Skip to main content
sharethis

กรรมการองค์การอิสระฯ ชี้จัดเวทีรับฟังความเห็นไม่ผิดกฎหมาย แต่โครงการหลายร้อยล้านทำไม่ต้องเร่ง ด้านเอ็นจีโอ จี้ กพร.เพิกถอนคำสั่งตั้งกรรการรับฟังฯ ชี้มีปัญหาที่มา ให้ตั้งใหม่ที่เป็นกลางต่อชาวบ้าน ขู่เตรียมร้อง ก.พ.-ยื่นศาลปกครองต่อ

 
ภาพ: เหมืองแร่ทอง จ.พิจิตร 
ที่มา: http://www.121easy.com
 
ปัญหาเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในพื้นที่รอยต่อจังหวัดพิจิตร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก ที่ส่งผลกระทบเรื่องฝุ่นละออง มลภาวะทางเสียง ทั้งยังมีข้อกังวลต่อสารพิษและโลหะหนักจากกระบวนการผลิตแร่ที่อาจมีการเจือปนในน้ำใต้ดิน ถูกเกาะติดโดยชาวบ้านและองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อม จนเป็นที่มาของการส่งฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งแม้ศาลจะยกคำร้องในเวลาต่อมา แต่การพยายามติดตามตรวจสอบก็ยังไม่หยุดยั้ง
 
อีกทั้ง บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ยังคงเดินหน้าโครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ โดยมุ่งเป้าขยายกำลังผลิตสินแร่ป้อนเพิ่มจาก 2.3 ล้านตันต่อปี เป็น 5.0 ล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นการเพิ่มขึ้นจากเดิมประมาณ 6,301 ตันต่อวัน เป็น 13,699 ตันต่อวัน เพื่อรองรับแหล่งแร่ทองคำของโครงการที่เพิ่มมากขึ้น และภาวะทางเศรษฐกิจที่เหมาะแก่การลงทุน เนื่องจากราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวมเร็วตั้งแต่หลังปี 2549
 
จากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการฯ ฉบับย่อ ระบุแหล่งเงินทุนของโครงการมาจากเงินกู้ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมดในการพัฒนาโครงการประมาณ 4,000 ล้านบาท ส่วนการก่อสร้างซึ่งประกอบด้วยอาคารโรงงาน รวมทั้งการติดตั้งเครื่องจักรและอุปกรณ์คาดว่าจะให้ระยะเวลาประมาณ 12 เดือน
 
โครงการฯ นี้ ถือเป็น “โครงการอุตสาหกรรมถลุงแร่ ทองแดง ทองคำ หรือสังกะสี ที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต ตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไปหรือที่มีปริมาณแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิต รวมกันตั้งแต่ 1,000 ตัน/วัน ขึ้นไป” เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
 
ทำให้ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพให้ความเห็นก่อนมีการดำเนินการดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ 2550 
 
ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงการเหมืองแร่ (คชก.เหมืองแร่) ได้พิจารณาผ่านความเห็นชอบ EHIA ของโครงการฯ ไปเมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ผ่านมา
 
อีกทั้งได้นำส่ง EHIA ฉบับที่ผ่านความเห็นชอบแล้วให้แก่คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. เพื่อให้ความเห็นประกอบส่งต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
 
 
เอ็นจีโอเดินหน้าทักท้วง รับฟังความเห็นโครงการเหมืองแร่ทองคำ ขัดเจตนารมณ์ รธน.
 
ล่าสุด คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) จะจัดรับฟังความคิดเห็นต่อโครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ในวันอาทิตย์ที่ 9 ก.ย.นี้ ซึ่งก็ถูกตาติดตั้งคำถามจากองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมว่าอาจไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
 
โดยองค์กรภาคประชาชนระบุว่า การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่จะเร่งจัดขึ้น ตัดโอกาสที่คณะกรรมการรับฟังฯ จะรับฟังความคิดเห็นขององค์การอิสระฯ ซึ่งมีกำหนดจะให้ความเห็นประกอบภายในวันที่ 20 ก.ย.2555 ยิ่งไปกว่านั้น ประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียก็ไม่มีโอกาสที่จะได้ทำความเข้าใจและพิจารณารายงานความเห็นประกอบขององค์การอิสระฯ ก่อนการให้ความคิดเห็นในเวทีดังกล่าว
 
ศุภกิจ นันทะวรการ หนึ่งในกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ กอสส. (เฉพาะกาล) กล่าวให้ข้อมูลว่า โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำ ของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด ถือเป็นโครงการแรกที่คณะกรรมการรับฟังฯ จัดรับฟังความเห็นจากประชาชน ก่อนที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จะนำส่งรายงานความเห็นประกอบโครงการฯ แก่ กพร.ในฐานะหน่วยงานผู้อนุญาต
 
นายศุภกิจ กล่าวด้วยว่า โครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จัดทำความเห็นทั้ง 7 โครงการ6 โครงการก่อนหน้านี้นั้นประกอบด้วย โครงการเกี่ยวกับปิโตรเคมีที่ จ.ระยอง 5 โครงการ และโรงไฟฟ้าถ่านหิน จ.ระยองอีก 1 โครงการ ซึ่งเหล่านี้อยู่การดูแลของ 3 หน่วยงานคือ การนิคมอุตสาหกรรม กรมโรงงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต่างจัดให้มีเวทีรับฟังความคิดเห็นขึ้นภายหลังจากที่องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ จัดทำรายงานความเห็นแล้วทั้งสิ้น
 
“นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญแต่เป็นความตั้งใจที่จะจัดก่อน” ศุภกิจกล่าว
 
 
ชี้ จัดเวทีไม่ผิดกฎหมาย แต่โครงการหลายร้อยล้านทำไม่ต้องเร่งสังคมตัดสินใจ
 
กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ กล่าวด้วยว่า แม้การดำเนินการดังกล่าวของ คณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.จะไม่ได้ผิดกฎหมาย เพราะไม่มีกฎหมายเขียนรองรับไว้ว่าการรับฟังความคิดเห็นต้องรอรายงานข้อเสนอจากองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ แต่ก็ถือว่าเป็นการเสียโอกาสของประชาชนที่จะได้รู้ว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ มีเงื่อนไขและขอเสนอแนะอะไร เพื่อนำไปถกเถียงในเวทีรับฟังความคิดเห็น
 
นอกจากนั้น แม้ว่าคณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.จะเปิดรับฟังความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรอีก 15 วันหลังการจัดเวที แต่การจัดเวทีซึ่งเป็นกระบวนการสาธารณะที่สำคัญนั้นก็ได้จบไปแล้ว รวมทั้งประชาชนก็จะมีเวลาเพียง 4 วัน หลังจากการให้ความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ในวันที่ 20 ก.ย.55 ที่จะต้องพิจารณาและส่งความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรให้ทันก่อนที่จะปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงวันที่ 24 ก.ย.55
 
“โครงการตั้งหลายรอยล้าน ทำไมต้องให้สังคมตัดสินใจเร็วอย่างนี้” ศุภกิจตั้งคำถาม
 
ดังนั้น ศุภกิจจึงเน้นว่าแม้ไม่ผิดกฎหมาย แต่กระบวนการดังกล่าวไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสอง ที่จะส่งเสริมกระบวนการพิจารณา และตัดสินใจอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ก่อนที่หน่วยงานอนุมัติอนุญาตจะตัดสินใจตามอำนาจของตนเอง
 
พร้อมย้ำตามข้อเสนอขององค์กรภาคประชาชนที่ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมที่มีก่อนหน้านี้ว่า ทางคณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.ควรเลื่อนการรับฟังความคิดเห็นออกไปก่อนอย่างน้อย 15-30 วัน โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนได้พิจารณาความเห็นประกอบขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ แล้วจึงจัดรับฟังความคิดเห็น
 
“อย่าปล่อยให้มีการบิดพลิ้วโดยบอกว่าทำตาม (รัฐธรรมนูญ) แต่ไม่รอบด้าน” กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ กล่าว เรียกร้องต่อประชาชนทั่วไปให้ยึดตามรัฐธรรมนูญ พร้อมระบุว่ารัฐธรรมนูญได้รับรองต่อการลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวของประชาชนตามสิทธิชุมชน
 
 
เผยเร่งจัดเวที เหตุหวั่นถูจี้ประเด็นเพิ่มเติม ทั้งปัญหา EHIA-คณะกรรมการรับฟังฯ ผิดคุณสมบัติ
 
ศุภกิจกล่าวแสดงความเห็นต่อมาว่า การเร่งจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นนั้นอาจเนื่องจากเกรงว่าองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ อาจมีประเด็นเพิ่มเติม เช่นกรณี EHIA ที่การดำเนินการไม่ตรงกับที่ได้อนุมัติมา ซึ่งเป็นช่องว่างที่สำคัญ และมีผลกระทบชัดเจน อย่างไรก็ตามนั่นไม่ใช่เรื่องที่ต้องมุ่งเน้น เนื่องจากรายงานความเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ที่ส่งให้ กพร.จะต้องเปิดต่อสาธารณะอยู่แล้ว การเร่งจัดเวทีก่อนกลับจะถูกมองว่าเป็นการปิดกั้น แต่สุดท้ายประชาชนก็ต้องรู้อยู่ดี
 
“การรู้ที่หลังยิ่งสร้างความสงสัย ทำให้ประชาชนตั้งคำถามกับคณะกรรมการรับฟังฯ มากยิ่งขึ้น” ศุภกิจกล่าว
 
ศุภกิจ กล่าวถึงข้อสังเกตที่พบในโครงการด้วยว่า 1.โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำดังกล่าวเป็นโครงการขนาดใหญ่ และมีการทำบ่อทิ้งกากแร่ซึ่งเป็นกากของเสียอันตราย ที่มีสารไซยาไนต์ แต่ปรากฏว่าบ่อทิ้งกากแร่ที่ระบุไว้ในEHIA อยู่คนละตำแหน่งกับที่ตั้งจริง มีการย้ายที ซึ่งการวิเคราะห์ผลกระทบตรงนี้ก็จะต้องเปลี่ยนไปด้วย การปรับโครงการอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้น่าจะมีปัญหา
 
2.ปัจจุบันโรงแต่งแร่ตามโครงการฯ ก่อสร้างเสร็จแล้ว ซึ่งคล้ายกับกรณีโครงการขนาดใหญ่ที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบอย่างรุนแรงอีกหลายโครงการที่เข้าข่ายตามมาตรา 67 วรรคสอง ที่เดินหน้าก่อสร้างไปจนเกือบแล้วเสร็จโดยไม่รอคณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ร่วมให้ความเห็น
 
ทั้งนี้ นับจากที่ศาลปกครองกลางมี คำสั่งให้ระงับ 76 โครงการ ที่บริษัทต่างๆ ขออนุญาตก่อสร้างและขยายโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ซึ่งตามความคิดเห็นของชาวบ้านโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการควรต้องหยุด แต่ในความเป็นจริง โครงการที่เข้าข่ายแต่ไม่มีรายชื่ออยู่ใน 76 โครงการนั้นมีการเดินหน้าต่อ เนื่องจากรัฐบาลไม่มีเกณฑ์ดำเนินการที่แน่นอน อย่างไรก็ตามตรงนี้ต้องมีการตรวจสอบ หากพบว่าโครงการมีการเดินเครื่องเพื่อดำเนินการไปก่อนต้องถือว่ามีความผิด
 
ศุภกิจ ให้ข้อมูลด้วยว่า ในส่วนคณะกรรมการรับฟังฯ ของ กพร.เองก็มีการพบข้อมูลว่า กรรมการรับฟังฯ 4 คนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารการมีส่วนร่วม ในสังกัด กพร.ซึ่งในความเป็นจริงคณะกรรมการรับฟังฯ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเหมืองแร่ อีกทั้งสำนักบริหารการมีส่วนร่วมฯ นั้นมีเป้าหมายข้อหนึ่งคือการสนับสนุนการทำเหมืองแร่ ส่วนกรรมการรับฟังฯ อีก 1 คนเป็นที่ปรึกษาบริษัทปูนซีเมนต์ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับเหมืองแร่
 
กรณีดังกล่าวให้เกิดการตั้งคำถามของชาวบ้านถึงคุณสมบัติของคณะกรรมการรับฟังฯ ที่ต้องไม่มีส่วนได้เสียกับโครงการหรือกิจการ นั้นๆ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่ามีความเกี่ยวข้องจริงต้องถือว่าผิดกฎหมาย กระบวนการต่างๆ อาจล้มได้เนื่องจากคณะกรรมการผิดคุณสมบัติ
 
 
เสนอดัน พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ แก้ปัญหาระยะยาว
 
ต่อคำถามถึงการดำเนินการต่อไปขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ศุภกิจ กล่าวว่า กรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ เห็นว่าการจัดรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวไม่เหมาะสม แต่กรรมการส่วนใหญ่ในจำนวน 13 คน ถือว่าเป็นเรื่องการดำเนินการขององค์กรอื่นซึ่งองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมฯ ไม่ควรเข้าไปยุ่ง ส่วนการจะเร่งให้มีรายงานข้อเสนอก่อนวันที่ 9 ก.ย.นั้นคงไม่ได้ เพราะเดิมที่มีเวลาเพียง 60 วันในการจัดทำรายงานนั้นก็ถือเป็นงานหนักอยู่แล้ว แต่จะพยายามทำให้ครบถ้วน รอบด้านตามเจตนารมณ์
 
ส่วนข้อเสนอ ศุภกิจ กล่าวว่าในระยะสั้นแรงกดดันทางสังคม และการนำเสนอข่าวสารผ่านทางสื่อมวลชนถือเป็นความหวัง ส่วนในระยะยาวต่อไป คือการผลักดัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (http://ilaw.or.th/node/255) ซึ่งตกไปในสมัยรัฐบาลนายกยิ่งลักษณ์ ชินวัตร แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลไม่สนใจในเรื่องนี้ ไม่ยอมออกกฎหมายเพื่อนำไปสู่กระบวนการและแนวทางการปฏิบัติที่ชัดเจน
 
ทั้งนี้ สืบเนื่องจากรัฐบาลไม่ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อยืนยัน ร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. ... ซึ่งเดินหน้าถึงขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ วุฒิสภา ภายใน 60 วันหลังจากยุบสภา ทำให้ร่างกฎหมายที่ค้างอยู่จะต้องตกไปและเข้าสู่ขั้นตอนการร่างกฎหมายใหม่
 
 
เอ็นจีโอ จี้ อธิบดี กพร.เพิกถอนคำสั่งตั้งกรรการรับฟังฯ ชี้มีปัญหาที่มา
 
ส่วนกรณีผลประโยชน์ทับซ้อนของคณะกรรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ นั้น โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (คขร.) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานติดตาม ศึกษาและวิจัยถึงสภาพปัญหาต่างๆ และธรรมาภิบาลจากการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ของรัฐ ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ลงวันที่ 3 ก.ย.55 ขอให้ยกเลิก/เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตเฉพาะในส่วนของโรงประกอบโลหกรรม ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด
 
เนื่องจากได้ทำการตรวจสอบพบว่ากรรมการ 5 คน มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อกิจการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ 
 
กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ 5 คนประกอบด้วย 1 ผศ.ดร.พันธุ์ลพ หัตถโกศล 2.ผศ.ดร.ชัยโรจน์ รัตนกวิน 3.นายวิศิษฎ์ อภัยทาน และ 4.รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ ซึ่งทั้ง 4 คน เป็นนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา และได้ถูกแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารงานการมีส่วนร่วม สังกัดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) สุดท้ายคนที่ 5.นพ.กิจจา เรืองไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สสส. อีกทั้งเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพและผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมคุณภาพงานบริษัทเอสซีจีหรือปูนซีเมนต์ไทย
 
คขร.ยืนยันคัดค้านและไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้ง 5 คน โดยขอให้อธิบดี กพร. ยกเลิก เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 ก่อนวันที่ 9 ก.ย.55 ที่เป็นวันให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลางต่อชาวบ้าน ซึ่งกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิชาการทางด้านวิศวกรรมเหมืองแร่หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นต้องการความรู้ที่หลากหลายในการรังฟังความคิดเห็นของประชาชน และไม่โน้มเอียงเข้าข้างบริษัทอัคราฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ดีต่อการทำความคิดเห็นส่งต่อให้กับหน่วยงานอนุมัติอนุญาต ต่อไป
 
หนังสือของ คขร.ระบุด้วยว่า หากอธิบดี กพร. เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 จะดำเนินการผ่านไปแล้วหรือไม่ก็ตาม คขร. จะดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการของอธิบดี กพร. ที่ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ เพราะเห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กดขี่ ข่มเหง รังแก เอาเปรียบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ
 
อีกทั้งจะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาฯ เพื่อให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของนักวิชาการทั้ง 4 ด้วย รวมทั้งจะทำหนังสือถึง สสส.ให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของหมอกิจจา เรืองไทย ที่มีตำแหน่งหน้าที่หลายบทบาทซ้ำซ้อน ด้านหนึ่งอยู่ในองค์กรขอสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเอสซีจี อีกด้านหนึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นนักบุญคนดีอยู่ในองค์กรอย่าง สสส. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชน
 
รวมทั้งจะมีการฟ้องต่อศาลปกครองอีกทางหนึ่งด้วย เพื่อขอให้วินิจฉัยและมีคำพิพากษาให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 ก.ย.55 เป็นโมฆะ หากเวทีดังกล่าวดำเนินการผ่านไปแล้ว
 
 
 
 
โครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
 
ที่ คขร.  5/ 2555                                                
28/190 หมู่ 2 ต.ลำผักกูด
อ.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี 12110
 
3 กันยายน 2555
 
เรื่อง      ขอให้ยกเลิก/เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555
 
เรียน      อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่
 
อ้างถึง    คำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย สำหรับโครงการขยายกำลังการผลิตเฉพาะในส่วนของโรงประกอบโลหกรรม เพื่อให้มีกำลังการผลิตที่รองรับสินแร่ป้อนเข้าสู่กระบวนการผลิตได้สูงสุด 5,000,000 ตันต่อปี ของ บริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด
 
เนื่องด้วยโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่ (คขร.) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานติดตาม ศึกษาและวิจัยถึงสภาพปัญหาต่างๆ และธรรมาภิบาลจากการให้สัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ของรัฐ กำลังทำการติดตามสถานการณ์การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ต่อรายงาน EHIA โครงการขยายโรงประกอบโลหกรรมแร่ทองคำของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด อยู่ในขณะนี้ ได้ทราบว่า กพร. จะจัดให้มีเวทีดังกล่าวขึ้นในวันที่ 9 กันยายน 2555 ที่จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่ง คขร. ได้ตรวจสอบพบว่าอธิบดี กพร. ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ (รายละเอียดตามอ้างถึง) โดยที่กรรมการทั้ง 5 ท่าน มีคุณสมบัติไม่เหมาะสม เป็นผู้มีส่วนได้เสียต่อกิจการส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ ดังนี้
 
1. นักวิชาการจากภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 3 ท่าน คือ ผศ.ดร.พันธุ์ลพ หัตถโกศล ซึ่งเป็นประธานกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ มีผลงานทางวิชาการที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองประเภทต่างๆ มาตลอด
 
ผศ.ดร.ชัยโรจน์ รัตนกวิน เป็นกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ อดีตเคยรับราชการกรมทรัพยากรธรณี (กพร.ปัจจุบัน) ซึ่งมีผลงานการศึกษาหลายชิ้นในระหว่างอยู่ที่กรมทรัพยากรธรณีที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ และนายวิศิษฎ์ อภัยทาน เป็นกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ อดีตเคยรับราชการกรมทรัพยากรธรณี (กพร.ปัจจุบัน) ในตำแหน่งวิศวกรเหมืองแร่ประจำฝ่ายพัฒนาเหมืองแร่และเหมืองหิน กองการเหมืองแร่ รับผิดชอบงานรวบรวมข้อมูลด้านเทคนิคของการทำเหมืองแร่ที่ส่งเสริมและสนับสนุนการทำเหมืองแร่ประเภทต่างๆ เช่นเดียวกัน
 
2. กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ คนที่สี่ คือ รศ.ดร.ภิญโญ มีชำนะ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งหัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมเหมืองแร่และปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการอิสระของบริษัท สยามสติลซินดิเกต จำกัด (มหาชน) ในเครือบริษัทอิตาเลียนไทยที่เป็นเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี เป็นกรรมการอยู่ในสมาคมวิศวกรเหมืองแร่ไทยที่มีบทบาทโดดเด่นในการผลักดันและรับจ้างเป็นวิศวกรที่ปรึกษารับทำ EIA EHIA และ SEA โครงการเหมืองแร่สำคัญหลายโครงการ เช่น โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี โครงการศึกษาศักยภาพแร่ตะกั่ว อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ที่เป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องที่ชาวบ้านในหมู่บ้านคลิตี้ได้รับสารพิษตะกั่วจากการทำเหมืองแร่สังกะสี เป็นต้น และผลงานที่สำคัญคือเป็นหัวหน้าโครงการจัดทำรายงานการศึกษาแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ทองคำ โดยการว่าจ้างของกรมทรัพยากรธรณี เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการสัมปทานสำรวจและทำเหมืองแร่ทองคำสองแห่งที่จังหวัดพิจิตรและเลย ซึ่งเป็นของบริษัท อัคราไมนิ่ง จำกัด และบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ตามลำดับ
 
นอกจากนี้กรรมการทั้งสี่คนที่กล่าวมาได้ถูกแต่งตั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารงานการมีส่วนร่วม สังกัดกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ทำงานภายใต้การบังคับบัญชาและรายงานตรงต่ออธิบดี กพร. จัดตั้งขึ้นมาเมื่อ 11 พฤษภาคม 2553 มีเป้าหมายเพื่อรองรับการแก้ไขปัญหามวลชนที่มีปัญหาการคัดค้านหรือได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองแร่เพื่อแก้ไขปัญหาให้การทำเหมืองแร่ดำเนินการต่อไปได้
 
3.กรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ คนที่ห้า คือ นายแพทย์กิจจา เรืองไทย ปัจจุบันเป็นกรรมการในคณะกรรมการบริหารสำนักสร้างสรรค์โอกาสและนวัตกรรม (สำนัก 6) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านสุขภาพที่รู้จักกันดีในชื่อ สสส. นอกจากนั้นยังดำรงตำแหน่งในองค์การเอกชนและหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับชีวอนามัยและสุขภาพหลายแห่ง และที่น่าสนใจคือเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพและผู้บริหารศูนย์ส่งเสริมคุณภาพงานบริษัทเอสซีจีหรือปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งเป็นบริษัททำเหมืองแร่หลายประเภท เช่น แร่ดินขาว แร่ยิปซั่ม แร่หินอุตสาหกรรม แร่เหล็ก แร่ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เป็นต้น
 
ถึงแม้กรรมการทั้งห้าท่านจะไม่ได้เป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง แต่โดยพฤติกรรมองค์กรที่แต่ละท่านสังกัดอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งผลงานในอดีต ส่อให้เห็นถึงเจตนาที่เอนเอียง ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรมต่อประชาชนที่เป็นคนเล็กคนน้อยที่อาศัยอยู่ในชุมชนหมู่บ้านใกล้เขตเหมืองแร่ ที่ไม่มีพลังต่อรองหรือต่อสู้กับเจ้าของเหมืองแร่เลย แล้ว กพร. ยังจะแต่งตั้งกรรมการที่เอาเปรียบชาวบ้านเช่นนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง
 
ด้วยเหตุผลที่กล่าวมา คขร. มีความเห็นว่า กพร. ได้ดำเนินการในลักษณะที่เอาเปรียบชาวบ้านเป็นอย่างยิ่ง โรงงานแยกแร่ทองคำที่ขอขยายกำลังการผลิตตั้งอยู่ฝั่งจังหวัดพิจิตร แต่กลับไปจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ที่ทำการอำเภอวังโป่ง ฝั่งจังหวัดเพชรบูรณ์ เหตุก็เพราะว่า กพร. เลือกข้างบริษัทอัคราฯ เพราะเห็นว่าบริษัทดังกล่าวควบคุมมวลชนได้ เพราะส่วนใหญ่ของผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. นายอำเภอ สนับสนุนเหมืองแร่ ไม่เว้นแม้แต่ผู้ว่าฯ เพชรบูรณ์ที่เข้าข้างอัคราฯ อย่างออกนอกหน้า ก็เพราะอัคราฯ ได้มอบทองคำบริสุทธิ์หนัก 84 บาท ให้เมื่อปีที่แล้วเพื่อนำไปสร้างพระพุทธรูปข้างศูนย์ราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ แล้ว กพร.ยังจะมาแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้งห้าคน ที่อยู่ในแวดวงการทำเหมืองแร่ ที่มีส่วนสนับสนุนและส่งเสริมหรืออยู่ในธุรกิจการทำเหมืองแร่อย่างเห็นได้ชัด
 
ดังนั้น คขร. จึงขอคัดค้าน/ไม่ยอมรับการทำหน้าที่ของกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ ทั้งห้าท่านที่กล่าวมา โดยขอให้อธิบดี กพร. ยกเลิก/เพิกถอนคำสั่งกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 75/2555 เสียก่อนวันที่ 9 กันยายน 2555 ที่เป็นวันให้มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ เพื่อแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ที่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรมและเป็นกลางต่อชาวบ้าน ซึ่งกรรมการที่แต่งตั้งขึ้นใหม่ไม่จำเป็นจะต้องเป็นนักวิชาการทางด้านวิศวกรรมเหมืองแร่หรือสาขาที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากการรับฟังความคิดเห็นต้องการความรู้ที่หลากหลายในการรังฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างตั้งอกตั้งใจและไม่โน้มเอียงเข้าข้างบริษัทอัคราฯ เพื่อให้ได้ข้อมูลข้อเท็จจริงที่ดีต่อการทำความคิดเห็นส่งต่อให้กับหน่วยงานอนุมัติ/อนุญาต ในลำดับต่อไป
 
หากอธิบดี กพร. เพิกเฉยต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว ไม่ว่าเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 กันยายน 2555 จะดำเนินการผ่านไปแล้วหรือไม่ก็ตาม คขร. จะดำเนินการร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการและพลเรือน (ก.พ.) เพื่อให้ตรวจสอบจริยธรรมข้าราชการของอธิบดี กพร. ที่ลงนามคำสั่งแต่งตั้งกรรมการรับฟังความคิดเห็นฯ โดยสี่คนที่เป็นนักวิชาการในสถาบันอุดมศึกษามีรายชื่อซ้ำซ้อนเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำสำนักบริหารการมีส่วนร่วม สังกัด กพร. ทำงานภายใต้การสั่งการของอธิบดี กพร. อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย เพราะเห็นว่ามีเจตนาไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม กดขี่ ข่มเหง รังแก เอาเปรียบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใกล้เหมืองแร่และโรงถลุงแร่ทองคำของบริษัทอัคราฯ ที่เสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการ แทนที่จะตั้งกรรมการที่มีความเป็นกลางมากกว่านี้ และจะทำหนังสือถึงสภามหาวิทยาลัยเชียงใหม่และจุฬาฯ เพื่อให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของนักวิชาการทั้งสี่ด้วย รวมทั้งจะทำหนังสือถึง สสส. ให้สอบสวนตรวจสอบจริยธรรมของหมอกิจจา เรืองไทย ที่มีตำแหน่งหน้าที่หลายบทบาทซ้ำซ้อน ซ่อนเร้นจนมั่วไปหมด ด้านหนึ่งอยู่ในองค์กรขอสัมปทานทำเหมืองแร่อย่างเอสซีจี อีกด้านหนึ่งมีบทบาทเสมือนเป็นนักบุญคนดีอยู่ในองค์กรอย่าง สสส. ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและสนับสนุนสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรชุมชนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันต่อนโยบายและโครงการการพัฒนาจากภายนอกที่เข้ามาทำลายวิถีชีวิต ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งฟ้องต่อศาลปกครองอีกทางหนึ่งด้วยเพื่อขอให้วินิจฉัย/พิพากษาให้การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นฯ ในวันที่ 9 กันยายน 2555 เป็นโมฆะ หากเวทีดังกล่าวดำเนินการผ่านไปแล้ว
 
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา
 
ขอแสดงความนับถือ
 
 
( นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ )
ผู้ประสานงานโครงการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านทรัพยากรแร่
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net