รพ.เปิดให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน แต่งดรับผู้ป่วยใน อ้างยังห่วงความปลอดภัย

รพ.จุฬาฯ เปิดให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉิน-ผู้ป่วยรับยาต่อเนื่อง แต่ยังงดรับผู้ป่วยใน ออกแถลงการณ์ฉบับ 5 ขอบคุณ นปช.ให้ความร่วมมือคืนพื้นที่ แจงอยากให้ถอยไปถึงแยกสารสิน ด้านกทม.ร่วม 3 องค์กรทางการแพทย์ ออกแถลงการณ์เรื่องการให้บริการของสถานพยาบาลในสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพฯ

วันนี้ (3 พ.ค.53) โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เปิดให้บริการในส่วนผู้ป่วยฉุกเฉินชั่วคราว ณ ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ชั้นล่าง ระหว่างเวลา 07.30 – 16.00 น. หลังจากที่วานนี้ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 4 ชี้แจงให้ทราบกรณีที่มีพยายามดึงเอาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง พร้อมแจ้งให้ทราบว่า จะเปิดให้บริการผู้ป่วยฉุกเฉินบริเวณชั้นล่างของตึกจงกลนี วัฒนวงศ์ ส่วนคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการจะงดให้บริการไปจนกว่าจะมีการแจ้งเปลี่ยนแปลง โดยในช่วงเช้าคณะแพทย์และพยาบาลของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้รวมตัวร่วมร้องเพลงชาติและเพลงมาร์ชพยาบาล

ไทยรัฐออนไลน์รายงานว่า นพ.สมรักษ์ จารุลักษณานันท์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เผยโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ไม่ได้ขึ้นกับกระทรวงสาธารณสุข หรือกระทรวงมหาดไทย แต่เป็นของสภากาชาดไทย เป็นองค์กรพิเศษของประเทศ จึงต้องเฝ้าระวังไม่ให้มีการละเมิดสนธิสัญญาเจนีวา แนะผู้ชุมนุมอย่าทำอะไรที่ละเมิดมากไปกว่านี้ วอนอย่านำโรงพยาบาลไปเล่นการเมืองเพราะที่ผ่านมาไม่เคยแบ่งแยกกลุ่มผู้ชุมนุม แม้จะเข้ามาใช้ห้องน้ำ หลับนอน อาบน้ำ ในโรงพยาบาล

อีกทั้งรายงานด้วยว่า เมื่อเวลา 10.50 น.สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเป็นการส่วนพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เพื่อทรงเยี่ยมผู้ป่วยและเป็นกำลังใจให้กับบุคลากรแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจุฬาฯ

ทั้งนี้ ล่าสุดเว็บไซต์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เผยแพร่แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ฉบับที่ 5) ลงวันที่ 3 พ.ค.53 แสดงความขอบคุณที่แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ได้เคลื่อนย้ายการชุมนุมด้วยการคืนพื้นที่บางส่วนถึงบริเวณตึก สก.โดยเปิดพื้นที่ถนนขาเข้าและขาออก แต่ยังมีความไม่สบายใจเรื่องความปลอดภัยในการมาปฏิบัติงานและมารับบริการของผู้ป่วย จึงขอให้เคลื่อนย้ายการชุมนุมไปจนถึงแยกสารสิน

แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุถึงมาตรการในการดูแลรักษาผู้ป่วยด้วยว่า 1.เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกบางส่วนที่อาคารแพทยพัฒน์ บริเวณโถงชั้นล่าง 2.เปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับยาต่อเนื่องที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น 3.เปิดให้บริการห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด ตั้งแต่ 07.30 - 16.00 น. และ 4.งดให้บริการรับผู้ป่วยใน

กทม.ร่วม 3 องค์กรทางการแพทย์ ออกแถลงการณ์ให้ทุกฝ่ายเคารพงานบุคลากรทางการแพทย์
15.20 น.วันเดียวกันนี้ กรุงเทพมหานคร ร่วมกับแพทยสภา แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ออกแถลงการณ์เรื่องเรื่องการให้บริการของสถานพยาบาลในสถานการณ์ไม่สงบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 6 ข้อ คือ 1.บุคลากรทางการแพทย์ดูแลผู้ป่วยโดยยึดมั่นจริยธรรมวิชาชีพ 2.ตามหลักสากล บุคลากรทางการแพทย์ รถพยาบาลและสถานพยาบาลต้องได้รับการคุ้มครองจากทุกฝ่าย

3.ผู้บาดเจ็บทุกรายต้องได้รับการคุ้มครองตามหลักมนุษยธรรม 4.ขอให้ทุกฝ่ายเคารพในความเป็นกลางของบุคลากรทางการแพทย์ไม่กีดขวางการทำงาน และขัดขวางการเคลื่อนย้ายผู้ป่วย 5.อำนวยความสะดวกให้รถพยาบาลเข้าถึงผู้บาดเจ็บในพื้นที่ชุมนุมด้วยความรวดเร็ว 6.ไม่รบกวนหรือขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทั้งที่เกิดเหตุและสถานพยาบาล

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า หลักกาชาดสากลไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่ทั่วโลกรับทราบและปฏิบัติสืบเนื่องมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ประเทศไทยกลับละเลยและไม่เคารพกติกา จึงจำเป็นต้องมีการส่งสัญญาณไปยังทุกฝ่าย ไม่ใช่เฉพาะกับผู้ชุมนุมเท่านั้น ซึ่งด้วยความเป็นคนไทย ใช้ภาษาเดียวกันจะไม่เกิดเหตุการณ์เช่นที่ผ่านมา

 

 

แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ฉบับที่ 5)

ตามที่แกนนำของกลุ่มผู้ชุมนุมได้เคลื่อนย้ายการชุมนุมด้วยการคืนพื้นที่บางส่วนถึงบริเวณตึก สก.โดยเปิดพื้นที่ถนนขาเข้าและขาออกนั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต้องขอขอบคุณในความร่วมมือมา ณ ที่นี้ แต่การคืนพื้นที่ดังกล่าว กลุ่มผู้ชุมนุมได้จัดสร้างแนวกั้นบริเวณทางเท้าด้านหน้าสวนลุมพินีตรงข้ามตึก สก.นั้น ยังสร้างความไม่สบายใจ เกี่ยวกับความปลอดภัยในการมาปฏิบัติงานและมารับบริการของผู้ป่วย เนื่องจากแนวรั้วของโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทอดยาวต่อเนื่องจากแยกศาลาแดงผ่าน ตึก สก. ไปถึงตึก อปร.ตลอดจนถึงศูนย์วิจัยโรคเอดส์ สภากาชาดไทย บริเวณแยกสารสิน ซึ่งจะมีผู้ป่วยมารับบริการเจาะเลือดและรับยาอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ร้องขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนย้ายการชุมนุมไปจนถึงแยกสารสินก็เพื่ออำนวยความสะดวกในการทำงานของบุคลากรและผู้ ป่วยที่มารับบริการ รวมทั้งยังทำให้เกิดความมั่นใจในความปลอดภัยดังกล่าว

ทางโรงพยาบาลและบุคลากรทุกคนได้เล็งเห็นถึงความทุกข์ยากของประชาชน จึงมีมาตรการในการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนี้

1.เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกบางส่วนที่อาคารแพทยพัฒน์ บริเวณโถงชั้นล่าง
2.เปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องรับยาต่อเนื่องที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสงในผู้ป่วยโรคมะเร็ง เป็นต้น
3.เปิดให้บริการห้องฉุกเฉิน ห้องคลอด ตั้งแต่ 07.30 - 16.00 น.
4.งดให้บริการรับผู้ป่วยใน

โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ต้องกราบขออภัยมายังประชาชน ผู้ป่วย และญาติที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว หากสถานการณ์รอบโรงพยาบาลคืนสู่ภาวะปกติ มีความปลอดภัยสำหรับผู้ป่วยและบุคลากร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จะปฏิบัติงานตามปกติโดยเร็วที่สุด

ศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศร ภัทราดูลย์
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3 พฤษภาคม 2553

 

แถลงการณ์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ (ฉบับที่ 4)

ตามที่ได้มีการชุมนุมของกลุ่ม นปช.บริเวณถนนราชดำริ ทำให้เกิดผลกระทบกับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และในขณะนี้ได้มีการพยายามดึงเอาโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง จึงขอชี้แจงดังนี้

1.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์สังกัดสภากาชาดไทย มีความเป็นกลางทางการเมือง ปฏิบัติงานเพื่อรักษาผู้ป่วยและผู้ได้รับบาดเจ็บทุกคน ไม่ว่าในภาวะปกติหรือในภาวะสงคราม

2.การย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ในวันศุกร์ที่ 30 เมษายน 2553 เป็นไปเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทางโรงพยาบาล เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางด้านถนนราชดำริมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเรื่องมลภาวะทางเสียงที่รบกวนผู้ป่วยที่รักษาตัวในตึกที่อยู่ติดถนนราชดำริ การเข้ามาใช้พื้นที่ของโรงพยาบาลทางด้านหน้าตึก ภปร.ในยามค่ำคืนของผู้ชุมนุม และผู้ชุมนุมบางคนที่เข้ามาเดินในโรงพยาบาลในยามวิกาล เนื่องจากโรงพยาบาลเป็นพื้นที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีการปิด นอกจากนี้ ได้เคยมีการขอมาตรวจค้นตึกของโรงพยาบาลและมีข่าวเรื่องพบระเบิดหน้าห้องฉุกเฉิน ข่าวการวางแผนเพื่อวางเพลิงบริเวณแยกศาลาแดง และมีการจุดประทัดที่มีเสียงคล้ายปืนในบางวัน เหตุการณ์ที่มีมาอย่างต่อเนื่องเหล่านี้ ทำให้เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยที่มารับบริการมีความหวาดกลัว และมีความไม่สะดวกในการเดินทางมาใช้บริการที่โรงพยาบาล

เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่มารับบริการทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในตลอดจนเจ้าหน้าที่ ทางโรงพยาบาลจึงได้มีมาตรการในการปฏิบัติเป็นลำดับขั้นตอนดังนี้

- งดการตรวจคลินิกพิเศษนอกเวลาราชการในตอนเย็นและวันหยุดราชการ (วันที่ 23-25
เมษายน 2553 และวันที่ 27 เมษายน – 2 พฤษภาคม 2553)
- งดการตรวจผู้ป่วยนอกที่ตึก ภปร.ซึ่งอยู่ติดกับแยกศาลาแดง (วันที่ 29-30 เมษายน 2553)
- ย้ายผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในตึกด้านถนนราชดำริมาอยู่ในตึกฝั่งถนนอังรีดูนังต์ ในวันพุธที่ 28 เมษายน 2553 หลังเกิดเหตุการณ์ปะทะกันแถวดอนเมืองและมีเสียงระเบิดดังขึ้นที่ถนนพระราม ที่ 4
- ในเวลากลางคืนของวันพฤหัสบดีที่ 29 เมษายน 2553 ได้มีการเข้าตรวจค้นตึก สก.และตึก ภปร.ของแกนนำและผู้ชุมนุมทำให้ผู้ป่วย ญาติและเจ้าหน้าที่ไม่มั่นใจในความปลอดภัยของโรงพยาบาลอีกต่อไป ทางโรงพยาบาลจึงตัดสินใจทำการย้ายผู้ป่วยในของโรงพยาบาลทั้งหมดไปที่โรงพยาบาลอื่นเพื่อลดความเสี่ยงของผู้ป่วย

3.ขณะนี้โรงพยาบาลเปิดห้องฉุกเฉินชั่วคราวที่ตึกจงกลนีวัฒนวงศ์ ซึ่งย้ายมาจากห้องฉุกเฉินเดิมฝั่งถนนราชดำริ โดยเปิดทำการเวลา 07.30-16.00 น.

4.โรงพยาบาลมีความตั้งใจจะกลับมาเปิดบริการตามปกติโดยเร็วที่สุด เนื่องจากมีผู้ป่วยที่รอรับการรักษาเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของผู้ป่วย จึงขอวิงวอนให้ทางกลุ่ม นปช.ย้ายกลุ่มผู้ชุมนุมไปถึงแยกถนนสารสิน โดยเปิดพื้นที่ถนนราชดำริทั้งสองฝั่งที่ติดกับตึกสูงทั้งสามตึกของโรงพยาบาล คือ ตึก ภปร.ตึก สก.และตึก อปร.เพื่อให้เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในตึกเหล่านี้และผู้ป่วยที่ต้องมาใช้บริการเกิดความมั่นใจในความปลอดภัย รวมทั้งทางผู้ชุมนุมจะได้ลดความกังวลเกี่ยวกับการมีเจ้าหน้าที่ในตึกด้วย

5.เนื่องจากขณะนี้มีข่าวที่สับสนอยู่มาก ดังนั้น โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์จึงขอแจ้งข่าวผ่านแถลงการณ์ของโรงพยาบาลเท่านั้น ซึ่งจะแจ้งให้ทราบผ่านทางสื่อมวลชนต่อไป

(ศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศร ภัทราดูลย์)
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
คณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2 พฤษภาคม 2553

ที่มา: http://web.md.chula.ac.th/thai/
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท