เรื่องเล่าเกี่ยวกับความตายของ “พลทหารอภินพ” และการสั่งฆ่า “สนธิ ลิ้มทองกุล”

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
มีข้อเท็จจริงหลายๆ อย่างที่เกิดขึ้นในสังคมไทยซึ่งเป็นเรื่องซีเรียสมากที่สุดที่จะต้องพิสูจน์ให้สังคมรับรู้ตรงกัน เช่น กรณีการสวรรคตของพระเจ้าตากสิน และกรณีสวรรคตของรัชกาลที่ 8 แต่สังคมไทยก็มีสิทธิ์ได้รับรู้เพียง “เรื่องเล่า” หรือ “นิยาย” เกี่ยวกับข้อเท็จจริงของเรื่องดังกล่าวเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์ได้รับรู้ “ข้อเท็จจริงที่ผ่านการพิสูจน์” อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและหลักกฎหมายจริงๆ
 
ตัวอย่างที่ยกมา อาจมองได้ว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในยุคที่สังคมยังไม่มีการปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย หรือเป็นระบอบประชาธิปไตยที่เพิ่งคลอด เสรีภาพของสื่อมวลชน เทคโนโลยีการสื่อสาร ความตื่นตัวในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร การใส่ใจในปัญหาบ้านเมืองของประชาชนยังไม่ก้าวหน้าเหมือนยุคปัจจุบัน
 
แต่ทำไมในยุคปัจจุบันที่เราดูเหมือนจะเชื่อกันว่า ประชาธิปไตย เสรีภาพของสื่อ เทคโนโลยีการสื่อสารก้าวหน้ากว่ายุคซึ่งยกตัวอย่างมามากแล้วนั้น สังคมจึงยังคงมีสิทธิ์แค่เพียงรับฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่จำเป็นต้องพิสูจน์ให้รับรู้ร่วมกัน เช่น เรื่องเล่าเกี่ยวกับความตายของ พลทหารอภินพ เครือสุข ทหารเกณฑ์ชาวจังหวัดเลย ที่มาเป็นทหารรับใช้ในบ้านพักของแม่ทัพภาคที่ 1 แล้วเสียชีวิตลงอย่างมีเงื่อนงำในช่วงเวลา (ไล่เลี่ยกับ) ที่ นายกฯอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ไปอาศัยบ้านพักดังกล่าวเพื่อหลบมวลชนเสื้อแดง ซึ่งสุดท้ายแล้ว สังคมก็ได้รับทราบเพียงเรื่องเล่าที่ว่า
 
“ต้องมีของแข็งมากระทบ หรือผู้ตายไปกระทบของแข็ง แต่ยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดในขณะนี้ ซึ่งกะโหลกบริเวณดังกล่าว เป็นการแตกร้าวเป็นรอยยาวแบบครั้งเดียว ซึ่งการกระทบที่ทำให้กะโหลกแตกได้นั้นถือว่าเป็นการกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงพอสมควร เพราะหากไม่รุนแรงก็จะไม่ทำให้กะโหลกศีรษะแตกได้ขนาดนี้ แต่ต้องดูในข้อเท็จจริงด้วยว่าตำแหน่งและสภาพของการถูกกระทบกระแทกเป็นอย่างไร ซึ่งแพทย์ตอบไม่ได้ อาจจะต้องอาศัยพนักงานสอบสวนไปดูในที่เกิดเหตุว่าที่เกิดเหตุมีลักษณะเป็นอย่างไร เบื้องต้นแพทย์รู้เพียงว่าศีรษะบริเวณนั้นมีการกระทบกระแทกกับของแข็งเท่านั้นเอง”
(คำให้สัมภาษณ์ของ รศ.นพ.วิสูตร ฟองศิริไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการตรวจศพ มติชนออนไลน์, 27 เมษายน พ.ศ. 2552)
 
อีกกรณีหนึ่งคือเหตุการณ์ใช้อาวุธสงครามยิง นายสนธิ ลิ้มทองกุล ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งต่อมามีการพิสูจน์ทราบว่ากระสุนที่ใช้ยิงเป็นกระสุนที่มาจากกองพลทหารราบที่ 9 แต่ใครคือผู้สั่งยิงหรือจ้างวานฆ่า ยังคงเป็นนิยายอยู่ต่อไป เช่น นิยายจากตำรวจ
 
“อุปสรรคการทำคดีนี้ คือ พนักงานสืบสวนสอบสวนที่ทำคดีถูกข่มขู่ในหลายรูปแบบไม่ให้ทำคดีนี้ แต่ตนไม่ได้ถามว่าถูกข่มขู่อย่างไรบ้าง ทำให้เรื่องนี้เป็นเหตุให้การทำคดีนายสนธิล่าช้าไป แต่ก็ยืนยันว่าจะทำคดีให้เสร็จก่อนเกษียณอายุราชการ”
(คำให้สัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.ธานี สมบูรณ์ทรัพย์,ASTVผู้จัดการออนไลน์,23 มิ.ย.52)
 
และนิยายจาก นายสันธิ ลิ้มทองกุล
 
“ช่วงนี้ก็ไปปล่อยข่าวลือว่า ผมถูกสั่งยิงโดยฟ้า แล้วเขาก็ไม่รู้ว่า ทางข้างบนก็รู้ว่านี่คือข่าวลือที่ปล่อยออกมา ใครปล่อยเขาก็รู้ เขาบอกว่าปล่อยผ่านพระองค์หนึ่งแถวยานนาวา พระองค์นั้นท่านก็ฉุนว่าเอาท่านไปเกี่ยวข้องอะไร ท่านก็โทร.ไปรายงานฟ้าเหมือนกันว่าท่านไม่เกี่ยวข้อง แล้วบอกด้วยว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวลือ นี่คือความทุกข์ มันปิดไม่มิดหรอก เอามือปิดฟ้าได้ยังไง”
(คำให้สัมภาษณ์ของ นายสนธิ ลิ้มทองกุล,ASTVผู้จัดการออนไลน์,23 มิ.ย.52)
 
ที่ว่าตัวอย่างที่ยกมานี้เป็น “เรื่องเล่า” หรือเป็น “นิยาย” เกี่ยวกับ “ข้อเท็จจริง” ก็เพราะว่า คำบอกเล่าต่างๆนั้นมันไม่ได้เป็นการพิสูจน์ให้สังคมเห็นร่วมกันว่า “ข้อเท็จจริง” ของการตายของพลฯอภินพคือการถูกฆาตกรรมหรืออุบัติเหตุ และมันไม่ได้บอกข้อเท็จจริงว่าการสืบคดีนายสนธิใครเป็นคนขู่ หรือคนระดับไหนกันแน่เป็นคนขู่ หรือว่าฟ้า ใคร หรือคนระดับไหนกันแน่ที่สั่งฆ่านายสนธิ
 
อย่างไรก็ตาม เรื่องเล่าเกี่ยวกับข้อเท็จจริงดังกล่าวแม้มันจะไม่ทำให้สังคมรู้ข้อเท็จจริงของสิ่งที่มันพูดถึง แต่มันกลับยืนยันข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพสังคมไทยต่อไปนี้อย่างจะจะชัดจนยิ่ง เช่น.-
 
1. สังคมไทยแม้จะเปลี่ยนการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยมาตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2475 แล้ว แต่ยังเป็นสังคมที่มีอำนาจศักดิ์สิทธิ์แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ดำรงอยู่อย่างมั่นคง และข้อเท็จจริงที่ซีเรียสมากๆที่สังคมจำเป็นต้องรับรู้หากน่าจะเกี่ยวข้องหรือน่าจะกระทบต่อความมั่นคงของอำนาจดังกล่าว สังคมก็จะมีสิทธิ์รับรู้ได้เพียงเรื่องเล่าหรือนิยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นเท่านั้น (เช่น กรณีสวรรคตของพระเจ้าตากสิน และ ร.8 เป็นต้น)
 
2. สังคมไทยมี “ส่วนขยาย” ของอำนาจศักดิ์สิทธิ์ คือกองทัพ ส่วนขยายนี้มีบทบาททั้งปกป้องอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้น ทั้งอ้างอิงอำนาจศักดิ์สิทธิ์นั้นเพื่อทำให้ส่วนขยายนั้นเองก็มีอำนาจที่ใครๆไม่กล้าหรือกลัวที่จะแตะต้อง คัดง้าง หรือแม้แต่จะตรวจสอบ ทวงถาม ความโปร่งใส ความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา หรือข้อเท็จจริงที่ซีเรียสมากๆที่สังคมต้องรับรู้ (เช่นการเสียชีวิตของพลทหาร ฯลฯ) ถ้ามันน่าจะเกี่ยวข้องหรือน่าจะกระทบต่อความมั่นคงของส่วนขยายของอำนาจศักดิ์สิทธิ์นี้ สังคมก็จะมีสิทธิ์รับรู้ได้เพียงเรื่องเล่าหรือนิยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงนั้นเท่านั้น เช่นกัน
 
3. สถาบันที่ควรเป็นที่พึ่งของสังคมในการเปิดเผยข้อเท็จจริงและทำให้เกิดความยุติธรรม เช่น สื่อมวลชน ตำรวจ ฯลฯ เมื่อต้องเผชิญกับอำนาจดังกล่าวก็จะตกอยู่ในสภาพ “เจอตอ” ทำอะไรต่อไม่ได้ มันเหมือนรู้ทั้งรู้ว่าอะไรเป็นอะไรแต่ก็ทำอะไรไม่ได้ จึงได้แต่สร้างเรื่องเล่าหรือนิยายเกี่ยวกับข้อเท็จจริงที่ไม่ได้พิสูจน์ ปล่อยให้สังคมตีความกันไปต่างๆนานา
 
คำถามคือ สังคมควรจะร่วมกันคิดหาวิธีการอย่างไรที่จะทำให้สิ่งที่เรียกว่า “ระบอบประชาธิปไตย” “เสรีภาพของสื่อ” “ความเที่ยงตรงของกระบวนการยุติธรรม” “ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร” สามารถจัดการกับ “ข้อเท็จจริงที่ซีเรียสๆ” ทั้งหลาย ได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ให้สังคมรับรู้ตามหลักวิชาการและหลักนิติธรรมได้จริงๆ ไม่ว่าจะเจอตอเล็ก ตอใหญ่ขนาดไหนก็ตาม!

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท