สัมมนาสาธารณะ: เปิดเขื่อนปากมูล-น้ำแห้งจริงหรือ?

“นิธิ” จวกแม่น้ำไม่ใช่ท่อพีวีซี เปิด “เขื่อนปากมูล” แล้วน้ำจะแห้ง แค่ข้ออ้างใหม่ ชี้นักการเมืองไม่กล้าเปิดเขื่อน เป็นผลจากการเมืองท้องถิ่นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางนโยบาย ด้านเอ็นจีโอชี้แก้ปัญหาฤดูน้ำแล้งต้องดูการบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำมูล-ชี ทั้งระบบ

 
วันที่ 4 มี.ค.54 เมื่อเวลา 9.00 น.ศูนย์ศึกษาพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับกองทุนเพื่อสืบสานเจตนารมณ์ วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ เปิดเวทีสัมมนาสาธารณะ “เปิดเขื่อนปากมูล น้ำแห้งจริงหรือ? การปะทะที่ท้าทาย ระหว่างความรู้ทางวิชาการกับการเมือง และผลประโยชน์ของนักสร้างเขื่อน” ที่ห้องมาลัยหุวนันท์ รัฐศาสตร์ จุฬาฯ 
 
สืบเนื่องจากกรณีที่ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนปากมูล 60 หมู่บ้าน ได้เดินทางมาชุมนุมที่บริเวณพระบรมรูปทรงม้า เป็นเวลากว่า 2 สัปดาห์ หลังจากที่ได้รวมตัวกันชุมชนหน้าศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีมาเกือบ 1 เดือน โดยมีข้อเรียกร้องให้มีการเปิดเขื่อนปากมูลตลอดปีตามผลการศึกษาของนัก วิชาการก่อนหน้านี้ ซึ่งได้ยื่นต่อรัฐบาลแล้ว แต่ข้อเรียกร้องดังกล่าวยังถูกคัดค้านและตั้งคำถามจาก นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในกรณีที่หากมีการเปิดเขื่อนปากมูลจะทำให้คนในลุ่มน้ำไม่มีน้ำใช้เพราะไหลลง น้ำโขงหมด ทั้งนี้ กรณีเขื่อนปากมูลจะมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม.อีกครั้งในวันที่ 8 มี.ค.นี้
 
 
ชี้ “เปิดเขื่อนปากมูล” เอี่ยวการเมือง 3 ระดับ
 
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ ล่าวว่า กรณีของเขื่อนปากมูลเป็นกรณีแรกๆ ทางสังคมที่ประชาชนระดับล่างลุกขึ้นมาเรียกร้อง ประชาชนระดับเล็กๆ ในทัศนะของรัฐไทยคือผู้ไม่มีตัวตน ไม่มีหน้าตา ดังนั้น การเคลื่อนไหวทางสังคมของเขื่อนปากมูลเป็นเรื่องของการเคลื่อนไหวของประชาชน ระดับล่างในประเด็นสาธารณะ ที่สืบเนื่องมาจากความจำเป็นต้องลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจรัฐและใช้ทุกอย่างที่ มีเพื่อเรียกร้องให้ตนเองมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายสาธารณะ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ และเป็นการเปลี่ยนแปลงในระดับรากฐานของสังคมไทย
 
ศ.ดร.นิธิ ได้ตั้งข้อสังเกตต่อกรณีการเปิดเขื่อนปากมูลในขณะนี้ว่า มีการกำหนดข้อถกถียงใหม่ขึ้นมา โดยในอดีต ข้อถกเถียงเรื่องเขื่อนปากมูลจะอ้างอิงถึงเรื่องความมั่นคงด้านไฟฟ้าเพื่อ ประกันเสถียรภาพด้านพลังงานในอีสานใต้และข้อถกถียงเรื่องปลาต่างๆ จากผลของการศึกษา 7 ครั้งก็มีผลสรุปชัดเจนว่าคณะอนุฯ เสนอให้รัฐเปิดเขื่อนถาวร ซึ่งน่าสนใจว่า ข้อถกเถียงเหล่านี้ไม่มีปรากฏในการอ้างของรัฐบาล แต่มีการกำหนดข้อโต้แย้งใหม่ขึ้นมาคือ หากเปิดเขื่อนถาวรจะทำให้น้ำแห้ง โดยอธิบายบนฐานคิดของการมองว่าน้ำในแม่น้ำไหลเหมือนท่อ PVC แต่แม่น้ำมีการกักเก็บน้ำตามธรรมชาติหลากหลายแบบ ทั้งความลาดชันและแก้มลิงธรรมชาติ ซึ่งข้อโต้แย้งนี้จะกำลังเป็นข้ออ้างอันใหม่ที่จะมีการใช้ต่อไป
 
ศ.ดร.นิธิ ได้ขยายคำอธิบายว่าทำไมกรณีของเขื่อนปากมูลจึงประสบความสำเร็จยาก โดยมองว่าปรากฏการณ์นี้มีการเมืองอยู่ 3 ระดับคือ ระดับที่ 1 ความสัมพันธ์ของการเมืองระดับท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติ ผลชี้วัดของการเลือกตั้งผู้แทนเกิดขึ้นได้จากความสัมพันธ์ของนักการเมืองและ เครือข่ายหัวคะแนนในพื้นที่ โดยนัยหนึ่งเครือข่ายหัวคะแนนจึงเป็นผู้มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางนโยบาย ให้แก่ ส.ส.ที่ขึ้นไปเป็นรัฐมนตรี ดังนั้น การคัดค้านเขื่อนปากมูลจึงต้องดูว่า การเปิด-ปิดเขื่อนส่งผลได้ผลเสียให้กลุ่มหัวคะแนนกลุ่มไหน อย่างไร ผลประโยชน์ส่วนนี้จึงเป็นส่วนของผลกระทบของการเมืองระดับท้องถิ่นที่มีต่อ การกำหนดนโยบายสาธารณะ
 
ระดับที่ 2 กระบวนการตัดสินใจระดับนโยบายสาธารณะของไทยมีการจัดช่วงชั้นทางสังคมไว้ อย่างแน่นหนา เรื่องพลังงานจึงเป็นเรื่องของข้าราชการ กฟผ.และกระทรวงพลังงาน ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่คิดว่าตัวเองเป็นผู้เชียวชาญเฉพาะด้านและสามารถกำหนด นโยบาย ประกอบกับลักษณะทางสังคมไทยที่ลึกๆ มีความเชื่อคนไม่เท่ากัน ส่งผลคนเหล่านี้มีสิทธิในการตัดสินใจมากกว่าคนอื่น โดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้มักจะอ้างว่า หนึ่งกูเก่ง สองกูทำดีเสมอ กระบวนการช่วงชั้นและการตัดสินใจบีบบังคับให้การเกิดขั้นตอนต่อมายากมาก โดยเหตุผลหลักอยู่ที่วัฒนธรรมทางการเมืองและสังคมของเราเอง
 
ระดับที่ 3 รัฐยังสนองทุนเหมือนที่ผ่านมา แม้ว่าสังคมได้เปลี่ยนไปแล้ว สิ่งที่น่าวิตกคือการเกิดเหตุการณ์รุนแรงแบบราชประสงค์ เพราะรัฐหรือชนชั้นนำของรัฐไม่เรียนรู้ที่จะปรับตัวต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยน แปลง ในสมัยหนึ่งคนทำนาเลี้ยงตัวเองอย่างเดียว รัฐบาลทำอะไรก็เรื่องของรัฐบาล แต่สมัยนี้รายได้หลักของคนไม่ได้มาจากภาคเกษตรอย่างเดียวแต่มีการหารายได้ ข้างนอก เช่น เปิดร้านก๋วยเตี๋ยว นโยบายรัฐขึ้นราคาหมูกระทบโดยตรงกับหม้อก๋วยเตี๋ยว ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะเลี่ยงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระดับนโยบาย สาธารณะ
 
ศ.ดร.นิธิ กล่าวต่อมาถึงพลังการต่อสู่ของขบวนการประชาชนอย่างสมัชชาคนจนที่หายไปก่อน หน้านี้ว่า คำตอบคือ เพราะชาวบ้านไม่มีเครื่องมือในการต่อสู้ ชาวบ้านไม่มีพรรคการเมืองสำหรับชาวบ้านระดับล่าง ไม่มีสื่อที่จะตามไปรายงาน ติดตามปัญหาร่วมกับชาวบ้าน ตอนนี้มีคนเสื้อเหลืองมาชุมนุมในบริเวณเดียวกันซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีจำนวน น้อยที่สุด แต่ว่าคนกรุงเทพฯ รู้ข้อมูลของเสื้อเหลืองมากกว่าเรื่องปัญหาของชาวบ้านเสียอีก นอกจากนั้นยังทิ้งท้ายคำถามถึง พัฒนาการจัดองค์กรของชาวบ้านเพื่อสร้างพลังในการบังคับให้รัฐหันมาฟังเสียง ของชาวบ้านบ้าง
 
 
ย้ำ “เขื่อนปากมูล” ไม่มีประโยชน์ด้านการผลิตไฟ
 
ด้าน นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ประธานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ กล่าวให้ข้อมูลว่า เขื่อนปากมูลเกิดขึ้นโดยการสนับสนุนของธนาคารโลก สมัยรัฐบาลพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ หลังจากโครงการเขื่อนน้ำโจนถูกชะลอไป เพราะพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนปากมูลไม่มีพื้นที่ป่า แต่ละเลยประเด็นสำคัญว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา แม้จะมีการสร้างบันไดปลาโจนแต่ก็ไม่เหมาะสมกับพันธ์ปลาในลุ่มแม่น้ำโขงและ แม่น้ำมูล และที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเขื่อนปากมูลส่งผลกระทบต่อชุมชนในวงกว้างหลายครอบ ครัวและปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหาเขื่อนปากมูลไม่จำเป็นต้องทุบเขื่อนทิ้งแต่สามารถ ใช้วิธีเปิดประตูเขื่อนได้
 
นายวิฑูรย์ ยังได้ อ้างถึงรายงาน ของคณะกรรมการเขื่อนโลก ( The World Commission on Dams: WCD ) ที่ระบุว่า เดิมเขื่อนปากมูลมีการคาดการงบประมาณการก่อสร้างไว้ที่ 3.8 ล้านบาท แต่ท้ายที่สุดใช้งบไปกว่า 6.6 พันล้านบาท โดย 91 เปอร์เซ็น เป็นงบบานปลาย อีกทั้ง การพยากรณ์กำลังไฟฟ้าที่เขื่อนสามารถผลิตได้ต่ำกว่าที่ กฟผ.อ้างถึงมาก คือจากแผนเป็น 136 MW แต่กำลังผลิตโดยเฉลี่ยมีเพียง 21 MW เขื่อนปากมูลจึงสามารถผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 160 ล้านหน่วย ต่ำกว่าที่การศึกษาระบุก่อนสร้างว่าต้องผลิตได้ประมาณ 280 ล้านหน่วย นอกจากนี้ ในรอบ 1 ปี เขื่อนปากมูลแทบไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการช่วงที่ประเทศ ต้องการไฟฟ้าสูงสุดโดยเฉพาะในเดือน ม.ค. – เม.ย.หรือในช่วงหน้าแล้ง
 
นายวิฑูรย์ กล่าวด้วยว่า ในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา ไทยซื้อไฟฟ้าจากลาว โดยเฉพาะจากเขื่อนน้ำเทิน 2 เข้ามาถึง 1300 MW สะท้อนว่าไม่จำเป็นต้องกลัวว่าจะมีไฟขาด โดยภาคอีสานสามารถใช้ไฟฟ้าจากเขื่อนน้ำเทิน+น้ำงึมก็เพียงพอแล้วคำถามสำคัญ คือกำลังการผลิตไฟฟ้านั้น เขื่อนถูกสร้างและผลิตไฟฟ้าขึ้นเพื่อใคร ซึ่งสุดท้ายได้นำมาสู่การสร้างความไม่ยุติธรรมในสังคมที่ชาวบ้านหลายร้อย หมู่บ้านต้องเสียสละไฟฟ้าเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนในเมือง
 
 
แจง 3 คำถาม เปิดเขื่อนแล้วน้ำแห้ง?
 
ส่วนนายมนตรี จันทวงศ์ ผู้ประสานงานมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาตินำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อตอบ โจทย์ “เปิดเขื่อนปากมูลแล้วจะทำให้น้ำแห้งจริงหรือ?” โดยชี้แจงว่า สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนหลังจากการเปิดเขื่อนคือน้ำเขื่อนจะแห้ง แต่น้ำมูนจะไม่ได้แห้ง เพราะแม่น้ำมูนยังมีเกาะแก่ง ดอนที่ช่วยกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ
 
นายมนตรีได้ขยายการอธิบายเพิ่มเติมภายใต้คำถามหลัก 3 ข้อ คือคำถามแรก ระดับแม่น้ำมูลและแม่น้ำโขงที่โขงเจียมสัมพันธ์กันอย่างไร โดยเฉพาะในฤดูร้อน? แท้จริงแล้วระยะของแม่น้ำที่แม่น้ำโขงและแม่น้ำมูลจะสัมพันธ์กันในฤดูแล้ง นั้นมีเพียง 6 กิโลเมตร โดยระดับแม่น้ำมูลจะถูกควบคุมโดยแก่งตะนะ ซึ่งเป็นเสมือนฝายธรรมชาติ ที่คุมน้ำที่ปล่อยมาจากเขื่อนทั้งหมดก่อนลงสู่แม่น้ำโขง ทั้งในกรณีที่ปิดและเปิดเขื่อน ในบางปีช่วงฤดูฝน หน่วยงานรัฐจะต้องเอาเครื่องสูบน้ำไปสูบน้ำในแก่งตะนะเพื่อระบายน้ำออกไม่ ให้น้ำท่วม ในปี 2545 เป็นช่วงที่มีการทดลองการเปิดเขื่อนตลอดทั้งปี ปรากฏว่าน้ำไม่ได้แห้งที่จังหวัดอุบลและยังพบว่าปริมาณน้ำโดยเฉลี่ยของแม่ น้ำมูลสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนการสร้างเขื่อน
 
จากข้อมูลระดับน้ำที่โขงเจียม วันที่ 7 ก.พ.2553 อยู่ที่ 1.75 ม.รทก. ระดับน้ำมูลท้ายเขื่อนปากมูลอยู่ที่ 92.45 ม.รทก. ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่าระดับน้ำมูลไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปตามการเปลี่ยนแปลงของ น้ำโขงไปทั้งหมด ระดับความลึกของแม่น้ำโขงที่โขงเจียมประมาณ 30 – 40 เมตร หากไม่มีแก่งตะนะขวางอยู่น้ำที่ไหลมาจากเขื่อนปากมูลก็จะไหลลงแม่น้ำโขงหมด ทั้งนี้ สัดส่วนของแม่น้ำโขงที่โขงเจียม 40 เปอร์เซ็นต์เป็นนำที่มาจากจีนและที่เหลือมาจากลาว ส่วนไทยแทบไม่มีน้ำไหลมาลงแม่น้ำโขง
 
นายมนตรี กล่าวถึงคำถามที่สองคือ การเปิดเขื่อนปากมูลจะช่วยส่งผลต่อระดับน้ำมูลอย่างไร? ว่า หากเปิดเขื่อนน้ำที่จะหายไปคือน้ำเขื่อน น้ำที่จะเหลืออยู่คือน้ำมูลตามธรรมชาติ ปัจจุบันแม่น้ำมูลในจังหวัดอุบลมีแก่งสะพือช่วยคุมน้ำอยู่ตามธรรมชาติ เปรียบเหมือนแก้มลิงของแม่น้ำมูลซึ่งจะรักษาแม่น้ำมูลไปจนถึง จ.อุบลราชธานี
 
สุดท้ายคุณมนตรีตั้งคำถามถึงปัจจัยอื่นๆ ที่ส่งผลต่อการไหลของแม่น้ำมูลที่ จ.อุบลว่า จากข้อมูลที่มีการรวบรวมไว้มากมายในอดีต สะท้อนให้เห็นด้วยว่าระดับน้ำมูลที่จังหวัดอุบลไม่ได้ขึ้นกับเขื่อนปากมูล เท่านั้น แต่ขึ้นกับการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนตอนบนในลุ่มน้ำมูล-ชีด้วยเช่นกัน โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคม มีการรายงานข่าวว่าบางช่วงของแม่น้ำมูลแล้งจัด ซึ่งหากพิจารณาให้ดีแล้วระดับน้ำในหน้าแล้งจะแห้งเท่าไหร่นั้น สัมพันธ์กับการเปิด-ปิดน้ำจากเขื่อนส่วนบน ซึ่งในกรณีนี้เกิดจากการปิดประตูน้ำของเขื่อนราศีไศล หากช่วงเขื่อนตอนบนกักเก็บน้ำไว้ก็จะส่งผลทำให้น้ำมูลตอนล่างแห้งแน่นอน เพราะโดยปกติในฤดูแล้วน้ำน้อยอยู่แล้ว ดังนั้น อัตราการไหลของแม่น้ำมูลที่จังหวัดอุบลในฤดูแล้งต้องอาศัยการบูรณาการบริหาร จัดการน้ำทั้งระบบของเขื่อนและอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำมูล-ชี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท