Skip to main content
sharethis

เวทีมนุษย์-สังคมเสวนา ครั้งที่ 1 เรื่อง “ปฏิรูปสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 ณ อาคารรัตนเลิศ(บ้านทรงจีน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

 

  

ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ดูเหมือนจะไม่ใช่ปัญหาความไม่สงบในปัตตานี,ยะลาและนราธิวาส เพียงเท่านั้น ทว่ามีพื้นที่อีก 2 จังหวัดที่มีปัญหาคุกรุ่นอยู่เช่นกันจากแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern Seaboard) ของภาครัฐ คือพื้นที่จังหวัดสตูลและสงขลา อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา, ท่าเรือน้ำลึกสงขลา 2 ที่จะนะ, สะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์) สงขลา-สตูลฯลฯ
 
เมื่อเวลา 13.30 น. ของวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดเวทีมนุษย์-สังคมเสวนา ครั้งที่ 1 เรื่อง “ปฏิรูปสังคม ขจัดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย” เพื่อเสวนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเผยแพร่แนวคิดเกี่ยวกับการปฏิรูปสังคม ตามโครงการจัดตั้งศูนย์อิสลามศึกษาเพื่อการบูรณาการ ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ ณ อาคารรัตนเลิศ(บ้านทรงจีน) คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
 

 
รศ.ดร.ไพบูรณ์ ดวงจันทร์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวเปิดงาน ความว่า สังคมไทยในรอบ4-5 ปีที่ผ่านมา เกิดการการใช้กำลังและอาวุธเข้าหั่นจนถึงขั้นจลาจล จากการสรุปบทเรียนได้ว่ามาจากความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมไทย สูง
 
นำเสวนาโดย ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานอนุกรรมการปฏิรูปที่ดิน ทรัพยากรและน้ำ ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทย และ รศ.ดร.รัตติยา สาและ อาจารย์สาขาวิชาตะวันออกหลักสูตรมาลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ พิธีกรดำเนินเสวนาโดย ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ มีคณาจารย์ บุคลากร นิสิตและผู้สนใจ ประมาณ 50 คน
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวในเวทีเสวนาว่า ปัจจุบันนี้ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรม แยกออกเป็น 2 พื้นที่จังหวัดคือ ปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี,ยะลาและนราธิวาส ส่วนพื้นที่จังหวัดสตูลและสงขลา มีปัญหาเกี่ยวกับแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern Seaboard) ของภาครัฐ อาทิ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา,ท่าเรือน้ำลึกสวนกง และสะพานเศรษฐกิจ(แลนด์บริดจ์สงขลา-สตูล)ฯลฯ ที่จะต้องมาเสวนาแลกเปลี่ยน
 
รศ.ดร.รัตติยา สาและ อาจารย์สาขาวิชาตะวันออกหลักสูตรมาลายู คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) เปิดเผยว่า ที่ดินใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าไปดูที่สำนักงานที่ดินในพื้นที่มีการซื้อขายเปลี่ยนมือจากชาวบ้านใน พื้นที่ไปยังคนนอกพื้นที่เป็นส่วนใหญ่ แม้แต่ที่ดินแถวอำเภอสุไหงปาดี อำเภอเจาะไอร้อง จังหวัดนราธิวาส ซึ่งเป็นพื้นที่สีแดง มีคนนอกพื้นที่ฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าของ
 
รศ.ดร.รัตติยา กล่าวว่า คำถามว่าวันนี้พื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้น่ากลัวจริงหรือ ซื้อที่ดินไปทำไมทั้งที่เป็นที่ดินตาบอด ชาวบ้านบางคนถูกบีบบังคับให้ขายที่ดิน เพื่อโก่งราคาเมื่อรู้ว่าบริเวณไหนที่มีถนนตัดผ่าน โดยกว้านซื้อจากชาวบ้านในราคาถูก ใครไม่ยอมขายจะถูกข่มขู่ไล่ล่า ปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากที่ดินทำกินเช่นกัน
 
ม.ร.ว.อคิน เปิดเผยว่า ปัจจุบันพลเมืองไทยถึง 90% ถือครองที่ดินแค่ 10% ของพื้นที่ประเทศไทยทั้งหมด ส่วนกลุ่มคนแค่ 10% ถือครองที่ดินถึง 90% ของพื้นที่ประเทศไทย ซึ่งที่ดินทำกินเป็นปัญหารากเหง้าของสังคมไทย ในการเข้าถึงทรัพยากรไม่เท่าเทียมกัน มาจากระบบศักดินา สู่ระบบธุรกิจนักการเมืองในปัจจุบัน ที่มักจะร่วมมือกับนายทุนต่างชาติกว้านซื้อที่ดินของชาวบ้าน ทำสัญญาเอาเปรียบชาวไร่ชาวนา นำมาสู่การสูญเสียที่ดินทำกิน
 
“เพื่อขจัดปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน คณะกรรมการปฏิรูปได้ทำข้อเสนอการถือครองที่ดินได้เพียงคนละ 50 ไร่ ให้รัฐกว้านซื้อที่ดินจากคนที่มีที่ดินมากกว่า 50 ไร่ จัดตั้งเป็นธนาคารที่ดิน เพื่อขายแบ่งปันให้กับคนที่ไร้ที่ดินทำกิน อาจใช้เป็นวิธีการผ่อนชำระเป็นเดือนๆ” ม.ร.ว.อคิน กล่าว
 
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ ถาม ม.ร.ว.อคิน ว่า ปัญหาแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern Seaboard) ของภาครัฐ กับสถานการณ์ความขัดแย้ง กรณีท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ที่ล่าสุดมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยไปรับงานประชาสัมพันธ์กับกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เป็นความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมหรือไม่ ควรวางบทบาทของอาจารย์ นักวิชาการของมหาวิทยาลัยอย่างไร
 
ม.ร.ว.อคิน เปิดเผยว่า ตอนที่ตนเป็นอาจารย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเพื่อนอาจารย์คนหนี่งรับงานจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทาบทามตนให้ร่วมคณะทำรายงานศึกษาประเมินความเป็นไปได้ในการสร้างเขื่อนแห่ง หนึ่ง แต่ตนได้ตอบปฏิเสธ
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า เมื่อก่อนมีอำนาจนักการเมืองกับนายทุน ปัจจุบันมีอำนาจนักวิชาการเข้ามาร่วมด้วยช่วยกันผลาญทรัพยากรของชาติ รังแกชาวบ้าน มีการทำมวลชนให้ขัดแย้งกันเองในชุมชน นักวิชการมารับงานแบบนี้กันเยอะมาก ความจริงนักวิชาการควรมีจริยธรรมและเป็นกลาง
 
“นักวิชาการส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย ไปตั้งบริษัทรับทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) รับทำงานประชาสัมพันธ์โครงการของรัฐ โดยมีกรมหรือหน่วยงานภาครัฐมาจ้างโดยมีเงื่อนไขว่าต้องอิงข้อมูลเข้าข้างกรม หรือหน่วยงานภาครัฐ” ม.ร.ว.อคิน กล่าว
 
รศ.ดร.รัตติยา เปิดเผยว่า เคยมีเพื่อนซึ่งเป็นผู้สื่อข่าวชาวมาเลเซียถามตนว่ารู้หรือไม่ว่าตอนนี้ตน กำลังอยู่บนแผ่นดินไทย ขณะที่ตนอยู่ริมชายหาดประเทศสิงคโปร์ เพื่อนบอกกับตนว่าดินที่ถมทะเลเหล่านี้นำมาจากจังหวัดสตูล ขุดหน้าดินแปรรูปเป็นอิฐบล็อกลำเลียงผ่านด่านสะเดา จังหวัดสงขลา ส่วนทรายขนถ่ายทางเรือในตอนดึกๆลำเลียงไปขายยังประเทศมาเลเซีย เพื่อถมทะเล
 
“เพื่อนอธิบายว่าสิงคโปร์มีสูตรวิทยาศาสตร์ในการสร้างอิฐบล็อกที่มี คุณสมบัติคงทนต่อการถมขยายพื้นที่ในทะเล มีนักวิชาการที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เห็นช่องทางตรงนี้ทำธุรกิจวิชาการ” รศ.ดร.รัตติยา กล่าว
 
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ ถามในเวทีเสวนาว่า ระบบหลักสูตรการศึกษา ตลอดถึงอาจารย์ นักวิชาการและมหาวิทยาลัยควรมีการปฏิรูปด้วยหรือไม่ อย่างไร
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า ควรมีการปฏิรูปมหาวิทยาลัยเป็นอย่างมาก เพราะปัจจุบันมหาวิทยาลัยผลิตบัณฑิตเป็นจำนวนมากออกมาโดยง่ายๆ ทำให้คุณค่าของใบปริญญาหมดไป ความจริงควรเน้นการพัฒนาด้านอาชีวะศึกษามากกว่า เพราะในตลาดแรงงานต้องการช่างฝีมือในแขนงต่างๆ เป็นอย่างมาก แต่นักศึกษาเรียนเพื่ออยากได้ปริญญา ไม่ใช่เรียนเพื่ออยากได้ความรู้ บัณฑิตเลยไม่มีคุณภาพ ตกงาน
 
ผศ.ดร.ณฐพงศ์ ถามในเวทีเสวนาว่า ประชาชนสามารถฝากความหวังไว้กับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเชิง โครงสร้างกับภาครัฐให้เป็นรูปธรรมได้หรือไม่
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างนั้นคณะกรรมการปฏิรูปประเทศไทยสามารถทำข้อเสนอ ต่อภาครัฐได้ แต่ต้องอาศัยพลังการขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาชนด้วย รวมถึงผู้สื่อข่าวที่นำความเดือดร้อนของชาวบ้านนำเสนอให้เป็นกระแส กระทุ้งหน่วยงานภาครัฐ ทั้งนี้ทั้งนั้นแรงขับเคลื่อนทึ่ดีที่สุดคือพลังจากประชาชนในการเรียกร้อง ความยุติธรรมให้แก่ตัวเอง ซึ่งจะเดินไปทิศทางใดทิศทางหนึ่งไม่ได้ ดังเช่น แนวคิดปฏิรูปประเทศไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งทำจากข้างบนลงมาข้างล่าง คือแนวทางการปฏิรูปกำหนดมาจากภาครัฐ แต่ครั้งนี้จากข้างล่างขึ้นสู่ข้างบน เป็นข้อเสนอจากภาคประชาชนสู่ภาครัฐ
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวอีกว่า จากการเรียกร้องต่อสู้ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยและแนวร่วม ต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นำไปสู่เหตุการณ์จลาจล การที่รัฐบาลอ่อนแอ ถือเป็นโอกาสดีของเครือข่ายภาคประชาชนขึ้นมาเรียกร้องอำนาจของประชาชนจากภาค รัฐ
 
ม.ร.ว.อคิน กล่าวด้วยว่า ยกตัวอย่างกลุ่มชาวไทยพลัดถิ่นเดินธรรมยาตราจากจังหวัดในประจวบคีรีขันท์ถึง รัฐสภาที่กรุงเทพฯ จนนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รับเรื่องที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติสัญชาติเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เร็วๆ นี้
 
“ มีแนวทางการตั้งสภาประชาชน จากตัวแทนเครือข่ายภาคประชาชนหลายๆ เครือข่ายทั่วประเทศไทย เป็นสภาคู่ขนานกับสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภาและรัฐสภา เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่างๆ ของประชาชนต่อรัฐบาล เพื่อคาน ถ่วงดุลอำนาจระหว่างกัน นอกจากนี้แล้วควรลดอำนาจรัฐส่วนกลาง และเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นและชาวบ้านมากขึ้น การที่รัฐจะดำเนินการอะไรต้องได้รับการอนุมัติจากท้องถิ่นเท่านั้น” ม.ร.ว.อคิน กล่าว
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net