Skip to main content
sharethis
 
9 พ.ย.53 ตัวแทนภาคประชาชนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีทำตามรับปาก เร่งผลักดันการพิจาณากฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข ฉบับ 10,000 ชื่อของภาคประชาชน หลังจากบรรจุเข้าวาระ 2 สมัยประชุมก็ยังไม่ได้พิจารณา รายละเอียดมีดังนี้
 
ภาคประชาชนตั้งคำถาม ใครคือผู้มีอำนาจในการตัดสินใจผลักดันกฎหมายเพื่อประชาชน นายกรัฐมนตรี หรือวิปรัฐบาล หรือวิปฝ่ายค้าน คำตอบควรจะเป็นใคร พร้อมเรียกร้องนายกรัฐมนตรี ทำตามคำสัญญาให้เป็นจริง
 
กลุ่มประชาชนออกแรงเรียกร้องอีกครั้ง ด้วยความหวังครั้งสุดท้ายว่านักการเมือง จะไม่เป็นอย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าเชื่อคำสัญญาไม่ได้
 
บทเรียนจากการผลักดันกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุขครั้งนี้ สอนให้รู้ว่า เราต้องการความกล้าหาญของนักการเมืองในการตัดสินใจบนความขัดแย้ง เพื่อผลประโยชน์ประชาชน
 
เมื่อนายวิทยา แก้วภราดัย เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในปี ๒๕๕๒ เครือข่ายผู้ป่วยและภาคประชาชนที่ผลักดันร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข ได้เข้าพบและประชุมร่วมกัน พร้อมรับทราบว่า รัฐบานี้มีนโยบายที่จะทำกฎหมายคุ้มครองผู้เสียหาย และท่าทีที่เข้าใจปัญหาและความทุกข์ของผู้เสียหาย ทำให้ภาคประชาชนมีความหวังว่าจะมีกฎหมายฉบับนี้โดยเร็ว
 
นายวิทยาทราบดีว่า กฎหมายฉบับนี้ ได้มีการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของสภาวิชาชีพและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวน 136 คน เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2553 (ดังเอกสารรายละเอียดที่แนบมานี้) นอกจากนี้สภาวิชาชีพ และหน่วยงานต่างๆ มีโอกาสเข้าไปพิจารณากฎหมายในขั้นตอนของคณะกรรมการกฤษฎีกา ไม่น้อยกว่า ๑๑ เดือน นอกจากนี้นายวิทยาทราบดีว่ากฎหมายฉบับนี้มีหลักการและเหตุผลอย่างไร ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับกฎหมายฉบับนี้
 
แต่เมื่อนายวิทยา เปลี่ยนมารับตำแหน่งประธานวิปรัฐบาล เป็นช่วงเวลาที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้บรรจุอยู่ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีร่างของภาคประชาชนที่เสนอโดยการเข้า ๑๐,๐๐๐ ชื่อรวมอยู่ด้วย หากนับเวลาผ่านมา ๒ สมัยการประชุม ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ก็ยังไม่ได้นำเข้าสู่การพิจารณาแต่อย่างใด จากที่เคยช่วยผลักดัน หันหลังกลับมาประกาศให้กระทรวงสาธารณสุขไปทำความเข้าใจ ย้อนไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ ทั้งที่กลุ่มทั้งหลายได้สรุปประเด็นความเห็นร่วมกัน ๑๒ ประเด็น
 
ประชาชนมีบทเรียนที่สามารถเทียบเคียงกันได้ เมื่อมีการทำพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กลุ่มแพทย์กลุ่มเดียวกันนี้บางส่วนก็คัดค้านมาตรา 41 ว่าจะทำให้เกิดฟ้องร้องแพทย์ แต่อดีตนายกทักษิณ ชินวัตรเลือกเดินหน้าและมาตรานี้เป็นประโยชน์กับประชาชนในปัจจุบัน
 
แต่แม้ว่าจะผิดหวังจากประธานวิปรัฐบาล แต่ประชาชนก็ยังไม่หมดความพยายาม และมีความหวังอีกครั้ง เมื่อนายกรัฐมนตรี ยืนยัน ไม่ถอน ไม่ชะลอ แต่รับปากอย่างเดียวไม่พอ ต้องดำเนินการให้ประชาชนเห็นเป็นรูปธรรมดังนั้นขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ดำเนินการเพื่อให้ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาโดยเร็ว เพราะ “ประชาชน ต้องมาก่อน ตามนโยบายของรัฐบาล”
 
 ลงชื่อ นางสาวบุญยืน ศิริธรรม เครือข่ายภาคประชาชนผู้ผลักดันกฎหมาย
นายสุบิล นกสกุล ประธานชมรมเพื่อนโรคไตแห่งประเทศไทย                           
นางสายชล ศรทัต เครือข่ายผู้ป่วยมะเร็ง        
 
           

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net