Skip to main content
sharethis

วงเสวนาเนื่องในวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิ.ย. 2475 ที่คณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ นักวิชาการ-ผู้นำแรงงานเปิดประเด็นเรื่องพรมแดนความรู้ จากบันทึกนักเรียนทุนรัฐบาลหลัง 2475 ถึงวิกิลีกส์ และผู้หญิงมองการเมือง เมื่อ “เฟมินิสต์ไทย” มองไม่เห็นความเคลื่อนไหวของสตรีจากชนบทที่ออกมาเรียกร้องยุบสภา เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 54 ที่ห้องประชุมชั้น 4 อาคารปฏิบัติการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “โครงการประชาธิปไตยกับท้องถิ่น” ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา และ ภาควิชาสตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีการเสวนาเนื่องในวันชาติ 24 มิถุนายน หัวข้อ “24 มิถุนา ประชาธิปไตย: อำนาจ ความรุนแรง และผู้หญิงในการเมืองไทย” พรมแดนความรู้ จากบันทึกหลัง 2475 ถึงวิกิลีกส์ โดยการเสวนาช่วงแรก หัวข้อย่อย “อำนาจ ความรุนแรง และผู้หญิงในการเมืองไทย” วิทยากรประกอบด้วย รศ.ดร.ไชยันต์ รัชชกูล จากสถาบันศาสนา วัฒนธรรมและสันติภาพ มหาวิทยาลัยพายัพ รศ.ดร.วัฒนา สุกัณศีล ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รศ.ดร.อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มช. และพิภพ อุดมอิทธิพงศ์ คอลัมน์นิสต์และนักแปลอิสระ ดำเนินรายการโดย อ.ดร.วสันต์ ปัญญาแก้ว ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ “ไชยันต์ รัชชกูล” อภิปรายตอนหนึ่งว่ามีบันทึกหนึ่งของ คุณหญิงมณี สิริวรสาร ลูกสาวของพระบาราชานุประพันธ์ (เปีย บุนนาค) โดยคุณหญิงมณีได้รับทุนเล่าเรียนหลวง เอาเงินพระมหากษัตริย์ ไปเรียนต่อที่อังกฤษ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองและหลังเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช คุณหญิงมณีได้เขียนบันทึก เชียร์อย่างมากถึงความตื่นเต้น ความกระตือรือร้น ที่ประชาชนกำลังชื่นชม และรัฐบาลใหม่กำลังเบ่งบาน โดยเขียนบันทึกที่อังกฤษว่าเราเพิ่งได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง ไชยันต์ กล่าวถึง วรรณกรรมตอบโต้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนา โดยฝ่ายค้าน 24 มิถุนา มักเปรียบเทียบ “รัฐธรรมนูญ” เป็นลูกพระยาพหลฯ (พหลพลพยุหเสนา) ไหม? ไชยันต์ชี้ว่าตอนที่รัสเซียแพ้ราบ มากกว่า 91 ศพ คือสูญเสียเป็นสิบเท่าเป็นพันเท่า เขาเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยใช้สำนวนเปรียบเทียบ รัฐธรรมนูญ และพระนางแคทเธอรีน ผู้ปกครองรัสเซียว่า รัฐธรรมนูญเป็นผัวของแคทเธอรีน ไชยันต์กล่าวด้วยว่าความหมายของ 2475 เป็นบทเรียนของการสูญเสียอำนาจ ความเปลี่ยนแปลงของฝ่ายศักดินามหาอำมาตย์ ฟ้าผ่าจริงๆ แต่ถือเป็นบทเรียนใหญ่หลวง เพราะหลังจากนั้นมีฝ่ายชิงอำนาจคืน หากอ่านหนังสือของฝ่ายรอยัลลิสม์ พวกนี้ต้องการที่จะใช้สำนวน เตะตัดขา วางเรือใบ คือพวกรอยัลลิสม์ พยายามทวงคืนอำนาจ เพื่อตัดไฟแต่ต้นลม นอกจากนี้ไชยันต์ เสนอให้ศึกษาความผิดพลาดของคณะราษฎร และปรีดี พนมยงค์ โดยกล่าวว่า ถ้ามองย้อนกลับไปคณะราษฎรมีข้อถกเถียงเรื่องรูปแบบการปกครองอย่างหนัก มีการเถียงเยอะมาก ขณะที่การประนีประนอม ตอบโต้ มีน้อยมาก ถือว่าสู้กันทางภูมิปัญญา และถือเป็นการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ สู้กันได้ในระดับทางปัญญาความคิด จะมีใครจะพูดถึงสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ หรือมีแบบกรณี สมศักดิ์ (เจียมธีรสกุล) โต้สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ “วัฒนา สุกัณศีล” กล่าวว่ามีเพื่อนคนหนึ่งทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับเรื่องเมืองไทย คือ เดวิด สเตร็คฟัส ทำเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นผู้ที่ให้สัมภาษณ์ในประชาไท และแสดงความเห็นว่าทำไมต้องมีการเปลี่ยนกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและการเรียกร้องเสรีภาพ วัฒนา กล่าวต่อว่า ประเด็น 2475 ก็เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงจากจุดจบของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ จนกระทั่งสมัยปัจจุบัน และมีผู้ที่พยายามเสนอ เรื่องแนวคิดพลังสำคัญของ “Network Monarchy” คือ ดันแคน แมคคาโก ซึ่งมองว่าเครือข่ายดังกล่าวมีการปรับตัวยืดหยุ่น นอกจากนี้ก็เราสามารถหาอ่านหนังสือต้องห้ามต่างๆ งานที่ศึกษาเรื่องการสร้างอำนาจเครือข่าย การสร้างพิธีกรรม ถือว่าเป็นบทเรียนที่ ฝรั่งพูดได้ และคิดดีกว่าเรา เป็นการพูดเรื่องที่เราพูดไม่ได้ วัฒนา กล่าวในตอนท้ายด้วยว่า ไม่คิดว่าคนไทยจะฆ่ากันได้เพราะคนคิดเห็นต่างกัน เป็นคนไทยด้วยกัน ก็ยังทำกันได้ “อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์” กล่าวว่า สิ่งที่จะพูดคือเรื่องรัฐ กับความรุนแรง รัฐกับสังคมใหญ่ ถ้าดูแค่ในเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิต 91 ศพ จะเข้าใจกระบวนการทั้งหมดไม่ได้และหาทางออกไม่ได้ชัดเจน จะเข้าใจได้ต้องอาศัยกระบวนการทางประวัติศาสตร์ โดยความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากรัฐหลัง 2475 - 2516 เป็นผลกระทบต่อประชาชนในช่วงทศวรรษ 2490 ใช้กลไกรัฐเหยียบ จนคนไม่มีอำนาจรัฐ กระทั่งหลัง 2516 รัฐใช้ความรุนแรงต่อประชาชน เกิดระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และระบอบนี้มีจุดกำเนิดในปี 2516 จากระบบหัวของราชการ คือ 3 ทรราช (หลังเหตุการณ์ 14 ต.ค. 2516 จอมพลถนอม กิตติขจร, จอมพลประภาส จารุเสถียร, พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เดินทางออกนอกประเทศ) เมื่อหัวหลุดไป ใครอยากมีอำนาจเหนือใคร วิ่งเข้าไปหาสิ่งที่อยู่เหนือระบบราชการอำนาจ แล้วหลังปี 2520 ใครที่เข้าใกล้สุดก็คือ “ป๋าเปรม” จนเรื่อยมาสมัยปัจจุบัน วิธีนี้ก็ขยายไปทุกปริมณฑล ในส่วนความเปลี่ยนแปลงของรัฐ หลังปี 2540 ถือเป็นอีกรูปแบบ ซึ่งแตกต่างจากก่อนหน้านี้ จากเดิมรัฐทำกับประชาชน แต่ตอนนี้คนตระหนักว่ารัฐร่วมมือกับคนบางกลุ่มกระทำต่อประชาชน การเปลี่ยนแปลงหลังปี 2540 เป็นการเปลี่ยนแปลงใหญ่ มองอีกด้านมีจุดเปลี่ยนของเศรษฐกิจประชาชน เกิดความเปลี่ยนแปลง เกิดการปรับบทบาทตัวเอง และบทบาทผู้หญิงเปลี่ยนไปทุกมิติ จุดนี้ คิดว่ามีจุดประนีประนอมเข้าใกล้อุดมคติ เข้ากันได้ที่สุด ถ้ามองให้มันยาวก็พอเห็นหนทางข้างนอกได้ “พิภพ อุดมอิทธิพงศ์” กล่าวว่า ขณะนี้คุณแอนดรูว์ มาร์แชล ซึ่งทำงานสำนักข่าวรอยเตอร์ แต่เสียสละ เขียนรายงานเผยแพร่ เป็นรายงานอีกหนึ่งเล่มที่ผมคิดว่า เป็นสิ่งเสียสละสำคัญกับเมืองไทย โดยแอนดรูว์ รวบรวมข้อมูลจากโทรเลขของวิกิลีกส์ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวข้องกับสถาบัน และเขาสำคัญกว่าจูเลียสแอสแซนจ์ (ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์) คือ คนที่นำโทรเลขออกมาได้คือพลทหารสหรัฐอเมริกา (แบรดลีย์ แมนนิ่ง) ซึ่งขณะนี้ถูกจำคุก และเขาเป็นคนที่โลกถูกลืมไป เพราะว่าเขาเปิดปริมณฑลองค์ความรู้เรื่องนี้ไปแล้ว ผู้หญิงมองการเมือง ผู้หญิงแต่เป็นตัวแทนนายทุน จะเป็นตัวแทนสตรีหรือไม่ ต่อมาเป็นการเสวนาช่วงที่ 2 หัวข้อย่อย \เมื่อผู้หญิงมองการเมือง\" วิทยากรคือ จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล รศ.ดร.นงเยาว์ เนาวรัตน์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ อ.อาภาภรณ์ สัมฤทธิ์ ภาควิชาและศูนย์สตรีศึกษา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย อ.พิกุล อิทธิหิรัญวงศ์ ภาควิชาสตรีศึกษา มช. “จิตรา คชเดช” กล่าวว่า การเมืองเป็นเรื่องชีวิตประจำวัน สำหรับการจะมีค่าจ้างสูงนั้น การเมืองสามารถจัดการสิ่งเหล่านี้ ส่วนมุมมองเรื่องหลังเลือกตั้งจะมีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกหรือไม่ หรือการที่มีผู้หญิงเรียกร้องให้กำหนดสัดส่วน ส.ส. ที่เป็นเพศหญิงในสภา หรืออยู่ในคณะกรรมการต่างๆ ของผู้หญิง ให้ชัดเจน กรณีนี้ตนไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าควรเป็นเรื่องของการลงสมัครเลือกตั้ง จิตรา ยังชวนมองความเป็นหญิงชาย ผ่านกรอบชนชั้น โดยกล่าวว่า คุณหญิงคุณนายออกมาปกป้องผลประโยชน์ของตน ปกป้องระบบกดขี่แรงงานทั้งแรงงานชายและหญิง ถือว่าเขารังแกผ่านชนชั้น มากกว่ามองว่าเป็นเรื่องของหญิงหรือชาย อย่างถ้าจะให้ตนเลือก ส.ส. ตนก็จะเลือกคนที่จะเป็นตัวแทนของกรรมกรมากกว่านายทุน สมมติเช่นถ้าตนต้องเลือก ระหว่างคุณณัฐวุฒิ (ใสยเกื้อ) หรือ กัลยา (โสภณพานิช) ดิฉันจะเลือกณัฐวุฒิ เพราะเห็นว่าเขาออกมาปกป้องผลประโยชน์ของคนจน แต่กัลยา เป็นผู้หญิง แต่ก็เป็นตัวแทนของเจ้าของทุนใหญ่ อย่างไรก็ตามตอนนี้ยังไม่เห็นพรรคการเมืองของกรรมกร เห็นแต่พรรคการเมืองของนายทุน “นงเยาว์ เนาวรัตน์” กล่าวว่า อันโตนิโอ กรัมชี่ กล่าวถึงวิกฤติการณ์เศรษฐกิจของระบบทุนนิยมผูกขาด คือสิ่งใหม่ยังไม่เกิด ยังไม่มีการชนะ จะเป็นช่วงเวลาที่มีทุนสามานย์ในเชิงเศรษฐกิจ เกิดทุนสามานย์ของระบบอำนาจเก่า และมีนักการเมืองเป็นทายาทอสูร หากจะให้มองการเมืองไทยเห็นว่าของเก่ายังไม่ไป ของใหม่ยังไม่มา ส่วนมุมมองเรื่องผู้หญิงในการเมืองไทย รูปร่างหน้าตาอย่างไร ในปี 2475 ก็ถูกครอบภายใต้เครือข่าย ศักดินา มหาอำมาตย์ และปี 2475 ประชาชนก็ยังไม่ได้ประชาธิปไตย ของเก่าก็ยังไม่เสื่อมคลาย ช่วงหนึ่งตกอยู่ในกลุ่มอำมาตย์ แล้วกลุ่มทุนสามานย์ ยังขยับต่อสู้กับเครือข่ายศักดินา ตนคิดว่า คงพอประเมินได้ว่า อำนาจทางการเมืองยังตกอยู่ในกี่ตระกูล ขบวนการสตรีภาคชนบท ที่เฟมินิสต์ไทยมองไม่เห็น “ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี” กล่าวว่า ผู้หญิงถูกแบ่งแยกโดยสถานภาพ ชนชั้น การเมือง ในสถานะที่มองต่างกันด้วย คือ ไม่มีเฟมินิสต์ (กลุ่มสตรีนิยม) ที่เป็นเสื้อแดง มีแต่ผู้หญิงจากภาคชนบท เข้าสู่ปริมณฑลสาธารณะที่ออกมาเรียกร้องให้ยุบสภา และเรื่องนี้ไม่มีนัยยะกับกลุ่มสตรีนิยมไทย คือไม่มีส่วนร่วม ไม่สนใจ กล่าวให้ถึงที่สุด นักสตรีนิยมน่าจะมองปฏิบัติการของผู้หญิงเหล่านี้ว่า ไม่ได้มีรากฐานมาจาก \"feminist mind\" โดยความเชื่อเหล่านี้ เป็นเพราะ หนึ่ง เชื่อว่าประเด็นที่ผู้หญิงเหล่านี้ออกมาเรียกร้อง ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับผู้หญิง ยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ต่อต้านรัฐประหาร ไม่ได้ช่วยให้สิทธิของผู้หญิงในที่ทำงาน ในสภา ในอาเซียน มันเพิ่มขึ้น ประเด็นพวกนี้มันไม่ได้ช่วยให้ต่อรองกับผู้ชายได้มากขึ้น พูดง่ายๆ คือ มันไม่มีอะไรเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับผู้หญิง \"เพศของฉัน\" พวกเธอไปสู้เพื่อเพศอื่นทำไมกัน ไอ้ที่ว่าตื่นตัวทางการเมือง อาจจะใช่ แต่เป็นการเมืองที่ไม่ได้มี feminist mind สอง ความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงเหล่านี้ ถูกชักจูงไป เป็นกลุ่มแม่ยกที่หลงใหลผู้นำ หรือแกนนำ เขาพากันไป ก็ไปกับเขา ยึดติดผู้นำที่ตนเองบูชา เพราะผู้นำถูกโค่นอำนาจ จึงมีความโกรธแค้น ไม่ได้มีจิตสำนึกทางการเมืองอะไร ความเชื่อสองประเภทนี้ สะท้อนปัญหาประการสำคัญ คืิอ หนึ่งตามไม่ทันความเปลี่ยนแปลงของผู้หญิงในชนบท และ สอง การนิยามความหมายของการเมืองที่คับแคบของนักสตรีนิยมชนชั้นนำในไทย ซึ่งความเข้าใจดังกล่าว นำไปสู่ความเชื่อที่ว่า การมีส่วนร่วมทางการเมืองนั้น ทำได้ทางเดียวคือ การเข้าสู่สภา ซึ่งที่จริงเป็นโอกาสเฉพาะผู้หญิงชนชั้นกลางเท่านั้น จากงานวิจัยของปิ่นแก้ว อธิบายว่าประวัติศาสตร์เลือกตั้งทางการเมือง สิทธิการเลือกตั้งทำให้ผู้หญิงเลือกนโยบายที่มีประโยชน์ต่อครอบครัว ต่อครัวเรือนได้ ไม่ว่าจะมีผู้ไม่ชอบทักษิณ แต่ว่าพรรคไทยรักไทย ก็เป็นพรรคแรกที่ทำให้นโยบายสามารถนำไปปฏิบัติได้ มีผลต่อผู้หญิงในชนบท สามารถพ้นจากภาวะหนี้สินนอกระบบได้ สามารถสร้างความมั่นคงของเศรษฐกิจครอบครัวได้ในระดับหนึ่ง มีอำนาจทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคช่วยผ่อนภาระต้นทุนอันหนักอื้งในการดูแลความเจ็บป่วยของสมาชิกในครอบครัวลง ซึ่งที่ผ่านมาผู้หญิงมักต้องแบกรับภาระเหล่านี้ ทั้งพ่อแม่ ลูก และเครือญาติ รัฐ ประหาร 2549 จึงมีนัยยะทางเพศสภาพอย่างรุนแรง เพราะไม่ใช่เป็นเพียงการฉุดรั้งให้ระบบประชาธิปไตยถอยหลังเข้าสู่ยุคมืด แต่เป็นการขัดขวางเส้นทางของเสรีภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิงในชนบท ทำให้ผู้หญิงชนบทเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง เข้าร่วมการชุมนุม ตั้งกลุ่มประชาธิปไตยของตัวเองระดับอำเภอ การตื่นตัวทางการเมือง และจิตสำนึกทางการเมืองของผู้หญิงจำนวนมากเหล่านี้ เป็นชีพจรที่สำคัญของขบวนการผู้หญิงในระดับรากหญ้า ในการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยในทศวรรษปัจจุบัน ที่ต่อให้ไม่มีสถาบัน feminist มาสนับสนุน ก็จะเติบโต งอกงาม และขยายตัวออกอย่างกว้างขวาง อย่างไม่มีใครหยุดยั้งได้ ขณะที่การเลือกตั้งสำหรับ feminist ไทย มีความสำคัญเพียงจำนวนของผู้หญิงที่เข้ามาเป็น ส.ส.ในสภา กลัวว่าจะน้อยหน้าประเทศอื่นๆ ในอาเซียน การเลือกตั้งสำหรับผู้หญิงรากหญ้าเสื้อแดงเหล่านี้ กลับเป็นเวทีการต่อสู้ที่สำคัญระหว่างระบอบอำนาจสองฝ่าย คือระบอบอำมาตยาธิปไตยที่ต้องธำรงรักษาอำนาจของตนต่อไป และประชาชนผู้ที่มีสิทธิเพียงอย่างเดียว คือสิทธิในการออกไปเลือกตั้ง สำหรับผู้หญิงเสื้อแดงแล้ว เป็นเดิมพันการต่อสู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชีวิตในอนาคตของผู้หญิง ในฐานะแม่และเมียผู้ต้องดูแลครอบครัว และในฐานะสมาชิกและพลเมืองของสังคมไทย"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net