Skip to main content
sharethis

กรมคุ้มครองสิทธิฯ เปิดเวทีเผยแพร่แผนฉบับที่ 2 นำร่อง 4 ภูมิภาคเป็นต้นแบบสู่ภาคปฏิบัติ ผอ.ศอ.บต.ชี้สถานการณ์ใต้ดีขึ้น ชาวบ้านกล้าช่วยผู้ประสบเหตุ ไม่ปล่อยให้ตาย ก่อนถึงมือเจ้าหน้าที่ เดินหน้าสร้างความเข้าใจต่างชาติ ลั่นปีนี้ที่ประชุม "ไอโอซี" ไม่ยกประเด็นภาคใต้มาหารือ มีแค่สอบถามการแก้ปัญหารัฐบาล แถมมีการสั่งเก็บซีดีเหตุการณ์ภาคใต้ไม่ให้ฉายในการประชุม

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (29 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมพญาตานี 2 โรงแรมเซาท์เทิร์นวิว อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดโครงการเผยแพร่แผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ฉบับที่ 2 ในพื้นที่นำร่อง 4 ภูมิภาค หัวข้อ “ขับเคลื่อนแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ รวมพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน” เพื่อเป็นต้นแบบในการนำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไปสู่การปฏิบัติ มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน

นายภานุ อุทัยรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) กล่าวในการบรรยายพิเศษ เรื่อง "ความสำคัญของสิทธิมนุษยชนในพื้นที่พิเศษ" ว่า นับตั้งแต่ 6 เดือนที่ตนได้เข้ามารับตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการ ศอ.บต. มีหลายเรื่องหนักใจในเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องความไม่สงบอย่าง เดียว แต่เลยถึงต่างประเทศ ซึ่งเชื่อมโยงกับเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย เช่น เวทีการประชุมของกลุ่มประเทศมุสลิม หรือ โอไอซี

นายภานุ กล่าวว่า ทั้งนี้ เนื่องจาก ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ที่มีการประชุมโอไอซี มีการหยิบยกสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดน ภาคใต้ของไทยมาหารือในที่ประชุมด้วย เช่น เหตุการณ์สลายการชุมนุมที่อำเภอ ตากใบ จังหวัดนราธิวาส หรือ เหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะ

นายภานุ กล่าวต่อว่า แต่ในการประชุมปีนี้ เมื่อวันที่ 18 – 22 พฤษภาคม 2553 ที่ประเทศทาจิกีสถาน เป็นปีแรกที่ไม่ได้มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ แต่กลับมีการพูดถึงแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาลไทยต่อสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐบาล การใช้นโยบายการเมืองนำการทหารเป็นอย่างไร การยกระดับการพัฒนาในพื้นที่ทำไปถึงไหน เป็นต้น แม้ว่า ในการประชุมครั้งนี้ มีผู้ที่นำซีดีเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ไปเปิดด้วย แต่ก็ถูกสั่งเก็บ

“ที่เป็นเช่นนั้นไม่ใช่เพราะถูกล็อบบี้ ไม่ให้มีการหยิบยกขึ้นมาพูด แต่เพราะความพยายามอธิบาย เพื่อสร้างความเข้าใจในข้อเท็จจริง ไม่ใช่ตามที่เราต้องการประชาสัมพันธ์ นี่คือแนวทางที่ผมทำ เรามีการเดินสายบอกกล่าวข้อมูล และมีการซักถามในเรื่องต่างๆ และเราได้ตอบคำถามนั้นจนเข้าใจ” นายภานุ กล่าว

นายภานุ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินการที่ผ่านมา มีการเชิญทูตานุทูตมาดูงานในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งตัวตัวแทนองค์กรด้านวัฒนธรรมของโอไอซี ที่มาสถานศึกษาทางด้านศาสนาอิสลามในพื้นที่ และยังมีการนำสื่อม วลชนจากประเทศในตะวันออกกลางมาในพื้นที่ด้วย

นายภานุ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ตนเคยคุยกับนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในเรื่องการให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยยินดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจะมาตั้งสำนักงานที่จัง หวัดปัตตานีด้วย เพื่อให้ชาวบ้านนำเสนอเรื่องการไม่ได้รับความเป็นธรรม นอกเหนือช่องทางปกติของรัฐที่มีอยู่ เช่น ศูนย์ดำรงธรรมประจำจังหวัด เป็นต้น

นายภานุ กล่าวเสริมว่า ขณะเดียวกัน ศอ.บต. ก็มีการตั้งสำนักงานอำนวยความเป็นธรรมภาคประชาชน เรียกว่า อาดิลันเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นที่พึ่งให้กับชาวบ้านในเรื่องกฎหมายแก้ปัญหาข้อพิพาทต่างๆ รวมทั้งยังได้ตั้งนิติกรประจำอำเภอไว้บริการ ประชาชน ส่วนในระดับหมู่บ้านก็มีนักกฎหมายชาวบ้านซึ่งเป็นอาสาสมัคร ตามโครงการยุติธรรมชุมชน มีจำนวน 1,000 กว่าคน โดยมีศูนย์อยู่ประจำทุกตำบล

นายภานุ ยังได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในปัจจุบันว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์ เช่น มีคนถูกยิง จะมีชาวบ้านมาช่วยทันที ซึ่งต่างจากอดีตที่ไม่มีใครกล้าเข้ามาช่วยผู้ประสบเหตุทันที แต่ปล่อยให้เจ้าหน้าที่มาก่อน โดยอ้างว่ากลัว จนทำให้ผู้ประสบเหตุเสียชีวิต เนื่องจากช่วยไม่ทัน แต่ปัจจุบันมีหลายรายที่ชาวบ้านเข้าไปช่วยและนำส่งโรงพยาบาลได้ทัน ทำให้รอดชีวิตมาได้ โดยผู้ที่เข้ามาช่วยไม่ได้ดูว่าผู้ประสบเหตุ เป็นผู้นับถือศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม ตอนนี้คนไทยพุทธก็มาช่วยมุสลิม คนมุสลิมก็มาช่วยอุ้มคนไทยพุทธ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net