Skip to main content
sharethis

ศาลให้ประกันตัวโดยไม่กำหนดเงื่อนไขประกันอื่นๆ เพิ่มเติม หลังพิพากษาจำคุก 'แอมมี่' 4 ปี 'ปูน' 1 ปี คดี 112 – พ.ร.บ.คอมฯ เหตุวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม ชี้ลดคุณค่ากษัตริย์ ด้านเจ้าตัวชี้เป็นสัญญาณที่ดี ขอให้เพื่อนในคุก ได้ประกันตัว สู่อิสรภาพเช่นกัน 

27 พ.ค.2567 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 พ.ค.67) เวลา 16.30 น. ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน แอมมี่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ แอมมี่ The Bottomblues และ ธนพัฒน์ กาเพ็ง หรือ ปูน ระหว่างอุทธรณ์ ภายหลังศาลมีคำพิพากษาคดี ม.112 กรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ด้านหน้าเรือนจำกลางคลองเปรมเมื่อเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 โดยศาลมีคำสั่งจำคุก ไชยอมร รวม 4 ปี และธนพัฒน์ รวม 1 ปี ไม่รอลงอาญา

ในวันนี้ศาลอาญาไม่ได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง โดยให้วางเงินประกันสำหรับปูนจำนวน 50,000 บาท และสำหรับแอมมี่จำนวน 200,000 บาท โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขประกันอื่นๆ เพิ่มเติม

ต่อมา เวลา 17.24 น. ไชยอมร กล่าวภายหลังได้รับการประกันตัวว่า วันนี้ตนรู้สึกดีใจและหวังว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีให้กับเพื่อนที่ยังไม่รับอิสรภาพ หวังว่าจะเป็นสัญญาณที่ดีและวันนี้ตนขอขอบคุณ ถือว่าวันนี้เราโชคดีและหวังว่าคนอื่นก็จะได้รับสิ่งที่ดีเหมือนกัน เพราะรางวัลใหญ่ที่สุดก็คืออิสรภาพ สำหรับทุกคนที่ยังอยู่ในเรือนจำ

เมื่อถามว่าวันนี้ "ทานตะวัน ตัวตุลานนท์" ก็ได้รับการประกันตัวด้วย แอมมี่ มีความรู้อย่างไรนั้น ไชยอมร กล่าวว่า ขอให้อิสรภาพและความปลื้มปิติในวันนี้ มอบให้แด่ผู้วายชนม์ "ลุงกฤต ธนกฤต สุขสมวงศ์"  "บุ้ง เนติพร" และ "วาฤทธิ์ สมน้อย"

เมื่อถามว่าจะสู้คดีต่อหรือไม่ ธนพัฒน์ ตอบว่า เรื่องคดีตอนนี้ทนายความก็จะจัดการต่อ เพราะศาลให้การอุทธรณ์ต่อคดีต่อประมาณ 1 เดือน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่าภายหลังจากได้รับการประกันตัว ประชาชนที่เดินทางมาให้กำลังใจ แอมมี่-ปูน ได้มอบดอกทานตะวัน และถุงผ้าที่ระลึกงานฌาปนกิจศพ "บุ้ง ทะลุวัง" เพื่อเป็นกำลังใจด้วย

สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานไว้ด้วยว่า คดีนี้ เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2564 ไชยอมรถูกจับกุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บริเวณที่พักแห่งหนึ่งในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเป็นการจับกุมตามหมายจับของศาลอาญาที่ 429/2564 ลงวันที่ 2 มี.ค. 2564 เจ้าหน้าที่กล่าวหาว่า ไชยอมรได้กระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงฯ ไชยอมรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังถูกนำตัวไปขอฝากขัง ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน ทำให้เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 69 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวออกมาต่อสู้คดี

ส่วนธนพัฒน์ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนร่วมในเหตุการณ์นี้ด้วย เจ้าหน้าที่ได้ออกหมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.ประชาชื่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ก่อนจะได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยในชั้นศาล ทนายความได้ยื่นคำร้องขอให้โอนย้ายคดีไปที่ศาลเยาวชนฯ เนื่องจากเขาเพิ่งอายุ 18 ปี 9 วันในวันที่เกิดเหตุ แต่ศาลได้ยกคำร้องโดยอ้างเหตุว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยพ้นเกณฑ์เยาวชนตามกฎหมายแล้ว รวมถึงจำเลยมีสภาพร่างกาย สภาพจิต สติปัญญาและนิสัย ปกติสมบูรณ์สมวัย

ต่อมา ศาลได้มีคำสั่งให้รวมการพิจารณาคดีทั้งสองเข้าด้วยกัน ก่อนสืบพยานในวันที่ 23, 28 ก.พ. และ 1 มี.ค. 2566 โดยข้อต่อสู้ที่สำคัญของฝ่ายจำเลย คือ การเผาพระบรมฉายาลักษณ์เป็นการสื่อถึงนักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่ แต่ไม่ได้มุ่งหมายหรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ยิ่งไปกว่านั้น การเผาเป็นการแสดงออกทางการเมืองเพื่อสะท้อนความคิดเห็นทางการเมือง ไม่ได้สร้างความกระทบกระเทือนหรืออันตรายต่อตัวบุคคลพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

ภายหลังการสืบพยาน จำเลยทั้งสองได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลอาญาส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217 ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดวางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 10,000 – 140,000 บาท” นั้น ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่ ก่อนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า บทบัญญัติดังกล่าวไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และ มาตรา 34 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net