Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ เรียกร้องทุกฝ่ายให้โอกาสได้สื่อทำหน้าที่โดยอิสระท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เป็นวิกฤตครั้งสำคัญของสังคมไทย พร้อมเรียกร้องสื่อไม่ผลิตความเกลียดชัง และเป็นเวที่ถ่ายทอดความเห็นของคนทุกฝ่าย


 


000


 


แถลงการณ์คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ


เรื่อง ขอให้สื่อทำหน้าที่โดยอิสระในสถานการณ์ขัดแย้ง


 


 


ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในขณะนี้ นับเป็นวิกฤติครั้งสำคัญที่ท้าทายให้สังคมไทย ต้องเผชิญหน้าและแสวงหาทางออกด้วยวิถีทางประชาธิปไตย แม้ว่าความคิดเห็นที่แตกต่างในทางการเมืองจะยังคงดำรงอยู่ในแต่ละฝ่าย ระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมในนามพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและรัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคพลังประชาชน


 


อย่างไรก็ตามความขัดแย้งดังกล่าวทำให้กลุ่มผู้ชุมนุมทั้งสองฝ่าย เลือกที่จะเผชิญหน้าและใช้วิธีการที่รุนแรงจนถึงขั้นทำให้มีผู้เสียชีวิตขึ้น ประกอบกับเกิดกรณีการคุกคามสื่อมวลชนในหลายรูปแบบตามมา ส่งผลให้สื่อมวลชนไม่สามารถรายงานข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้านให้สาธารณะได้รับรู้และพิจารณาถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นได้


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) เห็นว่าผู้ที่ทำหน้าที่ในฐานะสื่อมวลชนต้องปฏิบัติหน้าที่ได้โดยอิสระ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับสิทธิของประชาชนในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารข้อเท็จจริง ดังนั้นท่ามกลางสถานการณ์สังคมที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ในทุกขณะ นักวิชาชีพสื่อสารมวลชนจึงมีหน้าที่สำคัญในอันที่จะ "รักษาความจริง" ไว้ให้กับประชาชน


 


คปส. จึงมีข้อเรียกร้องต่อฝ่ายที่เกี่ยวข้องดังนี้


๑.      ขอให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกลุ่มให้โอกาสผู้สื่อข่าวในสนามรายงานเหตุการณ์แก่สังคมอย่างอิสระตามหลักวิชาชีพ ไม่ข่มขู่คุกคามให้เกิดการหวาดกลัว หรือสร้างอคติใด ๆ


 


๒.      ขอให้กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกกลุ่ม ไม่ใช้กำลังความรุนแรง ทำร้ายหรือปิดล้อมที่ทำการสื่อมวลชนในกรุงเทพและจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ


 


๓.      ขอให้สื่อมวลชนในทุกขั้วความขัดแย้งทำงานด้วยความตระหนักว่า การปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ความโกรธแค้น ความร้าวฉานอย่างต่อเนื่อง จะนำไปสู่การเผชิญหน้ากันด้วยกำลังจากทุกฝ่าย และสื่อมวลชนไม่อาจหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบดังกล่าวต่อสังคมได้


 


๔.     ขอให้สื่อมวลชน องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ร่วมกันแสวงหาทางออกจากการเผชิญหน้าในรูปแบบ "สงครามครั้งสุดท้าย" ซึ่งมิใช่วิถีทางประชาธิปไตยแต่อย่างใด


 


สื่อมวลชนควรเป็นเวทีถ่ายทอดและระดมความคิดเห็นจากทุกฝ่ายในสังคมด้วยแนวทางแห่งสติและการเมืองสร้างสรรค์ ที่การสื่อสารและการประชุมถกเถียงคือวิถีแห่งการเมืองประชาธิปไตย


 


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.)


๒ ธันวาคม ๒๕๕๑

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net