Skip to main content
sharethis


เมธา มาสขา

Felix Mago


 


 


ชื่อบทความเดิม : Re-Election in Lumpang Province


 


 


 


เมื่อวันที่ 19-20 มกราคมที่ผ่านมา ผู้แทนเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี(Anfrel) นำโดย นายเมธา มาสขาว และ Mr. Felix Mago จากประเทศเยอรมัน ได้เดินทางไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อมที่ จังหวัดลำปาง เขต 1  ซึ่ง นายธนาธร โล่ห์สุนทร ผู้สมัครพรรคพลังประชาชนได้รับใบเหลืองจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ในการเลือกตั้งใหญ่เมื่อ 23 ธันวาคม ปีที่ผ่านมา


 


จังหวัดลำปาง มีประชากร 776,826 คน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งสิ้น 594,242 คน แบ่งเป็น 2 เขตการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เขต 1 สามารถเลือกได้ 3 คน และเขต 2 เลือกได้ 2 คน ; ในเขต 1 จ.ลำปาง ประกอบไปด้วย 6 อำเภอใหญ่ คือ อ.เมือง, อ.งาว, อ.แจ้ห่ม, อ.วังเหนือ, อ.ห้างฉัตร และ อ.เมืองปาน มีผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 335,241 คน มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งสิ้น 30 คน จาก 10 พรรคการเมือง ในการเลือกตั้งทั่วไปวันที่ 23 ธันวาคมปีที่ผ่านมา 


 


ผลปรากฏว่า ผู้สมัครจากพรรคพลังประชาชนทั้ง 3 คน ได้แก่ นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เบอร์ 4, นายธนาธร โล่ห์สุนทร เบอร์ 5 และนายวาสิต พยัคฆบุตร เบอร์ 6 ได้รับการเลือกตั้ง โดยได้รับคะแนนเสียง 147,313  126,194 และ 92,150 คะแนนเสียงตามลำดับ จากผู้มาแสดงตนขอใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งสิ้น 474,010 คน ซึ่งคิดเป็น 82.83 เปอร์เซ็นต์ ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมด และคิดเป็นอันดับ 8 ของประเทศที่มีผู้มาใช้สิทธิสูงสุด


 


คณะผู้แทนฯ ได้เข้าพบ นายนิรันดร์ คำเสมานันทน์ ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำปาง และ นายสรสงค์ ดวงเบี้ย หัวหน้างานจัดการเลือกตั้ง สำนักงาน กกต.จังหวัดลำปาง เพื่อรับทราบข้อมูลการให้ใบเหลืองแก่นายธนาธร โล่ห์สุนทร ผู้สมัครเบอร์ 5 ของพรรคพลังประชาชน ซึ่งเรื่องดังกล่าว เจ้าหน้าที่พนักงานสืบสวน ได้สรุปสำนวนการร้องเรียนจากประชาชน 3 เรื่องที่มีมูลเหตุข้อเท็จจริง ส่งให้ กกต.กลาง วินิจฉัย จากทั้งหมด 7 เรื่องที่มีการร้องเรียน  อันเป็นมูลเหตุแห่งการให้ใบเหลืองจาก กกต.กลาง  ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับการทุจริตการเลือกตั้งตามกฎหมายการเลือกตั้งบางประเด็น โดยเฉพาะการร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้เงินซื้อเสียงโดยบุคคลอื่น, การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐราชการเกี่ยวข้องกับการหาเสียงหรือช่วยผู้สมัคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เจ้าหน้าที่ของรัฐในองค์การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นประจำตำบล (อบต.) ในบางพื้นที่


 


อย่างไรก็ตาม ภายหลังการให้ใบเหลืองเพื่อเลือกตั้งใหม่ในพื้นที่เขต 1 ไม่มีสถานการณ์ความขัดแย้งหรือความรุนแรงเท่าใดนัก ไม่มีการชุมนุมประท้วง การคุกคามหรือการข่มขู่เจ้าหน้าที่ กกต.จังหวัดแต่ประการใด ขณะเดียวกัน พยานบุคคลหรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องก็ได้รับการคุ้มครองปกปิดเช่นเดียวกัน


 


หลังจากนั้น คณะผู้แทนฯ ทั้งสองได้เข้าพบพูดคุยกับ พ.ต.อ.อุดม พรหมสุรินทร์  รอง ผบก.(ป.) ภ.จ.ลำปาง  และ พ.ต.อ.วีระวุธ ชัยชนะมงคล  ผกก.ฝ่ายอำนวยการ ภ.จ.ลำปาง ซึ่งรับผิดชอบดูแลการเลือกตั้ง ซึ่งในครั้งนี้ ทางกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจจากท้องที่ต่างๆ ลงประจำทุกหน่วยการเลือกตั้งครบทุกหน่วยๆ ละ 1 นาย  เพื่อรักษาความปลอดภัยในการเลือกตั้งครั้งนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 696 หน่วย  ทั้งนี้


 


บรรยากาศการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ไม่มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ใดที่น่าวิตกเกี่ยวกับทุจริตการเลือกตั้งหรือปัญหาความปลอดภัย เนื่องเพราะสภาพวัฒนธรรมในพื้นที่เอง รวมถึงการแข่งขันของผู้สมัครที่เหลืออยู่ หลังจากที่ กกต.กลาง รับรองไป 2 คน ไม่มีการขับเคี่ยว แข่งขันกันอย่างรุนแรง สืบเนื่องจากผู้สมัครส่วนใหญ่มีความคุ้นเคยกัน แม้จะต่างพรรคแต่ก็เป็นคนพื้นที่เดิมที่เคยร่วมงานกันมาก่อน หรือบางคนเคยอยู่พรรคเดียวกันมาก่อน ขณะเดียวกัน อิทธิพลในพื้นที่หรือฐานคะแนนเสียงมวลชนค่อนข้างตายตัวและชัดเจนในพื้นที่ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นที่คาดคะเนได้และยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก


 


ทั้งนี้ พื้นที่ฐานมวลชนส่วนใหญ่ เป็นของนายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จ.ลำปางเดิม ซึ่งเป็น 1 ใน 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยที่โดยตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี ในครั้งนี้ จึงส่งบุตรชายลงเลือกตั้งแทน 2 คน และได้รับการเลือกตั้งทั้ง 2 คนในการเลือกตั้งเดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน เลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ มีผู้สมัครที่คาดว่ามีโอกาส 3 คนสำคัญของจังหวัด จาก 3 พรรค ที่ต้องการขับเคี่ยวกันเป็นผู้แทนฯ  คือ เบอร์ 5 นายธนาธร โลห์สุนทร จากพรรคพลังประชาชน  เบอร์ 7 นายมัธยม นิภาเกษม จากพรรคประชาธิปัตย์ และเบอร์ 10 นายจินดา วงศ์สวัสดิ์ จากพรรคชาติไทย


 


อย่างไรก็ตาม บทบาทกลุ่มข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งบางพื้นที่เคยเป็นฐานสนับสนุนผู้สมัครบางราย ไม่ได้มีการแสดงออกอย่างชัดเจนมากนักในครั้งนี้  และความตื่นตัวของประชาชนมีน้อยเนื่องจากเป็นเพียงการเลือกตั้งซ่อม เลือกเพียง 1 คนเท่านั้น และฐานคะแนนเสียงก็มีความชัดเจน  ไม่เหมือนช่วงการประชามติรัฐธรรมนูญ หรือการเลือกตั้งทั่วไปที่ผ่านมา ซึ่งจะมีความตื่นตัว แข่งขันกันสูง ตลอดจนมีทหารไปประจำเกือบทุกหน่วยการเลือกตั้ง


 


ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ผู้แทนฯ ได้เดินทางไปสังเกตการณ์การเลือกตั้งซ่อม ใน 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แจ้ห่ม และ อ.เมืองปาน รวม 14 หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในวัด หรือโรงเรียน สถานศึกษาเด็กเล็ก หรือสถานที่ราชการอื่นๆ บางหน่วยในเมือง ตั้งอยู่ใต้ธนาคารของเอกชน ในแต่ละหน่วยจะมีเจ้าหน้าที่รวมทั้งสิ้น 12 คน 9 คน จะเป็นเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยที่ กกต.เขต เลือกมาทำหน้าที่ และ อีก 3 คน คือ ผู้อำนวยการหน่วย 1 คน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นครูโรงเรียนในท้องถิ่น และเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอีก 2 คน ซึ่งคือ ผู้ใหญ่บ้าน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ (บางพื้นที่เป็นกำนันแทนผู้ใหญ่บ้าน) ทั้ง 12 คน เข้าออกในคูหาได้ตามปกติ แม้ว่าในทางสากลทั่วไป หรือในบางประเทศควรห้ามผู้ใหญ่บ้านซึ่งอาจเป็นหัวคะแนนสำคัญของผู้สมัครฯ นักการเมืองหรือพรรคการเมือง เข้าไปในคูหาก็ตาม แต่ในอนาคตอาจมีการปรับเปลี่ยนมาตรฐานนี้


 


จากการสังเกตการณ์พบว่า ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ มีผู้มาลงคะแนนบางตา และน้อยกว่าการเลือกตั้งทั่วไป โดยส่วนใหญ่ในหลายหน่วยเลือกตั้ง มีผู้มาแสดงตนใช้สิทธิประมาณกึ่งหนึ่งเท่านั้น ประชาชนส่วนใหญ่ไม่รู้ข่าว เพราะการประชาสัมพันธ์มีน้อย และบางหมู่บ้านไม่มีประกาศเสียงตามสาย ผอ.หน่วยเลือกตั้งบางหน่วยให้ความเห็นว่า อาจจะเป็นเพราะการประชาสัมพันธ์ที่ผ่านมา เน้นการประชุมที่อำเภอ/เขต ไม่ค่อยได้ลงมาพื้นที่เพื่อประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง นอกจากการแจ้งผ่านสายการปกครอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือครู และในครั้งนี้เอง ทาง กกต.จังหวัดทุกจังหวัด ไม่มีการทำหนังสือแจ้งเตือนไปตามเลขที่บ้านเพื่ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเหมือนการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว และที่สำคัญ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนหนึ่งที่ไปทำงานนอกบ้าน นอกเขต ต่างจังหวัดหรือกรุงเทพฯ ไม่ได้กลับมาใช้สิทธิ์เลือกตั้งซ่อมเกือบทั้งหมด


 


ทั้งนี้ ในการเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ ไม่มีตัวแทนพรรคการเมืองและอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากส่วนกลาง หรือ อาสาสมัครนักศึกษา หรือเจ้าหน้าที่จาก กกต.กลาง  มาสังเกตการณ์การเลือกเหมือนครั้งที่ผ่านมาแต่อย่างใด ทำให้การตรวจสอบปัญหาการทุจริตหรือการกระทำผิดกฎหมายอาจจะทำได้ง่ายขึ้นหากมีการขายเสียง ซื้อยกหน่วย หรือการจงใจนับคะแนนผิดจากบัตรเลือกตั้งก็ตาม


 


หลังการเลือกตั้งเสร็จสิ้น แต่ละหน่วยได้ทำการนับคะแนนและรวบรวมส่งไปที่สำนักงาน กกต.อำเภอ เพื่อนำส่ง กกต.จังหวัดต่อไปในวันเดียวกัน ทั้งนี้ ผลที่ออกมาปรากฏว่า ประชาชนออกมาใช้สิทธิ์ประมาณ 65 เปอร์เซ็นต์ ส่วนผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการ ผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นว่าที่ ส.ส. ยังคงเป็นคนเดิมที่ได้คะแนนสูงสุด คือ นายธนาธร โล่ห์สุนทร (เบอร์ 5) จากพรรคพลังประชาชน ได้คะแนนมากถึง 103,430 คะแนน ขณะที่นายมัธยม นิภาเกษม (เบอร์ 7) จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้คะแนน 54,357 คะแนน ซึ่งลดลงอย่างมาก ขณะที่นายจินดา วงศ์สวัสดิ์ (เบอร์ 10) จากพรรคชาติไทย ได้คะแนน 24,950 คะแนน
         


ทั้งนี้ โดยเฉลี่ยนอกจากบัตรดีแล้ว มีบัตรไม่ประสงค์ลงคะแนนเสียง บัตรเสีย บัตรเปล่า เรียงลำดับจากมากไปหาน้อย บัตรเสียส่วนใหญ่ มาจากการกา 3 เบอร์เหมือนการเลือกตั้งใหญ่ที่เลือกได้ 3 คน หรือ กาให้เบอร์ของผู้ที่ กกต.ประกาศรับรองแล้ว หรือ กาผิดหมายเลขที่มีอยู่ และการนับคะแนนของแต่หน่วยเองมีชาวบ้านมาสังเกตการณ์ค่อนข้างน้อย  และไม่มีตัวแทนพรรคการเมือง


 


สรุป. ข้อเสนอหลังการสังเกตการณ์ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ควรจัดให้มีการประชาสัมพันธ์ทั่วไปที่ชัดเจน ทั่วถึง และการมีส่วนร่วมจากประชาชน  หน่วยการเลือกตั้งทุกหน่วยควรสร้างมาตรฐานเดียวกันในอนาคตในการจัดการเลือกตั้งทั่วไป  เพื่อการเลือกตั้งในทางตรงและลับที่มีประสิทธิภาพขาดการแทรกแซงจากผู้สมัครหรือหัวคะแนนนักการเมือง  การตรวจสอบปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งควรมีความยุติธรรม มีการคุ้มครองพยานหลักฐานที่ดีและมีมาตรฐานในการลงโทษตามกฎหมาย รวมถึงควรให้มีศาลเลือกตั้งในอนาคตด้วยเพื่อใช้อำนาจของศาลในการให้ใบเหลืองใบแดงกรณีทุจริต   และสุดท้าย ควรจัดให้มีอาสาสมัครสังเกตการณ์การเลือกตั้งจากส่วนกลางทุกครั้งเพื่อป้องกันการทุจริตการเลือกตั้ง .


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net