Skip to main content
sharethis

ตัวแทนจากประชาชนไทยพุทธ มลายู และไทยเชื้อสายจีน ร่วมเสวนาเพื่อหาทางออกความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชี้ความรุนแรงไม่ได้ดีขึ้นตามรัฐบาลบอก แนะถอนทหาร-ให้อำนาจผู้นำท้องถิ่นแก้ปัญหาเอง

10 พ.ค. 55 - เวลาราว 11.30 น. ณ หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ มูลนิธิศักยภาพชุมชนจัดเวทีเสวนาในหัวข้อปัญหาและทางออกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีตัวแทนจากชุมชนไทยพุทธ มลายูมุสลิม และไทยเชื้อสายจีน เข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาในพื้นที่ โดยผู้เข้าร่วมเสวนาต่างเห็นว่า ความรุนแรงในภาคใต้ในรอบสองปีที่ผ่านมามิได้ลดลงตามที่รัฐบาลอ้าง หากแต่รุนแรงมากขึ้น พร้อมเสนอให้ถอนทหารออกจากพื้นที่ เพื่อลดความหวาดระแวง ในขณะที่ตัวแทนจากชุมชนมลายูระบุว่า ต้องให้ประชาชนในพื้นที่กำหนดอนาคตของตนเอง

สุมาลี ขุนพิทักษ์ ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 7 อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มองว่า นโยบายการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปัจจุบันยังเป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด โดยเฉพาะการนำเอาทหารจำนวนมากเข้าไปประจำอยู่ในพื้นที่จึงทำให้เกิดความหวาดระแวงทั้งระหว่างทหาร ชาวไทยพุทธ และมลายูยิ่งขึ้น เธอยกตัวอย่างว่า เมื่อทหารพยายามจะเข้ามาพูดคุย เธอก็พยายามจะออกห่าง เนื่องจากคนอื่นๆ ในชุมชนจะเข้าใจว่าเธอให้ข้อมูลบางอย่างกับทหาร

ตัวแทนจากชุมชนไทยพุทธกล่าวด้วยว่า การนำทหารจากภาคอื่นมาแก้ปัญหาในภาคใต้ ยังทำให้เกิดความเข้าใจผิดในแง่ของวัฒนธรรมท้องถิ่นและภาษา เพราะไม่เข้าใจกันในการสื่อสาร และยิ่งนำไปสู่ความรุนแรง ดังที่เกิดมาแล้วเมื่อเร็วๆ นี้ 

"อย่างที่เกิดเหตุการณ์วันก่อนที่ทหารยิง คือ มีคนอิสลามเขาไป 'กินเหนี่ยว' ภาษาท้องถิ่นเขาเรียกว่าไปกินงานแต่งงาน ภาษาท้องถิ่นงานแต่งงานเขาจะเรียกว่าไปกินเหนี่ยว แต่ทหารนั้นเป็นคนอีสาน เข้าใจว่าคนอิสลามด่าว่าไอ้พวกข้าวเหนียว ก็เกิดการยิงกันและเสียชีวิตกัน นี่คือการสื่อและการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้อง" สุมาลีกล่าว

ผู้ใหญ่บ้านสองสมัยมีข้อเสนอแนะต่อปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ว่า น่าจะให้อำนาจในการปกครองส่วนท้องถิ่นเพิ่มมากขึ้น และให้คนในพื้นที่แก้ปัญหากันเอง นอกจากนี้ กฎหมายพิเศษต่างๆ เช่น กฎอัยการศึก และพ.ร.ก. ฉุกเฉิน ก็ควรยกเลิก เพื่อลดอำนาจของทหาร เพราะสุมาลีมองว่า การที่ทหารจำนวนมากเข้ามาอยู่ในพื้นที่ ทำให้เงินภาษีประชาชนกลับตกอยู่ในมือของเจ้าหน้าที่รัฐมากกว่าประชาชน ทั้งๆ ที่ประชาชนเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับปัญหา กลับไม่มีส่วนในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้งบประมาณใดๆ ทั้งสิ้น

ทางอิสมาแอร์ ซะและ ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและทรัพยากรมนุษย์ จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นองค์กรที่ช่วยเหลือด้านการศึกษาแก่เยาวชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้มีเด็กที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในภาคใต้ราว 10,000 คน ที่ผู้ปกครองโดยเฉพาะบิดาถูกยิงคิดเป็นราว 5,000-7,000 คน ส่วนกรณีอื่นๆ เช่น บิดาหนีออกนอกประเทศ ถูกอุ้มหาย พิการ และถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย มิหนำซ้ำ คนเหล่านี้แทบไม่ได้รับการช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รัฐเลย

"ในขณะเดียวกัน ก็มีเด็กที่ได้รับผลกระทบที่แทบไม่ได้รับการเยียวยา อย่างกรณีที่บานดา แทบจะไม่มีใครพูดถึงเลย แต่เราอาจจะเคยได้ยินเหตุการณ์กรือเซะบ้าง ตากใบบ้าง แต่กรณีบานดาที่เด็ก 10 คนเล่นวิ่งซ่อนหากัน และทหารขับรถกราดยิงบนถนนใหญ่ และกราดยิงเด็กตายสามคน และพิการตาบอดทั้งสองข้างอีกหนึ่งคน และบาดเจ็บเล็กน้อยอีกสองคน เหตุการณ์เหล่านี้แทบไม่ได้รับการพูดถึงเลย"  อิสมาแอร์กล่าวพร้อมทั้งเสริมว่า ถึงแม้เด็กบางส่วนจะได้รับการเยียวยาแล้ว แต่ในชีวิตประจำวัน ก็ยังประสบกับความลำบากในการรักษาพยาบาล

"รู้สึกว่า นโยบายของรัฐที่เข้าไปช่วย เป็นการหลอกชาวบ้านมากกว่า ที่รัฐบาลออกมาบอกว่าสถานการณ์ในภาคใต้ดีขึ้นแล้ว แต่จริงๆ แล้วทุกวันนี้มีคนตายในพื้นที่ราว 3 วันโดยเฉลี่ย" 

อิสมาแอร์มองถึงปัญหาอื่นๆ ในพื้นที่ว่ายังมีความร้ายแรง แต่กลับไม่ได้รับความใส่ใจมากเท่าที่ควร โดยเฉพาะปัญหายาเสพติด ปัญหาการผิดประเวณี โดยเฉพาะระหว่างผู้หญิงในท้องถิ่นที่ไปแต่งงานหรือตั้งครรภ์กับทหารในพื้นที่ โดยเมื่อบางส่วนมีปัญหาก็หย่ากัน ทำให้อาจมีปัญหากับเด็กที่เกิดมาด้วย

สำหรับข้อเสนอเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เขามองว่า รัฐบาลจำเป็นต้องให้การสนับสนุนเรื่องการพัฒนาการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชน และการเยียวยาและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับหญิงหม้ายในพื้นที่ พร้อมทั้งเอื้ออำนวยความสนับสนุนให้แก่ผู้ที่อยากทำงานในภาคประชาชนสังคม ทั้งในแง่งบประมาณและความสะดวก 

แนะคนในพื้นที่ต้องสามารถกำหนดชะตากรรมตนเอง

อาเต๊ป โซะโก ตัวแทนจากสถาบันเยาวชนเพื่อสันติภาพและการพัฒนา มองว่าเหตุการณ์ความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ที่ปะทุตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา เปรียบเสมือนวาทกรรมที่ถูกสร้างขึ้น เพราะต้นตอที่แท้จริงของความรุนแรงเป็นผลที่สะสมมาจากเมื่อราว 200 ปีที่แล้ว เมื่อรัฐปาตานีถูกผนวกรวมเข้ากับรัฐไทย ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่าเป็นพลเมืองชั้นสองที่ถูกปกครองในอาณานิคมจากกรุงเทพฯ  

"ความรู้สึกที่มันห้ำหั่นกัน ที่ไม่ใช่ในเชิงอาวุธนี่ มันมีอยู่ตลอดเวลาในจิตใจของคนมลายู พอมีกลุ่มคนที่กล้าที่จะทำอะไรร้ายแรง ความรู้สึกที่มีของคนมลายูก็จะพร้อมสนับสนุน มันก็เลยกลายเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้จนถึงทุกวันนี้" เขากล่าว

อาเต๊ปมองว่า ในขณะที่คนไทยในกรุงเทพฯ มองว่า หากสามจังหวัดชายแดนใต้ถูกแยกออกมาเป็นเขตปกครองพิเศษ จะหวาดหวั่นเรื่องอำนาจอธิปไตย แต่แท้จริงแล้ว คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลับไม่ได้รู้สึกว่าตนเองเป็นพลเมืองไทยแต่อย่างใด  

"เมื่อเกิดการปล้นปืนเมื่อปี 47 เครื่องมือที่รัฐใช้ก็คือ หนึ่ง เรื่องกำลังพล ก็ส่งทหารเข้าไปในพื้นที่ แต่มันช่วยไม่ได้ ก็ต้องเอากลับไป กฎหมายพิเศษ มันช่วยไม่ได้ ก็ต้องยกเลิกการประกาศใช้มันไป และสิ่งที่สำคัญก็คือ ต้องสร้างพื้นที่ให้ประชาชนสามารถพูดข้อเท็จจรืงได้ และสร้างบรรยากาศให้ทุกคนผลักดันอุดมการณ์ทางการเมืองของแต่ละฝ่าย และท้ายที่สุดก็ต้องมอบหมายให้คนในพื้นที่กำหนดอนาคตของตัวเองว่าอย่างไร" อาเต๊ปกล่าว 

ทั้งนี้ วงเสวนาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงานแถลงข่าวเปิดตัวรายงาน "เวทีรวม: การเสวนาข้ามศาสนาครั้งแรกของประชาชนไทยพุทธ มลายู ชาวไทยเชื้อสายจีน" ซึ่งมาจากการรวบรวมข้อเสนอแนะจากเวทีที่จัดขึ้น ณ ราชภัฏยะลา โดยมูลนิธิศักยภาพชุมชน เมื่อวันที่ 3-4 มีนาคมที่ผ่านมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net