Skip to main content
sharethis

แอนโทนี เดวิส วิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุปฏิบัติการล้มเหลวเมื่อวันที่ 13 ก.พ. ของกลุ่มก่อความไม่สงบในภาคใต้ ถือเป็น 'การพลิกกลับทางยุทธศาสตร์' ผลจากการเติบโตของวงจรการข่าวฝ่ายรัฐ และการไม่มองถึงปฏิกริยาสะท้อนกลับจากปฏิบัติการสร้างความหวาดกลัวของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ขณะเดียวกันการปะทะกันโดยตรงทั้งสองฝ่ายถือเป็นการยกระดับความขัดแย้งและย้ำถึงปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาว

สำนักข่าวเอเชียไทม์ได้นำเสนอบทวิเคราะห์ของแอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงจากหน่วยงาน IHS Jane's เรื่องเหตุการณ์ปะทะที่ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยมีเนื้อหาระบุว่าเป็นเวลานานเกือบทศวรรษแล้วที่เหตุการณ์ความไม่สงบโดยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคใต้ของประเทศไทย มักจะเป็นกรณีที่ฝ่ายทหารถูกลอบโจมตี, ลอบทำร้าย และถูกทำให้เสียเกียรติ แต่เหตุการณ์ปะทะในวันที่ 13 ก.พ. ทั้งสองฝ่ายสลับบทบาทกัน โดยที่กลุ่มทหารนาวิกโยธินและกองหนุนจากหน่วยปฏิบัติการพิเศษได้ปฏิบัติการตอบโต้ฝ่ายก่อการซึ่งเป็นการโต้ตอบกลับที่สร้างความเสียหายต่อกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา

เหตุดังกล่าวส่งผลให้ฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบเสียชีวิต 16 ราย รวมถึงแกนนำใหญ่ของกลุ่ม และมีอาวุธที่ถูกยึดมาได้ในจำนวนใกล้เคียงกัน ถือเป็นการตีแตกฝ่ายก่อการในทางจิตวิทยาและทางยุทธศาสตร์ในพื้นที่

แต่อย่างไรก็ตาม บทความดังกล่าวระบุว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็กลับย้ำถึงปัญหาเชิงยุทธศาสตร์ในระยะยาวจากการต้องเผชิญหน้ากับปฏิบัติการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนมลายูมุสลิมที่จะเป็นตัวกำหนดสภาพการณ์ความขัดแย้งในอนาคต

โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 13 ก.พ. เริ่มจากการที่ฝ่ายก่อการวางแผนบุกฐานยุทโธปกรณ์ปืนไรเฟิลของหน่วยนาวิกโยธินไทยที่ตำบลบาเระเหนือ อำเภอบาเจาะ จังหวัดนราธิวาส โดยที่กลุ่มผู้ก่อเหตุราว 50-60 ราย แต่งกายเลียนแบบทหารสวมชุดเกราะกันกระสุน ซึ่งถือเป็นการโจมตีในสเกลใหญ่ต่อฐานหน่วยความมั่นคงโดยมุ่งไปที่การยึดอาวุธ

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุว่าการโจมตีครั้งล่าสุดมีความคล้ายคลึงกับปฏิบัติการ "มะรือโบ โมเดล" ในปี 2011 และ 2012 ที่ฝ่ายผู้ก่อการแบ่งออกเป็นสามทีม สองทีมโจมตีจะมีทีมหนึ่งออกไปปฏิบัติการหลอกล่อและจากนั้นทีมโจมตีหลักจึงเข้าโจมตีจากอีกด้าน ขณะที่ทีมที่สามจะตัดถนน ล้มต้นไม้ วางตะปูเรือใบและระเบิดแสวงเครื่อง  เพื่อป้องกันไม่ให้กำลังเสริมเข้ามาที่ฐานได้

โดย  "มะรือโบ โมเดล" ที่กล่าวถึงนี้อ้างอิงถึงปฏิบัติการจู่โจมที่ตำบลมะรือโบตก อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส เมื่อเย็นวันที่ 19 ม.ค. 2011 ในปฏิบัติการของผู้ก่อการครั้งนั้น กลุ่มผู้ก่อการที่วางกำลังมาอย่างดี 40 ราย เข้าโจมตีฐานปฏิบัติการพระองค์ดำ สังกัด ร้อย ร.15121 ฝ่ายผู้ก่อการได้สังหารทหาร 4 นาย ทำให้บาดเจ็บอีก 6 นาย และได้ยึดอาวุธปืนกลไปราว 50 กระบอก

อย่างไรก็ตามในเหตุการณ์ครั้งล่าสุดฝ่ายลาดตระเวณได้วางกำลังแน่นหนาล้อมฝ่ายผู้ก่อการทำให้สถานการณ์ถูกควบคุมไว้ได้ โดย พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน. ประจำพื้นที่ภาคใต้กล่าวว่าเขาได้รับรายงานจากชาวบ้านในพื้นที่และอดีตผู้ก่อการที่หนีออกมาเพราะไม่ชอบใช้ความรุนแรง แต่ทางหน่วยงานทหารในพื้นที่บอกว่าข้อมูลปฏิบัติการในครั้งนี้ทราบมาจากเอกสารและภาพสเก็ตซ์ที่ยึดมาได้จากจากกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่ถูกสังหารในวันที่ 9 ก.พ.

"มีความเป็นไปได้ที่ฝ่ายทหารจะได้ข้อมูลมาจากวงในของกลุ่มก่อการซึ่งเป็นข้อมูลหายาก เพราะไม่เพียงแค่นาวิกโยธินจะรู้ถึงแหล่งเกิดเหตุ แต่ยังรู้วันปฏิบัติการด้วย จึงเป็นไปได้ว่ากลุ่มวงในของผู้ก่อการจะเป็นแหล่งข้อมูลในกรณีนี้"

บทความระบุว่า ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเริ่มเปิดฉากยิงก่อน แต่เมื่อมีการต่อสู้เกิดขึ้นแล้วทีมจู่โจมหลักของฝ่ายผู้ก่อการก็ได้บุกผ่านสวนยางพาราไปยังหน้าฐานทัพจนมีการยิงต่อสู้กับนาวิกโยธินและหน่วยรบพิเศษ 'ซีล' ที่หลบอยู่หลังกระสอบทราย ขณะที่กลุ่มที่สองซ่อนอยู่หลังอาคารชั้นเดียวห่างออกไปจากฐานทัพ 100 เมตร

ขณะเดียวกัน กองทัพก็ได้เตรียมพร้อมโดยการวางกับดักระเบิด M-18 เคลย์มอร์ ไว้รอบๆ มีกองกำลังอยู่ทั้งภายในและภายนอกฐานทัพ รวมแล้วราวๆ 110 นาย พวกเขาติดกล้องมองกลางคืน (Night-vision Goggles) แม้ว่าทางหน้าฐานทัพจะมีแสงส่องอยู่เป็นบางคราวก็ตาม หลังจากที่มีการยิงต่อสู้กันราว 20 นาที ก็เริ่มเกิดการชุลมุน กลุ่มนักรบของฝ่ายก่อการส่วนใหญ่พากันหนีไปกับรถกระบะที่รออยู่สามคัน ทิ้งรถกระบะคันที่เต็มไปด้วยรอยกระสุนและรถจักรยานยนต์อีก 2 คันไว้ ฝ่ายทหารพบอาวุธปืนกลจำพวก M-16 และอาก้า 13 กระบอกตกอยู่รอบฐานทัพ

การพลิกกลับทางยุทธศาสตร์

แอนโทนี เดวิสวิเคราะห์ว่าความสูญเสียของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในครั้งนี้ถือเป็นการพลิกกลับทางยุทธศาสตร์ที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่สถานการณ์แบ่งแยกดินแดนเกิดขึ้นในช่วง ม.ค. 2004 ที่ผ่านมา แม้ว่าในเหตุการณ์โจมตีฐานกองกำลังที่ ยะลา กับที่ปัตตานี ในวันที่ 28 เม.ย. 2004 รวมถึงเหตุมัสยิดกรือเซะในวันถัดมาจะมีผู้เสียชีวิต 101 ราย แต่สถานการณ์ในตอนนี้ก็ต่างจากในตอนนั้น มีหลักฐานแน่นหนาว่าผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนจำนวนหนึ่งมองการเสียชีวิตในปี 2004 ว่าเป็นสิ่งที่จะใช้ในการเรียกร้องความเห็นใจจากประชาชนได้

"กลุ่มผู้เสียชีวิตในปี 2004 ไม่มีอาวุธที่มีประสิทธิภาพนัก หลายคนมีแค่มีดมาเชตต์ (Machete) และจากการทำพิธีกรรมทางศาสนาช่วงคืนก่อนหน้าทำให้หลายคนบุกโจมตีเต็มกำลังเนื่องจากคิดว่าพวกเขายิงไม่เข้าหรือไม่มีใครมองเห็น ที่สำคัญคือผู้จัดตั้งการจู่โจมเชิงพิธีกรรมคือ ยูซุฟ ระยาลอง หรือที่รู้จักกันในนาม อุชตาด โซ ไม่ได้ร่วมบุกเข้าโจมตีในปฏิบัติการกันชนแลกกระสุนในครั้งนี้และยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในปัจจุบัน"

"เหตุการณ์ที่บาเจาะถือเป็นโชคดีของกองทัพและเป็นภาวะสะดุดของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน เป็นความพ่ายแพ้เชิงยุทธศาสตร์ในสงครามยืดเยื้อที่มีทีท่าว่าจะรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมองจากมุมนี้แล้วอย่างน้อยเหตุการณ์ที่บาเจาะก็แสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในตัวเองมากเกินไปของกลุ่มการเคลื่อนไหวใต้ดินที่วางใจในยุทธศาสตร์ที่ตนตั้งไว้ และรู้สึกว่าสงครามกำลังดำเนินไปตามที่พวกเขาคิด"

แอนโทนี เดวิสวิเคราะห์ว่ามีอีกเรื่องที่น่ากล่าวถึงคือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2012 ผู้นำกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่เดียวกันได้ใช้ยุทธการ "มะรือโบ โมเดล" ในการจู่โจมฐานกองกำลังหน่วยนาวิกโยธินอีกแห่งหนึ่งในบาเจาะ โดยสามารถผ่านด่านคุ้นกันและทำให้เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ 11 ราย แต่หน่วยนาวิกโยธินไทยน่าจะเป็นหน่วยที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในพื้นที่และได้เรียนรู้จากการถูกโจมตีในครั้งนี้ การบุกเข้าจู่โจมฐานนาวิกโยธินในพื้นที่เดียวกันถือเป็นความบ้าระห่ำภายใต้สถานการณ์ที่ดีที่สุด

"อย่างไรก็ตามหากพิจารณาเหตุการณ์ในวันที่ 13 ก.พ. ในฐานะพลวัตของการต่อสู้แบ่งแยกดินแดนในภาคใต้ เหตุการณ์ที่บาเจาะเป็นการปะทะกันระหว่างกลุ่มที่มีความขัดแย้งสองกลุ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือเป็นการยกระดับสถานการณ์ความขัดแย้ง กล่าวสั้นๆ คือ มันเป็นการนองเลือดที่ควรจะเกิดขึ้นในจุดหนึ่งและมีทีท่าจะเกิดขึ้นอีก

"มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นช่วงปลาย 2011 คือการที่ฝ่ายผู้ก่อการมีความพยายามยกระดับปฏิบัติการทางทหารด้วยการพัฒนากองกำลังกึ่งประจำการที่มีอาวุธดีๆ มีการฝึกอย่างดี และเริ่มสวมชุดเลียนแบบทหารมากขึ้น กระบวนการนี้รวมถึงการจัดกำลังกองเล็ก 6-7 คน ในชื่อ อาร์เคเค (มาจาก Runda Kumpulan Kecil ในภาษามาเลย์) เอาไปรวมเป็นกองกำลัง 12 คน (regu) และ 36 คน (platong) เป็นทีมระดับมากกว่า 100 คน (kompi) และมักจะปฏิบัติการในพื้นที่ระดับตำบล

"พวกเขามักจะออกปฏิบัติการในระดับกองกำลัง 10-20 คน หรือบางครั้งก็ในระดับ 36 คนหรือมากกว่า ในการปฏิบัติการแบบ "มะรือโบ โมเดล" พัฒนาการตรงนี้เป็นไปตามแบบร่างที่เสนอโดยนักยุทธศาสตร์ของขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (Barisan Revolusi Nasional หรือ BRN) ที่มีบทบาทนำในการวางกรอบ วางแผน และจัดตั้งขอบข่ายงานด้านการเมืองการทหารสำหรับการปฏิวัติในครั้งนี้"

แอนโทนีระบุว่า ตามความเข้าใจของหน่วยข่าวกรองกองทัพไทยนั้นคิดว่าหน่วย BRN เป็นองค์กรที่รับอิทธิพลแนวคิดเรื่อง 'สงครามประชาชน' มาจากทฤษฎีเหมาอิสท์ อย่างไรก็ตามในแง่โมเดลการทหารตามทฤษฎีเหมาแบบคลาสสิกแล้ว การพัฒนาหน่วยรบแบบกองโจรในพื้นที่มาจนถึงการจัดตั้งกองกำลังผู้ก่อการในพื้นที่จะเป็นไปโดยคู่ขนานกับการสร้าง 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ที่เหล่านี้คือพื้นที่ซึ่งหน่วยผู้ก่อการได้จัดตั้งการควบคุมทางการเมืองต่อประชาชนในพื้นที่ได้ระดับหนึ่งและสามารถสกัดกั้นไม่ให้ติดต่อกับหน่วยงานรัฐได้โดยง่าย ทำให้เกิดพื้นที่สำหรับฝ่ายก่อการขยายตัวและจู่โจมในวงกว้างขึ้นได้

"แต่ในพื้นที่ภาคใต้ของไทย กลุ่มแบ่งแยกดินแดนยังไม่สามารถสร้าง 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ได้ ตลอด 9 ปีของความขัดแย้งกลุ่มผู้ก่อการดูจะติดอยู่กับภาวะตีบตันในเชิงยุทธศาสตร์ จากความพยายามพัฒนากลุ่มก่อการที่ใหญ่ขึ้น เข้มแข็งขึ้น ขณะเดียวกันก็ให้หน่วยทหารทั่วไปเป็นทีมลับๆ ของ RKK ที่แฝงตัวลงไปอยู่กับชุมชนในพื้นที่หรือในหมู่บ้านที่หน่วยงานรัฐยังสามารถเดินทางลงไปอย่างค่อนข้างสะดวก" แอนโทนีวิเคราะห์

ไม่มีปฏิบัติการปลดปล่อย

นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงระบุว่า สถานการณ์เช่นนี้มีอยู่สองสาเหตุ สาเหตุแรกมีหลักอยู่ที่ปัญหาในเชิงปฏิบัติเรื่องการตั้ง 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ในพื้นที่สู้รบเล็กๆ ของจังหวัดชายแดนที่มีถนนตัดผ่านและมีการวางกองกำลังรักษาความสงบในวงกว้าง

สาเหตุที่สองคือ ยุทธวิธีของ BRN ดูเหมือนจะอาศัยโมเดลระดับหมู่บ้านในเชิงอุดมการณ์เพื่อเป็นข้อได้เปรียบในการต่อสู้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมีพื้นฐานมาจากปฏิกิริยาต่อการแบ่งแยกดินแดนที่ไม่สำเร็จในช่วงปี 1970s-1980s เมื่อกลุ่มผู้ก่อการกลุ่มอื่นๆ อย่าง พูโล (PULO) และ BRN Congress พยายามสร้างกลุ่มก่อการในพื้นที่ภูเขาและป่าทางตอนใต้ซึ่งเป็นการตัดขาดตัวเองออกจากกลุ่มประชาชนทั่วไป

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่ปราศจาก 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' ปฏิบัติการที่ต้องใช้กองกำลังขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กับการรวบรวมกำลัง RKK จากหมู่บ้านที่ถูกควบคุมโดย 'คอมมานโด' ซึ่งถูกฝึกมาอย่างดีจากอำเภออื่นๆ ที่สำคัญคือเหตุการณ์ในวันที่ 13 ก.พ. กองกำลังฝ่ายต่อต้านมีมาจากทั้งสามจังหวัดที่เกิดความขัดแย้งคือ ปัตตานี, นราธิวาส และยะลา นักรบส่วนใหญ่มาจากอำเภอบาเจาะ และอำเภอข้างเคียงคือรือเสาะ ขณะเดียวกันก็มีกำลังคนจากอำเภอรามัญ จังหวัดยะลา และจากอำเภอไทรบุรี, อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี

จากการรวมตัว วางแผนและกระจายกำลังจำนวนมากในลักษณะนี้เป็นการสร้างความเสี่ยงอย่างมากต่อความปลอดภัยในการปฏิบัติการ นักรบส่วนใหญ่มาจากชุมชนหมู่บ้านที่เสี่ยงต่อการมีสายรัฐบาลแฝงอยู่ พวกเขาต้องเดินทางไปจุดรวมพลซึ่งต้องผ่านจุดตรวจของหน่วยรักษาความสงบจำนวนมากรวมถึงต้องผ่านหมู่บ้านอื่นๆ ด้วย อาวุธและกระสุนต้องหาเอาจากแหล่งซุกซ่อน ลำเลียงและแจกจ่ายก่อนเริ่มปฏิบัติการ แม้ว่าพวกเขาจะมีความเสี่ยงมากขนาดนี้แต่ก็เป็นเรื่องน่าประหลาดใจที่ความผิดพลาดจากปฏิบัติการไม่ได้เกิดตั้งแต่ก่อนหน้านี้

ขณะที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนใต้ดินต้องเผชิญกับภาวะตีบตันว่าจะยกระดับสงครามได้อย่างไรโดยไม่ต้องมีพื้นที่ 'อาณาเขตที่ถูกปลดปล่อย' พวกเขายังได้รับผลกระทบจากทิศทางสำคัญของการยกระดับความขัดแย้งจากการที่ฝ่ายกองทัพพยายามควบคุมสถานการณ์ด้วยการทำลายหรือทำให้กลุ่มผู้ก่อการเสียกระบวนในฐานการจัดตั้งระดับหมู่บ้านด้วย ในช่วงปีที่ผ่านมาเราจะได้เห็นการบุกจู่โจมเพิ่มขึ้นจากกองกำลังผสมประกอบด้วยทหาร, ตำรวจ หน่วยลาดตระเวณซึ่งเป็นกองกำลังเสริม และกลุ่มพลเรือนอาสารักษาดินแดน

"มีเรื่องที่ไม่ค่อยได้รับการรายงานจากสื่อ คือปฏิบัติการด่วนซึ่งใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงในการจู่โจมแหล่งกบดาน หมู่บ้าน หรือเมือง ที่ต้องสงสัย รวมถึงกระท่อม, ที่พักชั่วคราว และแหล่งซุกซ่อนอาวุธในสวนยางพาราและในป่าที่มักจะอยู่ใกล้กับหมู่บ้าน ปฏิบัติการเหล่านี้มักจะทำให้เกิดการยิงต่อสู้กันและมีการสูญเสียเกิดขึ้น ส่วนมากจะมีการจับกุมและการไต่สวนซึ่งทำให้วงจรการข่าวมีประสิทธิภาพมากขึ้นทีละน้อย"

แอนโทนีระบุว่าไม่ว่าข้อมูลรั่วไหลเรื่องการลอบโจมตีที่บาเจาะจะมาจากชาวบ้าน เอกสารที่ยึดได้ หรือเค้นคอเอาจากคนของฝ่ายผู้ก่อการ สิ่งสำคัญก็คือข้อมูลนี้มาจากวงจรการข่าวที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นของฝ่ายรัฐ ในส่วนของฝ่ายผู้ก่อการเองก็มีความพยายามต่อต้านทิศทางแบบนี้ด้วยการเจาะจงเป้าหมายสังหารให้เป็นผู้ที่เป็นหรือต้องสงสัยว่าเป็นผู้ให้ข้อมูลแก่รัฐบาล และการสร้างบรรยากาศความหวาดกลัวในวงกว้าง แต่การที่พวกเขาไม่รับรู้ถึงแรงสะท้อนกลับทางการเมืองและการทหารในช่วงปลาย ทำให้ยุทธวิธีของพวกเขาดูจะยังไม่เพียงพอที่จะพลิกสถานการณ์

"มีความเป็นไปได้ที่การเสียชีวิตในบาเจาะครั้งล่าสุดจะกระตุ้นให้เกิดการเกณฑ์คนเข้าไปอยู่ฝ่ายผู้ก่อการสำเร็จอีกเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นกับหตุการณ์กรือเซะและตากใบในปี 2004 พวกเขาอาจยุยงให้เกิดการโต้ตอบต่อความรุนแรงอย่างโกรธแค้นในช่วงอีกไม่กี่สัปดาห์ต่อจากนี้ แต่ทั้งหมดนี้จะไม่ได้ให้คำตอบใดๆ ต่อภาวะตีบตันที่เกิดขึ้นในแง่ที่ว่ากลุ่มผู้ก่อการจะนำความขัดแย้งนี้ไปในทิศทางใด

"เมื่อไม่มีคำตอบในเรื่องนี้ กลุ่มผู้ก่อการชาวมลายูในประเทศไทยอาจต้องประสบชะตากรรมเดียวกับกลุ่มมุสลิมแบ่งแยกดินแดนในแคว้นแคชเมียร์ แม้ว่าจะมีประชาชนให้การสนับสนุนเป็นจำนวนมากแต่การก่อการจะเริ่มเสื่อมถอยลงจากความผิดพลาดทางยุทธวิธี จากความอ่อนล้าจากภาวะสงครามและจากการดำรงอยู่ของกองกำลังฝ่ายความมั่นคงที่ไร้ความปราณี" นักวิเคราะห์ด้านความมั่นคงทิ้งท้ายในบทความ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net