ปราณี ทินกร : ดู "ความจริงใจ" ของรัฐบาลได้จากงบประมาณที่ใช้ในการแก้ปัญหาของ "ประชาชน"

*หมายเหตุ : การนำเสนอนี้ เป็นส่วนหนึ่งในงานเสวนาวิชาการ หัวข้อ "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน" จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2550 ณ ห้องประชุมชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงเช้า คือ "แรงงานและสวัสดิการแรงงาน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก"

การนำเสนอในประเด็นต่างๆ ได้แก่ "แรงงานนอกระบบ" โดย ผศ.ดร.วัชรียา โตสงวน คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "แรงงานข้ามชาติ" โดย ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "คนจนในชุมชนเมือง" โดย รศ.ดร.นฤมล นิราทร คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มธ., "สวัสดิการแรงงาน" โดย ดร.นภาพร อติวานิชยพงศ์ สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มธ., "ระบบประกันสังคม" โดย อภิชาต สถินิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

หัวข้อเสวนาในช่วงบ่าย คือ "สวัสดิการเพื่อแก้ปัญหาความยากจน: สภาพปัญหา สถานะความรู้ และทางออก" มีการนำเสนอประเด็น ได้แก่ "มาตรการทางการคลังเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส" โดย ศ.ดร.ปราณี ทินกร คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "โครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม" โดย ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "การคลังท้องถิ่นกับสวัสดิการสังคม" โดย รศ.ดร.สกนธ์ วรัญญูวัฒนา คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "สวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ" โดย รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย คณะเศรษฐศาสตร์ มธ., "นโยบายสังคมและสวัสดิการสังคม" รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมะดุล คณะสังคมสังเคราะห์ศาสตร์ มธ., "องค์กรการเงินชุมชน" โดย คุณภีม ภคเมธาวี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

 

ดำเนินรายการโดย รศ.ดร.ปัทมาวดี ซูซูกิ คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.

 

ทั้งหมดนี้ "ประชาไท" จะทยอยนำเสนอ โปรดติดตาม

 

 

"เราจะดูความตั้งใจของรัฐบาลจากนโยบายที่ประกาศอย่างเดียวคงไม่พอ แต่เราต้องดูว่างบประมาณที่เขาใส่เข้าไปมีมากไหม และก็ได้ผลไหม เพราะฉะนั้น เท่าที่ดูกองทุน ทุกท่านคงจะแปลกใจ เพราะเราจะพบว่ากองทุนต่างๆ ในประเทศเรามันมีอยู่ประมาณเกือบร้อยกองทุน"

 

ศ.ดร.ปราณี ทินกร นักวิชาการจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึง "มาตรการทางการคลังเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส" โดยอ้างอิงการกระจายงบประมาณของรัฐบาลในแต่ละยุค แต่ละประเทศ เพื่อเปรียบเทียบว่า การจัดสรรงบประมาณเพื่อการช่วยเหลือสังคมมีความสมดุลกับจำนวนประชากรที่ยากจนภายในประเทศไทยหรือไม่ อย่างไร

 

นอกจากนี้ ศ.ดร.ปราณี ได้เสนอแนะว่า รัฐควรแก้ไขปัญหาความยากจนในลักษณะ "พุ่งสู่เป้าหมายทันที" เป็นหลัก และผสมผสานกับการแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การเพิ่มโอกาสทางการศึกษา และการเข้าถึงแหล่งทุน โดยอาศัยมาตรการทางการคลัง 3 ประเด็นที่สำคัญ คือ การลดช่องว่างของรายได้, จัดให้มีการประกันสังคม และ สร้างโอกาสให้คนยากจนสามารถพึ่งตนเอง

 

 

0 0 0

 

"มาตรการทางการคลังเพื่อคนยากจนและด้อยโอกาส"

 

ศ.ดร.ปราณี ทินกร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

 

 

"การบอกว่าเราจะมีมาตรการเพื่อคนจน เราก็ควรจะต้องรู้ก่อนว่าคนจนนี่คือใคร และก็มีจำนวนเท่าไหร่ เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ถ้าหากเรามองการแก้ปัญหาในลักษณะครอบจักรวาลทั้งประเทศ เราก็จะเห็นได้อย่างกรณีผู้สูงอายุ คือจะต้องใช้เงินมหาศาล เพราะฉะนั้น การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับคนยากจน เราต้องรู้ก่อนว่าเขาคือใคร อยู่ที่ไหน แล้วก็มีจำนวนเท่าไหร่ เสร็จแล้วก็จะมองไปที่การช่วยเหลือคนยากจนของภาครัฐ

 

เรามักจะได้ยินเสมอว่า "รัฐบาลช่วยเหลือคนยากจน" เราก็ต้องมองดูว่า ที่ผ่านมารัฐบาลมีมาตรการอย่างไร ดูงบประมาณการให้ความคุ้มครองทางสังคม เพราะว่าเวลาที่เราจะเปรียบเทียบความจริงจังหรือจริงใจในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน เราก็มักจะมองไปที่งบประมาณการคุ้มครองทางสังคม หรือที่เรียกว่า Social protection ซึ่งอาจจะครอบคลุมมากกว่าคนยากจน แต่ครอบคลุมมาตรการต่างๆ ด้วย และสุดท้าย ดิฉันก็จะพูดถึงการเสนอแนะมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาคนจน

 

ก่อนอื่นเราคงอยากรู้ว่า "ความยากจนคืออะไร" จริงๆ แล้วความยากจนมีหลายมิติ ถ้าถามนักเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ก็จะใช้วิธีการวัดทางรายได้ หรือการบริโภค แต่ว่าในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่าเราไปถามคนจน ซึ่งที่จริงอาจจะเป็นคนที่ไม่ได้จนในแง่ของรายได้ แต่เป็นกลุ่มคนที่เราเรียกว่า "ผู้มีรายได้น้อย" แต่เขาก็จะรู้สึกว่าเขาจน เพราะเขายังขาดแคลนวัตถุอีกหลายๆ อย่าง เช่น ถ้าเขาไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ไม่มีเสื้อผ้าหรูๆ ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ ไม่มีวิทยุโทรทัศน์ ไม่มีพลาสม่าทีวี เขาก็อาจจะคิดว่าเขาเป็นคนจนได้ แต่จริงๆ เขาคือคนที่มีรายได้น้อย ซึ่งถ้าจะพูดอย่างนั้น อย่างเราๆ ก็ถือว่าจนนะคะ เพราะเราไม่มีเหมือนกัน

 

แต่ในขณะเดียวกัน นักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่ง คือ นายอมาตยา เซ็น (Amartya Sen) ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลเกี่ยวกับงานทางด้านความยากจนของเขา บอกว่าเราควรจะต้องนิยามคนจน โดยมองไปที่ "การขาดแคลนความสามารถ" หรือที่เรียกว่า Capability deprivation เพราะจริงๆ แล้วคนจนก็มีหลายมิติ แต่ถ้าเราจะไปเอามิติอื่นๆ มาวัด มันก็คงจะลำบาก

 

ในปี 2543 เวิลด์แบงก์ได้มีการสำรวจคนจน 6 หมื่นตัวอย่าง จากประมาณ 50 ประเทศ คนที่จนก็คือคนที่มีความรู้สึกว่าเขาไม่มีความอยู่ดีมีสุข เพราะฉะนั้น เขาก็เลยรู้สึกว่าเขาจน ซึ่งความไม่อยู่ดีมีสุขนี้ อาจจะเกิดจากอาหารไม่พอ รายได้ไม่พอ ที่อยู่ไม่ดี อยู่ในสถานที่ไม่ดี มีความสัมพันธ์ที่ไม่ดี ขาดอำนาจ ขาดเสรีภาพในการเลือก เขาเลยรู้สึกว่าไม่มีความมั่นคงในชีวิตหลายๆ ด้าน และในกรณีประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน คนจนในประเทศไทย การไม่มีสตางค์ไม่ใช่บรรทัดฐานเดียว แต่มันยังมีเรื่องอื่นๆ ก็คือ คนที่มีหนี้สินก็รู้สึกจน ถึงแม้ว่ารายได้เขาจะสููงกว่าเส้นความยากจนก็ตาม

 

ถ้าเราไปฟังจากความรู้สึก หรือว่าดูจากหลายๆ มาตรการ หลายๆ มาตรฐาน มันจะทำให้เราไม่สามารถที่จะได้จำนวนที่แท้จริงหรือวัดว่าใครคือคนยากจนได้ การแก้ไขปัญหาความยากจนในหลายๆ ประเทศทั่วโลกก็เลยหันมาดูทางด้านรายได้ เพราะถ้ารายได้ไม่พอ ก็มักจะนำไปสู่ความยากจนในด้านอื่นๆ เช่น ไม่มีทรัพย์สิน ไม่มีที่อยู่อาศัย เพราะฉะนั้นเรามักจะวัดกันทางด้านรายได้

 

ข้อมูลคนจน - วัดทางด้านรายได้

 

สัดส่วนด้านรายได้

จำแนกตามอายุของหัวหน้าครัวเรือน

 

ข้อมูลคนจน - วัดทางด้านรายได้

จำแนกตามการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ปี 2547

 

ในแง่การวัดคนจนในด้านรายได้ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการวัดในด้านรายได้หรือทางด้านการบริโภค ตัวเลขมันจะออกมาคล้ายๆ กัน ดิฉันก็เลยใช้การวัดตรงที่เป็นด้านรายได้ ซึ่งคนที่คำนวณข้อมูลก็คือสภาพัฒน์ โดยใช้ข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2547 เราจะเห็นว่าเส้นความยากจน ก็คือรายได้ที่เราคำนวณขึ้นมาว่าเป็นรายได้ขั้นต่ำ ซึ่งทุกคนจำเป็นที่จะต้องมี เพื่อที่จะใช้ในการดำรงชีวิต ที่เขาเรียกว่าความจำเป็นขั้นพื้นฐาน หรือ basic need ทั้งทางด้านอาหารและทางด้านไม่ใช่อาหาร

 

ถ้าหากดูในภาพรวม ประเทศไทยก็ตกประมาณ 1,242 บาทต่อเดือน ต่อคน ถ้าคิดเป็นต่อปีก็ประมาณ 14,000 กว่าบาทต่อคน ซึ่งต่ำกว่าระดับการบริโภคเฉลี่ยที่อาจารย์มัทนาเสนอ (รศ.ดร.มัทนา พนานิรามัย) คือประมาณ 47,000 อันนี้ดิฉันดูคร่าวๆ ถ้าเป็นต่อปีมันก็แค่หมื่นสี่พันบาทต่อคนต่อปี ถ้าหากว่าเรานำรายได้นี้เป็นเกณฑ์ และไปดูว่ามีใครบ้างที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นนี้หรือรายได้เฉลี่ยของครอบครัวต่ำกว่าเส้นนี้ เราก็จะมองหรือให้คำนิยามครอบครัวนั้นว่า พวกเขาตกอยู่ในสภาพที่เรียกว่ายากจน เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอที่จะใช้จ่าย

 

จริงๆ รายได้นี้ ถ้าคิดเป็นในแง่ของสากล และถ้าเราคิดต่อวัน จะตกวันหนึ่งประมาณ 40 บาท เพราะฉะนั้น ถ้าวันหนึ่งก็ประมาณดอลล่าร์กว่าๆ ซึ่งทางธนาคารโลกเขาก็จะมีเกณฑ์ในการวัดความยากจนอยู่ 2 เกณฑ์ คือประเทศใดที่มีคนยากจนโดยมีรายได้ต่อวันต่ำกว่า 1 ดอลลาร์ เขาเรียก one dollar a day และอีกหน่อยเขาก็จะขยับมาเป็น two dollars a day ซึ่งจริงๆ แล้วความยากจนของเราก็ตกอยู่ในเกณฑ์ที่สองนั้นนะคะ

 

ถ้าูดูแล้วเราก็จะพบว่าในปี 47 เรามีคนยากจนประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ของคนทั้งประเทศ คิดเป็นจำนวนก็ประมาณ 7 ล้าน กระจายอยู่ตามภาคต่างๆ ภาคที่มีคนยากจนมากที่สุดก็คือภาคตะวันออกเีฉียงเหนือ ถัดมาก็คือภาคเหนือ ทีนี้ถ้าถามว่าคนจนมีลักษณะทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างไร ก็จะสอดคล้องกับข้อมูลของอาจารย์มัทนาที่ว่า เมื่อคิดเป็นสัดส่วนของประชากรในแต่ละกลุ่ม คนจนส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ ก็คือในกลุ่มผู้สูงอายุ จะมีสัดส่วนของคนยากจนสูง แล้วก็กลุ่มที่อายุน้อยกว่า 19 ปี เพราะว่าเขายังหารายได้ไม่ได้ แล้วคนกลุ่มนี้คือกลุ่มที่อยู่ในครัวเรือนที่ยากจนเยอะ เพราะฉะนั้น เราก็จะพบว่า คนยากจนส่วนใหญ่ ผู้ที่มีปัญหา จะเป็นคนแก่และเด็ก ส่วนคนที่อยู่ในวัยกำลังแรงงาน ปัญหาอัตราส่วนความยากจนของเขาจะไม่มากนัก ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าเขามีความสามารถที่จะทำงาน และเขาก็คงจำเป็นที่จะต้องดิ้นรนหางานทำ

 

ถ้ามองในแง่ของการศึกษา เราก็จะพบว่า สัดส่วนของประชากรที่ตกอยู่ในคำนิยามที่เราเรียกว่าคนยากจนนี้  คนที่ไม่ได้เรียนหนังสือหรือมีการศึกษาน้อยจะมีสัดส่วนที่ค่อนข้างเยอะ ยิ่งเราขยับไปยังผู้ที่มีการศึกษาสูงขึ้น สัดส่วนของคนยากจนก็จะน้อยลง แสดงว่าการศึกษานี่สำคัญมาก และภาพนี้ก็เป็นมานานนับ 20-30 ปีแล้ว

 

จากการสังเกตจากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคม ถ้าดูตามขนาดของครัวเรือน เราพบว่าครัวเรือนขนาดใหญ่ จะมีสัดส่วนของประชากรที่ตกอยู่ในลักษณะของความยากจนค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีขนาดเล็ก และถ้าหากว่าจำแนกตามสถานะทางเศรษฐกิจและสังคม เราก็จะพบว่าคนส่วนใหญ่ที่ตกอยู่ในภาวะยากจนก็คือ "คนงานเกษตร"

 

คนงานเกษตร คือ ผู้ที่รับจ้างทำงานในภาคเกษตรกรรม กรรมกร หรือคนงานทั่วไป คนที่เป็นเจ้าของที่ดิน แต่ถ้าหากว่าเป็นที่ดินเป็นที่ซึ่งไ่ม่สามารถให้ผลผลิตเพียงพอในการที่จะทำรายได้ให้เขาก็มี ตกอยู่ประมาณ 19.3 เปอร์เซ็นต์ รวมถึงกลุ่มผู้เช่าที่ดิน ส่วนกลุ่มอื่นๆ จะไม่ค่อยมีปัญหามากนัก กลุ่มที่มีปัญหาคือพวกเกษตรกรรม แล้วก็คนงานทั่วไป หรือกรรมกร ตรงนี้คือผู้ไม่ปฏิบัติงานเชิงเศรษฐกิจ ซึ่งก็คือ Eco-economically inactive รวมถึงคนพิการ คนชรา อะไรพวกนี้ด้วย

 

ถ้าดูภาพในระยะยาวเราจะพบว่า จริงๆ แล้วในประเทศไทย สัดส่วนคนจนได้ลดลงมาเรื่อยๆ จากประมาณ 30 กว่าเปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งประเทศ ค่อยๆ ลดลงมาเหลือประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนคนจนก็ลดลง และที่ลดลงส่วนใหญ่อาจจะเป็นเพราะว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจคงจะมีส่วนในการทำให้ผลของการพัฒนาไหลริน หรือ trigger down ไปสู่คนเหล่านี้ เพราะฉะนั้น อย่างที่อาจารย์มัทนาว่านี่ ความยากจนมันมี พลวัต หรือ dynamic ของมัน แต่เราก็เห็นว่าถึงจะมีพลวัตยังไง บางครัวเรือนมีสภาวะที่ดีขึ้น แต่ก็ยังมีจำนวนครัวเรือนที่ตกอยู่ในภาวะยากจนค่อนข้างมาก

 

เพราะฉะนั้น ก็เลยเป็นประเด็นที่น่าจะดูว่ารัฐบาลให้ความใส่ใจ หรือว่ามีความตั้งใจในการที่จะแก้ไขปัญหาความยากจนให้กับคนเหล่านี้หรือไม่ ดิฉันก็เลยไปสำรวจกองทุนต่างๆ ที่รัฐบาลตั้งเพื่อช่วยเหลือคนจน คือเราจะดูความตั้งใจของรัฐบาลจากนโยบายที่ประกาศอย่างเดียวคงไม่พอ แต่เราต้องดูว่างบประมาณที่เขาใส่เข้าไปมีมากไหม และก็ได้ผลไหม เพราะฉะนั้น เท่าที่ดูกองทุน ทุกท่านคงจะแปลกใจ เพราะเราจะพบว่ากองทุนต่างๆ ในประเทศเรามันมีอยู่ประมาณเกือบร้อยกองทุน

 

ถ้าดูจากรายชื่อของเงินทุนและกองทุนหมุนเวียนเหล่านั้น เราก็จะเห็นว่ามีสารพัดชื่อ แต่บางชื่อสามารถอ่านแล้วเดาได้ว่า เป็นเรื่องที่รัฐบาลตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและคนยากจน และอีกประเภทหนึ่งจะเป็นกองทุนช่วยเหลือคนด้อยโอกาส อย่างเช่น กองทุนช่วยเหลือผู้พิการ, กองทุนช่วยเหลือคนชรา แต่ว่ากองทุนช่วยเหลือผู้พิการกับคนชราก็ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ว่าจะช่วยเฉพาะคนชราที่ยากจน แต่หมายถึงคนชราทั่วไป หรืออย่างผู้พิการ ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นผู้พิการที่ยากจน แต่เป็นผู้พิการทั่วไป เพราะฉะนั้นก็เลยต้องอยู่ใน Category ช่วยเหลือคนด้อยโอกาส แล้วก็มีกองทุนประเภทที่เ้ข้าข่ายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย

 

เมื่อดิฉันจำแนกกองทุนเหล่านี้ออกมาแล้วก็จะพบว่า กองทุนที่อยู่ข่ายช่วยเหลือคนจนและเกษตรกรมีอยู่หลายกองทุน คือ "กองทุนสงเคราะห์เกษตรกร" ซึ่งตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2517 และก็มี "เงินทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและคนยากจน" ตั้งมาตั้งแต่ พ.ศ.2518 "กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตร" พ.ศ.2534 และล่าสุด คือ "กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร" ซึ่งตั้งขึ้นมาใน พ.ศ.2542 ในสมัยรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย

 

ทั้ง 4 กองทุนนี้ คือกองทุนหลักที่รัฐบาลตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือคนจน พอหันมามองที่กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนด้อยโอกาส ก็จะมี "กองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา" ตั้งขึ้นมาในปี พ.ศ.2535 "กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ" ตั้งในปี พ.ศ.2534 "กองทุนคุ้มครองเด็ก" พ.ศ.2546 และ "กองทุนผู้สูงอายุ"

 

ถึงแม้ว่าชื่อกองทุนเหล่านี้ไม่ได้เน้นไปที่คนยากจน แต่กิจกรรมส่วนใหญ่หรือผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือก็คงจะอยู่ในข่ายที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ เพราะเด็กที่มาจากครอบครัวร่ำรวยคงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปรับความช่วยเหลือจากกองทุนเหล่านี้

 

ถ้าพูดถึงกองทุนประเภทที่ 3 คือกองทุนช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ก็จะได้แก่ "เงินทุนหมุนเวียนบัตรประกันสุขภาพ" ซึ่งได้แปรสภาพมาเป็น "กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ในรัฐบาลไทยรักไทย "กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา" แปลงมาเป็น "กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต" และ "กองทุนเงินให้เปล่า" ซึ่งตั้งขึ้นในปี 2541 อันนี้ก็มีการแปลงมาในรัฐบาลไทยรักไทย แต่พอมาถึงรัฐบาลขิงแก่ ดิฉันก็ได้ข่าวว่าเขายกเลิกกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคตมาเป็น กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาตามเดิม แล้วก็มี "กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง" ซึ่งอันนี้ก็เป็นลักษณะของกองทุนที่จะเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับผู้ที่มีรายได้น้อยได้กู้ยืมเพื่อไปประกอบอาชีพ เสร็จแล้วก็ยังมี "กองทุนส่งเสริมสวัสดิการสังคม" เพราะฉะนั้น เราจะเห็นว่ากองทุนที่ช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยส่วนใหญ่จะอุบัติขึ้นหรือเกิดขึ้นในรัฐบาลของไทยรักไทย

 

ตารางจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนที่มีวัตถุประสงค์

ช่วยเหลือเกษตรกร, ผู้มีรายได้น้อย และคนด้อยโอกาส

ปีงบประมาณ 2549-2550

 

จากนั้นเราก็มาดูการจัดสรรงบประมาณให้แก่กองทุนทั้ง 3 ประเภท จะเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณซึ่งรัฐบาลได้ให้งบประมาณในแต่ละปีสำหรับกองทุนเหล่านี้เป็นจำนวนเท่าไหร่บ้าง สุดท้ายเราก็จะได้ัตัวเลขว่า รัฐบาลจัดสรรงบประมาณในปี 2550 ให้ประมาณหนึ่งแสนสองหมื่นหกพันกว่าล้าน ใส่เข้าไปในกองทุนที่ว่ามาแล้ว ในขณะที่งบประมาณรายจ่ายรวม คือ 1.5 แสนล้าน คิดเป็นประมาณ 8 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปี 2549 จะตกประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์

 

ทีนี้ถ้าเราดูอย่างนี้ ถามว่าสัดส่วนของงบประมาณที่ใส่เข้าไปในกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนยากจนนี่ ถ้าเทียบกับงบประมาณแล้วก็มีพอสมควร คือประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ แล้วเพิ่มขึ้นมาเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ คืออันนี้มองเฉพาะในภาพรวมที่ถ้ามองในระยะยาว เทียบกับอดีตแล้วมันก็จะมีการพัฒนา แล้วก็ใส่งบประมาณเข้ามามากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อสังเกตว่า การจัดตั้งกองทุนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนยากจนของภาครัฐที่ผ่านมานั้น ส่วนใหญ่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่คนจนโดยตรง แต่จะมุ่งเน้นไปที่ภาคเกษตร ซึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าคนจนจะอยู่ในภาคการเกษตรเป็นหลัก

 

อย่างไรก็ตาม กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร กองทุนรวมอะไรต่างๆ เหล่านั้นมัันเป็นกองทุนที่มีมาตรการช่วยเหลือในด้านการส่งเสริมการผลิต การจัดจำหน่ายและการพยุงราคา รวมทั้งการให้เกษตรกรกู้เงิน ซึ่งในข้อเท็จจริง การดำเนินงานของเขามันอาจจะไม่ได้ไปที่เกษตรกรที่ยากจนจริงๆ อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยก็ได้ ซึ่งการที่เราจะประเมินโครงการเหล่านี้ได้ เราจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูแต่ละกองทุนอย่างละเอียด ซึ่งดิฉันก็ไม่ได้มีเวลา เพราะว่าทำงานชิ้นนี้ในเวลาประมาณ 3-4 เดือนเท่านั้น แต่จากงานของอาจารย์รังสรรค์ (ธนะพรพันธ์) ในปี พ.ศ.2527 ที่ไปประเมินการดำเนินงานของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรนั้น อาจารย์รังสรรค์พบว่า วิธีการจ่ายเงินของกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร ในทางปฏิบัติ "รั่วไหล" ไปเป็นประโยชน์กับพ่อค้าคนกลาง เจ้าของโรงสี พ่อค้าผู้นำเข้า และเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก

 

ดิฉันเคยคุยกับคนขับแท็กซี่คนหนึ่งเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือคนจนของภาครัฐ เขาบอกว่า เงินที่รัฐบาลส่งไปถึงพวกคนจนก็เหมือนไอติม เพราะว่าพอส่งมาแล้ว ระหว่างทางจะมีคนเลียไปเรื่อยๆ พอไปถึงเขาก็เหมือนกับว่ามันเหลือแต่ไม้ เพราะฉะนั้นการตั้งกองทุนมันก็อาจจะเข้าข่ายอันนี้ เพราะมันมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือพวกเขา แต่วิธีดำเนินการมันอาจจะไปไม่ถึงเขา

 

ข้อสังเกตประการที่สอง ก็คือว่า จากการประเมินสถานการณ์ภาพรวมเท่าที่ดิฉันดู ดิฉันคิดว่า ถึงแม้การจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสจะดูเหมือนมีลักษณะที่ส่งไปที่ผู้ด้อยโอกาส และเหมือนจะมีคนยากจนอยู่ในกลุ่มนี้มาก แต่เราจะสังเกตได้ว่าโครงการส่วนใหญ่สำหรับคนในกลุ่มผู้ด้อยโอกาส เพิ่งจะตั้งขึ้นมาในปี 2546 และได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อยมาก เช่น กองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ ฟังดูแล้วรู้สึกดีที่รัฐบาลตั้งขึ้นมา แต่ถามว่ารัฐบาลจัดสรรเงินให้กับคนพิการปีละเท่าไหร่ ปีละประมาณ 20 ล้านบาท จนกระทั่งมาถึงปี 2548 ยังให้ยี่สิบล้านบาทอยู่ พอปี 49 เหลือ 19 ล้านบาท พอปี 2550 เพิ่มเป็น 60 ล้านบาท ก็บอกว่า โอ้โห เพิ่มตั้งเยอะ เพิ่มเป็นสองเท่า แต่ถ้าถามว่าเม็ดเงินจำนวนนี้น้อยไหม ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนพิการที่มีอยู่ในประเทศ

 

นอกจากนี้ กองทุนโครงการอาหารกลางวัน พวกเราก็คงจำได้ว่า เมื่อไม่กี่ปีมานี้ก็มีีข่าวการทุจริตเกี่ยวกับการจัดซื้อนมให้กับเด็ก คือเงินที่รัฐบาลจัดสรรไปให้กับโครงการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสนี่มันรั่วไหลไปเรื่อยๆ แล้วประโยชน์ที่มันไปถึงคนด้อยโอกาสและผู้ยากจนจริงๆ ก็คงจะไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยจากงบประมาณเหล่านั้น

 

ประการที่สาม อันนี้เป็นข้อสังเกตนะคะ เราจะพบว่านักการเมืองมีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรและคนยากจนเพื่อเป็นการเรียกคะแนนนิยม มากกว่าที่จะมีความตั้งใจช่วยคนยากจนจริงๆ เราจะเห็นได้ชัดเจนจากกรณีจัดตั้ง "กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ" ซึ่งในแง่หลักการ ดิฉันว่าคนส่วนใหญ่ก็คิดว่าเป็นหลักการที่ดี ซึ่งเป็นหลักการที่คล้ายคลึงกับการจัดสรรเงินที่เรียกว่า micro credit หรือเงินกู้จำนวนน้อยๆ ใ้ห้กับคนยากจนที่นายมูฮำหมัด ยูนุส (Muhammad Yunus) ทำในประเทศบังคลาเทศ ที่เขาเรียกว่า "กรามีนแบงก์" (Grameen Bank) โดยนายยูนุสเริ่มให้คนจนกู้โดยไม่ต้องมีหลักประกัน

 

พวกเราก็รู้ดีว่า ถ้าเราจะกู้เงินจากแบงก์หรือสถาบันการเงินแล้วเราไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่มีทางที่เขาจะให้เรากู้ แล้วคนจนเขาไม่มีหลักทรัพย์อยู่แล้ว ไม่มีที่ดิน ไม่มีอะไรต่างๆ เพราะฉะนั้นการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน ภายใต้หลักการว่าเราจะเอาเงินทุนไปให้กับชาวบ้านที่เขามีความจำเป็นต้องกู้เงินโดยที่ไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ในลักษณะนั้นก็คืออยู่ในหลักการที่ดี แต่เนื่องจากว่ากรณีของกองทุนมหมู่บ้านมันมีลักษณะี่ที่เร่งรีบดำเนินการ เพราะดิฉันเข้าใจว่าััรัฐบาลไทยรักไทยในตอนนั้นมีความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าด้วย ก็เลยกระจายเม็ดเงินไปทุกหมู่บ้าน รวมทั้งชุมชนเมืองแห่งละหนึ่งล้านบาท ซึ่งมันก็ไม่เป็นที่แน่ชัดว่าผู้ที่กู้เงินและได้รับประโยชน์จากกองทุนหมู่บ้านเป็นคนยากจนของหมู่บ้านจริงๆ หรือไม่ หรือว่าอาจจะเป็นญาติของกรรมการหมู่บ้าน หรือว่าเป็นพรรคพวกเพื่อนฝูง

 

ถึงแม้รัฐบาลจะบอกว่าการประเมินกองทุนหมู่บ้านจะประสบความสำเร็จ คือมีหนี้เสียน้อย แต่ว่าวัตถุประสงค์อันนี้ ถ้าดูแล้วมันก็อาจจะไม่ได้ไปสู่คนยากจนจริงๆ เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็จะเห็นว่า ถ้ากล่าวโดยสรุป รัฐบาลจะให้ความสนใจกับปัญหาความยากจนจริงๆ ไหม ซึ่งทุกรัฐบาลคงพูดเหมือนกันหมดว่าเขาสนใจ แต่ถ้าถามว่ามันไปถึงคนจนจริงๆ หรือไม่ มันก็คงต้องมีการประเมินแต่ละโครงการให้ดี

 

ตารางแสดงงบประมาณรายจ่ายของประเทศไทย จำแนกตามภารกิจ

 

ข้อมูลพื้นฐานของประเทศไทยเปรียบเทียบกับบางประเทศ ในปี พ.ศ.2547

 

ถ้าหากเราดู "งบคุ้มครองทางสังคม" เราจะมีงบประมาณอยู่ในข่ายการให้ความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทยตกประมาณ 11 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือคิดตามหลักสากล โดยดูจากข้อมูลของไอเอ็มเอฟ ซึ่งงบนี้ถ้าคิดเป็นสัดส่วนของจีดีพีจะเป็น 2 เปอร์เซ็นต์ ตัวเลขนี้จะค่อนข้างตรงกับข่าวที่กำลังเกิดขึ้น ที่ทางกองทัพกำลังขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณให้กับกองทัพ ซึ่งกองทัพจะได้งบป้องกันประเทศประมาณ 1-1.58 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี และเขาบอกว่าเขามีแผนที่ต้องให้รัฐบาลเพิ่มงบประมาณไปเรื่อยๆ จนถึง 2 เปอร์เซ็นต์ เพราะฉะนั้นเราก็จะพบว่าการจัดงบให้ความคุ้มครองทางสังคมหรืองบประมาณอะไรต่างๆ มันก็มีงบด้านอื่นๆ ที่จะคอยมาแย่งชิงงบประมาณจากภาครัฐอยู่ และงบประมาณมันก็มีจำกัด

 

ทีนี้ถ้าถามว่างบที่เราจัดสรรในแง่เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะเป็นอย่างไร เราก็ควรจะดูประเทศที่ใกล้เคียงกับเรา ซึ่งวิธีดูี่นี่ นอกจากจะดูรายได้ประชาชาติต่อหัวแล้ว เราจะเห็นว่าประเทศไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัว 2540 เหรียญต่อปีก็จริง แต่ถ้าเทียบในแง่ของอำนาจซื้อ หรือที่เขาเรียกว่า purchasing power clarity มันจะตกประมาณแปดพันกว่าเหรียญ ซึ่งถามว่าถ้ามองในแง่อำนาจซื้อสิ่งของต่างๆ แล้วมีประเทศใดที่ใกล้เคียงกับประเทศไทย ก็จะพบว่ามี บราซิล ตูนิเซีย แล้วก็ตุรกี เพราะฉะนั้น เราต้องข้ามไปดูงบการให้ความคุ้มครองทางสังคมของประเทศเหล่านี้

 

งบการให้ความคุ้มครองทางสังคมของประเทศไทย มันก็มีหลายส่วนที่ส่งตรงไปถึงคนยากจน อย่างเช่น การให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือโครงการสามสิบบาทรักษาทุกโรค ดิฉันทราบมาว่ามีโครงการวิจัยที่เข้าไปประเมินแล้วพบว่าคนจนได้ประโยชน์จากโครงการตรงนี้ค่อนข้างเยอะ ก็เลยดูว่างบการให้ความคุ้มครองทางสังคมมันก็มีส่วนที่จะไปช่วยคนจนด้วย แต่เราจะเห็นว่า ถ้าเทียบกับประเทศที่อยู่ใกล้เคียงกับเรา อย่างบราซิลใช้งบตรงนี้ค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบกับจีดีพี คือประมาณ 12 เปอร์เซ็นต์ ตุรกี 2.6 เปอร์เซ็นต์ ประเทศสวีเดนซึ่งเป็นประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสวัสดิการดีที่สดในโลก ใช้ประมาณ 14.5 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ส่วนของสหรัฐอเมริกาใช้ 5 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นใช้ 8 เปอร์เซ็นต์ เกาหลี 3 เปอร์เซ็นต์ มาเลเซีย 1.4 เปอร์เซ็นต์ อันนี้คือปี 2543 นะคะ มันเป็นการเปรียบเทียบระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นมันเลยต้องย้อนกลับไปนิดนึง

 

เราจะพบภาพว่าการช่วยเหลือคนจนจริงๆ มันมี 2 ลักษณะ ลักษณะหนึ่งคือบอกว่าตั้งกองทุน แล้วก็ให้งบประมาณไปที่กองทุนเหล่านั้น โดยบอกว่าช่วยคนจน แต่จริงๆ ไปไม่ถึงคนจนก็มี ในขณะเดียวกัน มันมีลักษณะอีกลักษณะหนึ่งที่รัฐบาลทั่วไปทำ ก็คือ "การให้ความคุ้มครองทางสังคม" หรือที่เรียกว่า social protection ซึ่งลักษณะของ social protection ก็จะเป็นในลักษณะที่ว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เขามีปัญหา เช่น ว่างงาน เจ็บป่วย ทุพพลภาพ พิการ หรือขาดแคลนที่อยู่อาศัย รัฐก็จะให้ความช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นการให้ความคุ้มครองทางสังคม ถามว่ามันไปถึงคนจนได้ไหม มันก็มีส่วนนะคะ ก็คงจะมีส่วนบ้าง

 

ทีนี้ถามว่าจากการดูข้อมูลเหล่านั้น ดิฉันค่อนข้างจะเห็นว่า ในประเทศไทยปัจจุบันนี้ ถ้าเราดูจำนวนคนจน ดูงบประมาณของประเทศ และดูศักยภาพของประเทศ ดิฉันคิดว่าประเทศไทยก็อาจจะอยู่ในฐานะไม่เหมือนกับเมื่อก่อน เราอยู่ในฐานะที่สามารถที่จะใช้งบประมาณของรัฐกำจัดความยากจนได้แบบที่เรียกว่าทันที ซึ่งการแก้ไขปัญหาความยากจนนี่อาจจะมองว่ามี 2 ลักษณะ ลักษณะหนึ่ง มีนักเศรษฐศาสตร์บางส่วนคิดว่ามันแก้ได้ทันที แก้ได้โดยการโอนทรัพยากกรให้เขาเพียงพอที่จะให้เขาหลุดพ้นจากเส้นความยากจน กับอีกลักษณะหนึ่งก็ึคือว่า พยายามแก้ไขโดยการให้การศึกษา ให้เงินลงทุน ปรับโครงสร้างพื้นฐาน อะไรต่ออะไร เพื่อที่ว่าในระยะยาวแล้ว เขาจะสามารถช่วยตัวเองได้

 

ทีนี้ถามว่า เราควรจะทำแบบไหน ดิฉันก็คิดว่าจริงๆ ควรจะมีการผสมผสานกันทั้งสองแบบ เพราะว่าแบบในการช่วยเหลือระยะยาว เช่น การให้หลักประกันการศึกษา การให้หลักประกันสุขภาพแบบครอบจักรวาล รวมทั้งการจัดหาเงินลงทุนอะไรต่างๆ มันเป็นการช่วยเหลือเพื่อให้เขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในอนาคต แต่ถามว่าในปัจจุบันนี้เราจะไม่คิดแก้ปัญหาความยากจนให้กับคนที่ช่วยตัวเองไม่ได้เลยจริงๆ หรือเปล่า ดิฉันก็คิดว่ามันก็มีแนวคิดเกี่ยวกับนโยบายสาธารณะเพื่อจะช่วยคนจน ซึ่งในทุกประเทศเขาจะมีสวัสดิการเพื่อคนจนด้วย

 

พูดถึง "นโยบายสาธารณะเพื่อคนยากจน" นี่นะคะ จริงๆ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่เป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่เห็นแต่การพัฒนาของทุนนิยมแล้วก็ไม่มีหัวใจ ดิฉันคิดว่าคนมีหัวใจมากที่สุด คือ นายอดัม สมิธ (Adam Smith) ถึงแม้เขาจะเป็นเจ้าพ่อทุนนิยม แต่ว่าอดัม สมิธ เขียนหนังสือชื่อ The Theory of the moral sentiment ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับจริยธรรม-ความรู้สึกทางจริยธรรมของคน หลังจากเขียนหนังสือเรื่อง The theory of the moral sentiment แล้ว อดัม สมิธ ถึงมาเขียนหนังสือชื่อ The wealth of nation แล้วจากการตีความ จากการดูเนื้อความของ The Theory of the moral sentiment และก็ The wealth of nation มีนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากตีความว่า เวลาที่อดม สมิธ พูดถึง "มือที่มองไม่เห็น" เขานึกถึง "จริยธรรม" ที่คนก็มองไม่เห็นด้วย ว่าคนเราที่อยู่ในสังคมควรจะต้องถูกกำกับด้วยจริยธรรม การแสวงหาประโยชน์สูงสุดใส่ตนควรจะถูกกำกับด้วยจริยธรรมของส่วนรวม ไม่ใช่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเพียงอย่างเดียว

 

แนวคิดที่ถัดมา คือ นายจอห์น โรวส์ (John Rawls) ซึ่งเป็นนักปรัชญาที่สำคัญร่วมสมัยในยุคของเราและเ่ิพิ่งเสียชีวิตไปในปี 2002 เขาสอนอยู่ที่ฮาร์เวิร์ด เสนอว่า จริงๆ แล้วถ้าหากว่าสังคมใดต้องการจะช่วยเหลือคนยากจน ควรจะต้องมุ่งไปที่คนที่แย่ที่สุดในสังคมก่อน ไม่ควรจะไปช่วยเหลือในลักษณะครอบจักรวาล เพราะว่าถ้าครอบจักรวาล แน่นอน คุณก็จะมีปัญหาทรัพยากรไม่เพียงพอ ทีนี้ถามว่าทำไมเราถึงควรจะมุ่งไปที่คนที่ทุกข์ยากที่สุดในสังคมก่อน จอห์น โรวส์ บอกว่าถ้าเราคิดจากมุมมองของคนรวยที่เห็นแก่ตัวบางคน เขาก็คงคิดว่าทำไมหรือเรื่องอะไรเขาจะต้องไปช่วยเหลือ แต่ถ้าเราเป็นคนจน เราก็จะคิดว่าเขาควรช่วยเหลือเรา

 

เพราะฉะนั้น เขาก็เลยเสนอว่า กติกาของสังคมไม่ควรจะคิดจากฐานของแต่ละคน แต่กติกาของสังคมควรจะคิดโดยเราต้องจินตนาการว่า ไม่ว่าเราจะเกิดมาเป็นคนจนหรือคนรวย อย่างน้อยเราจะสามารถอยู่ในสังคมได้อย่างไม่เดือดร้อน มีศักดิ์ศรีพอสมควร ซึ่งจอห์น โรวส์เขาคิดว่า ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ตกลงกัน ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน ตกลงว่าเราจะต้องช่วย สิ่งที่สังคมควรจะมองก็คือ ควรจะใช้ทรัพยากรไปที่คนที่ทุกข์ยากที่สุดในสังคม หรืออ่อนแอที่สุดในสังคมก่อน นี่ก็คือหลัก Maxim in ที่อาจารย์ดิเรกพูดถึง

 

จากนั้น ดิฉันขอพูดถึงคำของ นายรามอน แมกไซไซ (Ramon Magsaysay) เนื่องจากว่าดิฉันเห็นอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โค้ดคำพูดของนายรามอน แมกไซไซ ในสุนทรพจน์ที่ท่านได้รับรางวัลแมกไซไซ ประมาณปี ค.ศ.1960 กว่าๆ โดยท่านพูดเอาไว้ว่า "I believe that he who has less in live should have more in law" ก็คือคนที่เกิดมามีน้อย รัฐก็พึงจะหยิบยื่นให้มาก ถ้าเป็นอย่างนั้น เราก็มาดูซิว่า ถ้าเรามีความเห็นร่วมกันในแง่ที่ว่ามันควรจะมีนโยบายสาธารณะเพื่อคนยากจน เราควรจะทำอย่างไรในการใช้งบประมาณของรัฐ

 

ปัจจุบัน ถ้าเราไปดูมูลนิธิต่างๆ ดูจำนวนคนที่ต้องการช่วยเหลือคนจน ดิฉันคิดว่ามีเยอะ มูลนิธิที่ัตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือคนจนก็เยอะ ไม่ใช่ไม่เยอะ แต่ถ้าหากมองในแง่นโยบายของรัฐ เราก็เห็นข้อมูลแล้วว่า รัฐใส่งบประมาณเข้าไป แต่มันไปไม่ถึงคนจนจริงๆ เพราะฉะนั้น ดิฉันก็เลยคิดว่า ถ้าเรามองหรือเราเชื่อในปรัชญาของบุคคลต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว เราก็ควรจะมีมาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือคนจน โดยมาตรการทางการคลังมาตรการแรกที่ควรจะต้องทำก็คือ "ลดช่องว่างของรายได้" เพื่อให้คนจนได้ดำรงชีวิตอยู่โดยไม่ต่ำกว่าเส้นความยากจน เพราะว่าการที่คนจนขาดแคลนรายได้ มันก็นำไปสู่การขาดแคลนในหลายๆ ด้าน ไม่่ว่าจะเป็นเรื่องศักดิ์ศรี เรื่องการศึกษา เรื่องการเข้าถึงบริการต่างๆ ของรัฐ

 

เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการบางอย่างเพื่อที่จะช่วยคนจนในลักษณะนี้ได้ และถ้าใครได้ไปร่วมในงานสัมนาของทีดีอาร์ไอก็จะพบว่า หลายคนเกรงว่าคนจนจะถูกตราหน้า ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือคนจนในลักษณะพุ่งสู่เป้าหมาย แต่ดิฉันว่าเราไม่ควรคิดในลักษณะนั้น ยกตัวอย่าง ถ้าหากเราคิดว่าคนจนก็เหมือนคนที่ตกน้ำ แล้วเขาก็ยังว่ายน้ำไม่เป็น ถ้ามีใครไปช่วยเขา ถามว่าเขาควรจะกลัวไหมว่าคนที่ช่วยจะตราหน้าว่าเขาว่ายน้ำไม่เป็น เขาคงไม่กลัว แต่ถ้าเราช่วยเขามาแล้ว และเราก็หาทางทำให้เขาสามารถว่ายน้ำเป็น ดิฉันคิดว่าน่าจะมองเขาในลักษณะนั้นมากกว่า

 

อีกประเด็นหนึ่งซึ่งดิฉันคิดว่าเราจะต้องดูก็คือ เราจะเริ่มช่วยคนจนในลักษณะการโอนเงินให้เขา หรือแบบ Cash transfer แต่ก็เกรงว่าจะใช้งบประมาณเยอะ ดิฉันจำได้ว่า หนังสือพิมพ์ลงว่าจะต้องใช้งบในลักษณะของเงินเป็นจำนวนหลายแสนล้าน แต่นั่นเป็นการให้สวัสดิการเทียบเท่ากับประเทศต่างๆ ในแถบสแกนดิเนเวีย ซึ่งจริงๆ ประเทศไทยไม่จำเป็นต้องทำอย่างนั้น แต่ถ้าหากเราประเมินความสามารถทางด้านงบประมาณ โดยใช้ข้อมูลในปี 2547 คำนวณ คือคนจน 7 ล้านคนไม่มีรายได้เลย รัฐบาลจะใช้เงินประมาณ 105,000 ล้าน จึงจะช่วยให้พวกเขาหลุดจากความยากจน แต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ได้มีรายได้เป็นศูนย์ เพราะฉะนั้นเราก็จะใช้งบประมาณไม่ถึงหนึ่งแสนห้าพันล้านนะคะ

 

การช่วยในลักษณะนี้ควรจะมีลักษณะพุ่งสู่เป้าหมาย ในกรณีที่คนยากจนเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ การโอนเงินให้เขา หรือการให้ความช่วยเหลือแก่เขา ก็ไม่น่าจะมีเงื่อนไขอะไร เพราะว่าหลายประเทศ เวลาที่โอนเงินให้กับคนเหล่านี้ก็จะไม่มีเงื่อนไข (Unconditional cash transfer) แต่ถ้าหากว่าเป็นคนที่ทำงานได้ ก็อาจจะมีเงื่อนไขบางอย่าง เช่น จะต้องพาลูกไปเข้ารับการศึกษา พาลูกไปฉีดวัคซีน อะไรต่ออะไร เขาก็มีเงื่อนไข แต่เราควรจะเข้าไปศึกษามาตรการเหล่านี้แล้วดูว่าควรจะใช้มาตรการอย่างไรหรืออะไรกับประเทศเรา

 

สำหรับคนยากจนที่ทำงานได้ การโอนเงินให้เขาเฉยๆ อาจจะทำให้เขามีความรู้สึกว่าเขาไม่ค่อยศักดิ์ศรี และเขาอาจจะเกิดความรู้สึกในลักษณะที่เรียกว่า "ถูกสังคมตราหน้า" ได้ เพราะฉะนั้น รัฐบาลควรจะมีมาตรการจ้างงานคนยากจนที่ทำงานได้

 

ในประเทศอินเดียซึ่งมีคนยากจนประมวลออกมาแล้วประมาณ 300 ล้านคน รัฐบาลอินเดียออกกฎหมายที่เรียกว่า National Rural Employment Guarantee Act ออกมา มีมาตรการประกันการทำงาน 100 วัน อย่างต่ำที่สุดให้กับคนมีรายได้น้อยหรือคนยากจนที่ต้องการทำงาน เพราะฉะนั้น เขามีคนยากจนมากกว่าเรา รายได้ต่อหัวเขาก็น้อยกว่าเรา แต่เขาก็ยังสามารถจะมีมาตรการเหล่านั้นไ้ด้ อันนี้ก็แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเขา

 

ทีนี้พูดถึงคนพิการ ถามว่าประเทศไทยมีคนพิการเท่าไหร่ ก็ประมาณ 1.1 ล้านคน และเป็นคนพิการประเภทต่างๆ ซึ่งบางประเภทสามารถช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ก็ควรจะหางานให้เขาทำ หรือฝึกอาชีพ เขาจะได้มีงานทำ ภาครัฐอาจจะมีโครงการจ้างงานเขา ส่วนคนพิการที่ยากจนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ดิฉันก็คิดว่าคงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องช่วยเขา อย่างน้อยต้องให้เขาได้รับปัจจัยสี่ในการดำรงชีวิต

 

มาตรการทางการคลังเพื่อช่วยเหลือคนยากจนประการที่สอง คือ "จัดให้มีการประกันสังคม" ซึ่งอันนี้ประเทศไทยก็มีอยู่บ้างแล้ว เช่น หลักประกันทางการศึกษา หลักประกันด้านสุขภาพ ซึ่งตรงนี้ระบุไว้ใน รธน.แล้วตั้งแต่ รธน.ปี 40 เพียงแต่ว่ารัฐบาลทำได้มากน้อยแค่ไหน อันนี้ก็คงจะต้องติดตามดู

 

มาตรการอันที่สามที่ดิฉันคิดว่าค่อนข้างสำคัญ คือ เราต้องมี "มาตรการสร้างโอกาสให้คนยากจนสามารถพึ่งตนเอง" โดยถ้าเราดูปัญหาหลักของคนจนที่ลงทะเบียนกับศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติที่ทำในสมัยรัฐบาลพรรคไทยรักไทย คนยากจนที่มาลงทะเบียนอาจจะไม่ได้ยากจนตามนิยามรายได้ที่เราพูด แต่ที่เขาระุบุว่าเขายากจนก็เพราะมีปัญหาหนี้สิน ปัญหาที่ดิน ปัญหาที่อยู่อาศัย ปัญหาอื่นๆ ซึ่งเราจะพบว่าจากที่ดูข้อมูลเหล่านี้แล้ว มันก็คือ "ปััญหาปัจจัยการผลิต" "ปัญหาหนี้สิน" เขาไม่มีเงินทุนจะไปประกอบอาชีพ  "ปัญหาที่ดิน" ก็คือเขาไม่มีที่ดินในการที่จะดำเนินการผลิต ดิฉันคิดว่าคนยากจนที่มีปัญหาด้านปัจจัยการผลิต คือ แรงงานไม่มีคุณภาพ มีปัญหาที่ดิน ไม่มีเงินทุน เพราะฉะนั้น ดิฉันคิดว่าในระยะสั้น ก็จำเป็นที่จะต้องช่วยให้เขาลดช่องว่างของรายได้ ช่วยให้เขาพ้นจากสภาพที่เขาเรียกว่า "ที่ไร้ก็ไร้สิ้น" คือไม่มีอะไรเลยจริงๆ เราก็คงต้องช่วยเขา

 

เรื่องงบประมาณที่ช่วย ถ้าหากว่าเรามุ่งเน้นสู่เป้าหมาย ดิฉันคิดว่ามันไม่มาก แล้วถามว่าใครเป็นคนทำ ดิฉันก็คิดว่าคนที่จะจัดการเรื่องนี้ได้ดี น่าจะเป็น "รัฐบาลท้องถิ่น" แต่ว่างบประมาณนี่ควรจะมาจากรัฐบาลส่วนกลาง เพราะว่าคนท้องถิ่นหรือว่าองค์กรส่วนท้องถิ่นหรือผู้ใหญ่บ้าน จะรู้จักคนในหมู่บ้านดีกว่าคนจากส่วนกลาง แต่ว่าคงจะต้องมีการตรวจเช็ค เพราะฉะนั้นเหล่านี้ก็เป็นข้อเสนอหลักๆ ของดิฉันค่ะ"

 

 


 

 

*ตารางทั้งหมดเป็นข้อมูลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ*

(คำนวณโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคม)

 

 

 


รายงานอื่นๆ ที่น่าสนใจ :

นฤมล นิราทร : แล้ว "คนจน" ก็จะ "จน" ต่อไป ?

วัชรียา โตสงวน: คนส่วนใหญ่ไร้สวัสดิการ! ไม่ใช่เรื่องต้อง"ช่วยเหลือ"แต่คือความบกพร่องที่ต้อง"แก้ไข"

กิริยา กุลกลการ : ทำไมไม่กระจายอำนาจ ให้ท้องถิ่นดูแล "แรงงานข้ามชาติ"

มัทนา พนานิรามัย : สังคมจะเตรียมตัวอย่างไรให้ผู้สูงอายุสามารถอยู่ได้อย่างมี "คุณภาพ" ?

ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ : แรงงานนอกระบบก็มีบำนาญได้ : แนวทางสวัสดิการ "การออมพันธมิตร" รัฐ+ชุมชน

นภาพร อติวานิชพงศ์ : ชุมชนแรงงานเป็นโต้โผ แล้วรัฐสนับสนุน - ทางออกการจัดการสวัสดิการสังคม

 

 

ชมเทปบันทึกงาน เสวนา "ความยากจน แรงงาน และสวัสดิการ: โจทย์สำหรับรัฐและชุมชน"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท