Skip to main content
sharethis

อ่าน รายงาน : เราจะสร้าง "สังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต" ในประเทศไทยได้อย่างไร (ตอนที่ 1) ที่นี่


 


 


ประเด็นเรื่องสวัสดิการสังคม ยังคงเป็นประเด็นถกเถียงกันอยู่ไม่รู้จบ ในขณะที่รัฐบาลอภิสิทธิ์เน้นย้ำและเร่งนโยบายเกี่ยวกับสวัสดิการให้กับประชาชนอย่างถี่ยิบ ซึ่งหลายฝ่ายบอกว่า นี่คือประชานิยมตำรับประชาธิปัตย์ ในขณะที่กลุ่มนักวิชาการและประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานก็มีความพยายามจะผลักดันในเรื่องสังคมสวัสดิการ หรือรัฐสวัสดิการ เนื่องจากทุกคนเห็นว่า สวัสดิการเป็นเรื่องพื้นฐาน ที่จะนำมาซึ่งสิทธิและความเท่าเทียมในสังคม


 


เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา มีการจัดโครงการสัมมนา "การสร้างสังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต" ณ ศูนย์เกษตรกรสารภี จ.เชียงใหม่ โดยมี ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในวงสัมมนาถึงประเด็นดังกล่าว


 


โดยในตอนนี้ ประชาไท ขอนำเสนอมุมมองของ "ศ.ดร.อานันท์ กาญจนพันธุ์" จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยละเอียดดังนี้ 


 


 


เผยระบบทุนนิยมของไทยเป็นทุนนิยมครึ่งดิบ


เรื่องสวัสดิการสังคม เราต้องใช้ 3 สร้าง เป้าหมายอย่างแรก คือ ต้องสร้าง "กลไกเชิงสถาบัน" เพราะสังคมไทยมีปัญหามาก เพราะว่าเราไม่คิดอะไรใหม่ สังคมมันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เป็นโลกาวิวัฒน์ แต่พอเกิดปัญหาอะไรก็อิงของเก่า ไปหาสถาบันเก่าๆ คือสถาบันเก่าที่ดี มันเริ่มผุกร่อน แต่จะไปฝากความหวังกับสถาบันเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด คิดว่ายาก


 


ที่จริง มันเป็นระบบเดิมของสังคมไทยเมื่อในอดีต แต่ในสถาบันในปัจจุบันและในอนาคตจะใช้สถาบันเดิมแบบนี้ไม่ได้แล้ว ดังนั้น การสร้างกลไกสถาบันจึงสำคัญมาก เพื่อให้เกิดสวัสดิการแบบใหม่กับยุคไฮเทค


 


กลไกสถาบันนี้ เป็นกลไกที่สำคัญในระบบทุนนิยม แต่ทุนนิยมของไทยมันมีปัญหา คือ เป็นทุนนิยมครึ่งดิบ คือเราไปรับเอาตั้งหลายอย่าง แต่เอามาครึ่งเดียว เน้นแบบเสรี ในด้านเสรีออกเร็วมาก ดูได้จากในด้านกฎหมาย ถ้าเกิดเมื่อไหร่เกี่ยวกับเสรี 3 วาระรวด ออกวันเดียวเสร็จ แต่ในด้านที่เกี่ยวกับความเป็นธรรมทั้งหลายไม่ค่อยพูด พูดง่ายๆ คือ ทุนนิยมไม่ได้อยู่ได้ด้วยตนเองตลอดเวลา ก็เอาเงินภาษีไปอุดตลอดเวลา มันไม่เคยเป็นเสรี เป็นเพียงอุดมการณ์กล่าวอ้าง แต่ไม่เคยทำ


 


 


ชี้ภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก เป็นสถาบันชนิดใหม่


เป็นกลไกที่จัดสรรทรัพยากรได้ดีที่สุดในระบบทุนนิยม


ถ้าจะให้ระบบทุนนิยมมันดีจริงต้องนำกลไกภาษีมาใช้ให้มากขึ้นกว่านี้ ที่เราจะพูดคือภาษีอัตราก้าวหน้า ภาษีมรดก เป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่เวลาพูด ก็พูดเป้าหมายไม่ครบ "กลไกภาษี"เป็นกลไกที่จัดสรรทรัพยากรได้ดีที่สุดในระบบทุนนิยม เพราะจะปรับคนที่มากมาให้คนน้อย กลไกภาษีจึงสำคัญมากและถือเป็นสถาบันชนิดใหม่ เพราะเราอยู่ในระบบทุนนิยม เราไม่เคยอยู่มาก่อน เมื่อเราอยู่ เราก็ต้องใช้ แต่รัฐบาลมักไม่ค่อยนำมาใช้


 


ดังนั้น การผลักดันให้ใช้ จึงจำเป็นเพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ เรียกว่า การกระจายโภคทรัพย์ในสังคมให้เหมาะสม อันนี้เป็นเป้าหมายที่ 2 เริ่มมีการพูดมากขึ้น แต่ที่จริง ภาษีมันมีเป้าหมาย เพราะการเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าต่างๆ เหล่านี้ มันจะบีบให้คุณดองที่ดิน


เป้าหมายที่ 3 การเก็บภาษี มันจะทำให้คุณเอาเงิน แทนที่จะซื้อที่ดินเก็บไว้เอาไปลงทุน การเอาไปลงทุนมันสำคัญมากในระบบทุนนิยม เพราะว่าคนที่โอกาสจะทำกินบนที่ดินมันก็เริ่มน้อยลงฉะนั้นถ้าไม่ลงทุน มันก็ไม่มีงาน สังคมทุนนิยมต้องการให้คนมีงานทำ มันถึงพอจะอยู่ได้ แล้วเวลาเอาเงินไปซื้อที่ดินหมดแล้วเวลานี้ถูกไล่ออกจากงาน ตกงานเต็มไปหมดเลย ก็เพราะว่าไม่ลงทุน


 


มันก็ต้องบีบให้คนที่ตกงานไปลงทุน ไม่ใช่เก็บไว้เป็นมรดก มันทำให้การลงทุนมันไม่ดี ไม่ลงทุนอะไรที่มีประสิทธิภาพ คนงานก็จะได้ทำงานที่ดี ทำงานที่มีความยั่งยืนมากขึ้น เพราะสังคมในอนาคตต้องการสร้างงานเยอะมาก


 


สรุปแล้ว ภาษีจึงสำคัญมาก เป็นกลไกเชิงสถาบันที่จะช่วยจัดสรรทรัพยากรโดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องโภคทรัพย์ คือ ความมั่งคั่งในสังคมให้มันเป็นธรรมมากขึ้น และก็ให้เกิดการพัฒนาด้วย นี่คือกลไกสถาบันอันที่ 1 คือ "กลไกภาษี"


 


 


"ระบบกรรมสิทธิ์"เป็นการประกันการเข้าถึงทรัพยากร


กลไกสถาบันอันที่ 2 คือ "ระบบกรรมสิทธิ์" เป็นกลไกที่สำคัญมาก เพราะเมื่อก่อนรั้วก็ยังไม่ได้สร้าง ถางป่าก็ถางไป มีแรงเท่าไหร่ก็ใช้เท่านั้น แต่ว่าในปัจจุบันนี้ไม่ได้ ของเราใช้ 2 ชนิด 2 ระบบ คือรัฐกับเอกชน ซึ่งมันเป็นปัญหา นั่นก็หมายความว่าระบบกรรมสิทธิ์ต้องแจกแจงให้มีหลายระบบมากขึ้นไม่ใช่มีอยู่ 2 ระบบ มันก็ทำให้เกิดปัญหา เพราะว่าที่ดินมันก็ 3ร้อย 20ล้านไร่เพียงเท่านั้นไม่ทางเปลี่ยน แล้วก็ต้องเก็บไว้เป็นป่าจำนวนหนึ่ง ปัจจุบันก็เหลือราว 80ล้านไร่ซึ่งก็น้อยมาก


 


ส่วนคนที่ซื้อที่ดินทิ้งไว้เฉยๆ ไม่ทำบ้าอะไรเลย แต่ถ้าเราที่ดินที่ถูกซื้อทิ้งไว้เฉยๆ สัก 30ล้านไร่ เอามากระจายกัน ป่าจะเพิ่มมากขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ระบบกรรมสิทธิ์สำคัญมาก ในส่วนของที่ดินที่ใช้ในการทำนา ส่วนใหญ่ค่อนข้างที่จะเป็นกรรมสิทธิ์ เพราะเราทำกันมานาน จริงๆแล้วไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่ แต่ที่จำเป็น คือในพื้นที่ป่า ถ้าไม่ออกกฎหมาย ก็ตัดต้นไม้กันมากขึ้นไปอีก เพราะไม่มีใครดูแลใครทั้งสิ้น ดังนั้นถ้าไม่ทำอะไรเกี่ยวกับระบบกรรมสิทธิ์ทรัพยากรธรรมชาติจะเสียหายมาก เพราะระบบกรรมสิทธิ์เป็นการประกันการเข้าถึงทรัพยากรและเป็นการกันเข้าถึงสิทธิเฉพาะส่วนบุคคลและเป็นการการประกันการเข้าถึงที่เกี่ยวข้องกับบุคคลจำนวนมาก


 


 


ต้องศึกษาท้องถิ่นเพื่อป้องกันสิทธิส่วนรวมซ้อนไปบนสิทธิส่วนตัว


และในอนาคต เรื่องพวกนี้จะร้ายแรงขึ้นมาก เพราะในเวลานี้ เริ่มมีการพูดถึงโรงไฟฟ้าปรมาณูกันแล้ว จึงต้องเสนอสิทธิหลักเชิงซ้อนว่า สิทธิส่วนรวมซ้อนไปบนสิทธิส่วนตัว แต่สิทธิ์ส่วนตัวเป็นสิทธิเป็นเจ้าของ สิทธิส่วนรวมเป็นสิทธิการใช้ ต้องศึกษาท้องถิ่น เพราะคุณใช้ไปมันกระทบเขา เช่น ถ้าคุณสร้างโรงไฟฟ้า ปรมาณู 2หมื่นไร่ ก็กระทบเขาอยู่ดี ที่ประเทศรัสเซีย โรงงานไฟฟ้าปรมาณู ระเบิดมา20ปี 30ปี มาถึงตอนนี้ก็ยังแก้ไม่ตกเลย ฉะนั้น เรื่องระบบกรรมสิทธิ์ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ต้องมีการผลักดันให้เกิดระบบกรรมสิทธิ์หลายชนิดที่ซ้อนกัน เพื่อจะเปิดโอกาส หรือเปิดพื้นที่ให้กับคนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการกับกรรมสิทธิ์เหล่านั้น


 


เพราะสวัสดิการ ไม่ได้หมายถึงการรอรับเงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว แต่สวัสดิการทำให้ชีวิตเราดีขึ้น ดังนั้น ถ้าเราไม่มีสิทธิควบคุมโรงงานที่เกิดซี้ซั้ว เพราะในอนาคต เรื่องของสิ่งแวดล้อมเป็นพิษมันจะหนักลำบาก เพราะว่ารัฐบาลมีกฎเกณฑ์หมด กฎหมายสิ่งแวดล้อมมีเยอะ แต่ไม่กำกับดูแลแบบเข้มข้น เพราะฉะนั้น เราในฐานะภาคประชาชนจำเป็นจะต้องเข้าใจสิ่งเหล่านี้ว่ามันเป็นกลไกที่สำคัญมาก เพราะว่าเราก็มีส่วนร่วมในการที่จะกำกับดูแลสิ่งเหล่านี้ ชีวิตคุณภาพคุณจะดีขึ้นไม่ ต้องไปเสี่ยงเพราะสังคมทุนนิยมที่มันพัฒนาไปเขาเรียกว่า สังคมเสี่ยง มันเกิดจากโครงสร้างความเสี่ยงที่เกิดจากโครงสร้างมีเยอะมาก


 


 


ภาคประชาชนจำเป็นจะต้องเข้าใจกลไกระบบกรรมสิทธิ์


ยึดธรรมมาภิบาล ตรวจสอบ ถ่วงดุล


ดังนั้นประชาชนจะต้องเตรียมตัวมีกลไกที่ตนเองจะต้องกำกับดูแลให้ได้ด้วยเพื่อให้คุณภาพชีวิตอยู่ในความควบคุมของเรา ดังนี้


 


ต้องใช้หลัก "ธรรมมาภิบาล" แปลว่า การตรวจสอบสมดุล ต้องตีหมายความว่า การทำอะไรต่างๆ เราจะปล่อยให้ใครรวบยอด ทำผูกขาด แต่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ มันต้องมีการตรวจสอบในทุกกระบวนการในหลายๆ เรื่องด้วยกัน อย่าง กฎหมายป่าชุมชน มันก็เป็นกลไกเชิงสามัญชนิดระบบปกติ และขณะเดียวกันก็เป็นระบบตรวจสอบสมดุล


 


กฎหมายป่าชุมชนเป็นตัวอย่างของธรรมมาภิบาลชนิดใหม่ซึ่งสำคัญมากเพราะว่าป่าเป็นของรัฐ แต่กฎหมายชุมชนมอบสิทธิในการจัดการและการใช้ประโยชน์ให้แก่ชุมชน คือ มีสิทธิ 2 อันซ้อนกัน


และมีอันมี 3 คือ กลไกที่เป็นกลางทำหน้าที่ตรวจสอบสมดุล คือจะมีสิทธิ 3 สิทธิ์ซ้อนกัน สิทธิความเป็นเจ้าของเป็นของรัฐ สิทธิในการใช้ประโยชน์และการจัดการเป็นของชุมชน สิทธิในการตรวจสอบสมดุลเป็นของภาคประชาสังคม มันจะมี 3 ส่วนของสังคมเข้ามาตรวจสอบสมดุล และกลไกเหล่านี้ สามารถนำไปได้ใช้ในหลายเรื่อง เช่นในเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น


 


ฉะนั้น 3 กลไกนี่เป็นตัวอย่าง จริงๆแล้วอาจจะมีกลไกอื่นๆ ที่เรียกว่าเป็นการสร้างสถาบันแบบใหม่ๆ ขึ้นมาในสังคมเพื่อสร้างหลักประกันให้คุณภาพชีวิตของเรา มีความมั่นคงมากขึ้น เราเรียกว่าความมั่นคงในการดำรงชีวิตของคน มันต้องอาศัยสถาบัน เพราะจะพึ่งอะไรมันก็ยาก


 


ดังนั้น คนรุ่นเราจะต้องสร้างกลไกเหล่านี้ แล้วเราค่อยๆ ผลักขึ้นมา บางอันเราก็สร้างเป็นกฎหมาย แต่บางอันเราก็สร้างเป็นกลไกของชุมชนมันทำได้หลายรูปแบบ


 


 


ประชาชนต้องร่วมกันสร้างเวทีหรือพื้นที่ทางสังคม


ระบบสวัสดิการต้องยึดระบบเชิงซ้อนเท่านั้นถึงจะไปรอด


"การสร้างพื้นที่" พื้นที่นี้หมายถึงเวทีหรือพื้นที่ทางสังคม เช่น เป็นเครือข่ายเป็นการรวมกลุ่ม หรือว่าเป็นการเปิดประเด็นเพราะว่าสวัสดิการสังคมนี้ไม่ได้แปลว่า ให้รัฐมาเจ้ากี้เจ้าการทำแต่เพียงผู้เดียว สวัสดิการมีตั้งหลายชั้น ดังนั้น การทำสวัสดิการต้องทำหลายระดับ ทั้งระดับประเทศ ระดับท้องถิ่น และก็ระดับที่มีพื้นที่ที่มีการร่วมกันของคนกลุ่มต่างๆที่อาจจะต้องมารวมตัวกัน เพื่อจัดทำสถาบันเป็นเรื่องของพื้นที่ในการรวมตัวกัน คือ เป็นเครือข่ายความร่วมมือ


 


ยกตัวอย่าง พวกกลุ่มที่ติดเชื้อโรคเอดส์ เขามีการรวมตัวกันเพื่อเปิดพื้นที่ในการดูแลกันเองเพราะว่าบางเรื่องมันเปิดกลุ่มลักษณะพิเศษ เราไม่อาจที่เปิดกว้าง ใครก็ไม่รู้เข้ามาดูแลมันทำลำบาก ดังนั้นการเปิดพื้นที่ใหม่ๆ รวมถึงการเปิดพื้นที่ของความรู้พื้นที่มีหลายอย่าง เช่น พื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคงของชีวิต พื้นที่ของความรู้ ซึ่งจะใช้ระบบเดียวไม่ได้ แล้วที่ผ่านมา เราใช้ระบบเชิงเดี่ยวมาตลอด และมีปัญหามาก


 


เราไปรับความคิดแบบวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่มาจากเรื่องระบบวิวัฒนาการมานานมาก เป็นความคิดของชาวยุโรปชื่อว่า ชาร์ล ดาวิน เป็นนักชีววิทยา แล้วความคิดเหล่านี้เข้ามาปลูกฝังเรานักเรียน นักศึกษาใช้ระบบสายเดี่ยวหมดแบบนี้ใช้กับระบบสวัสดิการไม่ได้ ระบบสวัสดิการต้องเชิงซ้อนอย่างเดียวเท่านั้นถึงจะไปรอด


 


ดังนั้น พื้นที่ของความรู้ ก็จะต้องมีความรู้หลายระบบ เช่น การรักษาพยาบาล ถ้าใช้แพทย์แผนใหม่อย่างเดียวก็ไม่ได้ มันต้องมีการแพทย์แผนไทย แผนโบราณอันนี้ต้องมีการเปิดพื้นที่ให้คนเอาความรู้หลายๆอย่างมาบวกผสมกัน เพื่อทำให้การดูแลเรื่องสุขภาพดูแลชีวิตของเรามันดีขึ้น มันสำคัญมาก เดี๋ยวนี้รัฐบาลมันปิด คือหมายความว่า ถ้าเกิดคุณไปเปิดแล้วไม่มีใบประกอบอาชีพก็โดนอีกฉะนั้น ต้องเปิดพื้นที่ให้คนเอาหลายอย่างมารวมกันได้


 


และไม่ใช่เฉพาะเรื่องรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว การเกษตรด้วย และที่เกี่ยวข้องกับชีวิต มันต้องมีการผสมความรู้หลายๆอย่าง ฉะนั้นพื้นที่ของความรู้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการของชีวิตเราเรียกว่าความมั่นคงของการดำรงชีพมันขึ้นอยู่กับพื้นที่ของความรู้


 


 


พื้นที่ของภาษา คืออุปสรรคของการจัดสวัสดิการ


เพราะว่ามองเป็นมนุษย์ แต่ว่าไม่มีตัวตน


"พื้นที่ของภาษา"การอยู่ร่วมกันของคนไทย มีหลายภาษา คือมองสวัสดิการให้เป็นวงกว้างมากที่สุดคือว่า ถ้าเรามีพื้นที่ให้ภาษาต่างๆ อย่างภาษาในโรงเรียนเรียน แค่ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษ แบบว่าคนที่มีหลายสังคมหลายวัฒนธรรมอยู่ด้วยกันไม่ได้ แล้วขัดแย้งในสังคม ในอนาคตมันจะมีมากขึ้นที่เกิดจากการที่เราไม่รับรู้ ไม่เข้าใจ ไม่เห็น คือ เราต้องสร้างตัวตน เพราะว่าเรามองไม่เห็นคนอื่นในฐานะที่เป็นคน


 


เรื่องสวัสดิการสำคัญสำหรับการสร้างตัวตน เพราะว่าตัวตนของคนแปลกมาก คือมีอยู่ แต่คนมองไม่เห็น มนุษย์เราในปัจจุบันล่องหนเยอะ เช่น ชาวเขา คือมองเห็นเขาเหมือนกัน แต่มองเห็นเขาไม่ใช่คน ดังนั้นเขาก็ไม่สามารถเข้าถึงสวัสดิการของรัฐได้


 


แล้วก็มีปัญหาง่ายๆเช่นคนงานต่างด้าว ที่ทำงานเต็มบ้านเต็มเมือง แต่เรามองไม่เห็นเขา หรือมองเห็นเขาแต่มองเห็นเป็นโจร ดังนั้น การสร้างตัวตนสำคัญมาก พอรัฐจะให้เงินช่วยเหลือ 2000 บาท แกก็ไปให้เฉพาะคนที่มีเงินเดือนประจำแล้ว แต่ว่าถ้าไม่ถึงเขา ที่เรียกว่า แรงงานนอกระบบ ดังนั้น เราจึงต้องสร้างกลุ่มคนเหล่านี้ให้เป็นคนจริงๆ แล้วแรงงานในเมืองไทย แรงงานที่อยู่ในโรงงาน มีไม่ถึงครึ่งที่เหลือรับงานมาทำตามบ้าน


 


แล้วชาวนา ที่ว่าเป็นสันหลังของชาติ แต่เป็นแรงงานนอกระบบอยู่ดี เพราะคนไม่อยู่ในสังกัด ดังนั้น ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นระบบสวัสดิการ สร้างยังไงพวกนี้ก็เข้าไม่ถึง เพราะว่าเป็นมนุษย์ แต่ว่าไม่มีตัวตน


 


 


ย้ำต้องสร้างตัวตนที่สังคมที่มองไม่เห็นให้เข้าถึงระบบสวัสดิการ


การสร้างตัวตัวตนจึงสำคัญมาก หมายถึง การผลักดันให้คนมองเห็นว่า มีคนกลุ่มนี้อยู่ อาจจะต้องมีการวิจัย ต้องเปิดพื้นที่ ต้องมีการเคลื่อนไหวทางสังคม เพื่อเปิดให้คนในสังคมยอมรับว่า เปิดพลังสำคัญของชาติในการที่พัฒนาประเทศ


 


ดังนั้น ความคิดในเรื่องของระบบสวัสดิการเราจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่าง 3 สร้างขึ้นมาด้วย เพื่อทำให้ผู้คนทุกคน เมื่อเป็นคนต้องมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ เราต้องมองคนให้เป็นคน มันถึงจะทำให้ระบบสวัสดิการกระจายไปได้ทั่วถึงทุกคนจริงๆ ไม่ใช่เฉพาะบางกลุ่ม


 


ฉะนั้น การสร้างตัวตนให้กลุ่มสังคมที่มองไม่เห็น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็นมหาศาลที่จะทำให้ระบบสวัสดิการสังคมเข้าถึงคนที่ต้องการความช่วยเหลือ คนที่ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ หรือคนที่ช่วยเหลือตัวเองได้แต่คนมองไม่เห็นคุณค่าของเขามีเยอะ แล้วกลุ่มคนพวกนี้แหละที่ต้องการการเข้าถึงระบบสวัสดิการเหมือนกับคนอื่นเหมือนกัน


 


 


อ่านย้อนหลัง


รายงาน : เราจะสร้าง "สังคมสวัสดิการเพื่อคุณภาพชีวิต" ในประเทศไทยได้อย่างไร (1), ประชาไท, 14 มี.ค. 52

สแกน QR Code เพื่อร่วมบริจาคเงินให้กับประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net