Skip to main content
sharethis
13 ธ.ค. 2557 นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ได้ออกแถลงการณ์ส่วนตัว ระบุว่า ในฐานะสมาชิกแพทยสภาไม่เห็นด้วยต่อคำแถลงของกรรมการแพทยสภา กรณีร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ.....เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.57 ที่นำโดย ศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา นพ.สัมพันธ์ คมฤทธิ์ เลขาธิการแพทยสภา ศ.คลินิก นพ.อำนาจ กุสลานันท์ ประธานฝ่ายกฎหมายและจริยธรรมแพทยสภา
 
นพ.สุธีร์ กล่าวว่า การที่แพทยสภาแถลงครั้งนั้น มีหลายประเด็นที่บิดเบือน และให้ข้อมูลไม่ถูกต้อง ทั้งที่ ร่าง พ.ร.บ.นี้ เป็นประโยชน์ต่อแพทย์และผู้ป่วย จึงขอให้แพทย์ที่คัดค้าน ศึกษากฎหมายให้ดีก่อนตกเป็นเหยื่อ ทั้งนี้เมื่อก่อนตนก็เป็นผู้หนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.นี้ จนเมื่อศึกษาอย่างละเอียดจึงได้รู้ว่า เป็นความเข้าใจผิด ซึ่งประเด็นที่กรรมการแพทยสภาทั้ง 3 ท่านแถลงนั้น สามารถอธิบายได้หมดว่าไม่ถูกต้องอย่างไร ตั้งแต่ ประเด็นที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ นายกแพทยสภา แถลงว่า การใช้เงินเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และควรนำเงินมาใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย และนำมาพัฒนาคุณภาพการรักษาประชาชนนั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ใน ร่าง พ.ร.บ.นี้ กำหนดไว้ชัดเจนในหมวดที่ 5 มาตรา 29 ว่า ให้สำนักงานกองทุนฯ สนับสนุนทางการเงินแก่สถานพยาบาลในการวิเคราะห์ความเสียหาย และกำหนดแนวทางพัฒนาความปลอดภัยเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข
 
“ส่วนการที่ ศ.นพ.สมศักดิ์ แถลงว่า ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่วาแพทย์จะอธิบายหรือไม่อธิบายให้ผู้ป่วยได้เข้าใจถึงปัญหาและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น ก็ไม่มีผลแตกต่างกัน เพราะต้องจ่ายเงินเหมือนกันถ้ามีผลกระทบเกิดขึ้นนั้น ผมเห็นต่างว่านี่เป็นการมองในมุมของแพทย์และสถานบริการ แต่หากมองในมุมของผู้ป่วย การได้รับการเยียวยาความเสียหาย ถือเป็นการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม การอ้างว่าไม่ว่าจะอธิบายหรือไม่อธิบายก่อนการรักษาไม่มีผลอะไร เพราะต้องจ่ายเงินเหมือนกัน จึงไม่ถูกต้องในวิชาชีพแพทย์” นพ.สุธีร์ กล่าว
 
นพ.สุธีร์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่นายกแพทยสภาแถลงว่า จะทำให้มีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้น เพราะมีเงินรองรับ และจะทำให้เงินที่ใช้ในการรักษาพยาบาลถูกตัดออกเพราะต้องไปจ่ายชดเชย ทำให้คุณภาพการรักษาลดลง และแพทย์จะทำการรักษาอย่างป้องกันตัวเองมากขึ้น ก็เป็นการบิดเบือนอย่างมาก เพราะ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ไม่ได้จ่ายเงินให้กับความเสียหายที่เกิดจากธรรมชาติของโรค รวมถึงความเสียหายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเอง ดังนั้น หากการร้องเรียนไม่เข้าข่ายตามกฎหมาย ก็จะไม่ได้รับการเยียวยา จึงไม่ใช่มีเงินเยียวยาแล้วจะทำให้เกิดการจ่ายเงินมากขึ้น
 
ขณะเดียวกันแพทย์ควรเปลี่ยนมุมคิดว่า การมีกองทุนรองรับความเสียหายต่างหากที่ทำให้แพทย์สามารถเยียวยาผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหายได้ทันท่วงที ลดการฟ้องร้อง เพราะเมื่อได้รับความเสียหายแล้วจะมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ นั่นคือผู้เสียหายจะมาเรียกร้องอีกไม่ได้ และหากผู้เสียหายไม่ขอรับการเยียวยาตาม พ.ร.บ.นี้ หากไปฟ้องร้อง และผลปรากฎว่าไม่พบผู้ทำความผิด ผู้เสียหายจะกลับมาขอการเยียวยาอีกไม่ได้ เพื่อป้องกันการฟ้องร้องพร่ำเพรื่อ โดยสรุปแล้ว ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ช่วยสร้างระบบการเยียวยาผู้เสียหายที่ไม่ต้องหาผู้กระทำผิด และจะทำให้แพทย์ไม่ต้องทำการรักษาเพื่อปกป้องตนเอง ซึ่งเป็นเหตุของความสิ้นเปลืองและค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้น และช่วยลดการฟ้องร้องที่ไม่จำเป็นลงไปอีก
 
นพ.สุธีร์ กล่าวว่า ต่อประเด็นที่ นพ.อำนาจ เสนอให้ขยาย มาตรา 41 ใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ให้ครอบคลุมทั้ง 3 สิทธินั้น ก็ไม่ได้เป็นประโยชน์จริง เนื่องจากไม่ได้กำหนดเรื่องการคุ้มครองแพทย์ไว้ แต่ ร่าง พ.ร.บ.นี้ ได้คุ้มครองแพทย์ตามมาตรา 28 ที่ระบุว่า ในการนี้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดหรือไม่จะลงโทษก็ได้ ดังนั้นจะเห็นว่า ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายนี้ มีเนื้อหาที่เป็นคุณต่อสังคมและวงการแพทย์มากกว่าการเสนอขอแก้ไขมาตรา 41
 
“ส่วนการที่ นพ.สัมพันธ์ เลขาธิการแพทยสภา แถลงว่า การตั้งกองทุนมีความจำเป็นหรือไม่ ทั้งที่การเยียวยาผู้ป่วยและผู้ให้การรักษาพยาบาลสามารถกระทำได้ทันทีนั้น ผมเห็นว่า การมีกองทุนคุ้มครองความเสียหายคือการเฉลี่ยความเสี่ยงให้กับรพ.ทั่วประเทศ การปล่อยให้รพ.ใดรพ.หนึ่งแบกรับความเสี่ยงเองไม่สามารถให้การเยียวยาได้เพียงพอ  นอกจากนี้ การมีคณะกรรมการกลางของกองทุนที่ไม่มีส่วนได้เสียเป็นผู้พิจารณาจะทำให้การพิจารณาเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่าย ซึ่งองค์ประกอบของคณะกรรมการกองทุน มีบุคลากรสุขภาพถึง 9 คน ขณะที่มีภาคประชาชนเพียง 5 ท่าน บุคลากรทางการแพทย์จึงไม่ต้องเกรงว่าจะถูกครอบงำด้วยภาคประชาชนหรือผู้ที่ได้รับความเสียหาย” นพ.สุธีร์ กล่าว 
               
นพ.สุธีร์ กล่าวต่อว่า มีข้อสังเกตว่า ในการแถลงข่าวของแพทยสภานั้น อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าเป็นมติของกรรมการแพทยสภาได้ จึงขอเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบพฤติกรรมของกรรมการแพทยสภาที่ออกมาแถลงว่า มีวัตถุประสงค์ใดแอบแฝงหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงเวลาการเลือกตั้งกรรมการ และบุคคลทั้ง 3 ก็ลงสมัครด้วย การสื่อสารใดๆ ในขณะนี้อาจถูกมองว่าใช้ตำแหน่งเพื่อการหาเสียงได้ ซึ่งถือว่าผิดมารยาทและไม่เคารพหลักความเสมอภาคในระบอบประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน การแถลงข่าวของอาจารย์แพทย์อาวุโสที่เป็นที่เคารพนับถือของบุคคลทั่วไปและในวงการแพทย์ ควรให้ข้อมูลแก่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสองด้านและปราศจากอคติ เพื่อสร้างการเรียนรู้และเกิดการตัดสินใจวิจารณญานอย่างอิสระ หากมีการให้ข่าวที่บิดเบือน ร่าง พ.ร.บ.นี้ ก็อาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียต่อชื่อเสียงและความไว้วางใจทั้งต่อตัวบุคคลและต่อวงการแพทย์ไทยได้
 
“ทั้งนี้ แพทยสภาเองในฐานะเป็นองค์กรที่กำกับดูแลมาตรฐานและจริยธรรมของวิชาชีพแพทย์ไม่ควรปล่อยให้มีการสร้างภาพลักษณ์ในลักษณะที่สวนทางกับความต้องการของสังคม และควรป้องกันมิให้สมาชิกใช้ชื่อของของแพทยสภาในการแสดงออกใดๆ ที่ทำให้ลดความน่าเชื่อถือและไว้วางใจขององค์กร แต่ควรแสดงบทบาทของการช่วยเหลือสังคมในการหาทางออกต่อเรื่องการช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายจากการรับบริการทางสุขภาพให้มากยิ่งขึ้นจะดีกว่า” นพ.สุธีร์ กล่าว
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net