นักปรัชญาชายขอบ: ปรัชญากับปัญหา ‘ขบวนเสด็จ’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นักปรัชญายุคแสงสว่างทางปัญญา (the Enlightenment) อย่างอิมมานูเอล คานท์ คิดแบบพวกสาธารณรัฐนิยมคลาสสิกว่าการปกครองแบบถือกฎหมายเป็นใหญ่ (rule of law) คือ การปกครองที่ประกันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลจากการใช้อำนาจบังคับตามอำเภอใจของเผด็จการทรราชได้ แต่ในระบบการปกครองแบบสาธารณรัฐตามความคิดคานท์ แม้พลเมืองแต่ละคนจะมีสิทธิ์โหวตเลือกตัวแทนได้ ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็นพลเมืองได้ คนรับใช้และกรรมกรที่อยู่ในอาณัติของเจ้านายไม่มีสิทธิ์โหวตเพื่อสิ่งที่ดีสาธารณะได้ ขณะที่ผู้หญิงก็ไม่สามารถเป็นพลเมืองที่ตื่นตัวร่วมรับผิดชอบต่อส่วนรวม (active citizen) ได้เลย เพราะขาดพลังอำนาจทางปัญญาในการโหวตเพื่อสิ่งที่ดีสาธารณะ ผู้หญิงจึงไม่มีสิทธิทางการเมือง แต่มีสิทธิปัจเจกบุคคลที่ถูกคุ้มครองโดยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม สาวกคานท์ไม่ว่าเจอร์เกน ฮาเบอร์มาส หรือจอห์น รอลส์ ไม่มีใครเอาด้วยกับเรื่องกีดกันผู้หญิง คนรับใช้ และกรรมกรจากพื้นที่ทางการเมือง พวกเขามองว่าคานท์คิดในกรอบของยุคสมัยที่ผู้ชายเท่านั้นมีส่วนรวมทางการเมือง แต่ความคิดพื้นฐานเรื่องสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคานท์ คือการยืนยันว่า “มนุษย์ทุกคน” ไม่ว่าเพศอะไรจะต้องมีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน 

จอห์น สจ๊วต มิลล์ คือนักปรัชญาคนแรกๆ ที่ยืนยันว่า “ผู้หญิงควรมีสิทธิเลือกตั้ง” ด้วยเหตุผลแบบอรรถประโยชน์นิยมว่า การให้ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้งและสิทธิเท่าเทียมอื่นๆ จะเกิดประโยชน์กับบรรดาผู้บรรดาผู้หญิงเอง สามี ลูก และครอบครัวของพวกเธอ รวมทั้งสังคมส่วนรวมมากกว่า นี่คือตัวอย่างของการอ้าง “ประโยชน์ส่วนรวม” เพื่อ “ขยายเสรีภาพ” ให้กว้างออกไป

เรามักเข้าใจกันผิดๆ ว่าแนวคิดอรรถประโยชน์นิยมของมิลล์ให้ความชอบธรรมกับการอ้าง “ประโยชน์ส่วนรวม” หรือ “ประโยชน์ของคนส่วนใหญ่” เพื่อจำกัดหรือละเมิดเสรีภาพของประชาชนได้ และบางคนก็คล้อยตามเผด็จการแบบไทยที่อ้างประโยชน์ของชาติและประชาชนในการทำรัฐประหาร แต่ที่จริงมิลล์ไม่คิดเช่นนี้เลย เขามองว่าอำนาจที่จำกัดและละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคล และเสรีภาพทางการเมือง คืออำนาจแบบเผด็จการทรราช ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทรราชโดยคนคนเดียว กลุ่มบุคคล หรือคนหมู่มาก 

ดังนั้น สำหรับมิลล์ การวางหลักประกันเสรีภาพจากเผด็จการทรราชทุกรูปแบบ จึงไม่ใช่แค่ต้องวางระบบการปกครองที่ถือกฎหมายเป็นใหญ่ เพื่อป้องกันไม่ให้เผด็จการทราชใช้อำนาจตามอำเภอใจได้เท่านั้น แต่ต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า ภายใต้หลักการอะไรที่รัฐและสังคมจะแทรกแซงขัดขวางการใช้เสรีภาพของปัจเจกบุคคลได้ ซึ่งหลักการที่มิลล์เสนอก็คือ “หลักการป้องกันอันตราย”  (harm principle) ที่อาจเกิดขึ้นกับคนอื่น 

โดยหลักการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับคนอื่น รัฐและสังคมจะแทรกแซง ขัดขวาง หรือยับยั้งการใช้เสรีภาพของปัจเจกบุคคลได้ด้วยการใช้ “กฎหมาย” ก็ต่อเมื่อปัจเจกบุคคลทำอันตรายต่อบุคคลอื่นเท่านั้น ซึ่งต้องเป็นอันตรายที่ตรวจสอบได้อย่างเป็น “ภาววิสัย” ด้วย เช่น การละเมิดสิทธิในร่างกาย ชีวิต ทำให้ทรัพย์สินเสียหาย ทำลายเศรษฐกิจหรือรายได้ของคนอื่นให้ลดลง หรือสูญเสียไปที่สามารถตรวจวัดได้ เป็นต้น 

ในอีกด้านหนึ่ง หลักการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดกับคนอื่น ก็คือ “ขอบเขต” ของการใช้เสรีภาพของปัจเจกบุคคลว่า คุณต้องใช้เสรีภาพอย่างมีขอบเขตนะ การละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และศักดิ์ศรีความเป็นคนของคนอื่นมันคือ “การกระทำที่ผิดหลักเสรีภาพ” เพราะเสรีภาพของทุกคนจะมั่นคงได้ ก็ต่อเมื่อทุกคนเคารพเสรีภาพของกันและกัน หรือแต่ละคนใช้เสรีภาพภายใน “ขอบเขต” ที่ต้องไม่เป็นอันตรายหรือละเมิดเสรีภาพของคนอื่น

ส่วนการกระทำที่อาจก่อให้เกิดความ “ขัดเคืองใจ” หรือ “ระคายเคืองความรู้สึก” โดยทั่วไปไม่ถือเป็นการ “ทำอันตราย” ต่อคนอื่น เช่น การเปิดโปง วิจารณ์ตรวจสอบ โจมตีผู้มีอำนาจรัฐ บุคคลสาธารณะในเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตผิดกฎหมาย หรือการทำอะไรที่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน และอื่นๆ ที่เกิดประโยชน์สาธารณะย่อมเป็นธรรมดาที่จะทำให้ผู้ถูกเปิดโปงตรวจสอบขัดเคืองใจ แต่เขาไม่สามารถอ้างความขัดเคืองหรือความไม่พอใจเพื่อห้ามการใช้เสรีภาพในการเปิดโปง วิจารณ์ตรวจสอบ หรือโจมตีอย่างมีหลักฐาน ข้อเท็จจริง และเหตุผลประกอบได้

ขณะเดียวกัน การที่ใครจะแต่งตัวหลุดโลก แสดงออกทางเพศตามรสนิยมของตน ไม่นับถือศาสนาแถมยังวิจารณ์ศาสนาหรือหมิ่นศาสนาอีกเป็นต้น การกระทำทำนองนี้มันอาจเป็นที่ “ขัดเคืองใจ” หรือคนอื่นอาจไม่พอใจได้ แต่ความรู้สึกขัดเคืองใจหรือไม่พอใจมักเป็นเรื่อง “อัตวิสัย” ของแต่ละคนที่ขึ้นอยู่กับ “ความเชื่อ” ส่วนบุคคลบางอย่างที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ บางคนอาจรู้สึกเฉยๆ กับการแต่งตัวหลุดโลก การแสดงอัตลักษณ์ทางเพศ การวิจารณ์ศาสนาหรือการหมิ่นศาสนาของคนอื่น บางคนอาจรู้สึกสนใจ หรือชอบ บางคนอาจขัดเคือง ไม่พอใจ ไม่อยากเห็น ดังนั้น มิลล์จึงเห็นว่า เราจะอ้างความขัดเคือง ไม่พอใจ รำคาญใจมาอ้างว่าถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพ หรือถูกทำอันตรายเพื่อห้ามคนอื่นใช้เสรีภาพแสดงออกแบบที่เราไม่ชอบไม่ได้ ที่เราควรทำคือหลีกเลี่ยงไม่สนใจพฤติกรรมของคนอื่นที่เราไม่ชอบ ต่างคนต่างอยู่ หรืออย่างดีที่สุดก็วิจารณ์หรือแนะนำให้เขาเปลี่ยนพฤติกรรม ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของเขาว่าจะเชื่อหรือทำตามคุณหรือไม่

อย่างไรก็ตาม มีการกระทำที่ก่อให้เกิดความ “ขัดเคืองใจ” บางอย่างที่มากเกินไปและมันอาจเป็นการทำ “อันตราย” ต่อคนอื่นได้ เช่น การโจมตีหรือใช้ “วาทะเกลียดชัง” (hate speech) ต่อชนกลุ่มน้อยทางศาสนา ชาติพันธุ์ เหยียดเพศ สีผิว และอื่นๆ ที่อาจทำให้คนอื่นเกิดความอึดอัดคับข้องใจจนไม่สามารถใช้ชีวิตตามปกติได้ ต้องย้ายโรงเรียน ย้ายที่ทำงานเป็นต้น หากเป็นการกระทำเช่นนี้ย่อมเป็นการละเมิดขอบเขตเสรีภาพ 

โดยปกติ การใช้เสรีภาพในการพูดการแสดงออกทางสาธารณะที่น่ายอมรับ คือการใช้เสรีภาพตรวจสอบ “อำนาจที่เหนือกว่า” หรืออำนาจที่ส่งผลกระทบด้านบวกและลบต่อสังคมส่วนรวม การวิจารณ์ตรวจสอบคนที่ด้อยอำนาจกว่า ก็อาจทำได้ในแง่ที่เขาละเมิดกฎหมายหรือละเมิดสิทธิและเสรีภาพคนอื่น แต่ไม่ใช่มุ่งจับผิดพร่ำเพรื่อ อย่างที่พวกนักบวชชอบวิจารณ์กดเหยียดความเชื่องมงายแบบบ้านๆ ขณะที่สถาบันศาสนาเองก็มากด้วยความงมงาย และเป็นระบบอำนาจนิยม

ตัวอย่างการตรวจสอบที่ชอบธรรม เช่น คนรุ่นใหม่ออกมาสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเด็นคำถามว่า “คุณคิดว่าขบวนเสด็จสร้างความเดือดร้อนหรือไม่” การสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลทำนองนี้เป็นเรื่อง “ปกติ” ที่สังคมอารยะทั้งหลายเขาทำกัน เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกที่ถูกต้องชอบธรรมตามหลักประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนสากล

มองจากทัศนะของมิลล์ การออกมาตั้งคำถามต่อ “ขบวนเสด็จ” คือการต่อสู้เพื่อเสรีภาพที่สำคัญมาก เพราะ “เสรีภาพย่อมได้มาจากการต่อสู้ของประชาชน” และ “เสรีภาพคือสิ่งที่ทุกคนต้องมีเท่าเทียมกัน” ไม่ใช่คนบางคน บางชนชั้นมีเสรีภาพได้มากกว่าหรือมีได้อย่างละเมิดเสรีภาพคนส่วนใหญ่ ขณะที่บางคนหรือคนส่วนใหญ่ถูกจำกัดหรือถูกละเมิดเสรีภาพอย่างไร้ความเป็นธรรม

ในความเรียง “ว่าด้วยเสรีภาพ” (On Liberty) มิลล์ยืนยันหลักการที่ว่า “เสรีภาพคือสิ่งที่ทุกคนต้องมี” ว่า “ถ้ามีเพียงคนหนึ่งคนคิดต่างจากมวลมนุษย์ทั้งหมด เขาย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น มวลมนุษย์ทั้งหมดจะใช้อำนาจเผด็จการปิดปากเขาไม่ได้ เช่นเดียวกัน หากคนหนึ่งคนนั้นมีอำนาจเขาก็ไม่มีความชอบธรรมจะใช้อำนาจเผด็จการปิดปากคนทั้งหมดที่คิดต่างจากเขาได้” ดังนั้น หลักเสรีภาพของมิลล์จึงปฏิเสธเผด็จการทรราชโดยคนคนเดียวและโดยคนหมู่มากอย่างสิ้นเชิง

มองจากความคิดแบบมิลล์ การสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับขบวนเสด็จเป็น “เสรีภาพที่ต้องถูกเคารพ” อำนาจรัฐหรือสังคมไม่มีความชอบธรรมใดๆ ในการขัดขวาง ยับยั้ง หรือลงโทษต่อการใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ และมันไม่ใช่ “การสร้างความแตกแยก” แต่เป็นการยืนยันว่า “ทุกคนต้องมีเสรีภาพเท่าเทียมกัน” สังคมที่ทุกคนมีเสรีภาพเท่าเทียมกันไม่ใช่สังคมที่แตกแยก สังคมที่ไม่ยอมรับ ไม่เคารพเสรีภาพที่เท่าเทียมต่างหากคือสังคมที่แยกแยก เพราะเป็นสังคมที่ไม่มี “กติกาที่ฟรีและแฟร์” ในการอยู่ร่วมกัน

เมื่อมองจากความคิดแบบคานท์และรอลส์ การออกมาตั้งคำถามต่อ “ขบวนเสร็จ” คือการยืนยัน “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ของ “พลเมืองเสรีและเสมอภาค” (free and equal citizens) เพราะพลเมืองเสรีและเสมอภาคไม่ใช่ไพร่ ทาส แต่เป็นเจ้าของสิทธิ เสรีภาพ จึงต้องใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การแสดงออก การวิจารณ์ตรวจสอบทุกระบบอำนาจที่ใช้ภาษีของประชาชน

สังคมเราควรมีวุฒิภาวะยอมรับความจริงกันเสียทีว่า คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบัน พวกเขามีชีวิตในโลกไร้พรหมแดนที่ถูกดดันรอบด้านจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา เทคโนโลยีที่เป็นเครือข่ายระดับโลก พวกเขามีความคาดหวังถึงอนาคตที่ก้าวหน้า ต้องการเห็นสังคมและโลกมีความเป็นธรรมและน่าอยู่มากขึ้น ซึ่งต้องเริ่มจากการมีเสรีภาพและประชาธิปไตย ดังนั้น อำนาจใดๆ ไม่ว่าอำนาจในระบบการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม การผูกขาดทางเศรษฐกิจ และเผด็จการทางการเมืองล้วนแต่เป็นอุปสรรคที่คนรุ่นใหม่ยอมรับไม่ได้อีกต่อไปแล้ว

แทนที่จะใช้อำนาจบาตรใหญ่กดปราบ จับคนหนุ่มสาว “ขังลืม” เพื่อ “ปิดปาก” พวกเขาไม่ให้เรียกร้องเสรีภาพและประชาธิปไตย ซึ่งไม่มีทางทำสำเร็จได้จริง บรรดาผู้มีอำนาจควรเปิดใจรับฟังเสียงและข้อเสนอของพวกเขาดีกว่า หากไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์จารึกความเป็น “เผด็จการทรราช” ของตนเองไปตราบนานเท่านาน! 

  

ที่มาภาพ: สำนักข่าวราษฎร www.facebook.com/RatsadonNews

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท