มีใจความสำคัญดังนี้
เพื่อ เป็นการส่งเสริมแนวทางการคุ้มครองสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาอัน สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงตามนโยบายของนายกรัฐมนตรี คอป.จึงเสนอข้อสังเกตและข้อเสนอแนะดังนี้
1.สิทธิ ที่จะได้รับการปล่อยตัวและสิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวเป็นสิทธิพื้นฐานของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาที่ได้รับการยอมรับเป็นสากล รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 40 (7) ก็กล่าวถึง"สิทธิได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว" ทั้งนี้เพราะตามมาตรา 39 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติว่า "ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ถูกกล่าวหาไม่มีความผิด" การปล่อยชั่วคราวจึงเป็นข้อยกเว้นอันสืบเนื่องมาจาก "หลักยกประโยชน์แห่งความสงสัย" (in dubio pro reo) ดังจะเห็นได้จากบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 การเอาตัวผู้ถูกกล่าวหาไว้ในความควบคุมหรือในอำนาจรัฐจึงเป็นการจำกัดสิทธิ ของผู้ถูกกล่าวหาซึ่งนอกจากจะกระทบต่อเสรีภาพของบุคคลอันเป็นสิทธิพื้นฐาน ที่สำคัญแล้วยังกระทบถึงโอกาสในการต่อสู้คดีและส่งผลกระทบต่อครอบครัวและญาติพี่น้องของผู้ถูกกล่าวหาอีกด้วย
ด้วยเหตุนี้ คอป.จึงเห็นว่าหากไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนีจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือจะก่ออันตรายประการอื่นแล้ว ก็จะต้องปล่อยตัวหรือปล่อยชั่วคราวในทุกกรณี เหตุนี้รัฐบาลจึงพึงให้ความสำคัญสูงสุดกับการกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อมูลที่ถูกต้องต่อศาลเพื่อนำไปสู่โอกาสในการได้รับการปล่อยตัวหรือการ ปล่อยชั่วคราวผู้ถูกกล่าวหาในคดีที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อความรุนแรงโดยตรง เว้นแต่จะมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนที่สามารถพิสูจน์ถึงเหตุที่จะสามารถควบคุมตัวได้ดังกล่าว
อนึ่ง การเรียกหลักประกันในการปล่อยชั่วคราวซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติของประเทศไทยที่ไม่สอดคล้องกับหลักการทางวิชาการนั้น การเรียกหลักประกันดังกล่าวควรมีจำนวนน้อยที่สุด
2.คอป.เห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการปล่อยชั่วคราวแกนนำบางส่วนที่ถูกควบ คุมตัวไว้ โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ก่อหรือสนับสนุนความรุนแรงในระหว่างการชุมนุม โดยตรงเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลเหล่านั้นได้เข้ามามีส่วนร่วมในการนำแนวทาง สันติวิธีมาใช้ในการแสวงหาทางออกให้กับบ้านเมือง การปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวแกนนำดังกล่าวจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่ จะส่งสัญญาณว่าทุกฝ่ายให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับกระบวนการสร้างความ ปรองดองในชาติ
นอกจากนี้ยังเป็นการลดกระแสความเชื่อว่ากระบวนการยุติธรรมไม่มีความเป็นธรรมต่อผู้ถูกกล่าวหา อันเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ความไม่เชื่อถือในระบบการปกครองของรัฐอันอาจสร้างความร้าวฉานและความรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้นใหม่อีกด้วย
นอกจากนี้ ศาลอาจกำหนดเงื่อนไขส่วนหนึ่งให้แกนนำดังกล่าวได้มีส่วนร่วมกับ คอป.องค์กร สถาบัน และบุคคลต่างๆ ในการสร้างความเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธีกับกลุ่มที่มีความคิดต่างในทางการเมือง อันเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการสร้างความปรองดองที่จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งใน การแก้ไขปัญหาของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
ทั้งนี้ ทุกฝ่ายพึงตระหนักว่าการปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวไม่มีผลให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นไปจากการถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด อีกทั้งศาลยังอาจสั่งเพิกถอนการปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวได้เสมอหากผู้ได้รับการปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวกระทำผิดเงื่อนไข
3.คอป.ตระหนัก ดีว่าดุลพินิจในการปล่อยตัวหรือปล่อยชั่วคราวบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลเป็นของ ศาลยุติธรรม แต่ในการที่ศาลจะวินิจฉัยไปในทางหนึ่งทางใดย่อมขึ้นอยู่กับข้อมูลที่องค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในฝ่ายบริหารเป็นผู้นำเสนอ เพราะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 72 (2)บัญญัติว่า "หมายปล่อยผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งต้องขังอยู่ตามหมายศาล ให้ออกเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนขอให้ปล่อย โดยเห็นว่าไม่จำเป็นต้องขังไว้ในระหว่างการสอบสวน"
4. คอป.ได้ ส่งบทความเรื่อง "การเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐและการปล่อยชั่วคราว" มาพร้อมนี้ โดยผู้เขียนบทความดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงสภาพปัญหาในการนำกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญามาใช้โดยไม่สอดคล้องกับหลักการทางวิชาการ และแนวปฏิบัติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ถูกกล่าวหาโดยตรง
สำหรับเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อต้นปี พ.ศ.2553 นั้น คอป.เชื่อ ว่าหากมีการปฏิบัติโดยสอดคล้องกับหลักกฎหมายตามแนวทางที่เขียนในบทความดัง กล่าวแล้วจะมีผู้ต้องหาจำนวนไม่น้อยที่สมควรได้รับการปล่อยชั่วคราวเพราะ กรณีไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะหลบหนี ไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน และไม่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจะก่ออันตรายประการอื่นอันเป็น "เหตุหลัก" ในการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐ ซึ่งเมื่อกรณีมีเหตุหลักดังกล่าวมาแล้วก็จะปล่อยชั่วคราวไม่ได้ แต่การเอาตัวผู้ต้องหาเหล่านั้นไว้ในอำนาจรัฐที่เกิดจากเหตุแห่งความร้ายแรง ของความผิดซึ่งเป็นเพียงเหตุเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐที่เป็น "เหตุรอง" นั้น สามารถพิจารณาไปในทางปล่อยชั่วคราวได้แต่ก็ปรากฏว่าผู้ต้องหาซึ่งมีส่วน เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบหลายรายยังถูกควบคุมหรือขังอยู่ในชั้นการ ดำเนินคดีของเจ้าพนักงานบ้าง ในชั้นการดำเนินคดีของศาลบ้าง
คอป.เห็นว่า ปรากฏการณ์ของการเอาตัวบุคคลไว้ในอำนาจรัฐดังกล่าวมาข้างต้นนั้น ไม่เอื้อต่อการปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติตามภารกิจของ คอป. และ คอป.เห็น ต่อไปว่าทางปฏิบัติของเจ้าพนักงานและศาลในปัจจุบันนั้น หากพิจารณาตามความเห็นทางกฎหมายในบทความที่ส่งมาแล้ว กรณีมีหนทางที่จะปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาหลายคนไปเลยหรือปล่อยชั่วคราวได้ เพราะเหตุเอาตัวไว้ในอำนาจรัฐสำหรับบุคคลหลายคนเป็นเพียงเหตุรองเท่านั้น
แม้ในส่วนที่เกี่ยวกับศาลนั้น กรณีเป็นเรื่องยากที่จะดำเนินการใดๆ ได้โดยตรงเพราะกรณีเกี่ยวข้องกับความเป็นอิสระของอำนาจตุลาการซึ่งเป็นเรื่องที่พึงระมัดระวัง แต่ในส่วนของเจ้าพนักงานนั้นไม่ว่าจะเป็นพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจก็ดี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี คอป.เห็น ว่าน่าจะได้ทบทวนทำความเข้าใจกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวกันเสียใหม่ตาม นัยแห่งความเห็นทางกฎหมายดังกล่าว ซึ่งหากพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ และพนักงานอัยการจักได้ศึกษาความเห็นดังกล่าวอย่างเข้าใจและปฏิบัติได้ถูก ต้องสอดคล้องกับหลักกฎหมายแล้ว ย่อมจะส่งผลให้เกิดความเป็นธรรมในการดำเนินคดีตามนัยแห่ง มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้ เพราะมาตรา 40 (7) ที่บัญญัติว่า "ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวนหรือการพิจารณาคดีที่ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม"
นอกจากนี้ คอป.เห็น ต่อไปอีกว่าพนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจก็ดี พนักงานสอบสวนคดีพิเศษก็ดี และพนักงานอัยการก็ดี มีช่องทางที่จะช่วยให้เกิดความเป็นธรรมในชั้นการดำเนินคดีของตนและของศาลได้ โดยการพิจารณาให้ปล่อยตัวไปเลยหรือให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อผู้ต้องหาอยู่ใน อำนาจตน หรือแสวงหาโอกาสที่จะแถลงให้ศาลทราบเหตุผลและความเห็นทางวิชาการดังกล่าว สำหรับผู้ต้องหาที่ถูกขังโดยอำนาจศาลทั้งนี้ เพื่อศาลจักได้พิจารณาให้เป็นไปตามนัยแห่ง"สิทธิที่จะได้รับการปล่อยชั่ว คราว" ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 40 (7) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
5.นอกจากประเด็นเรื่องการปล่อยตัวหรือการปล่อยชั่วคราวซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนแล้ว รัฐบาลควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังในการให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกล่าวหาเกี่ยวกับเรื่องอื่นๆ ซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามหลักนิติธรรมและหลักสิทธิ มนุษยชน เช่นสิทธิพื้นฐานที่ควรได้รับในการต่อสู้คดี อาทิ การจัดหาทนายความ การให้ความช่วยเหลือเพื่อลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวอันสืบเนื่องมาจากการต้องถูกดำเนินคดี เป็นต้น
โดยรัฐบาลควรจัดให้มีกองทุนที่เพียงพอและสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อันจะเป็นการป้องกันและลดประเด็นไม่ให้ถูกนำไปขยายผลให้เกิดความเข้าใจผิดใน หมู่ประชาชนและลดความขัดแย้งและความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นด้วย