Skip to main content
sharethis


8 มี.ค.52  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) ออกแถลงการณ์กรณีการจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทด้วยกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลยุติการบุกจับกุมที่เสมือการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือ และควรพิจารณาทบทวนแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและสิทธิพลเมืองอย่างรุนแรง และทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลอาจตกต่ำลงและไม่ต่างจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่ผ่านมา


 


นอกจากนี้ ครส.ยังเรียกร้องให้รัฐบาล พิจารณาทบทวนให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งถือเป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ปัจจุบันมีการหยิบใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองจนเกิดการกลั่นแกล้งและคุกคามกันโดยกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการส่งผลด้านลบแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นกลางทางการเมือง โดยสมควรให้มีองค์กรเฉพาะหรือหน่วยงานใดงานหนึ่งที่มีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นผู้มีอำนาจฟ้องตามกฎหมายดังกล่าว มากกว่าเปิดให้ประชาชนทั่วไปใครก็ได้ฟ้องร้องกันไปมาหรือใช้กฎหมายดังกล่าวไปในทางมิชอบ


 


 






แถลงการณ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.)


กรณีการจับกุมผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทด้วยกฎหมายการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์


 


สืบเนื่องจากกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.ต.วรศักดิ์ นพสิทธิพร รองผู้บัญชาการกองปราบปราม นำกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นภายในสำนักงานเว็บไซต์ประชาไท เลขที่ 409 ชั้น 1 อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) ซอยประชาราษฎร์บำเพ็ญ 5 แขวงและเขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีการจับกุมนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร อายุ 42 ปี ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทไปดำเนินคดีในข้อหากระทำความผิดตามมาตรา 14 และ 15 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์นั้น


 


คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนภาคประชาสังคมและ ประสานงานกลไกสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รู้สึกกังวลต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญาของรัฐบาลไทยเป็นอย่างมาก โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้


 


1.การจับกุมนางสาวจีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจกองปราบปรามอ้างว่าได้รับแจ้งจากกระทรวงไอซีทีว่าพบข้อความภายในเว็บไซด์ที่เข้าข่ายผิดต่อกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามมาตรา 112 มากกว่า 40 ข้อความ จึงได้มีหมายจับผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท ตามความผิดมาตรา 14 และ 15 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในฐานะเป็นผู้ให้บริการที่จงใจหรือยินยอมให้มีการหมิ่นในระบบคอมพิวเตอร์ที่อยู่การดูแลควบคุมของตน ซึ่งเบื้องต้นได้รับการประกันตัวไปแล้วนั้น  คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ทราบว่าทางเว็บไซต์ประชาไทมีนโยบายและมีการการตรวจสอบข้อความของประชาชนทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่เว็บบอร์ดสาธารณะจำนวนมากอย่างละเอียด หากพบข้อความที่สุ่มเสี่ยงและเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็จะดำเนินการลบออกจากระบบ แต่เนื่องจากมีผู้เข้าใบริการพื้นที่เว็บบอร์ดสาธารณะจำนวนมากอาจหลุดรอดสายตาจากการตรวจสอบได้ ดังนั้น ด้วยเหตุนี้ ทำไมกระทรวงไอซีทีไม่แจ้งเรื่องนี้ต่อผู้ดูแลเว็บไซต์ประชาไทโดยตรงถึงข้อความใดบ้างที่สมควรถูกลบ เพื่อให้เกิดความร่วมมือจากเว็บไซต์ประชาไทในระยะยาวในการแก้ไขปัญหาการแสดงความคิดเห็นหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งเป็นปัญหาที่สุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในปัจจุบันและยังเป็นปัญหาในทางกฎหมายที่เกิดการขัดแย้ง แจ้งความกลั่นแกล้งเอาผิดกันไปมาเพื่อโจมตีคู่แข่งทางการเมืองโดยใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือทางการเมือง ซึ่งการแจ้งเรื่องมายังกองปราบเพื่ออกหมายจับผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทนั้น เสมือนกับเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองโดยนัยะเดียว เนื่องจากเว็บไซต์ประชาไทมีเนื้อหาที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลมาโดยตลอด


 


2.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) เห็นว่า รัฐบาลควรพิจารณาทบทวนแก้ไขพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ รวมทั้งพิจารณาถอนร่างพระราชบัญญัติแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน ซึ่งมีเนื้อหาละเมิดสิทธิมนุษยชนในด้านสิทธิเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและสิทธิพลเมือง ซึ่งเป็นหลักสากลอย่างรุนแรง เพื่อลดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวในลักษณะกลั่นแกล้งคุกคามหรือรอนสิทธิทางการเมือง ทำให้ภาพลักษณ์รัฐบาลอาจตกต่ำลงและไม่ต่างจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุครัฐบาลทักษิณ ชินวัตรที่ผ่านมา


 


3.คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน(ครส.) ขอเรียกร้องให้รัฐบาล พิจารณาทบทวนให้มีการแก้ไขมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งถือเป็นกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ซึ่งปัจจุบันมีการหยิบใช้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองจนเกิดการกลั่นแกล้งและคุกคามกันโดยกฎหมายดังกล่าว อันเป็นการส่งผลด้านลบแก่สถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นกลางทางการเมือง และเป็นการระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาทมาอย่างต่อเนื่อง โดยสมควรให้มีองค์กรเฉพาะหรือหน่วยงานใดงานหนึ่งที่มีความเป็นกลางทางการเมือง เป็นผู้มีอำนาจฟ้องตามกฎหมายดังกล่าว มากกว่าเปิดให้ประชาชนทั่วไปใครก็ได้ฟ้องร้องกันไปมาหรือใช้กฎหมายดังกล่าวไปในทางมิชอบ


 


 


สิทธิมนุษยชน เป็นจุดเริ่มต้นแห่งสันติภาพ


8 มีนาคม 2552


 


 


สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net