Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 

 “อาจเป็นเพราะว่าผมเป็นคนหัวเมือง จึงมองปัญหาต่างกับคนที่อยู่
แต่ในพระนคร ผมไม่เห็นด้วยที่มองปัญหาประเทศไทยด้วยสายตาของคนกรุงเทพฯ
ไกรศรี นิมมานเหมินท์,
ให้สัมภาษณ์นิตยสาร ผู้นำ. 2526 [1]

 
“(พ.ศ. 2479) ไกรศรีคุยว่าโรงเรียนของเขาเยี่ยมที่สุดในสหรัฐ ทั้งเก่าแก่ กว้างใหญ่
ร่ำรวยทั้งเงิน ศาสตราจารย์ และเครื่องมือค้นคว้า โรงเรียนของผม (M.I.T.) เท่ากับแผนก
หนึ่งของฮาร์วาร์ด เท่านั้น เขาเล่าว่า Harvard เจ้าของชื่อโรงเรียนทำพินัยกรรมเมื่อ 300 ปีมาแล้ว
ยกหนังสือ 260 เล่ม และที่ดินมูลค่า 780 ดอลล่าร์ให้โรงเรียนเมื่อแรกตั้ง ไกรศรีเองคิดว่า
กลับไปเมืองไทยแล้ว อาจจะเอาอย่าง Harvard ก็ได้ ถ้าหากการเรียนของเขาสัมฤทธิ์ผล...
เขายังพาผมไปชมพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ชี้ให้ผมดูโครงกระดูกไดโนเสาร์ ดูวิวัฒนา
การของสัตว์และพืช ไม่พาดูเปล่า แต่ยังอธิบายให้ผมฟังราวกับว่าแกเรียนวิชานี้มา...
สัปดาห์อื่น เขาพาไปพิพิธภัณฑ์ศิลปะ ซึ่งมีอยู่หลายแห่งในบอสตัน ไกรศรีบอกว่าเราต้องรู้ว่า
งานศิลปะของใคร จะพอพูดคุยกับเขาได้...ไกรศรีต้องทำรายงานส่งครูเรื่องธุรกิจสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
เขาเลยเอาผมไปดูตลาดปลา ตลาดหุ้น ท่าเรือ ฯลฯ เลยได้เรียนประวัติศาสตร์
เศรษฐกิจ และการเมืองของสหรัฐไปในตัว... เพื่อนที่ไปจากกรุงเทพฯคุยกับไกรศรีไม่ถูกคอ
เพราะพวกนั้นชอบในทางกินและสนุก แต่ไกรศรีเอาแต่วิชาการและมุ่งจะทำปริญญาโท...ให้สำเร็จ
จะได้กลับไปรับใช้ชาติ...ผมเป็นคนเดินสายกลาง คบคนได้ทุกแบบ ผมภูมิใจในตัวเองอยู่คนเดียวว่า
ผมเหนือไกรศรีตรงนี้ ระบำโป๊ หนังระบำทำเพลงผมไปดูกับคนอื่น แต่ถ้าเป็นหนังต่อสู้ชีวิตทางการเมืองเมื่อไร
ไกรศรีชวนผมไปมีอยู่เรื่องหนึ่ง ไอร์แลนด์ต่อสู้กับอังกฤษเพื่อเอกราช ผมดูแล้วไม่เห็นสนุกอะไร
นางเอกก็ไม่มี แต่ไกรศรีชอบมาก เขาบอกว่า ผมไม่เคยเป็นคนเชียงใหม่
เลยไม่รู้สึกเหมือนเขา ไกรศรีเป็นนักชาตินิยมเหมือนกับผม แต่เขารุนแรงยิ่งกว่า ควรจะจัดว่า
เขาเป็นนักท้องถิ่นนิยมเข้าไปด้วย เพราะอะไรๆที่เชียงใหม่ต้องดีกว่ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ภูมิประเทศ
ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษา อาหารการกิน เชียงใหม่มีดอยสุเทพเป็นภูเขาแท้ กรุงเทพฯ
มีแต่ภูเขาทองก็เป็นภูเขาเทียมคำพูดทางเหนือเป็นคำไทยแท้บริสุทธิ์ แต่คำพูดทางกรุงเทพฯ
ไปเอาภาษาขอมและภาษาแขกมาผสมเขาพยายามสอนภาษาเชียงใหม่ให้ผม
เอาหนังสือพื้นเมืองมาให้เรียน สอนคำพูดตลอดจนโคลงกลอนล้านนา
วิชา เศรษฐบุตร,
อดีตปลัดกระทรวงพัฒนาการแห่งชาติ,
2527 [2]
 
                                                                       
            ในห้วงเวลา 1 ศตวรรษที่ผ่านมารัฐไทยเป็นรัฐรวมศูนย์อำนาจอย่างมาก จะหาคนทำงานเพื่อให้ท้องถิ่นเข้มแข็งนั้นนับว่าหาได้ไม่ง่ายเลย ที่สำคัญก็เพราะเหตุว่าการรวมศูนย์อำนาจอย่างหนักได้ทำให้เกิดการทำลายท้องถิ่นอย่างหนักอันเป็นผลสืบเนื่อง เมื่อเป็นเช่นนั้น ภาคประชาสังคมในท้องถิ่นจึงอ่อนแอมาก ยิ่งไปมองหานักธุรกิจที่ให้ความสนใจและสนับสนุนความรู้เรื่องท้องถิ่นก็ยิ่งมีน้อยคนเหลือเกิน
 
หนึ่งในบรรดานักธุรกิจไม่กี่คนนั้นไม่ใช่เพียงนักธุรกิจผู้สนับสนุนงานส่งเสริมท้องถิ่นเหมือนคนอื่นๆ แต่ยังเป็นปราชญ์คนสำคัญของท้องถิ่นอีกด้วย
 
            นายไกรศรี นิมมานเหมินท์ นับเป็นนักรบท้องถิ่นที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่ง หากกล่าวในแง่ที่ว่าจะมองหานักธุรกิจ นักพัฒนาสังคม นักวิชาการ และปราชญ์ท้องถิ่น เขาแทบจะเป็นหนึ่งเดียวบนแผ่นดินล้านนาในห้วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมา
 
นายไกรศรี เกิดในครอบครัวนักธุรกิจเชื้อสายจีนที่มากด้วยความสามารถ ต้นตระกูลของเขาคือตระกูลแซ่แต่ ซึ่งอพยพหลังกรุงแตกในปี พ.ศ. 2310 ออกมาจากบ้านท่าดินแดง อยุธยา ไปอยู่ที่ย่านคลองบางกอกน้อย ธนบุรี ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ 2 บรรดาสมาชิกสกุลแซ่แต่ซึ่งเป็นสกุลเดียวกันกับพระเจ้าตากสินก็ประสบชะตากรรม ต่างคนต้องแยกย้ายหนีภัยออกนอกเขตนครหลวง
 
            นายซ้อ-นางหงษ์ แซ่แต่ พาลูกๆขึ้นมาตั้งรกรากที่ตำบลพระบาท อำเภอเมือง ลำปาง หลังจากหัวหน้าครอบครัวเสียชีวิต นางหงส์ก็พาลูกทั้ง 12 คนข้ามดอยขุนตาลขึ้นมาที่บ้านช่างฆ้อง ใกล้บ้านปากบ่อง ริมฝั่งน้ำแม่กวง ลำพูน และหลังจากการค้าขายของเมืองเชียงใหม่เจริญก้าวหน้าในตอนต้นสมัยรัชกาลที่ 5 ลูกหลานสกุลแซ่แต่ก็อพยพขึ้นมาตั้งรกรากที่ย่านวัดเกต ริมฝั่งน้ำปิงด้านตะวันออกของเมืองในปี พ.ศ. 2426 ตระกูลแซ่แต่ออกลูกหลานมากมาย ได้สร้างสัมพันธ์สกุลอื่นๆ มีนามสกุลเกิดขึ้นภายหลังหลายสิบสกุลซึ่งล้วนเป็นสกุลของผู้มีชื่อเสียงของเมืองเชียงใหม่ในเวลาต่อมา [3]
 
 
บรรพชนสุดยอดฝีมือ
            สมาชิกสกุลแซ่แต่คนหนึ่งแต่งกับสกุลแซ่ฉั่ว ต่อมาคือสกุลชุติมา และอีกคนหนึ่งแต่งงานกับสกุลแซ่นิ้ม ต่อมาก็คือ สกุลนิมมานเหมินท์
 
หลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง-ชุติมา, 2410 - 2477) และนางคำเที่ยง บุรี (แซ่โค้ว 2411- 2473) เป็นครอบครัวนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง นายสุ่นฮี้เป็นนักธุรกิจที่ขยันขันแข็งและมีความสามารถรอบด้าน มีความรู้ในภาษาล้านนาและภาษากรุงเทพฯอย่างดีเยี่ยม เขาเปิดร้านชัวย่ง เสง บนถนนวิชยานนท์ รับซ่อมเครื่องใช้ทุกอย่างในบ้าน เช่น ตะเกียง นาฬิกา จักรยาน กระทั่งปืน เป็นช่างแกะสลักลวดลายต่างๆ ต่อมายังเปิดร้านถ่ายรูป และที่สำคัญ ได้นำสินค้าจากกรุงเทพฯและมะละแหม่งมาขายในเชียงใหม่ทำรายได้อย่างงาม [4]
 
เขาริเริ่มกิจการเดินรถโดยสารระหว่างเชียงใหม่-ลำพูน เป็นรายแรก รถโดยสารคันแรกชื่อ “พญาปราบ” (แสดงว่าต้องเกิดขึ้นหลังปี 2432-33 และยังสะท้อนความคิดอันทันสมัยของนักธุรกิจรายนี้) คันที่ 2 ชื่อ “เจริญเมือง” (ตามชื่อถนนย่านสันป่าข่อย) เขาเป็นคนแรกที่นำสามล้อเข้ามาขนส่งสินค้าไปตามที่ต่างๆ ทั้งหมดนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี ทำให้นายสุ่นฮี้สามารถสร้างอาคารตึกหลังแรกบนถนนวิชยานนท์ (พ.ศ. 2440) นายสุ่นฮี้ช่วยเหลือกิจการต่างๆของทางการเป็นอย่างดีจนได้รับแต่งตั้งให้เป็นหลวงอนุสารสุนทรในปี พ.ศ. 2453 [5]
 
เนื่องจากนายสุ่นฮี้นำเข้าสินค้าจากต่างประเทศเข้ามาขาย ต้องติดต่อกับท่าเรือที่กรุงเทพฯและเมืองมะละแหม่ง เขาจึงเล็งเห็นความสำคัญของการเรียนรู้ภาษาอังกฤษ จึงได้ติดต่อชาวพม่าและมอญที่รู้ภาษาอังกฤษดีมาสอนที่เชียงใหม่ นายสุ่นฮี้ริเริ่มเปิดโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นเป็นแห่งแรก เรียกว่าโรงเรียนหม่องส่วยต่อ ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนชัวย่งเสงอนุกูลวิทยา และเปลี่ยนชื่อเป็นโรงเรียนอนุสารบำรุงวิทยาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงท้ายของชีวิต นายสุ่นฮี้ได้ค้นคว้าตำรายาอายุวัฒนะจากภาษาพม่า และเขียนหนังสือชื่อ ตำรายาหัวกวาวเครือ (พ.ศ. 2474) ออกแจกจ่าย [6] ส่วนนางคำเที่ยงมาจากตระกูลนายอากรหมาก ผูกขาดเก็บภาษีหมากในเขตอำเภอสันทรายและดอยสะเก็ด ซึ่งมีฐานะร่ำรวยอีกตระกูลหนึ่ง เป็นสตรีคนเมืองที่มีความรู้ดีเยี่ยมทั้งภาษาล้านนาและภาษาไทยกลาง เก่งวิชาคำนวณ การใช้ลูกคิด และมีความเชี่ยวชาญด้านการค้ามาก [7]
 
            นายไกรศรี เป็นบุตรคนโตของนายกี นิมมานเหมินท์ (2431-2508) และนางสาวกิมฮ้อ ชุติมา (2437-2524) เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2455 ที่บ้านของคุณตา (หลวงอนุสารสุนทร) ถนนวิชยานนท์ ข้างตลาดวโรรส กลางเมืองเชียงใหม่ นายกีมีความรู้ในภาษาอังกฤษดียิ่ง จบการศึกษาจากโรงเรียนอัสสัมชัญที่กรุงเทพฯ เขาเป็นนักเรียนจากเชียงใหม่คนแรกที่ลงไปเรียนหนังสือที่เมืองหลวง สมัยนั้น นายกีต้องนั่งเรือถ่อเดินทางลงไปเรียนที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทาง 3 สัปดาห์ ขากลับใช้เวลา 2 เดือนเศษถึง 3 เดือน ส่วนนางกิมฮ้อ ชอบอ่านหนังสือทุกชนิด มีความรอบรู้ในเรื่องประวัติศาสตร์ โบราณคดี และศาสนา แม้จะมีธุรกิจมากเพียงใดแต่จะจัดเวลาอ่านหนังสือทุกวันๆละ 3 ชั่วโมง ที่บ้าน มีหนังสือจำนวนมากแทบทุกห้อง และมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมการศึกษาของลูกทุกคน [8]
 
            นายกี-นางกิมฮ้อ มีบุตรธิดา 6 คน คือ
1. นายไกรศรี (ชื่อจีน - คัยสุย) นิมมานเหมินท์ (2455-2535)
2. นายพิสุทธิ์ (ฮะสุย) (2458-2508) ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (2514-2518)
            3. ศาสตราจารย์อัน (อันสุย) (2460-2540) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์
มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยศิลปากร
            4. นายเรือง (เหลี่ยงสุย) (2462-2531) อดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ (2501-03,
2517-19) [9]
            5. นางแจ่มจิตต์ (เช็งซิม) เลาหวัฒน์ (2464-2546) อดีตประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่
            6. นางอุณณ์ (อุนซิม) ชุติมา (2466- ) ผู้อำนวยการศูนย์วัฒนธรรม เชียงใหม่
 
            ปรากฏว่าลูกชายทั้ง 4 คนของตระกูลนี้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกในขณะนั้น คือ ฮาร์วาร์ด, เยล, คอร์เนล และเพ็นซิลวาเนีย ส่วนลูกสาวทั้งสองจบอักษรและบัญชี จากจุฬาฯ ตามลำดับ (ทั้งสองยังมีโครงการไปศึกษาต่อระดับปริญญาโทในต่างประเทศ แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 เสียก่อน) [10]    
 
            นายไกรศรีเดินทางโดยเรือไปเรียนต่อระดับปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยเพ็นซิลเวเนีย ในปี 2475 สมัยนั้น นักศึกษาไทยส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาแพทย์ได้รับทุนหลวง นอกจากนั้น ก็นักศึกษาวิชาทหาร ทุนรัฐบาล ด้วยเหตุนั้น นายไกรศรี จึงเป็นคนไทยคนแรกที่จบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปีพ.ศ. 2481 [11]
 
           มองจากจุดนี้ นี่คือตระกูลที่เปี่ยมด้วยฐานะทางเศรษฐกิจและการพัฒนาด้านสติปัญญาโดยแท้ และไม่มีข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้นเมื่อบุตรธิดาแต่ละคนผงาดขึ้นเป็นผู้นำในสาขาของแต่ละคน
 
 
ชีวิตและงานของนายไกรศรี
            นายไกรศรีกลับมาเป็นอาจารย์ที่จุฬาลงกรณ์ฯ ระยะหนึ่ง ได้ร่วมก่อตั้งคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาฯ จากนั้นจึงลาออกเพื่อกลับบ้านและทำงานด้านธนาคาร เช่น เป็นตัวแทนธนาคารนครหลวงไทย และธนาคารกรุงเทพพาณิชย์การที่เชียงใหม่ ต่อมา คืนสู่เมืองหลวงเพื่อเป็นผู้จัดการบริษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ก่อตั้งโดยข้อแนะนำของธนาคารโลก) มีหน้าที่ส่งเสริมอุตสาหกรรมของประเทศ ด้วยการหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศมาให้กิจกรรมอุตสาหกรรมในประเทศ จากนั้น กลับไปเชียงใหม่ทำงานด้านการเงินและการธนาคารของครอบครัว ก่อตั้งบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ไทยพัฒนา บริษัทเชียงใหม่พาณิชย์ ก่อตั้งโรงแรมรินคำ และเป็นผู้บริหารตลาด วโรรส ฯลฯ
 
นายไกรศรีมีบทบาทอย่างมากในด้านศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น เช่น
            ปี 2496 ออกหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ชื่อ “คนเมือง” ริเริ่มการจัดงานเลี้ยงแบบขันโตกดินเน่อร์ และการแต่งกายแบบพื้นเมืองในงานเลี้ยงส่งข้าราชการที่ต้องโยกย้ายไปรับตำแหน่งในจังหวัดอื่นและรณรงค์การแต่งกายแบบพื้นเมืองและการพูดภาษาคำเมือง
 
            ริเริ่มจัดทำป้ายบอกสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญในเชียงใหม่
  
          ขนย้ายคัมภีร์ใบลานจำนวนมากจากถ้ำสองฝั่งแม่น้ำปิง ให้พ้นจากการถูกน้ำท่วมเพราะการสร้างเขื่อนภูมิพล และนำไปเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เชียงใหม่, ค้นพบเตาสังคโลก ที่อำเภอสันกำแพง อำเภอสันทราย อำเภอวังเหนือ อำเภอเมือง ลำปาง และที่อำเภอพาน เชียงราย
 
           ปี 2499 นำชาวไทเผ่าต่างๆจากภาคเหนือและภาคอีสาน รวมทั้งจากประเทศเพื่อนบ้านไปร่วมประชุมสัมมนาเกี่ยวกับภาษาไทอันหลากหลายที่สมาคมสตรีไทย กรุงเทพฯ
 
            ปี 2505 ร่วมกับสยามสมาคมฯสำรวจชีวิตความเป็นอยู่ของเผ่าตองเหลือง จังหวัดน่าน
 
            ปี 2506 ร่วมกับสยามสมาคมฯสำรวจค้นคว้าและทำทะเบียนคัมภีร์ใบลานในจังหวัดต่างๆ
ค้นพบเอกสารใบลาน คือกฎหมายมังราย ที่วัดเสาไห้ สระบุรี, บันทึกเสียงการขับร้องเพลงไทเดิมของคนไทยที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ในพม่า, นำเครื่องเขิน “โยนเถ่” จากพม่า ผลิตโดยคนเชียงใหม่ที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่พม่านานแล้ว, เขาได้มอบบ้านโบราณ “เรือนคำเที่ยง” ซึ่งเป็นบ้านของคุณยายให้แก่สยามสมาคมที่กรุงเทพฯในปี 2507 นับเป็นเรือนท้องถิ่นเก่าแก่ที่ล้ำค่าหลังหนึ่งที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบัน [12]
 
            ปี 2509 นำไม้แกะสลักจากไม้ฉำฉา มาจากฟิลิปปินส์ ไปเผยแพร่การแกะสลักด้วยไม้ฉำฉาในภาคเหนือ, สนับสนุนการจัดทำสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
 
            ปี 2523 เป็นประธานจัดการประชุมองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก ที่เชียงใหม่ เป็นกำลังสำคัญในการก่อตั้งพุทธสถานเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่พุทธศาสนาและวัฒนธรรม และก่อตั้งมูลนิธิพุทธสถาน,
 
            มอบที่ดิน 24 ไร่ เพื่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดเชียงใหม่
 
            สนับสนุนการจัดทำพจนานุกรมล้านนาไทย ฉบับแม่ฟ้าหลวง และก่อตั้งมูลนิธิไกรศรี-จรรยา นิมมานเหมินท์ เพื่อสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าและการสัมมนาด้านล้านนาคดีในสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ, สนับสนุนการให้ทุนการศึกษา การสร้างโรงเรียนจำนวนมาก และการบูรณะวัดต่างๆในภาคเหนือ
 
นายไกรศรีได้เขียนบทความและหนังสือเกี่ยวกับล้านนาคดีที่สำคัญหลายชิ้น เช่น “เครื่องถ้วยสันกำแพง” (2503) บทความเรื่อง “ผีตองเหลือง” ร่วมกับ J. Hartland Swann ตีพิมพ์ใน วารสารสยามสมาคม (2503) “กฎหมายเหมืองฝายของพญามังราย” ลงในเอกสารลำดับที่ 58 โครงการเอเชียอาคเนย์ของมหาวิทยาลัยคอร์เนล, บทความ “เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง” ลงในเอกสารลำดับที่ 59 โครงการเอเชียอาคเนย์, บทความเรื่อง “เทพารักษ์นครเชียงใหม่ของชาวละว้า” (วารสารสยามสมาคม, 2510) นิยายอิงประวัติศาสตร์ เรื่อง The Romance of Virangha (2514) กวีนิพนธ์ เรื่อง กาพย์เจี้ยจามเทวีและวิรังคะ (2530) [13]
 
นายไกรศรี ถึงแก่กรรม เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2535
 
 
บทวิเคราะห์
            เมื่อได้อ่านประวัติชีวิตและผลงานของนายไกรศรี คงไม่มีข้อสงสัยใดๆทั้งสิ้นว่าท่านผู้นี้มิใช่เพียงปราชญ์คนหนึ่งของล้านนาสมัยใหม่ แต่ยังเป็นบุคคลที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งของยุค เนื่องด้วยความรู้ความสามารถรอบด้าน และที่สำคัญด้านทุนทรัพย์ ที่คนอื่นๆจำนวนไม่น้อยก็มีเหมือนกัน เพียงแต่ขนาดของหัวใจนั้นไม่เท่ากัน
 
            ในบรรดางานเขียนที่กล่าวถึงปราชญ์ผู้นี้ บันทึกของนายวิชา เศรษฐบุตร (ดังที่ได้นำเสนอในตอนต้นของบทนี้) ให้ภาพที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับความเป็นนายไกรศรี ไม่ว่าจะเป็นความใส่ใจในการศึกษาและเรียนรู้เรื่องรอบๆตัว ความรักและภาคภูมิใจในแผ่นดินเกิด ความรักชาติและความมุ่งมั่นที่จะรับใช้ชาติ ความรับผิดชอบต่อการศึกษา ต่อตนเองและต่อครอบครัว
 
            เมื่อนายไกรศรีกลับมาทำธุรกิจที่บ้านเกิดในตอนกลางทศวรรษที่ 2490 ผลงานชิ้นสำคัญของเขาคือ การปลุกกระแสท้องถิ่นนิยม ด้วยการจัดทำหนังสือพิมพ์ “คนเมือง” รายสัปดาห์ การจัดงานขันโตกดินเน่อร์ การรณรงค์แต่งกายพื้นเมือง และการรณรงค์อู้กำเมือง ตลอดจนการรื้อฟื้นวัฒนธรรมบางอย่างเช่น การฟ้อน ดนตรี และอาหารบางชนิด ดังคำให้สัมภาษณ์ของเขาต่อนิตยสาร ผู้นำ ในปี พ.ศ. 2526 ที่ว่ากรุงเทพฯกับต่างจังหวัดแตกต่างกัน วิธีมองปัญหาจึงไม่ควรจำกัดแต่กรอบการมองของคนเมืองหลวง พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ รัฐบาลจะต้องฟังเสียงของคนท้องถิ่นด้วย
 
            งานสำคัญชิ้นที่สองคือ การใช้หนังสือพิมพ์ “คนเมือง” รณรงค์ให้มีมหาวิทยาลัยในภูมิภาคในปี พ.ศ. 2498-2499 การรณรงค์ครั้งนี้เกิดจากการที่กลุ่มมิชชันนารีอเมริกันในเชียงใหม่ขอบริจาคที่ดินจากตระกูลของเขาเพื่อขอจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งแรกในต่างจังหวัด แต่รัฐบาลไม่อนุมัติโดยอ้างว่าไม่อาจยอมให้มีมหาวิทยาลัยของชาวต่างประเทศ และหลังจากนั้น สมาชิกราชสกุล ณ เชียงใหม่ได้เสนอขายที่ดินแปลงใหญ่ของพระราชชายา เจ้าดารารัศมีที่อำเภอแม่ริมให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และขอให้จุฬาลงกรณ์ฯเปิดมหาวิทยาลัยดารารัศมี เพื่อให้เป็นคู่กัน แต่กระทรวงศึกษาธิการเพียงแต่ยอม รับซื้อที่ดิน แต่ไม่มีการเปิดมหาวิทยาลัยใดๆ จนกระทั่งรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจรแถลงนโยบายในช่วงต้นปี พ.ศ. 2501 ว่า “รัฐบาลจะแพร่พัฒนาการศึกษาออกไปให้ทั่วถึงส่วนภูมิภาค” และคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้งมหาวิทยาลัยขึ้นที่เชียงใหม่ในวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2503 [14]
 
            อย่างไรก็ตาม จากการที่กลุ่มมิชชันนารีอเมริกันในเชียงใหม่ได้ติดต่อขอให้ตระกูลนิมมานเหมินท์บริจาคที่ดินเพื่อจัดตั้งมหาวิทยาลัยอเมริกันนั้น ฝ่ายตระกูลฯได้ประกาศว่าจะบริจาคที่ดินให้โดยไม่คิดค่าตอบแทน แต่มีเงื่อนไข 3 ข้อ คือ 1. มหาวิทยาลัยจะต้องเปิดคณะแพทยศาสตร์โดยเร็ว 2. จะต้องจัดตั้งสถาบันวิจัยโรคเขตร้อนและให้โรงพยาบาลมีจำนวนเตียงมากพอ และ 3. มหาวิทยาลัยจะต้องยอมให้ผู้บริจาคคัดเลือกนักศึกษาจากชนบทที่มีผลการเรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เพื่อให้นักศึกษาเหล่านั้นได้รับทุนปีละ 8 คนและต้องกลับไปอยู่ที่ภูมิลำเนาเดิมหลังสำเร็จการศึกษา เราจะพบว่าเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อตลอดจนการผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยของมิชชันนารีหรือมหาวิทยาลัยของรัฐจากกรุงเทพฯ โดยที่ตนเองมีบทบาทเพียงเป็นผู้บริจาคที่ดินหรือผลักดันให้รัฐบาลกลางจัดตั้งมหาวิทยาลัยเท่านั้น นับว่าแตกต่างจากกรณีของปัญญาชนญี่ปุ่นเป็นอย่างยิ่ง
 
            Yukichi Fukuzawa (พ.ศ. 2378-2444) ได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อในยุโรปและสหรัฐในปี พ.ศ. 2405 เขาคือปัญญาชนที่โดดเด่นที่สุดของญี่ปุ่นเพราะเขาเสนอว่าญี่ปุ่นจะต้องปฏิรูปการศึกษาเพื่อที่จะก้าวให้ทันตะวันตก หลังจากที่กลับถึงญี่ปุ่นในปี พ.ศ. 2410 ฟูคูซาว่า ได้จัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ตะวันตก (Keio Gijuku) เขาเห็นความสำคัญของการศึกษาและการพัฒนาธุรกิจ เขาเห็นว่าการศึกษาต้องสร้างนักธุรกิจรุ่นใหม่ เขาปรารถนาจะเห็นสถาบันเคโอะเป็นเหมือนสาขาของมหา วิทยาลัยฮาร์วาร์ดในญี่ปุ่น ฟูกูซาว่าปฏิเสธเข้ารับราชการ เขาต้องการสร้างสถาบันเคโอะให้ผลิตบัณฑิตที่เข้าสู่วงการธุรกิจและธนาคาร มิใช่เข้าสู่ภาครัฐ ต่อมา ในปี พ.ศ. 2426 ฟูกูซาว่าก่อตั้งหนังสือพิมพ์ชื่อ Jiji Shimpo (Times) เรียกร้องให้คนญี่ปุ่นตื่นขึ้นเรียนรู้กระแสตะวันตก กล้าที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ ไม่ใช่เดินตามตะวันตก แต่จะต้องเรียนรู้เท่าทันตะวันตกให้ได้ จากนั้น ในปี พ.ศ. 2442 สถาบันเคโอะได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรกของญี่ป่น [15]
 
            ในปี พ.ศ. 2424 นักศึกษาชาย 3 คนจากชนบทห่างไกลจากนครโตเกียวซึ่งได้รับการคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อในยุโรปได้กลับมาร่วมมือกันก่อตั้งสถาบันกฎหมายเมจิ เพื่อส่งเสริมการศึกษากฎหมายแบบเสรีนิยมตามแนวของฝรั่งเศส และต่อมาได้กลายเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่อเสียงด้านกฎหมาย (คือมหาวิทยาลัยเมจิ) ในปี พ.ศ. 2428 กลุ่มทนายความหนุ่ม 18 คนได้รวมกันก่อตั้งสถาบันสอนกฎหมายอังกฤษ โดยให้เหตุผลว่ากฎหมายอังกฤษมีลักษณะปฏิบัติมากกว่ากฎหมายของฝรั่งเศส โดยได้เน้นหลักการไม่ยอมอ่อนข้อ และต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ต่อมาในปี 2446 สถาบันแห่งนี้ได้กลาย เป็นมหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชื่ออีกแห่งหนึ่ง (คือมหาวิทยาลัย Zhuo)
 
กรณีของนาย Arinori Mori (พ.ศ. 2390-2432) ก็นับว่าน่าสนใจเช่นกัน นายโมริได้รับทุนจากตระกูลนักธุรกิจให้ไปเรียนที่ยุโรปและสหรัฐ เขาได้สังเกตว่าความรุ่งเรืองก้าวหน้าของอังกฤษในยุคพระนางวิคตอเรีย (พ.ศ. 2362-2444) และสหรัฐในช่วงเวลาเดียวกันตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องอาศัยบุคลากรที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจ และนั่นคือหลักประกันของเอกราชของชาติ เมื่อเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้แทนการทูตคนแรกของญี่ปุ่นประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ด้วยวัยเพียง 25 ปี โมริใช้เวลาส่วนใหญ่สำรวจระบบการศึกษาของตะวันตกและค้นหาทางเลือกสำหรับการปฏิรูประบบการศึกษาของญี่ปุ่น ต่อมาในปี 2418 เขาได้ก่อตั้งโรงเรียนพาณิชยการแห่งแรกของญี่ปุ่น และต่อมา โรงเรียนดังกล่าวได้รับการยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนชื่อ Hitotsubashi ฯลฯ [16]
 
            ย้อนพินิจสังคมสยามในสมัยนั้น จากปากคำของนายวิชา เศรษฐบุตร นักศึกษา M.I.T. ร่วมสมัยกับนายไกรศรี (ซึ่งเรียนอยู่ที่ Harvard) เล่าว่าในปี 2479 มีนักเรียนไทยที่ได้ทุนรัฐบาล 15 คน นักเรียนทุนส่วนตัว 13 คน “ประชากรไทยในสหรัฐสมัยนั้นมีเพียง 26 คน แบ่งได้เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล 7 คน นักเรียนทุนส่วนตัว 13 คน และข้าราชการสถานทูตและครอบครัว 6 คน เมื่อพวกผมซึ่งเป็นนักเรียนทุน ก.พ. รุ่นแรกไปถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2479 เลยเป็นการเพิ่มประชากรไทยให้มากขึ้นอีก 8 คน... ความที่ผมไปไหนกับไกรศรีบ่อยๆ เพื่อนที่ไปจากกรุงเทพฯด้วยเรือลำเดียวกันชักห่างเหินไปเพราะเพื่อนพวกนั้นคุยกับไกรศรีไม่ถูกคอ พวกนั้นชอบดูอย่างอื่นทางกินและสนุก แต่ไกรศรีเอาแต่วิชาการและหมายมุ่งจะทำปริญญาโท..จะได้กลับไปรับใช้ประเทศชาติ...” [17]
 
            จะให้หมายความว่าอย่างไร ถ้าไม่ใช่จะบอกว่ามีนักเรียนทุนหลายคนชอบแต่เรื่องที่สนุก เรื่องของกินอร่อย ไม่ชอบวิชาการ และไม่ค่อยตั้งใจเรียนเท่าใดนัก ขออภัย นี่หรือนักเรียนทุนรัฐบาลในยุคนั้น นี่หรือครีมและความหวังของประเทศ สอบได้ทุนเพราะฝีมือหรือว่าอย่างอื่น ฯลฯ
 
            ถ้าเป็นเช่นนี้ เราพอจะนำเอาสถานการณ์ของนักศึกษาญี่ปุ่นในยุโรปและสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ 2430-2450 มาเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของนักศึกษาไทยในสหรัฐในทศวรรษที่ 2480-2490 ได้หรือไม่อย่างไร
 
            น่าสนใจยิ่งที่ญี่ปุ่นในยุคปฏิรูปเมจิ พ.ศ. 2411-2455 (ซึ่งเป็นยุคเดียวกับการปฏิรูปครั้งใหญ่ของสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2411-2453) เต็มไปด้วยนักศึกษาและปัญญาชนจำนวนมากที่มีความกระตือรือร้นในการปฏิรูประบบการศึกษา การพัฒนาบุคลากร และความคิดที่จะยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาติตะวันตก ไล่ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในตะวันตก ขณะที่สยามคิดแต่ว่าจะอยู่อย่างไรให้มีเอกราช ทั้งๆที่สนธิสัญญากับตะวันตก 14 ฉบับนับแต่ พ.ศ. 2398 ทำให้สยามแทบไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ หลงเหลือ และผลจากความคิดดังกล่าวในญี่ปุ่นได้นำไปสู่การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ โดยเฉพาะด้านการศึกษาทั้งของภาครัฐและเอกชน ขณะที่สยามในเวลาต่อมา (ดังบันทึกของนายวิชาในปี พ.ศ. 2479) ดูเหมือนจะไม่มีอุดมการณ์ใดๆ นอกจากการส่งนักศึกษาไปเรียนต่อเพื่อกลับมารับราชการ เป็น “เจ้าคนนายคน” ส่วนความคิดที่จะสร้างภาคเอกชนให้เข้มแข็งนั้นแทบไม่เคยได้ยินจากส่วนใด
 
            นี่คือบริบททางสังคมที่ห้อมล้อมนายไกรศรีในเวลานั้น
 
            น่าทึ่งที่บรรพบุรุษของเขามีความสามารถอย่างสูงทั้งด้านประวัติศาสตร์ ภาษา ศิลปวัฒนธรรม และด้านธุรกิจ ส่งผลให้เขาออกมายืนโดดเด่นเป็นปัญญาชนคนสำคัญของล้านนา แต่นั่นคือครอบครัวหนึ่ง ไม่ใช่สังคมที่ท้องถิ่นได้ถูกทำลายให้อ่อนแอ ภาคธุรกิจก็ไม่ได้รับการส่งเสริม ทุกอย่างมีแต่รัฐและการทำงานให้รัฐในฐานะขุนนางผู้ได้รับเงินเดือนทุกเดือน ไม่ว่าผลงานจะเป็นอย่างไร
 
 จะหาสังคมแบบที่ผลิตนักศึกษาหนุ่ม 3 คนให้มารวมกันสานฝันการสร้างสถาบันกฎหมายของเอกชนเพื่อ “สนับสนุนเยาวชนที่ฉลาดและมีความสามารถที่จะนำสังคมและพลเมืองสมัยใหม่ของประเทศ”, ทนายความหนุ่ม 18 คนร่วมกันก่อตั้งสถาบันสอนกฎหมายอังกฤษ และคนหนุ่มอีกหลายๆคนที่ต้องการเรียนรู้ตะวันตกเพื่อที่จะต่อสู้กับตะวันตกอย่างคนที่มีสิทธิและเสรีภาพเท่าเทียมกัน [18] ได้ที่ไหนบนแผ่นดินสยาม
 
            ประการต่อมา นายไกรศรีเป็นคนรักท้องถิ่น ภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองและล้านนาอย่างยิ่ง บันทึกของนายวิชาทำให้เห็นว่าความรักความภาคภูมิใจต่อแผ่นดินนั้นควรจะมีในทุกๆคน ไม่ควรมีน้อยเกินไป และก็ไม่ควรมีมากจนเกินไป
 
มีคนเล่าว่าแม้ตระกูลของนายไกรศรีจะมีเชื้อสายจีน มีชื่อจีนตามประเพณี แต่ตระกูลนี้สอนลูกหลานให้รักและภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองอย่างมาก สมาชิกของตระกูลแต่ละคนรอบรู้เรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของท้องถิ่น พวกเขาไม่เพียงแต่พูดภาษาคำเมืองได้ แต่พูดได้อย่างดี ใช้คำเก่า ไม่มีการนำเอาคำในภาษากรุงเทพฯไปปะปน และจะแสดงอาการสงสัยทันทีที่ได้เห็นคนเมืองด้วยกันไม่พูดภาษาคำเมือง นายไกรศรีมักถูกถามเสมอว่าเป็นคนจีนใช่ไหม และเขาก็จะตอบกลับทันทีว่า “ไม่ใช่ เขาเป็นคนเมือง.” [19] ในด้านนี้ ย่อมสะท้อนให้เห็นสำนึกที่ตระกูลและเขามีต่อท้องถิ่น แต่ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์และปัจจุบันของท้องถิ่นนั้นย่อมมีสิ่งดีๆมากพอที่จะทำให้คนของท้องถิ่นนั้นภาคภูมิใจและหวงแหนแผ่นดินที่ให้กำเนิด
 
            ประการสุดท้าย นายไกรศรีมิใช่ศรีโหม้ วิชัย ที่เดินทางไปสหรัฐแบบอุบัติเหตุ เขามิใช่ลูกของเจ้าอุปราชแห่งเชียงใหม่ที่ตระกูลส่งไปเรียนต่อโดยที่น่าจะมีจุดหมายทางการเมืองแอบแฝง เขามิใช่พระราชโอรสของพระมหากษัตริย์ที่จบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิต แต่ก็ขาดความอบอุ่น มีทัศนะทางเศรษฐกิจการเมืองที่ก้าวหน้า และได้รับการดูถูกเหยียดหยาม และขาดคนเข้าใจในหมู่คนร่วมตระกูล
 
            นายไกรศรีคือสามัญชนคนเชียงใหม่คนแรกที่เดินทางออกจากบ้านเกิดด้วยความมุ่งมั่นที่จะไปเรียนรู้ในประเทศตะวันตก กลับมาทำธุรกิจของครอบครัวและหวังที่จะทำประโยชน์ให้แก่แผ่นดิน ประโยคที่นายวิชา เศรษฐบุตรบันทึกไว้ “ไกรศรีชอบ (ภาพยนตร์การต่อสู้เพื่อเอกราชของไอร์แลนด์) มาก เขาบอกว่า ผมไม่เคยเป็นคนเชียงใหม่ เลยไม่รู้สึกเหมือนเขา” นับเป็นประโยคสำคัญยิ่งที่บอกว่าเหตุใดนอกจากนายไกรศรีจะทำธุรกิจของครอบครัวตนเองแล้ว ยังได้ทุ่มเทรื้อฟื้นศิลปวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของล้านนาอย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย
 
            แต่ก็น่าเสียดายตรงที่อุดมการณ์ในการทำงานเพื่อสังคมและเพื่อสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพไม่ปรากฏชัดในสังคมนี้ ในบางแง่ ความคิดแบบธุรกิจอาจจะมีบทบาทสำคัญในการกำหนดเส้นทางชีวิต ในอีกแง่หนึ่ง ความเป็นชนชั้นนำในทุกๆด้านกลายเป็นปัจจัยที่ห้อมล้อมเขาเอาไว้มิให้ก้าวไปไกลว่างานของครอบครัวและฐานะทางชนชั้น กระทั่ง ทำให้เขาต้องรักษาสัมพันธภาพแบบที่เป็นอยู่ (Status quo) ไว้ต่อไป แต่ในอีกแง่หนึ่ง บริบททางสังคมของสยามในห้วง 1 ศตวรรษที่ผ่านมาก็แตกต่างจากบริบททางสังคมของญี่ปุ่นอย่างมากมาย
 
            ล้านนาเมื่อปลายทศวรรษที่ 2490 อบอวลด้วยบรรยากาศของการรื้อฟื้น “ความเป็นคนเมือง” ที่ริเริ่มโดยนายไกรศรี แต่บรรยากาศนั้นได้รับการขานรับจากบรรดาข้าราชการส่วนภูมิภาคที่ดูเหมือนว่าพวกเขาต้องการความแปลกใหม่มากกว่าการยอมรับอัตลักษณ์และความเป็นอิสระของท้องถิ่น (Local identity and autonomy) และทุกคนก็ทราบดีว่า หนังสือพิมพ์ คนเมือง รายสัปดาห์ต้องสิ้นสุดลงในทศวรรษต่อมาเพราะปัญหาการเงิน ซึ่งย่อมสะท้อนให้เห็นการขาดแรงสนับสนุนจากคนส่วนใหญ่อันเนื่องจากการทำลายความเป็นล้านนาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะตั้งแต่ พ.ศ. 2453 เป็นต้นมา ดังนั้น ผลพวงของการรื้อฟื้น “ความเป็นคนเมือง” ครั้งนั้น ที่สำคัญก็คือ การขานรับของบรรดากลุ่มธุรกิจ จนเกิดวัฒนธรรมเชิงพาณิชย์ (Commercialized Culture) ขึ้นในทศวรรษ 2500 สงกรานต์เชียงใหม่ และดินแดนถิ่นไทยงามได้รับการเนรมิตขึ้นให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับประเทศ
 
            การเรียกร้องให้จัดตั้งมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแต่บริหารโดยรัฐบาลกลางที่ไม่ได้มองเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นตั้งแต่แรก หรือการมีที่ดินและคิดจะบริจาคที่ดินเพื่อการสร้างมหาวิทยาลัยท้องถิ่นแต่ให้รัฐบาลกลางเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมด จึงเป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่งสำหรับคนที่อยากจะเห็นบัณฑิตเข้มแข็ง พลเมืองเข้มแข็ง และท้องถิ่นเข้มแข็ง
 
            คงมีบางคนอยากถามว่าทำไมปราชญ์เช่นนายไกรศรีที่เปี่ยมด้วยความรู้ความสามารถและทุนทรัพย์จึงไม่คิดที่จะสร้างสถาบันอุดมศึกษาของคนท้องถิ่นและเพื่อคนท้องถิ่นเช่นปัญญาชนญี่ปุ่น แน่นอนว่า คำถามนั้นย่อมเต็มไปด้วยความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเห็นมหาวิทยาลัยของคนล้านนาเพื่อคนล้านนา แต่ผมก็อยากจะตั้งคำถามต่อว่า ก็ในยามนั้น มีปัญญาชนล้านนาสักกี่คน
 
            ผมอยากจะกราบเรียนดวงวิญญาณของนายไกรศรีว่า ยามที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น แม้ท่านจะทำงานหนักเพียงใดในด้านวิชาการ การอนุรักษ์และส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมล้านนาให้แก่คนท้องถิ่นและผู้ที่สนใจซึ่งเดินทางมาจากทุกหนทุกแห่ง และยกย่องนับถือท่านเป็นปราชญ์ แต่ลึกๆในความคิดของท่านนั้น ท่านคงโหยหาปัญญาชนหนุ่มสาวในท้องถิ่นที่มีความคิดเหมือนกับท่านยิ่งนัก
 
            เพราะยามเมื่อท่านอยู่ที่บอสตัน ท่านมีเพื่อนที่ดีที่พอจะไปเที่ยวด้วยกันได้เพียงหนึ่งคนที่ไม่ได้ร่วมอุดมการณ์อะไร กระทั่งเขายังคิดว่าเขาเหนือกว่านายไกรศรี เพราะเขา “เดินสายกลาง คบคนได้ทุกแบบ” ถ้านายไกรศรีได้รู้ตรงนี้ ก็คงถามกลับว่า ถ้าคนได้ทุนรัฐบาลไปเรียนต่อชอบแต่ “เรื่องกินและสนุก” ไม่ค่อยเอาวิชาการและไม่ตั้งใจเรียนนั้น คนแบบนี้จะกลับไปทำอะไรให้แก่ประเทศชาติได้เล่า
 
ยามเมื่อท่านอยู่บนแผ่นดินล้านนา ท่านได้ไปสำรวจแทบทุกวัดและโบราณสถาน ได้พบผู้คนหลายเผ่าพันธุ์และเรื่องราวมากมายบนแผ่นดินนี้ ท่านได้สนับสนุนงานศึกษาค้นคว้าของนักวิชาการล้านนาอย่างแข็งขันทั้งที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยาลัยครูเชียงใหม่และมหาวิทยาลัยพายัพ และท่านเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้งและบริหารชมรมล้านนาคดี แต่ท่านอาจจะรู้ว่าปัญญาชนญี่ปุ่นกลุ่มใหญ่ตระหนักและทุ่มเทสร้างสถาบันเพื่อสร้างบุคลากรรุ่นใหม่ๆ ออกมาเพื่อสร้างประเทศใหม่ แต่ท่านมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนและทำงานวิชาการมากกว่า
และ สุดท้าย ท่านก็คงได้ตระหนักแล้วว่าในที่สุดสถาบันอุดมศึกษาที่ก่อตั้งขึ้นตามที่ท่านได้นำการรณรงค์เรียกร้องต่อรัฐบาลนั้น แม้จะสัมฤทธิ์ผล แต่ก็เป็นสถาบันที่มิได้ก่อตั้งด้วยคนท้องถิ่น แต่เป็นของส่วนกลางและเติบโตภายในรัฐที่รวมศูนย์อำนาจอย่างสูง ในที่สุด ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น อัตลักษณ์ท้องถิ่น และเสียงของคนท้องถิ่นที่ท่านอยากได้ยินและทุ่มเทสนับสนุนมาตลอดก็หาได้ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นๆจากสถาบันเหล่านั้น
 
เพราะในที่สุด สถาบันการศึกษาของราชการลงท้ายก็ถูกราชการดูดกลืนให้มีความเป็นราชการมากกว่าความเป็นวิชาการ และแม้ว่าคนท้องถิ่นจะก้าวขึ้นมาคุมตำแหน่งบริหารในระยะหลังๆ แต่ความเป็นข้าราชการก็มีเหนือกว่าความเป็นนักวิชาการและความเป็นคนท้องถิ่น ซึ่งก็ย่อมเป็นเช่นนั้น ในเมื่อแม้กายจะเติบใหญ่ในท้องถิ่น แต่สมองและหัวใจนั้นบรรจุเนื้อหาของส่วนกลางเข้าไปมากมาย รวมทั้งบทบาทของต่างประเทศที่รุกเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่เนื้อหาท้องถิ่นที่บรรจุเข้าไปกลับมีน้อยมาก และหากจะมีใครที่คิดจะทำอะไรให้มากกว่านั้น กล้าฝ่าออกจากระบบเดิมๆ ระบบราชการและโครงสร้างของรัฐที่รวมศูนย์ก็ยากที่จะยอมให้คนเช่นนั้นฝ่าด่านสำคัญๆมากมายไปได้
 
ด้วยเหตุนั้น ท่านคงผิดหวังและเหงาหงอยไม่น้อยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงบั้นปลายของชีวิต เพราะท่านได้ฝากความหวังอย่างสูงแก่แผ่นดินที่ตระกูลของท่านเป็นแรงสำคัญในการบริจาคให้แก่สถาบันอุดมศึกษา แต่ในที่สุด สถาบันดังกล่าวก็ไม่ได้สำนึกว่าคำว่า “ท้องถิ่น” โดยเฉพาะล้านนานั้นมีความหมายลึกซึ้งเพียงใดต่อการเกิด การดำรงอยู่และการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง
 
อย่างไรก็ตาม ประวัติศาสตร์คงได้จารึกไว้แล้วว่า ไม่ว่าจะมีข้ออ่อนหรือข้อผิดพลาดอย่างไรที่ปัจเจกชนคนหนึ่งทำไว้ แต่ผลงานที่เป็นด้านบวกและความมุ่งมั่นในการทำงานให้แผ่นดินแม่ของคนเชียงใหม่คนนี้เป็นหลักหมายสำคัญยิ่งของประวัติศาสตร์ล้านนาในห้วงกึ่งศตวรรษ (พ.ศ. 2496-2535) ที่ผ่านมา
 
ประเด็นจึงไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว แต่อยู่ที่ว่าคนรุ่นปัจจุบันจะสืบสานและพัฒนาสิ่งที่ท่านได้ทำไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 อย่างไรต่างหาก.
 
 
 
14    กรกฎาคม 2552.
 


 
เชิงอรรถท้ายบท
 
[1] มาลัยเรียง, “เยี่ยมเยียนบัณฑิตของล้านนาไทย” ลายคราม. เพื่อเฉลิมฉลองอายุครบ 6 รอบ นายไกรศรี นิมมานเหมินท์, 24 ธันวาคม 2527 ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, 2527 หน้า 337
[2] วิชา เศรษฐบุตร, “แด่เพื่อนชื่อไกรศรี” ลายคราม. เล่มเดียวกัน, หน้า 310-311
[3] อเนก มังตรีสรรค์ และวรวิมล ชัยรัต, รวบรวม. ซ้อ-หงษ์ แซ่แต่. เชียงใหม่: เชียงใหม่ พริ้นติ้ง จำกัด, ตุลาคม 2543.
[4] บันทึกประวัติของหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชุติมา) 1 ธันวาคม พ.ศ. 2475 เอกสารโรเนียว ได้รับจากคุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์ 11 มกราคม 2544
[5] แสง จันทร์งาม, นฤจร อิทธิจีระจรัส, สมหมาย เปรมจิตต์, “ประวัติไกรศรีกับล้านนาคดี” ลายคราม. อ้างแล้ว หน้า 4-5
[6] หลวงอนุสารสุนทร, ตำรายาหัวกวาวเครือ. เชียงใหม่: โรงพิมพ์อุปะติพงศ์, พฤษภาคม 2474
[7] ประวัตินางอนุสารสุนทร (คำเที่ยง ชุติมา) เอกสารโรเนียวได้รับจากคุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์, 2544
[8] “ลลนานัดพบไกรศรี นิมมานเหมินท์,” ลายคราม. อ้างแล้ว, หน้า 342 และ ล้านนาปริทัศน์. ในวาระครบรอบปีวันมรณะ นางกิมฮ้อ นิมมานเหมินท์, 2525 หน้า 27-28
[9] เรือง นิมมานเหมินท์, อนุสรณ์ในงานฌาปนกิจศพ นายเรือง นิมมานเหมินท์, 11 กรกฎาคม 2535
[10] อัน นิมมานเหมินท์, หนังสือในพิธีพระราชทานเพลิงศพ ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์, 30 สิงหาคม 2540
[11] วิชา เศรษฐบุตร, ลายคราม. อ้างแล้ว หน้า 315
[12] Sonia Krug, The Kamthieng House: Its History and Collections: A Classic Example of Northern Thai Residential Architecture of the 19th Century. Bangkok: The Siam Society, April 1982
[13] รัตนา พรหมพิชัย, สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ. เล่ม 1 กรุงเทพฯ: มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ, 2542 หน้า 532-534, และ ไกรศรี นิมมานเหมินท์, กาพย์เจี้ยจามเทวีและวิรังคะ. กรุงเทพฯ: บริษัท พี.เอ.ลีฟวิ่ง จำกัด, 2533
[14] ไกรศรี นิมมานเหมินท์, “เราต้องการมหาวิทยาลัย” ลายคราม. อ้างแล้ว หน้า 200-202, 213
[15] Yukichi Fukuzawa, The Autobiography of Fukuzawa Yukichi. trans. by Eiichi Kiyooka, Tokyo: the Hokuseido Press, 1960
[16] Herbert Passin, Society and Education in Japan. Tokyo: Kodansha Int’l, 1987 p. 64
[17] วิชา เศรษฐบุตร, “แด่เพื่อนชื่อไกรศรี” ลายคราม. หน้า 309, 311
[18] โปรดดู ธเนศวร์ เจริญเมือง, “ปัญญาชนญี่ปุ่น” ใน พลเมืองกับท้องถิ่นเข้มแข็ง. กรุงเทพฯ: โครงการจัดพิมพ์คบไฟ, มิถุนายน 2549 หน้า 136-162
[19] สัมภาษณ์คุณแจ่มจิตต์ เลาหวัฒน์, ที่ห้างอนุสาร ถนนวิชยานนท์ อ.เมือง เชียงใหม่, 11 มกราคม 2544 ผู้เขียนเคยพบและสนทนากับคุณธารินทร์ นิมมานเหมินท์ บุตรชายคนโตของท่าน 2 ครั้ง ได้พบว่าคุณธารินทร์พูดภาษาคำเมืองได้ดีเยี่ยม ไม่น่าเชื่อว่าคนที่เรียนหนังสือในต่างประเทศเป็นเวลานาน ทำงานและใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองหลวงจะพูดภาษาท้องถิ่นได้ดีอย่างนั้น.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net