Skip to main content
sharethis

เนื่องในวันสตรีสากล องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องให้รัฐบาล และผู้บริหารโรงเรียนและครูทั่วโลกปฏิบัติการยุติความรุนแรงต่อเด็กหญิง โดยเฉพาะเด็กนักเรียนหญิงในโรงเรียนอย่างจริงจังตามรายงานฉบับล่าสุดของแอมเนสตี้ฯที่เผยแพร่ทั่วโลกวันนี้


 


"รัฐบาลในหลายประเทศล้มเหลวที่จะคุ้มครองเด็กหญิงแม้ในระดับพื้นฐาน พวกเขาล้มเหลวที่จะบอกแก่สาธารณะว่าความรุนแรงต่อเด็กหญิงในโรงเรียนเป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้" วิดนีย์ บราวน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ของแอมเนสตี้ฯกล่าว


 


"โดยแก่นแท้แล้วรัฐบาลทุกประเทศต่างอ้างว่าตนเกลียดชังความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง โรงเรียนเป็นสถานที่ที่รัฐบาลมีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง และสามารถพิสูจน์คำพูดของตนเองได้โดยการลงมือปฏบัติอย่างจริงจัง"


 


รายงาน "โรงเรียนปลอดภัย: สิทธิของเด็กหญิง" ชี้ให้เห็นว่าทำไมความรุนแรงทั้งในและรอบๆสถานศึกษายังคงมีอยู่อย่างแพร่หลาย ไม่ว่าในประเทศแม็กซิโก จีน หรือประเทศใดเด็กหญิงยังคงเสี่ยงต่อการถูกละเมิดและคุกคามทางเพศระหว่างเดินทางไปโรงเรียน หรือขณะอยู่ภายในรั้วโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง


 


เด็กหญิงบางคนพบเจอความรุนแรงมากกว่าใครเพื่อน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหญิงที่เป็นชนกลุ่มน้อย เลสเบี้ยน หรือเด็กหญิงพิการ


 


ในรั้วโรงเรียนเด็กหญิงจำนวนมากเผชิญความรุนแรงทางกายภาพ ถูกกลั่นแกล้งหรือดูถูกเหยียดหยาม บางคนถูกเฆี่ยนตีภายใต้กฎระเบียบข้อบังคับ  เด็กหญิงบางคนถูกคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศโดยเพื่อนนักเรียน หรือถูกยื่นข้อเสนอให้มีเซ็กซ์กับครูเพื่อแลกกับคะแนนสูงๆ และแม้แต่ถูกข่มขืนในห้องพักเจ้าหน้าที่


 


จากการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับนักเรียนหญิงในประเทศมาลาวิ (ในทวีปแอฟริกา)ในปี 2549 พบว่านักเรียนหญิงกว่า 50 เปอร์เซ็นต์เคยถูกแตะเนื้อต้องตัวโดย "ไม่ได้รับอนุญาต" โดยครูหรือเพื่อนนักเรียนชาย


 


เช่นเดียวกันในประเทศอเมริกาพบว่า 83 เปอร์เซ็นต์ของเด็กหญิงที่เรียนอยู่เกรด 8-11 (อายุประมาณ 12-16 ปี)ในโรงเรียนของรัฐ เคยมีประสบการณ์ถูกคุกคามทางเพศ


 


การทำร้ายเด็กหญิงในโรงเรียนส่งผลกระทบต่อเด็กในทันทีและระยะยาว ไม่เพียงแต่ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของเด็กหญิง แต่ภายใต้บริบทของการศึกษา ความรุนแรงอาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กหญิงต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน และหมดหวังที่จะหลุดพ้นจากความยากจนและกระบวนการทำให้เป็นชายขอบทางการเมือง


 


"การสร้างหลักประกันว่าเด็กหญิงสามารถเข้าถึงการศึกษาได้เป็นกุญแจดอกสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้หญิง การถูกปฏิเสธให้เข้าถึงการศึกษาส่งผลต่อผู้หญิงไปตลอดชีวิต" บราวน์กล่าว


 


บ่อยครั้งที่ท่าทีการปฏิบัติทางเพศที่ก้าวร้าวหรือไม่เหมาะสมของนักเรียนชายในโรงเรียนถูกมองเป็นเพียงแค่ "เด็กผู้ชายก็เป็นแบบนี้แหละ" พฤติกรรมดังกล่าวจึงมักไม่ถูกรายงานหรือลงโทษ ส่งผลให้สังคมมองความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเป็นสิ่งที่พึงยอมรับได้และความก้าวร้าวของเพศชายเป็น เรื่องปกติ


 


ยกตัวอย่างเช่น แอมเนสตี้ฯได้มีโอกาสสัมภาษณ์ผู้คนทั่วไปในประเทศไฮดิ พวกเขาเห็นพ้องกันว่าความรุนแรงมีอยู่อย่างแพร่หลายในโรงเรียนแต่มักไม่ถูกรายงาน การลงโทษทางกายของผู้กระทำผิด การเฆี่ยนด้วยไม้ การตีด้วยสายไฟ การบังคับเด็กให้คุกเข่ากลางแดดร้อน การสั่งงดอาหาร การละเมิดทางเพศ การกลั่นแกล้งและทำร้ายทางจิตใจของเด็กผู้หญิงล้วนกระทำโดยครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียน


 


โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ความขัดแย้งมีความเสี่ยงที่นักเรียนจะตกเป็นอันตรายถึงชีวิต การเรียนการสอนยังถูกรบกวนในหลายๆกรณีที่โรงเรียน ครูและนักเรียนตกเป็นเป้าหมายจู่โจมของความรุนแรงที่ใช้อาวุธ ในประเทศอัฟกานิสถาน การเผาโรงเรียนโดยเฉพาะโรงเรียนหญิงล้วนและการคุกคามหรือล่วงละเมิดเด็กหญิงที่เรียนหนังสือได้เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นเรื่องปกติในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  ในประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการระบุในเดือนธันวาคม 2549 ว่า มีครูถูกสังหาร 71 คน และโรงเรียน 130 แห่งถูกเผาในช่วงสามปีที่ผ่านมา ครูอย่างน้อย 112 คนได้รับบาดเจ็บ นักเรียนเสียชีวิต 16 คนและอีก 58 คนได้รับบาดเจ็บในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในช่วงเวลาดังกล่าว



ถึงแม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศกำหนดให้การศึกษาระดับประถมไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ แต่โรงเรียนหลายแห่งยังคงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ปกครอง การต้องจ่ายค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายอื่นๆเป็นอุปสรรคสำหรับเด็กเป็นจำนวนมากอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเด็กหญิงมีโอกาสที่จะไม่ได้เรียนหนังสือสูงกว่าเด็กผู้ชายในกรณีที่ครอบครัวมีฐานะยากจน


 


ดังนั้นแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลจึงเรียกร้องให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ รวมทั้งครูและเจ้าหน้าที่ในโรงเรียนปฏิบัติตามแผน 6 ขั้นตอน โดยมีใจความหลักได้แก่


·                     กำหนดและบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย หรือมาตรการที่เหมาะสมในการป้องกันการใช้ความรุนแรงต่อเด็กหญิงทุกรูปแบบ รวมทั้ง การลงโทษทางกายของผู้กระทำผิด การใช้คำพูดด่าทอ การทำให้อับอาย การกระทำรุนแรงทางกายภาพ การใช้ความรุนแรงต่อร่างกาย การรบกวนสภาพอารมณ์ การเอาเปรียบและการใช้ความรุนแรงทางเพศ


·                     จัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยสำหรับเด็กหญิง  อันประกอบด้วยแนวปฏิบัติสำหรับโรงเรียน การอบรมภาคบังคับสำหรับครูและนักเรียน


·                     ครู หน่วยงานการศึกษา  และเจ้าหน้าที่รัฐต้องตอบสนองต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นอย่างทันท่วงทีและสร้างหลักประกันว่ามีกลไกติดตามโดยพร้อมหากเกิดความรุนแรงขึ้น สิ่งเหล่านี้ต้องรวมถึง การสอบสวนอย่างมีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการนำผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีทางอาญาตามความเหมาะสม และมีบริการให้ความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการรักษาทางการแพทย์สำหรับเหยื่อหรือผู้รอดพ้นจากความรุนแรง


 


ท้ายสุดแอมเนสตี้ฯเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกที่ทำงานเพื่อมุ่งให้เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (the 2000 Millennium Development Goals)ที่กำหนดโดยสหประชาชาติบรรลุให้ตระหนักเกี่ยวกับความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติต่อเด็กหญิง   แม้เป้าหมายของMDGซึ่งมุ่งที่จะขจัดความยากจน รวมทั้งกำหนดให้การศึกษาระดับมัธยมเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานทั่วโลก และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศนั้น ในความเป็นจริงตัวชี้วัดที่ระบุไว้ใน MDG กลับมองเพียงตัวเลขของเด็กหญิงในชั้นเรียนโดยไม่กล่าวถึงความรุนแรงและการเลือกปฏิบัติซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักให้เด็กหญิงต้องออกจากโรงเรียน


 


"ในขณะที่แอมเนสตี้ฯสนับสนุนความพยายามให้บรรลุซึ่งเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDG) แอมเนสตี้ฯเชื่อมั่นว่าการที่จะให้ได้มาซึ่งความเสมอภาคทางเพศในด้านการศึกษาจำเป็นต้องสร้างความมุ่งมั่นและความพยายามอย่างมากที่จะยุติความรุนแรงต่อเด็กนักเรียนหญิง มันเป็นการยากที่พวกเขาต้องมาเรียนหนังสือหาก เขาเหล่านั้นต้องทุกข์ทรมานกับความรุนแรงที่ต้องเผชิญในโรงเรียนทุกวัน" วิทนีย์ บราวน์กล่าว


นับตั้งแต่นี้จนถึงปลายปี 2553 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลวางเป้าหมายว่าอย่างน้อยโรงเรียน 600 แห่งทั่วโลกจะประกาศตนเองเป็นโรงเรียนปลอดภัยสำหรับเด็กหญิง สำหรับในประเทศไทย องค์การแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทยและองค์กรภาคี ได้แก่ มูลนิธิเพื่อนหญิง สถาบันส่งเสริมสถานภาพสตรี องค์การพัฒนาเอกชนอื่นๆ และหน่วยงานรัฐที่ทำงานด้านเด็ก สตรี และการศึกษาร่วมทำโครงการโดยใช้ชื่อว่า "โครงการโรงเรียนน่าอยู่เพื่อหนูปลอดภัย" โรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมโครงการสามารถติดต่อขอทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ องค์การแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย 641/8 วราเพลส ลาดพร้าว ซอย 5 ถนนลาดพร้าว จตุจักร กรุงเทพฯ 10900 โทร 02-938-7746 หรืออีเมล์ info@amnesty.or.th; campaign@amnesty.or.th

เอกสารประกอบ

รายงานโรงเรียนปลอดภัยสิทธิสำหรับเด็กหญิง

รายงานระดับโลกเรื่องโรงเรียนปลอดภัยสิทธิสำหรับเด็กหญิง

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net