Skip to main content
sharethis

โครงการพัฒนา – ภาพโปสเตอร์ ชื่อ ‘ระเบิดเวลาภาคใต้ จะเป็นแหล่งอาหารหรือฐานเมืองมลพิษ’ ของเครือข่ายขบวนการประชาชนภาคใต้ ที่แสดงให้เห็นถึงโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นทั่วทั้งพื้นที่ภาคใต้ (ภาพจาก http://www.ecosouthern.com/image/index/media/poster_ระเบิดเวลาภาคใต้.jpg) หากพิจารณาจากแผนพัฒนาภาคใต้ที่มีอยู่ในขณะนี้ ภาพโรงงานอุตสาหกรรมน้อยใหญ่ไปจนถึงมหึมา จะทยอยผุดขึ้นทั่วทั้งภาคใต้ ไล่ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงนราธิวาส อันเป็นภาพที่ไม่แตกต่างไปจากภาคตะวันออกของประเทศไทยในปัจจุบัน เริ่มจากประตูสู่ภาคใต้คือจังหวัดชุมพร ที่เป็นหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายของโครงการขนาดใหญ่ เริ่มจากอุตสาหกรรมเหล็กในพื้นที่อ่าวช่องพระ ตำบลปากคลอง อำเภอปะทิว ซึ่งผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ของกระทรวงอุตสาหกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ระบุว่าเป็น 1 ใน 10 แห่ง ใน 8 จังหวัด ที่มีศักยภาพรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก เป็น 1 ใน 2 พื้นที่เป้าหมายของบริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) ซึ่งอีกแห่งอยู่ที่บ้านเขาแดง ตำบลกุยเหนือ อำเภอกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยนิคมอุตสาหกรรมเหล็กต้องการใช้พื้นที่ประมาณ 5,000–10,000 ไร่ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ได้แก่ ท่าเรือน้ำลึกระวางขนาด 200,000 ตัน ระบบน้ำใช้ในการผลิตประมาณ 30–50 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ระบบสาธารณูปโภค และระบบกำจัดของเสีย เป็นต้น เมื่อมีอุตสาหกรรม ก็ต้องมีแหล่งพลังงาน ดังนั้นโครงการที่ตามมาคือ โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยมีแผนจะตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่บ้านปากน้ำละแม ตำบลปากน้ำ อำเภอละแม กำลังการผลิตแห่งละ 1,000 เมกะวัตต์ เป็น 1 ใน 2 พื้นที่เป้าหมายในภาคใต้ จากพื้นที่เป้าหมายทั่วประเทศ 5 แห่ง ที่ผ่านมาโครงการนี้ จะถูกต่อต้านอย่างหนักจากชาวบ้านในพื้นที่ จนนำมาสู่การเลื่อนแผนพัฒนาไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี แต่ก็มีเหตุปัจจัยสำคัญมาจากเหตุระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมา ประเทศญี่ปุ่น ที่ได้รับผลกระทบจากคลื่นสึนามิ เมื่อเดือนมีนาคม 2554 เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีเป้าหมายจะสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ที่บ้านบางจาก บริเวณอ่าวยายไอ๋ หมูที่ 5–6 ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 700–1,000 เมกะวัตต์ 4 เครื่อง รวมกำลังการผลิต 4,000 เมกะวัตต์ ขณะเดียวกันได้ส่งคนลงไปทำงานมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่อำเภอละแม ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อกับอำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนถูกต่อต้านอย่างหนัก มาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 อีกโครงการที่จะสร้างขึ้นมารองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมคือ การพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งในจังหวัดชุมพร มี 2 เขื่อนคือ เขื่อนรับร่อและเขื่อนท่าแซะ ตำบลรับร่อ อำเภอท่าแซะ ทั้ง 2 โครงการ มีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2536–2538 ขณะที่ชาวบ้านออกมาต่อต้านอย่างหนัก เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบถึง 7 หมู่บ้าน กระทั่งปลายปี 2550 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ยกเลิก แต่ปัจจุบัน ชาวบ้านยังหวาดผวา เพราะรัฐบาลจะฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาอีกเมื่อไหร่ก็ได้ ถัดจากชุมพรลงมาคือ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นจังหวัดหนึ่งที่เป็นเป้าหมายของโครงการขนาดใหญ่อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่บ้านคันธุลี อำเภอท่าชนะ กำลังการผลิต 1,000 เมกะวัตต์ โครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง จังหวัดสุราษฎ์ธานี เป็นอีกหนึ่งโครงการใหญ่ มีมาตั้งแต่ปี 2510 ประกอบด้วย เขื่อนเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ 2 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนรัชชประภา (เขื่อนเชี่ยวหลาน) ซึ่งสร้างเสร็จไปแล้ว และเขื่อนแก่งกรุง (เขื่อนคลองยัน) ซึ่งถูกต่อต้านจนต้องระงับโครงการไว้ก่อน ต่อมา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ต้องการใช้ประโยชน์เพิ่มพื้นที่ชลประทานฤดูฝน 73,980 ไร่ โดยใช้น้ำที่ปล่อยจากท้ายเขื่อนรัชชประภา จึงศึกษาทบทวนความเหมาะสม ล่าสุด มีการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณท้องที่ตำบลท่าเคย ตำบลหนองไทร อำเภอท่าฉาง ตำบลลีเล็ด ตำบลศรีวิชัย ตำบลมะลวน ตำบลหัวเตย ตำบลท่าข้าม ตำบลพุนพิน ตำบลน้ำรอบ ตำบลหนองไทร ตำบลบางงอน อำเภอพุนพิน และตำบลท่ากระดาน อำเภอคีรีรัฐนิคม จังหวัดสุราษฎร์ธานี พ.ศ. 2554 ลงวันที่ 27 เมษายน 2554 เพื่อดำเนินโครงการ ปัจจุบันโครงการพัฒนาลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ถูกคัดค้านจากประชาชนในเครือข่ายพิทักษ์ลุ่มน้ำตาปี–พุมดวง ยืนยันว่าปัจจุบันชาวบ้านหันมาปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันแทนการทำนาข้าว จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้น้ำจำนวนมาก จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกจังหวัดที่ตกเป็นพื้นที่เป้าหมายของโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการ เนื่องจากถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่หลักของโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้ (Southern Seaboard–SSB) ซึ่งเป็นนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ที่สำคัญตลอดมา โครงการพัฒนาชายฝั่งทะเลภาคใต้มีเป้าหมายต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมในภาคใต้จังหวัดเป้าหมายคือ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต มีแนวคิดจะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดประตูการค้าใหม่ กลยุทธ์สำคัญคือ การขยายพื้นที่อุตสาหกรรมและการขนถ่ายสินค้าข้ามคาบสมุทร ระหว่างทะเลอ่าวไทยกับอันดามัน หรือสะพานเศรษฐกิจ ประกอบด้วย ทางด่วน ทางรถไฟ ท่อส่งน้ำมัน และท่าเรือน้ำลึกทั้งสองฝั่งทะเลที่ปลายทางสะพานเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ตามแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศไทยยังระบุว่า พื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ล้นมาจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง และพื้นที่ใกล้เคียง ในช่วงที่ 2 ระยะที่ 3 ของแผนแม่บทดังกล่าว ตั้งแต่ใน พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป พื้นที่เป้าหมายของนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคือ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยที่ผ่านมามีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้านในพื้นที่เพียงครั้งเดียว เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ที่ศาลาประชาคมอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดโดยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) มีชาวบ้านตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล และพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 300 คน ออกมายืนยันว่า ไม่ต้องการนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี นโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่กระทรวงพลังงานเป็นผู้กำหนด พิจารณาว่าการสร้างท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มูลค่าโครงการ 85,195 ล้านบาท ที่บ้านคอเขา ตำบลทุ่งปรัง อำเภอสิชล มีความเหมาะสมที่สุด โครงการฯ นี้ใช้พื้นที่ทั้งหมด 19,000 ไร่ ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมัน–ถังเก็บน้ำมัน 3,900 ไร่ โรงแยกก๊าซ–ปิโตรเคมี 6,000 ไร่ อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ 750 ไร่ พลังงานทดแทน 750 ไร่ ระบบสาธารณูปโภค 5,7000 ไร่ และพื้นที่สีเขียว–พื้นที่กันชน 1,900 ไร่ นอกจากนี้ยังจะมีนิคมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตการเกษตรคือ นิคมอุตสาหกรรมนาบอน ตำบลแก้วแสน อำเภอนาบอน พื้นที่ 5,500 ไร่ ต่อมาการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ลดขนาดพื้นที่ลงเหลือ 1,500 ไร่ นอกจากนี้ ผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ของกระทรวงอุตสาหกรรม ยังระบุพื้นที่ที่มีศักยภาพในจังหวัดนครศรีธรรมราช 2 แห่งคือ ที่บ้านบางปอ ตำบลทุ่งใส อำเภอสิชล และอำเภอขนอม ใช้พื้นที่ไม่ต่ำกว่า 5,000–10,000 ไร่ และต้องสร้างท่าเรือน้ำลึกรองรับเรือขนาด 30,000–60,000 DWT ด้วย ด้านพลังงาน จังหวัดนครศรีธรรมราชยังเป็นพื้นที่เป้าหมายในการก่อสร้างทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ 2 แห่ง จากทั้งหมด 13 แห่ง ทั่วประเทศ ได้แก่ พื้นที่ตำบลหน้าสตน ตำบลเกาะเพชร อำเภอหัวไทร และพื้นที่ตำบลกลาย ตำบลท่าขึ้น ตำบลสระแก้ว อำเภอท่าศาลา โดยเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังการผลิต 800 เมกกะวัตต์ ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเพียงพื้นที่ศึกษา ซึ่งมีอยู่ 5 แห่ง ในอำเภอสิชลกับอำเภอขนอม จากพื้นที่ศึกษาทั้งหมด 17 แห่งทั่วประเทศ โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นโครงการที่ถูกต่อต้านจากภาคประชาชนในพื้นที่มากที่สุด เนื่องจากเชื่อว่า เป็นโครงการหัวหอกที่จะนำโครงการอื่นๆ เข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่ต้องการพลังงานรองรับมหาศาล นอกจากนี้ ยังมีโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอีกอย่างคือ โครงการพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้–ทุ่งสง (Cargo Distribution Center : CDC – Thongsong) เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าเกษตร ที่อำเภอทุ่งสง รับผิดชอบโดยเทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช แม้มีพื้นที่โครงการเพียง 60 ไร่ แต่น่าจะเกิดขึ้นได้เร็วที่สุด ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำหลายแห่งในจังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีเป้าหมายรองรับนิคมอุตสาหกรรมและพลังงานในพื้นที่ นอกเหนือจากทางด้านการเกษตร ได้แก่ โครงการก่อสร้างเขื่อนคลองกลาย หมู่ที่ 6 บ้านปากลง ตำบลกรุงชิง อำเภอนบพิตำ โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองท่าทน หมู่ที่ 5 ตำบลสี่ขีด อำเภอสิชล เพื่อกักเก็บน้ำใช้ในท่าเรือและอุตสาหกรรม และโครงการเขื่อนลาไม ตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด ทั้ง 3 โครงการล้วนถูกต่อต้านจากชาวบ้าน โครงการการตั้งฐานสนับสนุนและปฏิบัติการบนฝั่งการสร้างท่าเรือ บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ที่ปากน้ำคลองกลาย บ้านบางสาร ตำบลกลาย อำเภอท่าศาลา บนเนื้อที่ประมาณ 300 ไร่ และโครงการก่อสร้างฐานบินเฮลิคอปเตอร์ของบริษัทเดียวกัน ภายใต้พื้นที่ท่าอากาศยานนครศรีธรรมราช ตำบลปากพูน อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช เป็นอีกโครงการที่ถูกคัดค้านด้วยเช่นกัน ที่ผ่านมา บริษัท เชฟรอน ประเทศไทย สำรวจและผลิต จำกัด ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2553 ขณะที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ) ได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว ขยับออกไปนอกชายฝั่งตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช มีแปลงสำรวจปิโตรเลียมหลายแปลง โดยเฉพาะแปลง G5/50 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด แปลง G6/50 ของบริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ปตท. สผ. โครงการไทย จำกัด แปลง G7/50 ของบริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ปตท. สผ. โครงการไทย จำกัด และบริษัท เฮสส์ เอ็ซ์โพลเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อยู่บริเวณโดยรอบเกาะสมุย เกาะพงัน เกาะเต่า และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง ซึ่งเป้นแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังในอ่าวไทย ตัวอย่างเช่น แปลงสัมปทานของบริษัท เชฟรอน ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด มีหลุมสำรวจที่ต้องการขุดเจาะน้ำมันอยู่ห่างจากเกาะพงันประมาณ 65 กิโลเมตร และห่างจากเกาะสมุยประมาณ 78 กิโลเมตร ขณะที่แปลงสัมปทานของบริษัท เพิร์ล ออย อยู่ห่างจากเกาะพงันประมาณ 113 กิโลเมตร และห่างจากเกาะสมุยประมาณ 110 กิโลเมตร ด้วยเหตุดังกล่าว ชาวเกาะสมุย เกาะเต่า เกาะพะงัน จึงร่วมกันคัดค้านการขุดเจาะของบริษัทเหล่านั้น โดยมีการรวมตัวชุมนุมต่อต้านครั้งใหญ่กว่า 35,000 คน เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 เนื่องจากหวั่นว่าการขุดเจาะจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว ที่จังหวัดตรังมีชุดโครงการพัฒนาขนาดใหญ่เช่นกันคือ โครงการเขตอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง และโครงการต่อเนื่องต่างๆ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปะเหลียน เกิดจากแผนพัฒนายุทธศาสตร์จังหวัดตรัง ประกอบด้วย 3 โครงการหลักๆ ได้แก่ 1.โครงการเขตอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง หรือเขตอุตสาหกรรมทุ่งค่าย พื้นที่ 1,648 ไร่เศษ 2.โครงการศูนย์บริการขนถ่ายสินค้าเพื่อการส่งออก บริเวณสถานีรถไฟกันตัง 3.โครงการสะพานข้ามแม่น้ำปะเหลียน อำเภอกันตัง 4.โครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกบ้านนาเกลือ อำเภอกันตัง ที่ผ่านมา มีการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) และการดำเนินการในทุกขั้นตอนของหน่วยงานรัฐแล้ว แต่ไม่ได้แจ้งรายละเอียดให้ชาวบ้านทราบ และไม่มีการสำรวจข้อมูลผู้ได้รับผลกระทบ จนปลายปี 2549 ชาวบ้านในพื้นที่ได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง ขอให้ชี้แจงข้อมูลโครงการ และยื่นหนังสือคัดค้านไปยังหน่วยงานต่างๆ รวมทั้งร้องเรียนไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลงไปที่ภาคใต้ตอนล่าง มีโครงการขนาดใหญ่ได้แก่ โครงการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจเชื่อมโยงการขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือน้ำลึกฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล เกิดขึ้นจากแผนแม่บทการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศไทย เป็นแผนพัฒนาที่ประกอบไปด้วยสารพัดโครงการมูลรวมหลายแสนล้านบาท เริ่มจากท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล ท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 ที่บ้านสวนกง ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ทางรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมระหว่าง 2 ท่าเรือดังกล่าว และนิคมอุตสาหกรรขนาดใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันดิบจากคลังน้ำมันปากบารา จังหวัดสตูล ลอดใต้ทะเลสาบสงขลาไปยังคลังน้ำมันที่อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา โดยคลังน้ำมันฝั่งอันดามัน ที่ปากบาราใช้พื้นที่ประมาณ 5,000 ไร่ คลังน้ำมันฝั่งอ่าวไทย ที่อำเภอสิงหนคร ใช้พื้นที่ประมาณ 10,000 ไร่ โครงการทั้งหมดของแลนด์บริดจ์สงขลา–สตูล ถูกคัดค้านทั้งจากภาคประชาชนในจังหวัดสงขลาและสตูล แต่ดูเหมือนว่าโครงการในฝั่งจังหวัดสตูล โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา มีความก้าวหน้ามากกว่า เนื่องจากอยู่ระหว่างการขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา เพื่อเปิดทางให้กับการสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราไปแล้ว นอกจากนี้ในจังหวัดสงขลา ยังมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็ก ซึ่งระบุพื้นที่ที่มีศักยภาพในการรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเหล็กที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แต่สถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย กลับศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กขั้นต้น ที่ตำบลท่าบอน อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ผลการศึกษาพบว่า ต้องใช้พื้นที่มากกว่า 5,000 ไร่ พื้นที่ติดถนนเลียบชายทะเล เริ่มตั้งแต่บ้านขี้นากถึงคลองท่าเข็น ในพื้นที่ 4 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 4 บ้านศาลาหลวงบน หมู่ที่ 5 บ้านหัวคุ้ง หมู่ที่ 7 บ้านขี้นาก และหมู่ที่ 9 บ้านมากบัว ตำบลท่าบอน พื้นที่ถมทะเลอีก 2 ตารางกิโลเมตร และทำสะพานเชื่อมท่าเรือห่างชายฝั่ง 10 กิโลเมตร เพื่อเป็นจุดรับวัตถุดิบ ที่ผ่านมามีการประชุมรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการนี้จากคนในพื้นที่รวม 3 ครั้ง ในเดือนตุลาคม 2553 แต่ได้รับการคัดค้านจากชาวบ้านอย่างหนัก นำโดยนายกาจบัณฑิต รามมาก ประธานชมรมเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดสงขลา โดยให้เหตุผลว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่รู้เรื่องและไม่เข้าใจ ส่วนพื้นที่นอกฝั่งจังหวัดสงขลา แหล่งน้ำมันดิบสงขลาและแหล่งบัวบาน แปลงสำรวจ G5/43 ของบริษัท นิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด อยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดสงขลา ประมาณ 30 และ 16 กิโลเมตร ที่ผ่านมาถูกต่อต้านจากชาวประมงอย่างหนักเช่นกัน ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เกิดปรากฏการณ์คราบน้ำมันลอยติดชายหาดจำนวนมาก และการสูญเสียพื้นที่ทำประมงอันนำมาสู่การเรียกร้องค่าชดเชยในเวลาต่อมา ขณะที่เหมืองถ่านหินลิกไนต์สะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา มีปริมาณมากเป็นอันดับ 2 รองจากแหล่งแม่เมาะ จังหวัดลำปาง และเป็นถ่านหินที่มีคุณภาพดีกว่าแหล่งแม่เมาะ ส่งผลให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พยายามที่จะเปิดเหมืองให้ได้ ล่าสุดมีเมื่อปี 2552 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) ได้ว่าจ้างนักวิชาการจากสถาบันสมุทรรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ดำเนินงานโครงการศึกษาการมีส่วนร่วมการพัฒนาแหล่งลิกไนต์สะบ้าย้อย มีนายจิระพันธ์ เดมะ เป็นหัวหน้าคณะ แต่ชาวบ้านยังคงคัดค้านการเปิดเหมืองถ่านหินจนถึงปัจจุบัน ส่วนโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฝผ.) ต่อเนื่องจากโรงไฟฟ้าจะนะโรงแรก ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กำลังผลิต 860 เมกกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย จากแหล่งพัฒนาร่วมไทย–มาเลเซีย (แหล่ง JDA) เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 148 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปลายปี 2554 และเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในเดือนกรกฎาคม 2557 ที่ผ่านมาการก่อสร้างโรงไฟฟ้าจะนะ ถูกคัดค้านจากชาวบ้านบางส่วนในพื้นที่มาตลอด ด้วยเหตุผล 2 ประการ คือ เป็นโครงการต่อเนื่องจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย–มาเลเซีย ตำบลตลิ่งชัน อำเภอจะนะ ที่ถูกคัดค้านอย่างหนักมาตั้งแต่ปี 2540 แม้โรงไฟฟ้าแห่งนี้ไม่ได้ใช้ก๊าซที่ผ่านกระบวนการแยกก๊าซจากโรงแยกก๊าซดังกล่าวก็ตาม ประการที่สองคือ โรงไฟฟ้าแห่งนี้มีระบบระบายความร้อนแบบหอหล่อเย็น ที่ใช้น้ำจากคลองโพมา ลำน้ำสาขาของคลองนาทับประมาณ 18,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน แล้วระบายน้ำที่ผ่านการหล่อเย็นลงสู่คลองนาทับ โดยเกรงว่าอุณหภูมิน้ำที่สูงกว่าปกติ จะส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำและการเพาะเลี้ยงชายฝั่งในคลองนาทับ นอกจากนี้ ยังมีโครงการก่อสร้างทางด่วนพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์หรือโทลเวย์หาดใหญ่–สะเดา จังหวัดสงขลา โทลเวย์เส้นนี้ มีความยาวเกือบร้อยกิโลเมตร โดยมีวงเงินที่ ADB พร้อมสนับสนุนสูงถึง 300 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา หรือประมาณ 9,000 ล้านบาท น่าจะเป็นโทลเวย์ที่แพงที่สุดในประเทศไทย สำหรับโครงการโทลเวย์หาดใหญ่–สะเดา เป็นฌโครงการเชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสะเดา โดยก่อนหน้านี้ เมื่อปลายปี 2552 สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ร่วมกับสำนักงานวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจของมาเลเซีย จัดทำโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน บริเวณอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ประเทศไทย–เมืองบูกิตกายูฮิตัม รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย ระยะที่ 2 โครงการศึกษาดังกล่าว สภาพัฒน์ ได้ว่าจ้างบริษัท โซซิโอ – เอคโคโนมิค คอนซัลแตนส์ จำกัดเป็นที่ปรึกษา ซึ่งที่ผ่านมาพบว่า มีพื้นที่ที่มีศักยภาพในการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน 6 แห่ง โดยชี้ว่าพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดคือ ชายแดนไทย–มาเลเซีย บ้านทับโกบ ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา เนื้อที่ 990 ไร่ เขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งนี้ ประกอบด้วย พื้นที่อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยางพารา อุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป อุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมยานยนต์ สถานศึกษา ศูนย์ฝึกอบรมฝีมือแรงงาน สถานีขนส่งสินค้า คลังสินค้า หรือ Inland Container Depot (ICD) ธุรกิจการให้บริการทางการเงิน และอุตสาหกรรมอาหารและบริการฮาลาล ที่สำคัญพื้นที่ทับโกบ ตั้งอยู่ใกล้แนวมอเตอร์เวย์หาดใหญ่–สะเดา ตามที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม ได้ศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2548 ส่วนเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนฝั่งเมืองบูกิตกายูฮิตัม ทางมาเลเซียกำหนดให้เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมหลักทางด้านยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุน 2 แสนล้านบาท ปัจจุบันพัฒนาไปไกลกว่าของไทยมากแล้ว อีกโครงการที่น่าตื่นตาตื่นใจอย่างยิ่ง สำหรับชาวสงขลาคือ โครงการรถถไฟความเร็วสูง หรือไฮสปีดเทรน ที่คณะรัฐมนตรี ภายใต้รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แห่งพรรคประชาธิปัตย์ มีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2553 ให้ความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาความร่วมมือด้านการพัฒนากิจการรถไฟระหว่างประเทศไทยกับจีน โดยจะร่วมกันลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูง ในเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง นั่นคือ เส้นทางกรุงเทพมหานคร–หนองคาย, เส้นทางกรุงเทพมหานคร–ระยอง และเส้นทางกรุงเทพมหานคร–ปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา อันเป็นเส้นทางเชื่อมโยงเครือข่ายคมนาคมข้ามชาติ จากจีนเข้าลาวสู่ไทยไปมาเลเซีย สิ้นสุดจุดหมายปลายทางที่สิงคโปร์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งภาคใต้จะเริ่มตั้งแต่สถานีรถไฟนครปฐม ไปจนถึงใต้สุดสถานีรถไฟสุไหงโก–ลก จังหวัดนราธิวาส แยกจากสถานีรถไฟชุมทางทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราชไปยังสถานีรถไฟกันตัง จังหวัดตรัง และแยกจากสถานีชุมทางหาดใหญ่ ไปยังสถานีปาดังเบซาร์ จังหวัดสงขลาด้วย อีกโครงการที่ยังคงคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบันคือ โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ก่อสร้างมาตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2545 กำหนดให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2554 แต่ปัจจุบันโครงการมีความล่าช้ามาก เนื่องจากติดปัญหาถูกคัดค้านจากชาวบ้านในพื้นที่ โครงการก่อสร้างด่านศุลกากรสะเดาแห่งใหม่ ตั้งอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองล่าปัง ตำบลสำนักขาม อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา บางส่วนเป็นที่ดินปฏิรูปเพื่อเกษตรกร หรือ ส.ป.ก.4–01 เนื้อที่รวมประมาณ 765 ไร่ ห่างจากด่านพรมแดนสะเดาปัจจุบัน 1.5 กิโลเมตร ซึ่งกรมป่าไม้อนุญาตให้กรมศุลกากรใช้ประโยชน์แล้ว ขณะที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองก็จะย้ายไปตั้งในที่ตั้งด่านศุลกากรแห่งใหม่นี้ด้วย เนื่องจากที่ตั้งด่านตรวจคนเข้าเมืองปัจจุบันมีพื้นที่เพียง 40 กว่าไร่เท่านั้น และไม่สามารถขยายพื้นที่ได้อีก เนื่องจากพื้นที่ชุมชนและย่านธุรกิจได้ขยายมาติดชายแดนแล้ว จึงทำให้มีความแออัดมาก การก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ นี้มีบริษัท เอ.เอส.เอ การช่าง จำกัด เป็นผู้ชนะการประมูล และระยะเวลาก่อสร้าง 780 วัน วงเงินงบประมาณในการก่อสร้าง 1,000 ล้านบาท ก่อนหน้านี้มีชาวบ้านเข้าไปบุกรุกแผ้วถางเพื่อทำสวนยางพารา ไม้ผลทั้งในที่ดินป่าสงวนแห่งชาติ และที่ดิน ส.ป.ก.4–01 โดยมีการจ่ายค่าชดเชยแล้ว 79 ไร่ อยู่ระหว่างการเจรจาอีก 43 ราย รวม 60 แปลง ไล่ลงไปถึง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีโครงการขนาดใหญ่ที่เป็นที่รู้จักของคนในพื้นที่คือ นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านท่าสูง ตำบลน้ำบ่อ อำเภอปานาเระ และบ้านบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เนื้อที่ 933 ไร่ นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล จังหวัดปัตตานี เริ่มเปิดตัวอย่างเป็นทางการ เมื่อปลายปี 2546 แต่ถัดจากนั้นไม่กี่วัน ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ปะทุขึ้น ส่งผลกระทบต่อนิคมอุตสาหกรรมแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน ถึงแม้มีการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการเบ็ดเสร็จครบวงจรในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลแล้ว ด้วยงบประมาณ 84 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่มีกลุ่มทุนใดเข้าไปลงทุน ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล ไม่มีความคืบหน้ามากนัก กลับปรากฏมีบริษัทอุตสาหกรรมเหล็กขนาดใหญ่ของประเทศญี่ปุ่นคือ บริษัท JFE Steel Corporation สนใจที่จะมาลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ ในอำเภอปะนาเระ จังหวัดปัตตานี มูลค่าการลงทุนประมาณ 60,000–100,000 ล้านบาท แน่นอนว่าโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้ ย่อมต้องการแหล่งน้ำจืดรองรับจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ทุกสายตาจับจ้องไปยังโครงการก่อสร้างเขื่อนสายบุรีที่มีชื่อเต็มว่า โครงการพัฒนาลุ่มน้ำสายบุรีตอนล่างและพรุบาเจาะ–ไม้แก่น ซึ่งเป็นอีกโครงการที่ถูกต่อต้านมาตั้งแต่ปี 2535 จนกระทั่งคณะรัฐมนตรี ในรัฐบาลพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ มีมติให้ยกเลิกการดำเนินการโครงการเขื่อนสายบุรีไว้ก่อน เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2540 แต่ต่อมา วันที่ 13 มกราคม 2547 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น สั่งให้รื้อฟื้นโครงการนี้ขึ้นมาใหม่ ตัวเขื่อนกั้นแม่น้ำสายบุรี ตั้งอยู่บ้านกะดูดง ตำบลอาซ่อง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก มีพื้นที่รองรับน้ำประมาณ 2,237 ตารางกิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดนราธิวาส 1 อำเภอของจังหวัดยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดปัตตานีคือ อำเภอทุ่งยางแดง อำเภอกะพ้อ อำเภอไม้แก่น และอำเภอสายบุรี โดยจะมีการผันน้ำมาใช้ในนิคมอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำในจังหวัดปัตตานี ที่อาจจะมีขึ้นในอนาคตด้วย ข้ามไปกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอันดามัน แม้ไม่มีโครงการขนาดใหญ่ของรัฐจำนวนมากเหมือนทางภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่าง แต่ก็มีโครงการของเอกชนหลายโครงการก็ถูกต่อต้านจากชาวบ้านเช่นกัน ได้แก่ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญและการกีฬา หรือท่าเรือมารีน่า ของบริษัท เดอะยามู จำกัด โดยจะมีการขุดลอกทรายบริเวณอ่าวปากคลอกบ้านยามู บ้านผักฉีด บ้านป่าคลอก ตำบลป่าคลอก อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต ท่าเรือมารีน่าของบริษัท เรือนดุสิต จำกัด บริเวณแหลมหลา แหลมไม้ไผ่ แหลมพับผ้า เกาะสิเหร่ ตำบลรัษฎา อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ท่าเรือมารีน่า ของบริษัท นาราชา จำกัด บริเวณอ่าวคลองสน บ้านย่าหมี ตำบลเกาะยาวใหญ่ และบ้านโล๊ะโป ตำบลพรุใน อำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และท่าเรือมารีน่าของบริษัท อควาสตาร์ จำกัด บริเวณชายหาดท้ายเหมือง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โครงการพัฒนาต่างๆ เหล่านี้คือ ภาพอนาคตของพื้นที่ภาคใต้ที่จะทยอยผุดขึ้นตามจุดต่างๆ เหมือนดอกเห็ดในเร็ววัน หากไร้แรงต้านจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ปัจจุบัน แรงต้านทั้งหมดกำลังถูกขมวดให้กลายเป็นปมเดียวกัน ในนามของการคัดค้าน “แผนพัฒนาภาคใต้”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net