"ทำไมพวกเราถึงไม่สามารถเคารพกันและต่างก็แสดงความเห็นของตัวเองได้" เสียงหนึ่งจากผู้ประท้วงในฮ่องกง

 

ผู้ประท้วงสนับสนุนประชาธิปไตย ในฮ่องกง

ถูกผู้ชุมนุมสนับสนุนจีนแสดงความไม่พอใจและตะคอกใส่

(ภาพจาก Reuters/Claro Cortes IV)


 

"ทำไมพวกเราถึงไม่สามารถเคารพกันและต่างก็แสดงความเห็นของตัวเองได้"

- ฮ่องกง


เมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกที่ฮ่องกง ก็มีทั้งผู้ประท้วงสนับสนุนจีน และผู้ประท้วงสนับสนุนทิเบตมาร่วมชุมนุมกันเช่นเคย แต่ก่อนที่ความระอุในอารมณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมจะทำให้เกิดการปะทะกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ได้คุ้มกันผู้ประท้วงชาวทิเบตที่มีจำนวนน้อยกว่าขึ้นรถ เพื่อยับยั้งการปะทะไว้เสียก่อน

 

คริสติน่า ชาน วัย 21 ปี เป็นหนึ่งในผู้ประท้วงกลุ่มเล็กๆ เธอถือธงทิเบต ร่วมกับป้ายเรียกร้องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในจีนเอาไว้ แต่กลุ่มฝูงชนผู้ประท้วงซึ่งสนับสนุนจีนจำนวนมากก็ห้อมล้อมเธอไว้ หลายคนตะโกนด่าเธอด้วยคำหยาบคาย และขณะที่มีตำรวจคอยล้อมคุ้มกันเธอไว้ ฝ่ายสนับสนุนจีนประมาณ 30 คนก็เข้ามาผลักตัวตำรวจออกไป กระทั่งในที่สุดตำรวจก็ควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ และพาชาน ขึ้นรถตู้ของตำรวจไปยังโรงพักเพื่อคุ้มกันเธอจากกลุ่มผู้ชุมนุม

 

ขณะที่ คริสติน่า ชาน กลับบอกว่า เธอไม่สนใจผู้ชุมนุมที่แสดงความเป็นศัตรูกับเธอ แต่เธอรู้สึกไม่สบอารมณ์กับวิธีการคุ้มกันของตำรวจมากกว่า "พวกเขามีสิทธิอะไรพาตัวฉันออกมาจากตรงนั้น ฉันมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นของฉัน" เธอกล่าว

 

กลุ่มนักกิจกรรมสนับสนุนประชาธิปไตยอีกกลุ่มหนึ่งก็ถูกผู้สนับสนุนคบเพลิงมากันห้อมล้อมเข้ามา และพากันหยามเหยียดด้วยคำอย่าง "พวกสุนัขรับใช้", "คนทรยศ" และ "ไสหัวไป!" กระทั่งตำรวจ 80 นาย ต้องเข้าล้อมและนำตัวนักกิจกรรมที่ถือป้าย "คืนพลังแก่ประชาชน" ขึ้นรถตำรวจไปเพื่อเป็นการคุ้มกัน

 

ดูเหมือนว่าผู้สนับสนุนคบเพลิงเหล่านี้ไม่น่าใช่คนในพื้นที่ของฮ่องกง แต่น่าจะมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ เพราะคำที่พวกเขาพวกเขาเปล่งสโลแกนและใช้ด่าทอฝ่ายตรงข้ามนั้นเป็นภาษาจีนกลาง (Mandarin) ไม่ใช่ภาษากวางตุ้ง (Cantonese) ซึ่งเป็นภาษาถิ่น

 

แม้จะมีเหตุตึงเครียดจากการชุมนุมบนท้องถนน แต่การวิ่งคบเพลิงในครึ่งแรกก็เป็นไปอย่างราบรื่น มีตำรวจให้การคุ้มกันกว่า 3,000 นาย

 

นายโดนัลด์ จาง ผู้นำฮ่องกงออกมากล่าวปราศรัยเปิดพิธีวิ่งคบเพลิง เขาบอกว่า "พวกเราเป็นเหมือนโลกทั้งใบในเมืองเดียว ในที่ที่ผู้คนทั้งหลายต่างมีความเชื่อและมุมมองที่ต่างกัน ได้เติบโตมากับจิตวิญญาณของความหลากหลาย กับความอดกลั้นและการเคารพซึ่งกันและกัน" จางบอกอีกว่า ขณะที่คบเพลิงได้วิ่งไปตามพื้นที่ประเทศจีน และจะถึงกรุงปักกิ่งในอีก 3 เดือนข้างหน้านั้น "มันถือเป็นการจุดประกายไฟไปตามเส้นทาง เส้นทางของความสมานฉันท์ ของสันติ สำหรับทุกคน ทุกชนชาติ"

 

ฝนเริ่มโปรยลงมา ขณะที่ผู้ชมบางคนโบกธงชาติจีนผืนใหญ่ ก็มีอีกจำนวนหนึ่งถือป้ายประท้วงไว้ โดยผู้หญิงคนหนึ่งถือป้ายสีส้มเขียนไว้ว่า "คบเพลิงโอลิมปิกเพื่อประชาธิปไตย" ในเวลาเดียวกันก็มีชายคนหนึ่งถือโปสเตอร์เขียนสโลแกนไว้ว่า "โลกหนึ่งใบ สองความฝัน" (One World, Two Dreams)

 

ชาน ผู้ประท้วงที่ต่อมาถูกตำรวจคุ้มกันไว้นั้น ได้ห่อตัวเองด้วยธงรูปสิงโตหิมะของทิเบตก่อนจะคลี่มันออกมาโบก มีผู้พบเห็นหลายคนตะโกนใส่ชานว่า "คนจีนประสาอะไร" และ "น่าอับอาย!" ขณะที่ชานตอบกลับไปว่า "ทำไมพวกเราถึงไม่สามารถเคารพกันและต่างก็แสดงความเห็นของตัวเองได้"

 

ก่อนหน้านี้ฮ่องกงเคยเป็นประเทศอาณานิคมของอังกฤษ ก่อนที่จะถูกส่งคืนสู่จีนในปี ค.ศ. 1997 แม้อำนาจการตัดสินใจทางการเมืองจะตกไปอยู่ในมือของทางการปักกิ่ง แต่ฮ่องกงก็ได้รับคำมั่นว่าจะมีการเปิดกว้างทางการเมืองภายใต้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ"

 

โดยที่ฮ่องกง สื่อมวลชนได้รับอนุญาตให้วิพากษ์วิจารณ์ผู้นำ ยังมีการเดินขบวนประท้วงตามท้องถนนเพื่อเรียกร้องให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นกว่าเดิม และภาษาอังกฤษก็ยังคงเป็นภาษาทางการในทางกฎหมาย คณะผู้พิพากษาก็ยังมีการสวมวิกผมแบบอังกฤษ

 

แต่กับงานเฉพาะอย่างการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิก ก็ดูเหมือนจะทำให้ฮ่องกงเอียงข้างไปทางนโยบายส่วนของ "หนึ่งประเทศ" มากกว่าส่วนของ "สองระบบ" ในสัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ออกบัญชีดำเพื่อห้ามนักกิจกรรมที่สนับสนุนทิเบตและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน 7 คนไม่ให้เข้าประเทศ ก่อนจะส่งพวกเขากลับไป โดยผู้นำระดับสูงของจีนปฏิเสธที่จะออกมาอธิบายเหตุผลที่ต้องส่งตัวพวกเขากลับไป โดยบอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว

 

มิอา ฟาร์โรว ถือคบเพลิงสัญลักษณ์อยู่ใกล้ๆ กับสำนักงานรัฐบาลฮ่องกง

 เพื่อประท้วงจีนเรื่องการดำเนินนโยบายกับซูดาน

(ภาพจาก Reuters/Bobby Yip)

 

แต่ มิอา ฟาร์โรว ผู้วิจารณ์จีนเรื่องซูดาน ได้รับอนุญาตให้เข้าฮ่องกง

อย่างไรก็ตาม มิอา ฟาร์โรว นักแสดงหญิงที่เคยพูดวิจารณ์ความสัมพันธ์ของจีนกับซูดานไว้ ก็ไม่ได้ถูกห้ามเข้าประเทศแต่อย่างใด หลังจากที่เธอลงจากเครื่องบินมายังสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เจ้าหน้าที่ก็ได้พาตัวเธอไปพูดคุย "พวกเขาต้องการย้ำให้แน่ใจว่า พวกเราไม่ได้มาที่นี่เพื่อจะก่อกวนการวิ่งคบเพลิง ซึ่งแน่นอนว่าพวกเราไม่ทำอยู่แล้ว" มิอา เผย

 

ในการสัมภาษณ์ครั้งต่อมากับสำนักข่าว AP ฟาร์โรวบอกว่าเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองปฏิบัติต่อเธออย่างสุภาพและไม่ขอค้นกระเป๋า แต่ก็ได้เตือนเธอว่าอย่าฝ่าฝืนกฎระเบียบเท่านั้น

 

ฟาร์โรวมีกำหนดการที่จะพูดเรื่องซูดานกับสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในวันที่ 2 พ.ค. เธอยังมีกำหนดการไปเป็นผู้จุดคบเพลิงสัญลักษณ์เพื่ออุทิศให้กับเหยื่อในการต่อสู้ที่ดาร์ฟูรร์ เขตพื้นที่หนึ่งของซูดานที่มีประชาชนกว่า 200,000 คนเสียชีวิตและอีกกว่า 2.5 ล้าน ต้องออกจากพื้นที่เนื่องจากการต่อสู้ยาวนาน 4 ปี ระหว่างกลุ่มขบถท้องถิ่นกับกองทัพพลเรือนที่อยู่ข้างรัฐบาล

 

ประเทศจีนเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของซูดาน โดยซื้อน้ำมันจากซูดาน ขณะที่ขายอาวุธให้กับซูดานด้วย ฟาร์โรวได้ร่วมมือกับนักกิจกรรมเพื่อต้องการให้ทางการจีนใช้อิทธิพลที่มี กดดันซูดานให้หยุดการใช้ความรุนแรง

 

เธอแสดงความคิดเห็นว่าเรื่องของดาร์ฟูรร์ เป็นประเด็นที่ง่ายต่อการรณรงค์มากกว่าเรื่องทิเบต "สำหรับจีนแล้ว ดาร์ฟูรร์เป็นสิ่งที่เราเรียกว่าเป็นผลไม้ที่แขวนอยู่ไม่สูง เก็บได้ง่าย สำหรับชาวทิเบต มันยากกว่า เพราะทางการจีนมองทิเบตเป็นอย่างไร ผ่านมาหลายปีจนถึงปัจจุบันก็ยังมองอย่างนั้น" อย่างไรก็ตาม ฟาร์โรวก็ได้แสดงความเห็นใจต่อเหตุการณ์ในทิเบต

 

ในมาเก๊า กลุ่มผู้สนับสนุนเนืองแน่น

(AP/Kin Cheung)

 

คบเพลิงไร้ประท้วงในแดนคาสิโน-มาเก๊า

ในวันที่ 3 พ.ค. คบเพลิงโอลิมปิกได้ผ่านมาถึงเมืองมาเก๊า เมืองอดีตอาณานิคมโปรตุเกส ที่เปรียบเสมือนศูนย์กลางสำคัญอีกแห่งหนึ่ง ที่มีเงินหมุนเวียนจากธุรกิจการพนัน และผ่านไปได้โดยไม่มีปัญหาใดๆ

 

บรรยากาศการวิ่งคบเพลิงในมาเก๊าพบว่าแทบจะไม่มีการประท้วงเกิดขึ้นเลย จะมีก็แต่ผู้คนจำนวนกว่าพันคนใส่ชุดสีแดงโบกธงชาติจีนให้การต้อนรับ มีบางส่วนกางร่มกันแดด มีตำรวจคอยวิ่งขนาบสองข้างทางและไม่พบการก่อกวนแต่อย่างใด ผู้เข้าชมการวิ่งคบเพลิงบางคนเผยว่า พวกเขารู้สึกเจ็บแค้นกับการที่มีคนประท้วงคบเพลิงในเมืองอื่นๆ และการที่พวกเขาออกมาเข้าชมและให้การต้อนรับก็เพราะพวกเขาอยากจะแสดงความรักต่อประเทศจีน

 

อิบ ชี-เคียง ข้าราชการวัย 46 ปี พูดว่า "ประชาชนชาวมาเก๊ารู้สึกภาคภูมิใจ ที่ชาวจีนได้ทำความฝันของพวกเขาให้เป็นจริงแล้ว" ขณะเดียวกัน ชี-เคียง ยังได้แสดงความเห็นถึงเรื่องการประท้วงคบเพลิงของกลุ่มสนับสนุนทิเบตและนักสิทธิมนุษยชนไว้ว่า "มันเป็นเรื่องถูกต้องที่จะแสดงความสนใจต่อปัญหาด้านสิทธิมนุษยชน แต่ผมก็อยากตั้งคำถามกับยุทธวิธีของพวกเขาด้วย"

 

ก่อนหน้าที่มาเก๊าจะกลับไปเป็นของจีนในปี ค.ศ. 1999 เมืองนี้เป็นพื้นที่ของอิทธิพลมืด เป็นสถานที่ที่อันตรายกว่าปัจจุบัน มันเต็มไปด้วยแก๊งค์อาชญากรรมและมาเฟีย ที่มีการต่อสู้กันระหว่างแก๊งค์ มีการยิงกันข้ามรถ ลักพาตัว ไปจนถึงการวางระเบิดรถ สิ่งเหล่านี้ทำให้นักท่องเที่ยวหวาดผวา

 

แต่ภายใต้การปกครองของจีน อัตราการก่ออาชญากรรมลดลง และมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันเข้ามามากขึ้น เช่นเดียวกับฮ่องกง เมืองมาเก๊าถูกปกครองภายใต้นโยบาย "หนึ่งประเทศ สองระบบ" ที่เป็นการแบ่งรูปแบบการปกครองตามท้องที่

 

มีนักลงทุนระดับมหาเศรษฐีเข้ามาลงทุนโครงการรีสอร์ทขนาดใหญ่เป็นจำนวนเงินกว่า 2.4 ล้านดอลล่าร์กระทั่งในปี ค.ศ. 2006 เจ้าหน้าที่ในเมืองมาเก๊าเผยว่า รายได้จากธุรกิจการพนันของมาเก๊าพุ่งสูงกว่าย่านลาส เวกัส และในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2007) มาเก๊าก็มีรายได้จากบ่อนคาสิโนเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 46

 

ทาง เอ็ดมันด์ โฮ ผู้นำของมาเก๊า ออกมาบอกว่า แม้ว่าเมืองกำลังบูม แต่จะไม่มีการออกใบอนุญาตบ่อนคาสิโนเพิ่มอีกในช่วงเวลาใกล้ๆ นี้ มันถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลจะต้องทบทวนการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ก่อนที่จะอนุญาตให้โครงการใหม่ๆ เข้ามา

 

 

ที่มา แปลและเรียบเรียงจาก

Pro-Tibet protester hassled as Hong Kong torch relay begins, William Foreman, AP, 2/5/2551

Olympic torch passes through Chinese city Macau, Min Lee, AP, 3/5/2551

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท