของลูกค้า ประกาศชัดว่าใครเลือกเขาจะได้รับการดูแลก่อน ในเชิงการตลาดทักษิณจึงทำได้ดี แต่สิ่งที่น่าใคร่ครวญคือหากพรรคการเมืองอื่นใช้วิธีการแบบเดียวกันจะเกิดผลอย่างไร


 


"ความต้องการของประชาชนมี 2 แบบคือความต้องการแท้กับความต้องการเทียม นี่เป็นข้อเสียของการตลาด แต่การตลาดไม่ใช่เรื่องเลวร้าย ไม่ใช่การซื้อเสียง บางพรรคบอกจะไม่ทำการตลาดเพราะการตลาดคือซื้อเสียง แสดงว่าเขาเข้าใจผิด" ดร.นันทนากล่าวทิ้งท้าย (จาก: กรุงเทพธุรกิจ, 13 กันยายน  2550)


 


0 0 0


 


เมื่อลองมาสำรวจความคิดทางการตลาด-การเมือง ผ่านหนังสือ "ชนะเลือกตั้ง ด้วยพลังการตลาด" ของ ดร.นันทนา นันทวโรภาส จะพบว่าศาสตร์ทางการตลาดอย่างเป็นระบบ สามารถอธิบายปรากฏการณ์ในชัยชนะอันถล่มทลายของพรรคไทยรักไทยในอดีตได้ว่ามันมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่า การทุ่มใช้เงินซื้อเสียง หรือการใช้นโยบายประชานิยมหลอกชาวบ้านเพียงอย่างเดียว


 


เสนอนโยบายโดยจำแนกกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation)


 


พรรคไทยรักไทยมีการการจำแนกกลุ่มเป้าหมาย (Segmentation) โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้เลือกตั้ง (access voter needs) เพื่อนำนโยบายเสนอให้ผู้เลือกตั้งแต่ละกลุ่มได้อย่างชัดเจน ไม่ครอบจักรวาล โดยมีการจัดแบ่งกลุ่มเป้าหมายเพื่อเข้าถึงผู้เลือกตั้งเป็น 2 ลักษณะ คือ จัดแบ่งตามสภาพภูมิศาสตร์และแบ่งตามลักษณะทางประชากรศาสตร์


 


การแบ่งตามลักษณะทางประชากรศาสตร์นั้น พรรคได้แบ่งกลุ่มเป้าหมายไปตามลักษณะของอาชีพ และสถานภาพทางเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็น 2 ฐาน คือ ฐานบนและฐานล่าง ฐานบนนั้นได้แก่กลุ่มการเมือง กลุ่มข้าราชการ กลุ่มนักธุรกิจ กลุ่มสื่อมวลชน ส่วนฐานล่างได้แก่ ชาวไร่ ชาวนา เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน กลุ่มอาชีพอิสระ กลุ่มคนกินเงินเดือน


 


ทั้งนี้พรรคไทยรักไทยให้ความสำคัญกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นฐานล่างอย่างยิ่ง เพราะเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่จะเป็นผู้ชี้ชัยชนะของพรรคการเมืองได้ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ทิ้งกลุ่มคนฐานบน การจำแนกกลุ่มเป้าหมาย (target sement) ของพรรคจึงเป็นไปอย่างละเอียด ซึ่งดูได้จากนโยบายของพรรคที่เสนอก่อนการเลือกตั้ง 6 .. 2544 และก่อนเลือกตั้ง 6 .. 2548 ที่มีการกำหนดลักษณะของกลุ่มผู้เลือกตั้ง (identity voters segment) ให้สอดคล้องกับนโยบายของพรรคที่จะเสนอให้แก่คนแต่ละกลุ่ม


 

















กลุ่มเป้าหมาย (target segment)


นโยบายนำเสนอ


เกษตรกร


ชาวนา


ชาวไร่


-          พักชำระหนี้เกษตรกรรายย่อย 3 ปี


-          จัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท


-          อาชีพเสริม หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์


-          30 บาทรักษาทุกโรค


-          ปรับทิศทางการผลิตในภาคเกษตรใหม่


ผู้มีรายได้น้อย


ค้าขายเบ็ดเตล็ด


คนจนในเมือง


-          ธนาคารคนจน


-          พัฒนาทักษะอาชีพให้คนตกงาน


-          โครงการเอื้ออาทรต่างๆ


-          ทำสงครามยาเสพย์ติด


-          30 บาทรักษาทุกโรค


ชนชั้นกลางในเมือง


ผู้ประกอบการรายย่อย


-          พัฒนาตลาดเงิน ตลาดทุน (ลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือร้อยละ 25)


-          ตั้งธนาคารวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม


-          ตั้งหน่วยงานพัฒนาผู้ประกอบการ


-          ปฏิรูประบบการศึกษา


-          ประกาศสงครามการคอรัปชั่น และการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ


-          สร้างครอบครัวเข้มแข็ง เพิ่มบทบาทสตรีทางการเมือง


นโยบายที่เสนอให้ตามกลุ่มเป้าหมายของพรรคไทยรักไทย ก่อนการเลือกตั้ง 6 .. 2544


 


ภายหลังจากที่พรรคไทยรักไทย ได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลและนำนโยบายสำคัญไปปฏิบัติเป็นผลสำเร็จ ในการเลือกตั้งครั้งต่อมาพรรคจึงจัดกลุ่มเป้าหมายเช่นเดิม แต่เพิ่มความสำคัญให้กับกลุ่มคนในเมืองหลวงมากขึ้น


 




















กลุ่มเป้าหมาย (target segment)


นโยบายนำเสนอ


เกษตรกร


ชาวนา


ชาวไร่


-          คาราวานแก้จน บุกทุกหลังคาเรือน


-          โครงการเอสวีที เกษตรกรกู้สร้างอาชีพ


-          แปลงกองทุนหมู่บ้านเป็นธนาคารหมู่บ้าน


-          จัดสรรงบ เอสเอ็มแอล ทุกหมู่บ้านและชุมชน


-          จัดสรรวัว 2 ล้านตัวสู่เกษตรกรทั่วประเทศ


-          ขุดบ่อน้ำ 1260 คิวบิกเมตร ในราคา 2500 บาท


ผู้มีรายได้น้อย


ค้าขายเบ็ดเตล็ด


คนจนในเมือง


-          แปลงสินทรัพย์ให้เป็นทุน


-          คาราวานแก้จน


-          คาราวานเสริมสร้างเด็ก


-          จัดสรรประปาไฟฟ้าทุกหลังคาเรือน


-          เรียนไม่ต้องจ่ายเงินถึงมหาวิทยาลัย จบแล้วค่อยผ่อนใช้เมื่อมีงานทำ


-          ประชาชนต้องมีบ้านเป็นของตนเอง บ้านในชุมชนแออัดจะถูกเปลี่ยนเป็นบ้านมั่นคง


-          ทำสงครามกับยาเสพย์ติด


ชนชั้นกลางในเมือง


ผู้ประกอบการรายย่อย


-          ติดคอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ตทุกโรงเรียนทั่วประเทศ


-          ลดภาษีให้ลูกกตัญญูที่เลี้ยงดูพ่อแม่


ชนชั้นกลางในเมืองหลวง


-          จัดสรรงบ 1 ล้านล้านบาท สร้างระบบรถไฟฟ้าเชื่อมกรุงเทพและปริมณฑลระยะทาง 291 กม.


-          สร้างอุทยานการเรียนรู้ให้เป็นแหล่งชุมชนใหม่ของวัยรุ่น


-          กรุงเทพแข็งแรง 6 ข้อ


นโยบายที่เสนอให้ตามกลุ่มเป้าหมายของพรรคไทยรักไทย ก่อนการเลือกตั้ง 6 .. 2548


 


ส่วนผสมทางการตลาดการเมือง (4p: product, push marketing, pull marketing, poll and research)


 


การวางกลยุทธ์ส่วนผสมทางการตลาดการเมือง (4P) อันมีประสิทธิภาพของพรรคไทยรักไทย ที่ทำให้สามารถพรรคกุมคะแนนเสียงและความนิยมได้ มีรายระเอียดคร่าวๆ ดังนี้


 


1.ผลิตภัณฑ์ (product) - นโยบายและผู้สมัครรับเลือกตั้ง


ผลิตภัณฑ์ในการเลือกตั้งก็คือ บุคคลที่ลงรับสมัครและนโยบายที่ใช้ในการหาเสียง ซึ่งทางพรรคไทยรักไทยได้ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ทั้งสองนี้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน


 


สำหรับแนวทางในการคัดเลือกบุคคลเพื่อลงสมัครเป็นตัวแทนของพรรคนั้นนอกจากจะอาศัย ส.. เก่าในพื้นที่แล้ว ส.. คู่แข่งในบางพื้นที่ที่มีความเข้มแข็งก็มักที่จะถูกดึงตัวเข้าสู่พรรค โดยพรรคมีทีมวิจัยประเมินความนิยมในตัวผู้ลงสมัครของพรรคเองและคู่แข่ง ซึ่งข้อมูลที่ได้จะถูกส่งไปให้ผู้สมัครของพรรคปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือในกรณีที่เห็นว่าคู่แข่งขันมีความนิยมสูงก็จะสามารถบ่งชี้เป็นรายๆ ได้ เพื่อที่จะดึงตัวเข้าสู่พรรค


 


รวมถึงการแข่งขันภายในของผู้สมัครหน้าใหม่ที่จะลงให้พรรคในแต่ละพื้นที่ โดยพรรคจะให้โอกาสผู้เสนอตัวทุกคนลงพื้นที่ทำงานและพบประชาชน แนะนำตัวโดยใช้โลโก้ของพรรคได้ รวมถึงทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในขณะเดียวกันพรรคจะมีการทำโพลว่าในผู้เสนอตัวแต่ละเขตของพรรคใครมีคะแนนนิยมสูงกว่ากัน และจะเลือกผู้ที่มีคะแนนนิยมสูงที่สุดเป็นตัวแทน ในขั้นตอนการเลือกตั้งครั้งสุดท้าย


 


ดังนั้น สำหรับผู้สมัครรับเลือกตั้งซึ่งถือเป็นผลิตภัณฑ์ของพรรค คุณภาพภายในของบุคคลนั้นๆ ไม่ใช่ตัวชี้วัดสำหรับการถูกเลือกให้ลงรับเลือกตั้ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เขาถูกเลือกก็คือศักยภาพภายนอกที่ทำให้เขามีโอกาสชนะเลือกตั้งมากที่สุด


 


ภายหลังจากที่ได้โอกาสเป็นผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งของพรรคแล้ว พรรคก็จะกำหนดบทบาทภาระหน้าที่ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทำงานในพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ โดยพรรคจะมีระบบตรวจสอบและคิดตามประเมินผล


 


และหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็น ส.. พรรคยังกำหนดให้  .. ต้องลงพื้นที่เพื่อรักษาฐานเสียงไว้อย่างเหนียวแน่ตลอดเวลา โดยพรรคจะให้งบประมาณพิเศษ เพื่อจัดทำกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เช่น จัดสัมมนา งานบุญ งานประเพณี งานลงพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อสร้างความผูกพันอย่างเหนียวแน่นกับผู้เลือกตั้ง ป้องกันการเบียดแทรกจากผู้สมัครจากพรรคอื่น และด้วยปัจจัยด้านทุนทรัพย์ที่มีเหนือกว่า ทำให้  .. ของพรรคไทยรักไทยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากพรรคโดยตรง และจากผู้นำกลุ่มต่างๆ ตามที่  .. ผู้นั้นสังกัดอยู่


 


ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เป็นนโยบาย (policy platform) นั้น ดังที่ได้กล่าวไปว่าการเสนอนโยบายคือส่วนสำคัญที่ทำให้พรรคไทยรักไทยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง โดยเมื่อวิเคราะห์นโยบายพรรคไทยรักไทย ด้วยกรอบแนวคิดทางการตลาดแล้ว จะพบประเด็นต่างๆ ดังนี้


 



  • เป็นนโยบายที่แก้ปัญหาตรงประเด็น - เนื่องจากพรรคไทยรักไทยมีทีมงานที่เข้าสำรวจปัญหาของประชาชนทุกกลุ่มอาชีพและแบ่งกลุ่มจัด segment เสนอนโยบายให้คนแต่ละกลุ่มดังที่ได้กล่าวไป
  • เป็นนโยบายที่ประชาชนเข้าใจชัดเจน - พรรคไทยรักไทยนำนโยบายที่เป็นนามธรรมมาสื่อสารกับชาวบ้านได้อย่างเป็นรูปธรรม ก่อให้เกิดการเข้าใจและเข้าถึงนโยบายที่ชัดเจน จนเป็นคำติดปากชาวบ้าน เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค กองทุนหมู่บ้าน ธนาคารคนจน บ้านเอื้ออาทร เป็นต้น
  • เป็นนโยบายที่นำไปใช้ได้ง่าย - นอกจากจะนำเสนอให้ชาวบ้านเข้าใจง่ายแล้ว วิธีการใช้บริการนโยบายก็ทำได้ง่ายไม่ซับซ้อน เช่น เพียงแค่มีบัตรทองประกันสุขภาพถ้วนหน้าแล้ว ก็สามารถนำไปรักษาตัวได้ เพียงจ่ายแค่ 30 บาท หรือการจะขอพักหนี้ก็เพียงไปติดต่อธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ เป็นต้น
  • เป็นนโยบายที่เข้าถึงประชาชนโดยตรงไม่ผ่านคนกลาง - ถือว่าเป็นการออกแบบนโยบายมุ่งเน้นให้ประชาชนได้สัมผัสกับนโยบายและได้รับประโยชน์โดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางแม้แต่หน่วยงานราชการ ตัวอย่างเช่น กองทุนหมู่บ้าน ที่เปิดโอกาสให้ชาวบ้านบริหารเงินกองทุนกันเอง โดยไม่มีหน่วยงานของภาครัฐ

 


2.การตลาดแบบผลักดัน (push marketing) - การสื่อสารโดยตรงจากพรรคสู่ประชาชน


การตลาดแบบผลักดัน คือการสื่อสารที่ส่งตรงจากพรรคไปยังกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้เลือกตั้ง เพื่อผลักดันให้เกิดการสนับสนุนพรรคและไปลงคะแนนเสียงให้พรรคในการเลือกตั้ง


 


กลยุทธ์การสื่อสารของพรรคไทยรักไทย แบ่งออกเป็นสองระดับ คือ ระดับกว้างกับระดับลึก โดยระดับกว้างหมายถึง การสื่อสารโดยผ่านสื่อสารมวลชนทุกประเภทและเป็นการสื่อสารโดยพรรค


 


ส่วนระดับลึกคือการสื่อสารโดยผ่านผู้สมัครของพรรคโดยตรงไปยังผู้เลือกตั้ง ซึ่งมีวิธีที่หลากหลายดังเช่น


 



  • การสื่อสารผ่านระบบเครือข่ายลูกโซ่ - มีลักษณะคล้ายระบบการตลาดขายตรงแบบหลายขั้น (multi lavel marketing: MLM) กล่าวคือพรรคจะกำหนดให้ผู้สมัครในแต่ละพื้นที่ลงไปสร้างความสัมพันธ์กับผู้นำชุมชนในระบบเครือข่ายลูกโซ่ โดยใช้โครงสร้างของกลุ่ม อสม. (อาสาสมัครสาธารณะสุข) กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน สร้างกลุ่มที่สนับสนุนพรรคจากจุดเริ่มต้น 5 หรือ 10 คน จากนั้นใหเกลุ่มเหล่านี้ไปชักชวนคนในหมู่บ้านมาเป็นสมาชิกพรรคอีกคนละ 5-10 ครอบครัว โดยทำเป็นเครือข่ายต่อเนื่องกันไป ซึ่งพรรคไทยรักไทยนั้นให้ความสำคัญกับการหาสมาชิกพรรคเป็นอย่างมาก เพราะจำนวนสมาชิกพรรคคือดัชนีชี้จำนวน ส.. ระบบบัญชีรายชื่อของพรรค ในการเลือกตั้งครั้งแรกพรรคมีสมาชิกประมาณ 10.5 ล้านคน ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 11,634,495 คะแนน และในการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการครั้งล่าสุด พรรคมีสมาชิกประมาณ 14 ล้านคน ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 18,993,073 คะแนน
  • การสื่อสารผ่านระบบหัวคะแนน - เป็นการสื่อสารอีกช่องทางหนึ่ง ที่ผู้สมัครใช้ติดต่อกับผู้เลือกตั้งผ่านระบบอุปถัมภ์ โดยทั่วไปผู้สมัครที่เป็น ส.. เก่านั้นจะได้เปรียบผู้สมัครหน้าใหม่ในเรื่องของหัวคะแนน เพราะสามารถดึงเอาหัวคะแนนเกรดเอมาอยู่กับตนได้มากกว่า ซึ่งการบริหารจัดการหัวคะแนนนั้นเป็นเรื่องที่ผู้สมัครดำเนินการเอง ไม่เกี่ยวกับพรรค พรรคทำหน้าที่เพียงการสนับสนุนปัจจัย อย่างไรก็ตามพรรคมีแนวโน้มที่จะให้ผู้สมัครใช้กลไก เครือข่ายลูกโซ่ในการหาสมาชิกพรรคมากกว่าการสนับสนุนระบบหัวคะแนน เนื่องจากพรรคต้องการตัดอิทธิพลของ "คนกลาง" ในการระดมคะแนนเสียง เพื่อให้พรรคมีอิทธิพลโดยตรงต่อผู้เลือกตั้ง เหมือนระบบ "ขายตรง" ที่ผู้ซื้อสินค้าซื้อโดยตรงโดยไม่ผ่านร้านค้าหรือยี่ปั๊วใดๆ
  • การสื่อสารผ่านสื่อสาธารณะ -  ได้แก่ แผ่นพับ ใบปลิว โปสเตอร์ แบนเนอร์ คัทเอาท์ CD เพลงโฆษณาหาเสียง สติกเกอร์ บัตรย้ำเบอร์ ฯลฯ
  • การสื่อสารแบบเผชิญหน้า - ได้แก่การเคาะประตูแนะนำ ปราศรัยย่อย ปราศรัยใหญ่ การเข้าร่วมงานบุญงานประเพณี งานเฉลิมฉลองต่างๆ
  • การหาเสียงโดยรูปแบบพิเศษ - นวัตกรรมใหม่ของพรรคไทยรักไทยในการรณรงค์หาเสียงก็คือการใช้ขบวนรถไฟในการหาเสียง โดยพรรคได้เช่าเหมาขบวนรถไฟแล่นขบวนผ่านจังหวัดแถบภาคอีสาน เป็นการสร้างภาพการหาเสียงแบบใกล้ชิดคนรากหญ้า เช่นเดียวกับการหาเสียงบนรถบัสตลอด 29 ชั่วโมง โดยไม่หยุดพักของ Bill Clinton และ Al Gore ในปี ค.. 1992
  •  การจัดกิจกรรมพิเศษ - เช่นการจัดนิทรรศการ "เหลียวหลังแลหน้า จากรากหญ้าสู่รากแก้ว" ที่จัดขึ้นเมื่อระหว่างวันที่ 6-10 พฤศจิกายน พ.. 2547  การจัดงานแสดงสินค้าภูมิปัญญาไทย OTOP CITY ระหว่างวันที่ 18-26 ธันวาคม พ.. 2547 การจัด ครม. สัญจร เป็นกิจกรรมที่รัฐบาลไทยรักไทยทำอยู่เป็นครั้งคราว แต่ในช่วงเวลาของการเลือกตั้ง รัฐบาลไทยรักไทยจะจัดขึ้นบ่อยครั้ง การพักค้างคืนบ้านกำนันผู้ใหญ่บ้านของคณะรัฐมนตรี การจัดทัวร์นกขมิ้น การเปิดตู้นายกรัฐมนตรีรับเรื่องราวร้องทุกข์

 


3.การตลาดแบบดึงดูด (pull marketing) - การสื่อสารโดยใช้สื่อดึงดูดประชาชน


คือการใช้สื่อสารโดยผ่านสื่อมวลชน เพื่อโน้มน้าวจูงใจผู้เลือกตั้ง พรรคไทยรกไทยใช้การสื่อสารด้านสื่อมวลชนมากกว่าพรรคอื่นๆ ทั้งที่เป็นกระบวนการสื่อสารของพรรคเอง และโดยกลไกของรัฐในฐานะที่เป็นพรรครัฐบาล โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของผู้เลือกตั้ง และสร้างความถี่เพื่อเน้นย้ำกับผู้เลือกตั้ง เครื่องมือที่พรรคไทยรักไทยใช้ในการสื่อสารเพื่อการตลาดแบบดึงดูดมีดังเช่น


 



  • ใช้สื่อโฆษณาในการรณรงค์ผ่านสื่อสารมวลชน - พรรคไทยรักไทยใช้การซื้อเวลาสปอตทางโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์และสื่ออื่นๆ ในการรณรงค์หาเสียงอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ
  • การใช้สื่อของรัฐ - เช่น รายการนายกรัฐมนตรีพบประชาชน ซึ่งมีความได้เปรียบจากการเป็นนายกรัฐมนตรีของหัวหน้าพรรค ซึ่งพรรคคู่แข่งจะไม่ได้โอกาสอันนี้ รวมถึงการใช้งบประมาณประชาสัมพันธ์ของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ในการโฆษณาความสำเร็จของรัฐบาล
  • การใช้ informercial แทนการ Debate - การสื่อสารทางเดียวโดยไม่มีคู่โต้แย้ง (debate) ของนายกรัฐมนตรี ทั้งรายการนายกรัฐมนตรีพบประชาชน รวมถึงการใช้ informercial คือการให้ข้อมูลโดยซื้อเวลาออกอากาศแบบยาวนาน ไม่ใช่การใช้แค่สปอตสั้นๆ เช่น การเชิญนายกรัฐมนตรีไปพูดในรายการต่างๆ การใช้เครื่องมือผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เป็นต้น

 


4.การสำรวจความคิดเห็นและการวิจัย (poll and research)


เครื่องมือทางการตลาดที่สำคัญสำหรับการวางกลยุทธ์ทางการเมือง ที่พรรคไทยรักไทยนำมาใช้อย่างได้ผลที่สุดตัวหนึ่งนั้นก็คือ การสำรวจความคิดเห็น (poll) ซึ่งจะทำให้ทราบถึงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย จำแนกกลุ่มเป้าหมายได้อย่างชัดเจน เพื่อช่วยกำหนดประเด็นในการรณรงค์เลือกตั้งแต่ละพื้นที่


 


นอกจากนี้ยังมีการวิจัยของทีมนโยบาย ซึ่งมีสองด้านหลัก คือการวิจัยนโยบายและการหยั่งเสียง (poll) โดยในช่วงแรกของการก่อตั้งพรรคไทยรักไทยนั้น การวิจัยเพื่อจัดทำนโยบายนั้นเป็นงานที่พรรคให้ความสำคัญมากที่สุด มีการสำรวจปัญหาของกลุ่มประชาชนต่างๆ ซึ่งผลการวิจัยนำมาซึ่งนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนที่พรรคประกาศใช้เป็น 11 วาระแห่งชาติ ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 และพัฒนาต่อยอดเป็น 14 นโยบาย 4 ปีสร้าง ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2548


 


ซึ่งการทำโพลหยั่งเสียงนั้น พรรคไทยรักไทยใช้เพื่อสำรวจความนิยมของทั้งอดีต ส.. และผู้สมัครหน้าใหม่ เพื่อที่จะหาผู้ที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากประชาชน


 


นอกจากนั้น พรรคไทยรักไทยยังใช้ประโยชน์จากโพลของทางราชการ นำมาเป็นข้อมูลประกอบกับโพลของพรรค โดยใช้กลไกของรัฐ เช่น โพลสันติบาล โพลตำรวจ โพลกรมการปกครอง กำนันผู้ใหญ่บ้าน ทำให้ได้ข้อมูลที่ลึกและละเอียด เชื่อถือได้ สามารถนำมาวิเคราะห์แผนการรณรงค์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


 


สำหรับการวิจัยนั้นซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง แต่ทางพรรคไทยรักไทยก็ถือว่าเป็นพรรคแรกๆ ที่นำมาใช้กับการเมืองของไทย ซึ่งดำเนินการวิจัยดังนี้


 



  • Focus Group - เป็นการนำกลุ่มคนเล็ก ที่เป็นตัวแทนของกลุ่มเป้าหมายมาทดสอบปฏิกิริยาต่อผลิตภัณฑ์หรือโฆษณา ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากทางการเมือง
  • Poll - เป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลที่สุดในการหาเสียงในปัจจุบัน เป็นเหมือนบทสรุปสั้นๆ ของความคิดของผู้เลือกตั้ง ให้ภาพรวมของทัศนะของผู้เลือกตั้งกลุ่มต่างๆ ในแต่ละช่วงเวลา เป็นการวิจัยที่ได้รับความนิยมมากที่สุด เพราะทำได้อย่างรวดเร็วและแสดงผลทันที หากผู้วิจัยทำตามหลักวิชาการอย่างเคร่งครัด ก็จะสามารถทำนายผลการเลือกตั้งได้แม่นยำ
  • Bencehmark Survers - เป็นการวิจัยเพื่อหาข้อมูลในการวางภาพลักษณ์ การหาตำแหน่งของผู้สมัคร และตำแหน่งประเด็นในการหาเสียง
  • Trial Heat Surveys - เป็นการนำเอาผู้สมัครมาจับคู่แล้วให้กลุ่มตัวอย่างเลือกว่าในแต่ละคู่เขาจะเลือกใคร
  • Tracking Polls - เป็นโพลที่ทำทุกวัน เมื่อใกล้วันเลือกตั้งเพื่อจับตาดูว่า ในโค้งสุดท้ายจะมีการเปลี่ยนแปลงของผู้เลือกตั้งหรือไม่ เพื่อใช้เป็นข้อมูลล่าสุดที่จะเปลี่ยนกลยุทธ์หรือโฆษณานาในช่วงสุดท้าย
  • Cross-Sectional and panel surveys - เป็นโพลหลายชั้นที่ทำเพื่อดูจุดยืนของผู้เลือกตั้ง
  • Call-In polls - เป็นโพลที่ให้ผู้ชมโทรทัศน์ เข้ามาโหวตให้กับประเด็นใดประเด็นหนึ่ง เพื่อผู้สมัครคนใด กรณีที่เสร็จสิ้นการโต้วาทีทางโทรทัศน์ แต่เป็นโพลที่มีความคลาดเคลื่อนสูง เพราะผู้ที่โทรเข้ามามักจะมีลักษณะของการจัดตั้ง และไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรอย่างแท้จริง
  • Opposition Research - เป็นการวิจัยเพื่อหาข้อมูลของนักการเมืองคู่แข่ง เพื่อขุดคุ้ยหาข้อมูลมาโจมตีฝ่ายตรงข้าม ซึ่งเป็นวิธีที่ได้ผลเสมอในทางการเมือง

 


สำหรับการเลือกตั้งที่ผ่านมานั้นพรรคไทยรักไทยมักจะได้เปรียบคู่แข่งทุกพรรค เพราะนอกจะทำวิจัยอย่างหลากหลาย ทั้งชนิดและความถี่แล้ว ยังอาศัยกลไกการทำโพลของหน่วยราชการ นำข้อมูลมาเปรียบเทียบทำให้สามารถจัดแผนการหาเสียง ในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม จึงกล่าวได้ว่าโพลเป็นปัจจัยหนึ่งของความสำเร็จในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย


 


ที่สำคัญ สำหรับการจัดโครงสร้างการบริหารการรณรงค์หาเสียงของพรรคไทยรักไทยนั้น ใช้การจัดองค์กรที่ไม่ได้จัดลำดับขั้น (hierarchy) แต่จะใช้การประสานงานนำเครือข่ายทรัพยากร (Link Resources) ต่างๆ เข้ามาบูรณาการ กระจายเครือข่ายทรัพยากรทั้งหมดมาช่วยงาน


 


0 0 0


 


พรรคไทยรักไทยสามารถประสบความสำเร็จในการเลือกตั้ง 2 ครั้ง (อย่างเป็นทางการ) ครั้งแรกคือเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2544 ได้ ส.. จำนวน 248 คน และอีกครั้งคือวันที่ 6 กุมภาพันธุ์ 2548 ได้ ส.. 377


 


ความสำเร็จของไทยรักไทยนั้น ได้เปลี่ยนโฉมหน้าการต่อสู้ทางการเมืองของประเทศไทย ให้ก้าวสู่ยุคแห่งการตลาดนำการเมือง โดยการใช้ศาสตร์ทางทุนนิยมต่างๆ มาช่วยในการครอบครองจิตใจคน มากกว่าระบบอุปถัมภ์ที่เน้น "พระเดช-พระคุณ"  ในการเมืองระบบเก่าของไทย


 


ซึ่งวิธีการอุปถัมภ์ในชุมชนแบบ "พระเดช-พระคุณ" นั้น ยังคงติดตาและยังคงครอบงำความคิดของนักวิชาการและชนชั้นกลางในเมืองส่วนใหญ่อยู่


 


แต่ในความจริงแล้วปัจจุบันสังคมไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไปแล้ว การขยายตัวของระบบทุนนิยมในสังคมไทยได้ขยายวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และความสัมพันธุ์ระหว่าง ชาวบ้าน กับ นักการเมือง นั้นได้แปรเปลี่ยนไปมากกว่าการมองด้วยแว่นที่ยังมีอคติกับชาวบ้านและนักการเมือง แบบว่า ชาวบ้านโง่และนักการเมืองในระบบเลือกตั้งเลวกว่านักการเมืองที่ไม่ได้เข้าสู่ระบบเลือกตั้ง


 


ปัจจุบันในระบบการเมืองสมัยใหม่ชาวบ้านไม่ได้เป็นเหยื่อที่ถูกกระทำ โดนหลอกใช้หรือถูกข่มขู่ สำหรับความสัมพันธ์ใหม่นั้นก็คือชาวบ้านเป็นลูกค้าและผู้บริโภค ซึ่งมีนักการเมืองนำเสนอขายนโยบายและผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมทางการเมืองให้แก่ชาวบ้าน โดยใช้วิธีทางการตลาดทั้งในและนอกฤดูเลือกตั้ง ในการปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน


 


ทั้งนี้การเมืองที่แท้จริง ไม่ใช่เรื่องจริยธรรม ความดี แต่เป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ --- แต่กลุ่มคนหลงยุค หลงสมัยที่ทำการรัฐประหารที่ผ่านมากำลังพยายามนำประเทศไทยถอยหลังไปสู่การเป็นรัฐจริยธรรม ที่ประชาธิปไตยถูกใส่ไคล้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะกับคนไทย


 


แต่การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นข้อพิสูจน์ว่าคนไทยจะเอา "ทุนนิยมที่ดูเลวร้ายแต่กินได้" หรือจะเอา "จริยธรรมที่เริดหรูสวยงามแต่กินไม่ได้" มาดูกัน ว่าคนไทยส่วนใหญ่จะเลือกอะไร?


 


…………….


อ่านเพิ่มเติม


 


หนังสือ "ชนะเลือกตั้ง ด้วยพลังการตลาด" (ดร.นันทนา นันทวโรภาส, สำนักพิมพ์ฃอคิดด้วยฅน, กุมภาพันธ์ 2549)


รู้เท่าทัน 'การตลาดในการเมือง' (กรุงเทพธุรกิจ, 13 กันยายน  2550)

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net