Skip to main content
sharethis

จาตุรนต์หวั่นศาล รธน.แทรกแซงนิติบัญญัติ ลามถึงตีความเนื้อหา รธน.-ยุบพรรค สิริพรรณ เสนอ 5 ประเด็นท้าทายร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ศิโรตม์ชี้หลัง 49 การตีความถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ต้องออกแบบให้ศาล รธน.ตรวจสอบได้ พรสันต์ย้ำทำความเข้าใจม.68 ก่อนกลายเป็นอภิมหาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย

 

จาตุรนต์หวั่นศาลรัฐธรรมนูญแทรกแซงอำนาจนิติบัญญัติ

(10 มิ.ย.55) ในการเสวนา การแก้ไขรัฐธรรมนูญกับการวางรากฐานประชาธิปไตย ที่โรงแรมสยามซิตี้ จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ประธานสถาบันศึกษาการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า ขณะนี้จะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งหวังกันว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ที่มาจากประชาชน ผ่านการเลือก ส.ส.ร.และลงประชามติ แต่กระบวนการนี้กำลังอยู่ในจุดวิกฤตคือ ทางสองแพร่งระหว่างการแก้และได้รับรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยกับการเกิดการล้มการร่างรัฐธรรมนูญโดยศาลรัฐธรรมนูญ ผ่านการตีความมาตรา 68 ในลักษณะที่บิดเบือนจากสาระของรัฐธรรมนูญ ทั้งโดยการตีความภาษาและตีความโดยไม่รับรู้บรรทัดฐานที่เคยสร้างไว้ในมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งมีเนื้อความแบบเดียวกันในมาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 50 ที่ตีความว่า การยื่นคำร้องต้องยื่นต่ออัยการสูงสุด เพื่อให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

จาตุรนต์ กล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งมักถือคำพิพากษาศาลฎีกาว่าด้วยรัฏฐาธิปัตย์เสมอๆ เพื่อรองรับการรัฐประหาร แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญด้วยกันเองในมาตราที่มีเนื้อหาเดียวกันทุกประการกลับไม่ถือ ซึ่งจะนำสู่ตีความผิดและใช้ผิดต่อไปอีก

ทั้งนี้ เขาชี้ว่า หากรัฐสภาไม่รีบลงมติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในวาระ 3 โดยเร็ว ศาลรัฐธรรมนูญจะเข้ามาตีความเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเท่ากับเข้ามาก้าวก่ายอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติอย่างชัดแจ้ง และอาจตามมาด้วยการยุบพรรคการเมืองที่เสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และนำไปสู่วิกฤตของประเทศที่จะยืดเยื้อจนยากจะแก้ไขได้

จาตุรนต์กล่าวด้วยว่า ประเด็นที่สำคัญคือ หากเกิดการล้มการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญขึ้น จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญกลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดที่จะตัดสินว่าจะแก้รัฐธรรมนูญได้หรือไม่ ซึ่งเท่ากับทำลายหลักการอำนาจสูงสุดที่อยู่ที่ฝ่ายนิติบัญญัติคือรัฐสภา มาเป็นฝ่ายตุลาการคือศาลรัฐธรรมนูญแทน

5 ประเด็นท้าทายร่างรัฐธรรมนูญใหม่

สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาสำคัญของรัฐธรรมนูญไทยคือ ความไม่ศักดิ์สิทธิ์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยมาก เราจะครบ 80 ปีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ในวันที่ 24 มิ.ย.นี้ เรามีรัฐธรรมนูญมาแล้ว 18 ฉบับ เท่ากับทุก 4 ปีจะมีรัฐธรรมนูญ 1 ฉบับ และทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลง หลักการสำคัญเปลี่ยนแปลงตลอด บางครั้งให้อำนาจฝ่ายบริหารเข้มแข็ง บางครั้งให้ตรวจสอบฝ่ายบริหารได้ง่าย บางครั้งเปลี่ยนแปลงวิธีการเลือกตั้ง และมีความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดคือ การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการโค่นทั้งฉบับ คือรัฐประหาร ดังนั้น ทั้งความศักดิ์สิทธิ์และหลักการพื้นฐานจึงถูกท้าทาย

สิริพรรณ ชี้ว่า ความท้าทายของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งส่วนตัวยังมองว่าควรจะร่างได้ แบ่งเป็น 5 ข้อ ได้แก่

หนึ่ง หลักการ civilian supremacy คือหลักการที่บอกว่าผู้นำฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้ง มีอำนาจสูงกว่ากองทัพ นั่นหมายถึงการแต่งตั้งโยกย้าย งบประมาณของฝ่ายกองทัพ ต้องได้รับความเห็นชอบ ยินยอมจากผู้นำจากการเลือกตั้ง มากไปกว่านั้น ตั้งคำถามว่า จะทำลายหลักคำพิพากษาศาลฎีกาที่ว่าผู้นำรัฐประหารเป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์อย่างไร ทั้งนี้ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาตลอด แต่ก็มีรัฐธรรมนูญจารีตแฝงเร้นอยู่ตลอดเช่นกัน และหลายครั้งรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของผู้ปกครอง ก็มาครอบงำรัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษร

สอง constitutional supremacy คือ รัฐธรรมนูญควรมีอำนาจเหนือและเป็นกฎหมายสูงสุดเหนืออื่นใดในโลกนี้ เรื่องนี้แม้จะดูง่ายๆ แต่ไม่เป็นเช่นนั้น รัฐธรรมนูญบอกว่าสิทธิเสรีภาพของประชาชนควรได้รับการคุ้มครอง แต่อำนาจหรือสิทธิของประชาชนในรัฐธรรมนูญทุกฉบับกลับถูกท้าทายโดยกฎหมายที่มีฐานะต่ำกว่าเช่น มาตรา 112 ที่ผู้ถูกกล่าวหาผิดตั้งแต่ถูกกล่าวหา ไม่สามารถใช้สิทธิประกันตัวได้ ไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเปิดเผย

สาม การวางรากฐานระบบการตรวจสอบถ่วงดุล เสนอว่าควรจะหลุดจากพันธนาการของวิธีคิดแบบระบบรัฐสภาเดิม โดยกล่าวถึงข้อเสนอที่เคยเสนอไปว่า ให้สามารถเลือกตั้งนายกฯ ตรงได้ แต่ถ้ากลัวว่าจะท้าทายอำนาจสถาบันกษัตริย์ ก็ให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งนายกฯ หลังการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งนายกฯ ตรงไม่ได้จำเป็นว่าต้องมาเป็นประมุขของประเทศ โดยยังเป็นประมุขของฝ่ายบริหาร เพราะทุกวันนี้ ฝ่ายบริหารที่ต้องทำงานภายใต้การต่อรองของกลุ่มก๊วนทางการเมือง มีอยู่สูงมาก บางครั้งพบว่าทำอะไรได้ไม่มากเพราะต้องทำงานภายใต้แรงกดดันของการต่อรอง

นอกจากนี้ เสนอให้ผู้ที่จะเป็นนายกฯ เสนอตัวพร้อมทีมบริหาร 35 คน เพื่อที่สื่อจะเข้าไปขุดคุ้ยทั้ง 36 คนอย่างถึงพริกถึงขิง เพื่อให้เห็นความชัดเจนและโปร่งใสของคนที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยชี้ว่าที่ผ่านมา ไทยเราเลียนแบบรัฐสภาของอังกฤษ แต่ฝ่ายบริหาร เราไม่เหมือน เราให้ใครก็ได้มาเป็นรมต. ไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งด้วย ส่วนใหญ่ คนที่มาเป็น ไม่ได้ผ่านการเห็นชอบของนายกฯ ด้วยซ้ำ แต่ถูกเสนอโดยหัวหน้าพรรค แม้แต่การปรับ ครม. นายกฯ จะปรับได้ภายใต้พรรคที่ตัวเองเป็นหัวหน้า การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบนี้จึงเกิดขึ้นไม่ได้เลย เพราะหัวหน้าฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจอย่างแท้จริง

ส่วนองค์กรตามรัฐธรรมนูญนั้น เสนอให้พิจารณาบทบาทขององค์กรเหล่านี้ว่าทำอะไรบ้าง คุ้มกับเงินภาษีของประชาชนหรือไม่ และยกเลิกองค์กรที่มีบทบาทซ้ำซ้อนกัน อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน จะเก็บไว้แค่องค์กรเดียวได้หรือไม่ เพราะนอกจากซ้อนกันเองแล้ว บางส่วนยังซ้อนกับศาลปกครองด้วย

ด้านที่มาขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและศาล มองว่าไม่มีความยึดโยงกับประชาชน โดยเมื่อพูดถึงการแบ่งแยก อำนาจตุลาการทุกวันนี้ได้แสดงบทบาทนำในการตรวจสอบอีกสองฝ่ายอย่างชัดเจน หรือบางคนอาจจะบอกว่าล้ำเส้น ทั้งที่มาจากการแต่งตั้ง วิธีแก้ยังไม่มีคำตอบชัดเจน แต่ยกตัวอย่าง กรณีสหรัฐฯ ที่ศาลสูงสุดมาจากการแต่งตั้งของประธานาธิบดี ซึ่งอาจได้คนที่มีอุดมการณ์คล้ายกันมา แต่โอกาสที่จะเลือกอยู่กับจังหวะที่มีศาลเสียชีวิต-ลาออกหรือไม่ ไม่ได้กำหนดเองได้ หรือฝรั่งเศส มีศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นฝ่ายการมืองมาจากอดีตประธานาธิบดี ซึ่งมีความชัดเจนว่า เป็นคนที่เคยผ่านการเลือกตั้งสองรอบและได้เสียงข้างมากเด็ดขาด

ประเทศเรามีปัญหาที่ทางของฝ่ายบริหารที่หมดวาระ เช่น นายกฯ ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายบริหาร แต่เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว หลายท่านยังกลับมาเป็น ส.ส. ไม่รู้จะจัดวางตัวเองไว้ที่ไหน ทำให้สถาบันนายกฯ ขาดความศักดิ์สิทธิ์ ปัญหานี้อาจแก้โดยการหาที่ทางให้ในตำแหน่งศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนที่มาของ กกต.อาจมาจากการเสนอของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อคานอำนาจกัน เช่นเดียวกับในสหรัฐอเมริกา

สี่ การเพิ่มประสิทธิภาพของประชาชน รัฐธรรมนูญไทยทุกฉบับล้วนแต่เป็นรัฐธรรมนูญที่ประทานมาจากผู้นำทั้งสิ้น ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของประชาชนโดยให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบได้ ในระบบเลือกตั้ง ระบบบัญชีรายชื่อ เลือกนายกฯ ได้ตรง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมเสนอกฎหมายโดยแท้จริง ไม่ใช่มีสิทธิเสนอ แต่ไปจบที่สภาเช่นในปัจจุบัน โดยยกตัวอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ ที่ให้ประชาชนหนึ่งแสนชื่อเสนอกฎหมาย และให้ประชาชนลงมติกันเอง

นอกจากนี้ ในการถอดถอนองค์กรต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญ 50 นั้นเป็นไปไม่ได้เลย โดยการถอดถอน ศาลรัฐธรรมนูญ ต้องให้วุฒิสภาวินิจฉัย ซึ่งครึ่งหนึ่งของวุฒิสภาก็มาจากการสรรหาโดยศาลเอง ทั้งนี้เสนอให้มีการเลือกตั้งถอดถอน (recall election) โดยให้ประชาชนลงคะแนนเสียงว่าจะถอดถอนหรือไม่ เพื่อลดความหวาดกลัวในการลงชื่อถอดถอนลง

ห้า การตัดทอนอำนาจนอกระบบ แม้ในหมวด 2 สถาบันกษัตริย์ มาตรา 14-15 จะพูดเรื่องอำนาจหน้าที่ขององคมนตรี แต่หลายครั้ง จะเห็นว่าองคมนตรีออกมาให้ความเห็น มีบทบาททางการเมือง เช่น กรณีแป๊ะเจีย ต้องระบุให้ชัดว่า องคมนตรีมีบทบาทหน้าที่แค่ไหน ทำอะไรได้ไม่ได้ การแสดงความเห็นทำได้หรือไม่ ซึ่งรวมถึงการสัมภาษณ์ความเห็นผู้นำกองทัพ ที่สื่อต้องไม่ให้ความสำคัญกับบุคคลเหล่านี้ และการที่นายทหารจำนวนมากไม่ควรเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจด้วย

สิริพรรณ เสนอว่าอยากให้มี the great compromise คือต่างยอมประนีประนอมบางประการเพื่อให้รัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้ เราอาจไม่ได้ทุกอย่างที่อยากเห็น แต่ให้เลือกหลักการที่สำคัญก่อน และมี the smart accommodation คือให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมโดยเฉพาะฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

สำหรับการแก้ไข "เผด็จการรัฐสภา" ในต่างประเทศใช้วิธีทำให้เสียงข้างมากไม่ธรรมดา เช่น super majority คือ เสียงข้างมากเด็ดขาด ใช้ 400 เสียงจากสภา 500 ทำให้พรรคเดียวไม่พอ ต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายตรงข้าม "เผด็จการรัฐสภา" จะลดลง มีความชอบธรรมสูง เพราะได้รับความเห็นชอบจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย

ความเห็นต่อการตีความเรื่องมาตรา 68 โดยฐานะนักรัฐศาสตร์ มองว่าศาลรัฐธรรมนูญกำลังพิจารณาเหตุการณ์ในอนาคต ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นหรือไม่ ทั้งที่มีการยืนยันด้วยซ้ำไปว่าจะไม่มีการแก้หมวด 2 นี่จึงเป็นใช้อำนาจเกินขอบเขตจริงๆ อย่างไรก็ตาม มั่นใจว่า การผ่านวาระสาม คงทำได้ โดยรัฐสภาควรจะยืนยันถึงขอบเขตอำนาจของตัวเอง และไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลหลายคนก็พูดเองว่าไม่มีสิทธิพิจารณา ขณะเดียวกัน ย้ำว่าไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรองดองหรือการแก้รัฐธรรมนูญ ก็อย่าให้เป็นการประนีประนอมเฉพาะชนชั้นนำอีก แต่ควรให้สาธารณชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
 
 

ชี้ "การตีความ" ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ต้องออกแบบให้ศาล รธน.ตรวจสอบได้

ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการอิสระรัฐศาสตร์ กล่าวว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดนี้หลายท่านไม่ได้เชี่ยวชาญเรื่องรัฐธรรมนูญเลย โดย 6 จาก 9 คน เติบโตมาทางสายศาลฎีกา คดีแพ่ง คดีอาญา ขณะที่อีกสามคนเชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ สายกฎหมายระหว่างประเทศ การพิจารณาจึงตกในมือคนที่ไม่ได้ทำเรื่องรัฐธรรมนูญเลย จะต้องปฏิรูปให้มีผู้ที่เชี่ยวชาญด้านรัฐธรรมนูญมากกว่านี้

ศิโรตม์เสนอว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญ หนึ่ง ควรคิดว่า จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยเป็นปึกแผ่นมั่นคง โดยชี้ว่า ตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 ประชาธิปไตยไม่มั่นคงจากการที่มีพลังต่อต้านประชาธิปไตยอยู่จริงๆ โดยบางพลังมีอำนาจรัฐ บางพลังมีสื่อ ทั้งหมดแชร์ความคิดว่าอำนาจอธิปไตยไม่ใช่ของประชาชน แต่อยู่ที่อื่น ตั้งคำถามว่าเราจะทำอย่างไรกับกลุ่มที่ไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยเลย และนอกจากมีพลังฝ่ายที่ไม่เชื่อเรื่องประชาธิปไตยยังมีการดำรงอยู่ของคำสั่งและกฎหมายจำนวนมาก ที่ขัดหลักประชาธิปไตยอย่างมาก เช่น พ.ร.บ.ความมั่นคง กฎอัยการศึก ที่ให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจพิเศษมาก สอง ทำอย่างไรที่จะให้รัฐมีอำนาจน้อยลง ประชาชนมีอำนาจมากขึ้น เช่น ให้มีการกระจายอำนาจให้รัฐมีขนาดเล็กลง องค์กรอิสระต่างๆ ที่แทบจะเป็นองค์กรเหนือรัฐไปแล้ว ต้องถูกตรวจสอบจากประชาชนได้มากขึ้น และสาม จะต้องคิดผ่านกรอบว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน จะออกแบบอย่างไรให้ตอบสนองความเปลี่ยนแปลงของสังคม

ทั้งนี้ เพื่อตอบโจทย์ทั้งสามข้อ ศิโรตม์ชี้ว่า การเขียนรัฐธรรมนูญต้องสะท้อนเจตจำนงการเมืองของประชาชน ต้องวางอยู่บนหลักอำนาจอธิปไตยปวงชน และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่านี้ สอง ในความขัดแย้งหลัง 2549 รัฐธรรมนูญหรือการตีความถูกใช้เป็นเครื่องมือต่อสู้ทางการเมืองมากขึ้น และการใช้อำนาจอย่างเด็ดขาดของศาลรัฐธรรมนูญก่อให้เกิดปัญหา ดังนั้น ศาลรัฐธรรมนูญจึงควรถูกควบคุมโดยสังคมให้มากขึ้น โดยให้ตรวจสอบ ถกเถียง และล้มล้างคำตัดสินได้ ทั้งนี้ วิจารณ์ว่า การที่ศาลรัฐธรรมนูญพูดถึงการยุบพรรคออกมาทั้งที่ไม่มีช่องกฎหมายที่จะทำได้ รวมถึงการตีความที่ผ่านมานั้น เป็นความมั่นใจเกินไปของศาลรัฐธรรมนูญว่าสิ่งที่ตัวเองตีความกลายเป็นกฎหมายสูงสุดไปแล้ว สาม อำนาจเด็ดขาดในการตีความจะต้องออกแบบให้มีความเชื่อมโยงรัฐสภามากขึ้น

เสนอทำความเข้าใจม. 68 ก่อนกลายเป็นอภิมหาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย

พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย นักวิชาการอิสระด้านนิติศาสตร์ กล่าวว่า การรับคำร้องและมีคำสั่งระงับยับยั้งการดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถือเป็นคำสั่งขององค์กรตุลาการที่ขัดกับหลักสถาปนารัฐธรรมนูญ เนื่องจากตัวบทรัฐธรรมนูญไม่มีบทบัญญัติใดให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้ามาตรวจสอบ สั่งระงับยับยั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญของสภาเลย นอกจากนี้ ยังเปรียบได้กับการที่ "ลูกฆ่าแม่" ด้วยเนื่องจากเป็นการจะใช้อำนาจของศาลเข้ายับยั้งอำนาจของตัวแม่ที่ก่อตั้งศาลขึ้นมาด้วย

นอกจากนี้ การใช้อำนาจขององค์กรตุลาการถูกออกแบบเพื่อใช้อำนาจควบคุม ไม่ให้ใช้อำนาจเกินไปกว่าที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ถ้าเห็นว่าฝ่ายการเมืองใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ก็ต้องใช้องค์กรทางการเมืองตรวจสอบเอง ส่วนอะไรที่เป็นทางกฎหมายจึงให้องค์กรตุลาการเข้ามาตรวจสอบได้ ทั้งนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการเมืองโดยแท้ เพราะในเชิงหลักการเรื่องการเมือง คือเรื่องที่นิติบัญญัติต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ทำ การพิจารณาการร่างรัฐธรรมนูญในวาระที่สามนั้นยังเป็นอำนาจของฝ่ายรัฐสภา ดังนั้น โดยหลักวิชาการแล้ว ศาลจะเข้ามาระงับยับยั้งใช้อำนาจล่วงล้ำเขตแดนฝ่ายการเมืองไม่ได้

ในด้านข้อกฎหมาย พรสันต์มองว่า การตรวจสอบแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่เกี่ยวกับมาตรา 68 ซึ่งเป็นการตรวจสอบการกระทำใดๆ ให้ได้มาซึ่งอำนาจด้วยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ และเกี่ยวข้องกับมาตรา 291 เท่านั้น เพราะเป็นเรื่องขั้นตอนและการเสนอ ไม่ได้มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลงรูปแบบรัฐ เช่น จากราชอาณาจักร เป็นสาธารณรัฐ จึงไม่เห็นว่าจะขัดรัฐธรรมนูญหรือล้มล้างประชาธิปไตยอย่างไร

เขาชี้ว่า ถึงที่สุด หากจะใช้มาตรา 68 จริงๆ ก็จะยังติดที่กระบวนการยื่นผิดขั้นตอนอยู่ดี เนื่องจากแม้ว่าศาลจะบอกว่าสามารถบอกยื่นได้สองทาง แต่ในตอนยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มีการถกเถียงกันถึงมาตรา 63 ซึ่งเป็นต้นแบบของมาตรา 68 นี้ว่ามาตรานี้ใช้เพื่อป้องกันการกระทำร้ายแรง ที่ล้มล้างระบอบการปกครอง จึงต้องมีองค์กรกลั่นกรองตรวจสอบก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญ และล่าสุด อัยการสูงสุดแถลงแล้วว่า คดีไม่มีมูล และไม่สั่งฟ้อง จึงเริ่มมีการตั้งคำถาม ว่าถ้าใช้สามัญสำนึก หากยื่นได้สองทาง ถ้าทางหนึ่งบอกว่ามีมูล ทางหนึ่งบอกไม่มีมูลจะเกิดอะไรขึ้นในทางหลักวิชา จะกลายเป็นว่า การตีความกฎหมายให้ศาลรับได้โดยตรงเป็นการตีความที่ก่อให้เกิดผลอันแปลกประหลาด ขัดแย้งกันในการทำงานเชิงองค์กร ขณะที่ถ้ายื่นได้สองทางและเห็นว่ามีมูลหรือมีความเห็นตรงกัน ถามว่า แล้วจะมีอัยการไว้ทำไม ฉะนั้น สะท้อนว่าการตีความแบบนี้ทำให้เกิดการทำงานซ้ำซ้อน

ทั้งนี้ เขาย้ำว่า ต้องทำความเข้าใจมาตรา 68 ให้ชัดเจนว่าใช้อย่างไร มีเจตนารมณ์อย่างไร ถ้าไม่เคลียร์สังคม ต่อไปมาตรา 68 อาจกลายเป็นเครื่องมือทางการเมือง เป็นอภิมหาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไทย ให้ศาลสามารถสั่งยับยั้งการกระทำองค์กรอื่นๆ ด้วยก็ได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net