Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะนี้แพทย์กลุ่มหนึ่งในแพทยสภา กำลังใช้ข้ออ้างว่า จะมีการฟ้องร้องมากจาก พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย หรือ กฎหมายพีแอล และกำลังกล่อม นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ ให้อยู่นอกเหนือบังคับของ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้

แท้จริงแล้ว กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ในเชิงป้องกันที่ทุกฝ่ายยกระดับมาตรฐาน การผลิตสินค้า การออกแบบ และการให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างระมัดระวังก่อนขายสินค้า โดยไม่รวมบริการเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น ข้อดีของผู้บริโภคคือ ไม่ต้องรับภาระพิสูจน์ เรื่อง การผลิตสินค้า การออกแบบ และการให้ข้อมูล แต่ให้เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการเพื่อช่วยผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายและจะทำให้การชดเชยเป็นจริง โดยไม่นำไปสู่การฟ้องร้องที่รุนแรงโดยเฉพาะทางอาญาต่อไป

เหตุผลที่ต้องออกกฎหมายฉบับนี้ เนื่องจากการผลิตปัจจุบันขยายตัวและมีเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เมื่อเกิดความเสียหายจึงเป็นภาระของผู้บริโภคที่ต้องพิสูจน์ด้วยตนเอง ซึ่งยุ่งยากมาก ก่อให้เกิดปัญหาทางคดีที่เป็นภาระต่อผู้บริโภคจึงมีข้อเสนอจากฝ่ายยุติธรรมที่ให้ภาระพิสูจน์ตกอยู่แก่ผู้ประกอบการ แทนที่จะเป็นภาระต่อผู้บริโภค


นอกจากนี้จากการที่มี พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ก็จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้ดีกว่าเดิม แต่กลุ่มแพทย์โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ได้พยายามล็อบบี้ให้กระทรวงสาธารณสุขระดมหารายชื่อจากโรงพยาบาลของรัฐ เพื่อเรียกร้องให้มีการคัดค้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะกับยาและเครื่องมือแพทย์

ขณะนี้ เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ป่วยได้หารือกันที่จะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคไม่เห็นด้วยต่อการยกเว้นเรื่องยาและเครื่องมือแพทย์ โดยเห็นว่าการคุ้มครองต้องไม่ยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ เพราะผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย
ไม่เช่นนั้นผู้บริโภคก็ต้องมีภาระในการพิสูจน์ กฎหมายนี้มีข้อดีที่ผู้ประกอบการต้องแสดงตนเองว่า ได้ทำหน้าที่ถูกต้องแล้วในการผลิตสินค้า การออกแบบ และการให้ข้อมูล ถ้าไม่มีกฎหมายนี้ ผู้บริโภคก็จะมีภาระอย่างมากเมื่อได้รับความเสียหาย และจะเกิดความขัดแย้งรุนแรง นำไปสู่การฟ้องร้องต่อไป และจะไม่เกิดการปรับตัวของผู้ประกอบการที่ไม่ดี     

สำหรับความเป็นมาของ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัยนั้น ในวันที่ 20 กุมภาพันธ์นี้จะเป็นวันที่ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย มีผลบังคับใช้ หลังจากให้เวลาปรับตัวภายหลังออกกฎหมายเป็นระยะเวลา 1 ปี

กฎหมายนี้ล้มลุกคลุกคลานมาเป็นเวลานาน เช่น เกือบผ่านวุฒิสภาในสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถูกยุบสภาเสียก่อนเมื่อเดือนมีนาคม 2549 ต่อมามีการพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นเจ้าของเรื่อง ในที่สุดกฎหมายผ่านสภา แต่ต้องให้เวลาปรับตัว 1 ปี แต่เมื่อกำลังจะมีผลบังคับใช้ก็ถูกกลุ่มวิชาชีพแพทย์ กลุ่มหนึ่ง ตัดค้าน โดยอ้างว่าจะมีการฟ้องร้องมากขึ้น ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะการฟ้องร้องไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ แต่ผู้บริโภคต้องพิสูจน์ว่า ตนเองได้รับความเสียหาย ไม่ใช่ฟ้องอะไรก็ได้


 

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net