“สันติวิธี” จากบทเรียนการชุมนุมบนความขัดแย้งกรณี “เสื้อเหลือง-เสื้อแดง”

รายงาน “บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553” ย้ำไม่ได้หาคนถูก-ผิด ไม่มุ่งเสนอทางออกของความขัดแย้ง แต่เน้นคำถามการชุมนุมที่เริ่มต้นโดยสันติเปลี่ยนไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร

 
โศกนาฏกรรมกลางเมือง จากการขอคืน-กระชับพื้นที่การชุมนุมของรัฐบาล จนเป็นเหตุแห่งการสูญเสียชีวิตกว่า 92 ชีวิต และผู้คนอีกกว่า 1,800 คนต้องบาดเจ็บ หลายคนทุพพลภาพ สะท้อนภาพปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่มีรากฐานและสาเหตุที่สลับซับซ้อน ที่ทวีความรุนแรงขึ้น นี่จึงถือเป็นความท้าทายสำหรับทุกภาคส่วนในสังคมไทย ในการทำความเข้าใจถึงสภาวการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อแก้ปัญหาและสร้างแนวทางป้องกันความความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้อีกใน อนาคต
 
ศจ.ดร.มารค ตามไท (ซ้าย) และ ศจ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ (ขวา) นำเสนอรายงาน “บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง ในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2553”
 
 
เมื่อวันที่ 9 ก.พ.54 คณะทำงานโครงการ “ยุทธศาสตร์สันติวิธีสำหรับสังคมไทยในศตวรรษที่ 21” ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้นำเสนอรายงานเชิงนโยบายเรื่อง “บทเรียนจากการชุมนุมและความรุนแรงทางการเมือง ในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2553” เพื่อผลักดันให้เกิดความเข้าใจปัญหาการจัดการกับความรุนแรงทางการเมือง และเป็นแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดสภาพความรุนแรงทางการเมืองเช่นกรณีเสื้อ เหลือง-เสื้อแดงอีกในอนาคต
 
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี และอาจารย์คณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนอรายงานการวิจัยฯ ว่า รายงานเล่มนี้แตกต่างจากรายงานเล่มอื่นๆ ที่มีการจัดทำมาก่อนหน้านี้ เพราะไม่ได้พยายามตอบคำถามว่าใครคือคนผิด และไม่ได้ตั้งคำถามถึงสาเหตุและประวัติศาสตร์ของความขัดแย้ง รวมทั้งไม่ได้มุ่งเสนอแนะทางออกเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองโดยตรง แต่มุ่งเน้นเรื่องบทเรียนจากความรุนแรง และคำถามที่สำคัญคือการชุมนุมประท้วงที่เริ่มต้นโดยสันติได้เปลี่ยนไปสู่ ความรุนแรงได้อย่างไร และอะไรคือสาเหตุ โดยการศึกษาใช้การเก็บข้อมูลจากหนังสือพิมพ์หลายๆ ฉบับ และพยายามแก้ปัญหาอคติและเงื่อนไขเชิงโครงสร้างในการเสนอข่าว ด้วยการทบทวนและเปรียบเทียบหนังสื่อหลายๆ ฉบับ
 
ชัยวัตน์ กล่าวถึงข้อค้นพบในการศึกษาว่า ช่วงระหว่างวันที่ 13 มีนาคม – 6 กรกฎาคม 2553 มีเหตุการณ์ที่เกี่ยวของกับการชุมนุมเกิดขึ้นรวม 408 เหตุการณ์ โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรุงเทพฯ 165 เหตุการณ์ (ร้อยละ 40) รองลงมาคือเชียงใหม่ 24 เหตุการณ์ ขอนแก่น 14 เหตุการณ์ นครราชสีมา 13 เหตุการณ์และปทุมธานี 13 เหตุการณ์ เมื่อเทียบเป็นเหตุการณ์ไม่ใช้ความรุนแรง อาทิ การชุมนุมประท้วง การประท้วงโดยใช้สัญลักษณ์ การคว่ำบาตร การปิดล้อม การยึดครองพื้นที่ และวิธีที่ไม่ใช้ความรุนแรงอื่นๆ มี 247 เหตุการณ์คิดเป็นร้อยละ 60.54 ส่วนเหตุการณ์ความรุนแรงเช่น การปะทะหรือเผชิญหน้าโดยใช้กำลัง การยิง การระเบิด และวิธีอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่คือการเผา มี 153 เหตุการณ์ คิดเป็นร้อยละ 37.50 นอกจากนั้นเป็นกรณีอื่นๆ
 
รายงานนี้ถือว่าการชุมนุมประท้วงโดยทั่วไปเป็นปฏิบัติการไร้ความรุนแรง การศึกษายังบอกด้วยว่าผู้ที่ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงมากที่สุดคือผู้กระทำการ ที่ไม่อาจระบุได้ว่าเป็นใคร โดยก่อเหตุการณ์รุนแรง 86 เหตุการณ์ ส่วนทหาร-ตำรวจก่อเหตุการณ์รุนแรง 18 เหตุการณ์ ทั้งนี้ทั้งสองกลุ่มถือเป็นผู้ใช้ความรุนแรง ในขณะที่กลุ่มเสื้อเหลือง และกลุ่มเสื้อหลากสีไม่มีการใช้ความรุนแรงเลย สำหรับกลุ่มเสื้อแดงจากการก่อเหตุ 227 เหตุการณ์ ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 79.2) เป็นเหตุการณ์ไม่ใช่ความรุนแรง และยังพบว่าเหตุการณ์ที่เกิดโดยคนเสื้อแดงในต่างจังหวัดแม้จะมากจุดกว่าแต่ ใช้ความรุนแรงน้อยกว่า โดยเหตุการณ์ในต่างจังหวัด 146 เหตุการณ์ มีความรุนแรงเพียง 11 เหตุการณ์ ขณะที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 80 เหตุการณ์ มีความรุนแรง 36 เหตุการณ์
 
นอกจากนั้นรายงานยังระบุถึง สถิติผู้เสียชีวิต 92 รายว่า แทบทั้งหมดเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ (มี 2 ราย เสียชีวิตจากเหตุการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นที่ จ.อุดรธานีและ จ.ขอนแก่น ในวันที่ 19 พ.ค.53) ผู้สนับสนุนเสื้อแดงส่วนใหญ่เสียชีวิตระหว่างสองเหตุการณ์ที่ริเริ่มปฏิบัติ การโดยรัฐบาล คือการขอคืนพื้นที่ที่ผ่านฟ้า ถ.ราชดำเนิน เมื่อวันที่ 10 เม.ย.และการปิดล้อมกระชับพื้นที่ที่แยกราชประสงค์ระหว่างวันที่ 14-19 พ.ค.53 ส่วนทหารที่เสียชีวิตระหว่างเหตุการณ์ทั้งสองมีจำนวน 8 คน ขณะที่เจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต 2 ราย บริเวณใกล้แยกศาลาแดงและหน้าสวนลุมพินี         
 
ชัยวัฒน์กล่าวต่อมาว่า การประท้วงที่ใช้ความรุนแรงมีสิ่งที่น่าสนใจคือเหตุระเบิดเมื่อถูกนำมาวางลง บนแผนที่เทียบกับเหตุการณ์เผาและการยิง พบว่าเหตุระเบิดในช่วงแรกเกิดขึ้นไกลจากที่ที่มีการชุมนุม แสดงให้เห็นชัดว่าเหตุระเบิดซึ่งเกิดขึ้นตอนกลางคืน ในที่ไม่มีคนอยู่ เป้าหมายจึงไม่ใช่การมุ่งเอาชีวิต แต่มุ่งสร้างความสับสนและหวาดกลัว อย่างไรก็ตามเมื่อไม่ได้ผล ในตอนหลังการระเบิดก็เริ่มมุ่งเอาชีวิต และขยับใกล้พื้นที่ที่มีการชุมนุมมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และเมื่อมองจากช่วงเวลาการเกิดเหตุการณ์จะเห็นได้ชัดว่าตอนแรกกลุ่มคนที่ไม่ อาจระบุได้ว่าเป็นใครเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรง แต่ในตอนท้ายหลังจากที่มีการกระชับพื้นที่แล้วจะเห็นได้ชัดว่าตัวการที่ใช้ ความรุนแรงได้กลายเป็นฝ่ายเสื้อแดง ตรงนี้ถือเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากแรงกระตุ้น
 
ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี กล่าวถึงข้อคิดเห็นของคณะทำงานฯ จากรายงานฉบับนี้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้การชุมนุมประท้วงที่เริ่มจากสันติวิธีของนปช. และความพยายามของรัฐที่จะตอบสนองต่อการชุมนุม ท้ายที่สุดต้องจบลงด้วยความรุนแรง มาจากกระบวนการตัดสินใจของทั้ง 2 ฝ่ายที่มีปัญหา ซึ่งเกิดจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน
 
ด้าน มารค ตามไท รองประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธีฯ และเป็นผู้อำนวยการสถาบันศาสนาวัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ กล่าวว่า จากการเก็บสถิติที่ผ่านมาพบปัญหาที่แทรกอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ นั่นคือความหมายของการไม่ใช้ความรุนแรง และอะไรคือการชุมนุมอย่างสันติ ซึ่งคนในสังคมไทยมีความเข้าใจเรื่องนี้ต่างกันมาก ตรงนี้เป็นปัญหาที่สังคมต้องแก้ไขให้เป็นความเข้าใจรวม หากไม่ทำความเข้าใจให้ตรงกันก็จะทำให้เกิดปัญหาแบบนี้อีก ถ้าสันติวิธีจะเดินหน้าในสังคมไทยต้องหาความหมายนี้ให้ลงตัวเหมือนกัน และไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะมันเป็นไปไม่ได้
 
“ความพยายามที่จะหาความหมายรวมของสันติด้วยกฎหมายทำไม่ได้ เพราะเมื่อไม่เห็นด้วยคนก็จะไปทำอย่างอื่น แต่จะทำให้เกิดขึ้นได้โดยกระบวนการทางสังคมเป็น” รศ.ดร.มารคกล่าว
 
ส่วนกระบวนการตัดสินใจที่มีปัญหา มารคกล่าวเน้นในประเด็นที่เป็นบทเรียนว่า 1.ลักษณะเฉพาะของความขัดแย้งทางการเมืองไทยในปัจจุบันแตกต่างจากความขัดแย้ง ในอดีตที่เคยเผชิญ เช่น การชุมนุมของสมัชชาคนจน ที่โดยปกติเมื่อมีการชุมนุมก็จะมีการแก้ปัญหาโดยการใช้สันติวิธี หาทางออกแบบ win-win แต่จากข้อสังเกตของคณะทำงานพบว่า ขณะนี้สังคมไทยกำลังเข้ามาสู่ความขัดแย้งที่อาจจะไม่มี win-win เพราะจุดยืนของคู่ขัดแย้งคือต้องการให้อีกฝ่ายหนึ่งแพ้ เช่น การที่ฝ่ายหนึ่งบอกว่าอยากเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจของสังคมก็มาชุมนุมเรียก ร้องการเปลี่ยนแปลง ในขณะที่คู่ขัดแย้งคือกลุ่มอำนาจที่อีกเขาต้องการให้ลง ซึ่งโครงสร้างอำนาจนี้ไม่ใช่แค่หน่วยงานแต่เกี่ยวกับสถาบันสำคัญของประเทศทำ ให้การหา win-win เป็นเรื่องยาก เพราะการชนะของฝ่ายหนึ่งคืออีกอีกฝ่ายต้องแพ้ นำมาสู่การตั้งป้อมที่หาจุดร่วมกันไม่ได้
 
“เราไม่มีคำตอบเสนอ แต่ที่เคยคุยกันคือ มันต้องใส่สิ่งเหล่านี้ไว้ในกรอบที่ใหญ่กว่า ถ้าเรามองทุกอย่างในแง่ดี เชื่อว่าทุกคนบริสุทธิ์ใจก็ถือว่าจุดยืนทั้งหมดไม่ใช่เพื่อตัวเองหรือบุคคล เพราะว่ามีทัศนะที่ต่างกันว่าประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร มันจะสร้างบทสนทนาใหม่ให้แก่สังคมไทยถ้าจะทำงานสันติวิธีในกรอบความขัดแย้ง ทางการเมืองว่า ประเทศไทยควรจะอยู่อย่างไรถึงจะดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ในที่สุดมันคือเรื่องนั้น” รองประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธีฯ กล่าวและเสริมว่าถ้าไม่ไว้ในกรอบนี้ ส่วนตัวคิดไม่ออกว่าจะมีกรอบอะไรที่ใหญ่กว่าการที่ฝ่ายหนึ่งชนะอีกฝ่ายหนึ่ง แพ้
 
ประเด็นที่ 2 การปฏิเสธโอกาสแนวทางสันติวิธีปรองดอง จากรูปแบบความขัดแย้งที่ยากในการปรองดองจึงต้องศึกษาเป็นพิเศษ ซึ่งข้อสังเกตหนึ่งจากการชุมนุมครั้งนี้คือความล้มเหลวของการเจรจา ไม่ควรเข้าใจว่าการเจรจาเรื่องนี้จะเหมือนการเจรจาเรื่องลด-เพิ่มเงินเดือน ไม่ใช่การเจรจาที่ทุกคนจะสามารถได้ผลประโยชน์ เพราะมันเป็นการเจรจาข้ามโลกทัศน์ ซึ่งง่ายมากที่จะพูดและฟังโดยที่ไม่ได้ยินกัน แต่ตรงนี้ก็ยังเป็นวิธีที่ควรพัฒนาในลักษณะความขัดแย้งที่สังคมกำลังเจออยู่ ซึ่งมันไม่สามารถจะใช้วิธีการเก่าๆ ได้
 
มารค กล่าวต่อมาว่า คณะทำงานตระหนักดีว่าเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ได้เกิดขึ้นในสุญญากาศ แต่การตัดสินใจว่าจะเดินต่ออย่างไรทั้งในฝ่ายผู้ประท้วงและรัฐที่จะเข้าไป ควบคุม รวมทั้งการตัดสินใจในการใช้สันติวิธีนั้น อยู่ในกรอบของความเข้าในที่ว่าทำอย่างไรจึงจะนำความมั่นคงมาให้ประเทศชาติ ทุกกลุ่มบอกว่าควรตัดสินใจอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อความมั่นคง แต่กลุ่มต่างๆ เข้าใจความหมายของความมั่นคงที่ต่างกัน ทำให้หาวิธีตกลงร่วมกันยาก ดังนั้น เรื่องความมั่นคงคืออะไรเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจเมื่อพูดถึงเรื่องสันติ วิธี นอกจากนั้นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้ามีผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการแก้ปัญหา ระยะยาวอย่างแยกกันไม่ออก ปัจจุบันคนบางกลุ่มต้องการแก้ปัญหาระยะยาว เช่นการปฏิรูป โดยไม่สนใจเรื่องเฉพาะหน้า ก็เกิดคำถามว่าจะเชื่อใจได้หรือเปล่าว่าจะแก้จริง   
 
ในส่วนการใช้ข่าวสารข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ การศึกษาพบว่าการตัดสินใจหลายครั้งอยู่บนฐานการข่าวที่ไม่ชัดเจน ตรงนี้ไม่ใช่เพียงข่าวเท็จหรือข่าวจริง แต่เป็นการข่าวเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่างโดยวิธีเลือกให้ข่าว ให้ความจริงเพียงบางส่วน ดังนั้นการให้ความสำคัญกับทางเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาพิจารณาจึงเป็นสิ่งสำคัญ
 
มารค กล่าวถึงประเด็นปัญหาเรื่องการปรองดองด้วยว่า โจทย์ของการปรองดองอาจไม่ใช่เพียงระหว่างคู่กลุ่มบุคคล แต่เป็นคู่ความคิด ซึ่งมีอยู่หลากหลาย แต่ไม่ว่ากลุ่มไหน การปรองดองที่สำคัญเพื่อจะให้บ้านเมืองเดินต่อได้ คือทุกคนต้องปรองดองกับตัวเอง ต้องพร้อมที่จะไม่ได้ในสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ไม่ได้หมายถึงการลดมาตรฐานในความเชื่อของตัวเอง หรือมีอุดมการณ์น้อยลง แต่ต้องพร้อมที่จะไม่ได้ตามอุดมการณ์
 
“ไม่ใช่แค่พร้อมตาย อันนั้นไม่เท่าไหร่ คล้ายเป็นการเสียสละชีวิต แต่พร้อมฆ่าเพื่อสิ่งนี้ ตรงนี้จะนำมาซึ่งความสูญเสียต่อสังคม ตอนนี้บางคนอาจจะเป็นหรือเปล่าที่บอกว่าพร้อมที่จะฆ่าคนอื่นเพื่ออุดมการณ์ อันนี้คิดว่าจะเป็นปัญหา” มารค กล่าว
 
มารค กล่าวถึงความหมายของสันติวิธีด้วยว่า สันติวิธีคือการพร้อมเจ็บ คนใช้ต้องพร้อมที่จะสูญเสีย ซึ่งนั้นจะทำให้ความเจ็บในภาพรวมน้อยลง โดยเชื่อว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ อย่างไรก็ตามในประเทศไทยมีแต่ในระดับตัวบุคคลที่พร้อมจะทำตามแนวทางสันติ วิธี แต่ในระดับกระบวนการซึ่งประกอบด้วยกลุ่มคนที่แตกต่างกันส่วนใหญ่ไม่พร้อมจะ รับ นอกจากนั้นการมองสันติวิธีว่าเป็นวิธีการ ก็มีความเป็นไปได้ที่จะถูกประเมินว่าจะทำให้เกิดผลได้หรือไม่ซึ่งจะนำไปสู่ การละทิ้งการใช้สันติวิธี แต่การมองสันติวิธีระหว่างว่าเป็นอุดมการณ์กับวิธีการนั้นต่างกัน ดังนั้นจึงต้องขยับบทสนทนาให้เรื่องสันติวิธีเป็นอะไรที่ลึกกว่าเพียงแค่ วิธีการ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท