สุรพศ ทวีศักดิ์: ศาสนากับเสรีภาพ ‘สหายร่วมต่อสู้’

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

อ่านงานวิจัย “บทวิพากษ์ธรรมวิทยาแห่งพลเมืองของประกาศกร่วมสมัย: เกษียร เตชะพีระ, ธงชัย วินิจจะกูล และสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล” (2555,น.30) ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ผู้วิจัยอ้างข้อสังเกตของ Alexis de Tocqueville ถึงความสอดคล้องกลมกลืนในความสัมพันธ์ระหว่างศาสนากับเสรีภาพในสหรัฐอเมริกา ในประเทศนั้น “เสรีภาพ” มอง “ศาสนา” ว่าเป็น “สหายที่ร่วมกันต่อสู้...” แม้มีศาสนามากนิกาย แต่พระในนิกายต่างๆ ล้วนเทศนาสนับสนุน “เสรีภาพแห่งพลเมือง”

ทำให้ผมนึกย้อนไปถึง “พลังการปลดปล่อย” ของศาสนา ตั้งแต่ยุคโบราณโมเสสใช้ศาสนาเป็นพลังต่อสู้ปลดปล่อยชาวยิวให้พ้นจากการตกเป็นทาสของอียิปต์ พระเยซูเดินเคียงข้างผู้ถูกกดขี่ มาถึงยุคสมัยใหม่มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ก็ยังใช้ศาสนาเป็นพลังความใฝ่ฝันต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และสิทธิเท่าเทียมของคนผิวดำในสหรัฐอเมริกา

แน่นอน ในบางยุคศาสนาก็ถูกใช้อย่างฉ้อฉล ครอบงำ กดขี่ (แต่ว่ามีระบบความเชื่อหรืออุดมการณ์ใดเล่าในโลกนี้ที่ไม่เคยถูกใช้อย่างฉ้อฉล กดขี่ ในนามของเสรีภาพและประชาธิปไตย ประเทศมหาอำนาจก็รุกรานประเทศอื่นๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองมิใช่หรือ?) เช่น ศาสนจักรในยุโรปยุคกลางที่อ้างอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าครอบงำความคิดของผู้คนเป็นเวลาร่วมพันปี แต่ในที่สุดฝ่ายประชาธิปไตยก็เอาชนะอำนาจศาสนจักร (และระบบกษัตริย์) ลงได้ ส่วนหนึ่งเพราะเกิดนิกายโปรเตสแตนต์ขบถต่อศาสนจักรคาทอลิก ตีความศาสนาสนับสนุนเสรีภาพ ความเสมอภาค จนต่อมาศาสนามีบทบาทร่วมสถาปนาขนบธรรมเนียมที่ยกย่องเสรีภาพ ดังที่ Tocqueville เรียกว่า “อุปนิสัยใจคอ” หรือ “habits of the heart” ของพลเมืองที่มีจิตสำนึกรักและปกป้องเสรีภาพ นี่คือสิ่งที่เป็นไปได้ในโลกตะวันตก แม้โดยพื้นฐานแล้วศาสนาของพวกเขาจะเน้นศรัทธา หรือให้ “เชื่อฟัง” พระเจ้าก็ตาม

ต่างจากพุทธศาสนาในบ้านเรา แม้โดยแก่นสารแล้วพุทธศาสนาไม่ได้เรียกร้องให้ “เชื่อฟัง” แต่เน้น “เสรีภาพ” ในการตัดสินใจของปัจเจกบุคคล หรือเน้นการพึ่งตนเองบนพื้นฐานของการใช้เสรีภาพในการเลือกการกระทำ และความรับผิดชอบต่อผลที่ตามมา ทว่าในบ้านเรากลับนิยมตีความพุทธศาสนาสนับสนุน “ราชาธิปไตย” หรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนกลายเป็นว่าพุทธศาสนากับราชาธิปไตยคือ “เนื้อเดียวกัน” ดังการตีความของ ปรีชา ช้างขวัญยืน ในหนังสือ “ทรรศนะทางการเมืองของพระพุทธศาสนา” (2540, น.162) ว่า "...ระบบการเมืองของพระพุทธองค์ก็มิใช่ประชาธิปไตย แต่ค่อนไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพียงแต่อยากจะหาผู้ปกครองที่ไม่ใช้อำนาจ แต่คำนึงถึงความสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง..."

ผมเองเห็นต่างจากการตีความนี้ ดังที่เขียนแต่ตอน (1) แล้วว่า “เนื้อหาสาระแห่งคำสอนของพุทธะสนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่าราชาธิปไตย” เหตุผลสำคัญคือ มีแนวคิด (Concepts) เรื่องการเกิดสังคมการเมือง เรื่องเสรีภาพ และความเสมอภาคในคำสอนของพุทธศาสนาที่ไปกันได้ดีกับสังคมประชาธิปไตยมากกว่า

เช่น ถ้าเราอ่าน “อัคคัญญสูตร” (พระไตรปิฎกเล่ม 11) จะเห็นแนวคิดทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนาที่คล้ายกับแนวคิด “สัญญาประชาคม” (Social Contract) ว่า “อำนาจของผู้ปกครองมาจากความยินยอมของประชาชน” พุทธะอธิบายว่า ชุมชนทางการเมืองตกลงเลือกผู้ปกครองขึ้นมาให้ทำหน้าที่ปกครองคือ “ตำหนิคนที่ควรตำหนิ ลงโทษคนที่ควรลงโทษ” ซึ่งเป็นหน้าที่ขั้นต่ำของรัฐ แล้วสมาชิกแห่งชุมชนทางการเมืองก็แบ่งข้าวสาลีให้เป็นค่าตอบแทน

นี่เป็นมุมมองต่างจากศาสนาพราหมณ์ (และทฤษฎีเทวสิทธิ์ของตะวันตก) ที่ถือว่า สถานะ อำนาจของผู้ปกครองหรือกษัตริย์มาจากพระเจ้า กษัตริย์ได้รับสัมปทานอำนาจอาญาสิทธิ์ในการปกครองมาจากพระเจ้า ระบบชนชั้นหรือวรรณะสี่คือ “กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร” ถูกกำหนดเอาไว้แล้วอย่างตายตัวโดยพระเจ้าหรือพระพรหม

แต่พุทธะอธิบายว่า ระบบวรรณะสี่เกิดจากการแบ่งงานกันทำ ศูทรคือคนที่ใช้แรงงาน เป็นทาส กรรมกร แพศย์คือพวกค้าขาย เกษตรกร พราหมณ์คือพวกสอนศาสนา ประกอบพิธีกรรม เป็นปุโรหิตของกษัตริย์ ส่วนกษัตริย์คือพวกนักปกครอง นักรบ

พูดแบบคาร์ล มาร์กซ์คือ “รูปแบบการผลิตทำให้เกิดรูปแบบสังคม” ชาวชมพูทวีปสมัยโบราณมีรูปแบบการผลิตโดยแบ่งงานกันทำสี่ด้านหลักๆ จึงทำให้เกิดโครงสร้างสังคมที่มีชนชั้นสี่ชนชั้น แต่ศาสนาพราหมณ์ไป “เสก” ให้กลุ่มคนที่แบ่งงานกันทำกลายเป็น “ชนชั้นศักดิ์สิทธิ์” ขึ้นมา โดยอ้างว่าพระเจ้า หรือพระพรหมสร้างมนุษย์มาให้มีวรรณะสี่ตามชาติกำเนิดอย่างตายตัว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยถือว่าชนชั้นสูงคือกษัตริย์และพราหมณ์เท่านั้นคือ “อารยชนผู้ประเสริฐ”

พุทธะโต้แย้งทฤษฎีชนชั้นแบบพราหมณ์ว่า คนเราจะประเสริฐ ไม่ประเสริฐ หรือจะเป็นอารยชนหรือไม่นั้น ไม่ได้อยู่ที่ชาติกำเนิด หรืออำนาจกำหนดของพระพรหม แต่อยู่ที่ “ธรรม” กล่าวคือ ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ หรือศูทรถ้าประพฤติ “กุศลธรรม” ก็ประเสริฐได้เช่นกัน แต่ถ้าประพฤติ “อกุศลธรรม” ก็ไม่ประเสริฐได้เช่นกัน พูดง่ายๆว่า กษัตริย์กับศูทรหากทำดีก็ดีเสมอกัน ทำชั่วก็ชั่วเสมอกัน

 

คำสอนของพุทธะที่ว่าคนเราจะประเสริฐหรือไม่ประเสริฐขึ้นอยู่กับ “ธรรม” มีนัยสำคัญสองประการ คือ

(1) บ่งว่ามนุษย์มี “เสรีภาพ” ที่จะเลือกด้วยตนเองว่า จะกระทำสิ่งที่ถูก (กุศลธรรม) หรือผิด (อกุศลธรรม) และ

 (2) บ่งว่ามนุษย์มี “ความเสมอภาค” ในทางศีลธรรม คือไม่ว่าจะเป็นใครต่างมีเสรีภาพที่จะเลือกทำสิ่งที่ถูกหรือสิ่งที่ผิดได้เสมอกัน และหากทำดีก็ดีเหมือนกัน ทำชั่วก็ชั่วเหมือนกัน ไม่มีข้อยกเว้นเพราะอ้างชาติกำเนิด เพศสภาพ หรือความเป็นอภิสิทธิชนใดๆ

ข้อสังเกตคือ คำว่า “ธรรม” ที่ใช้กันในสมัยพุทธกาลนั้นมีความหมายซับซ้อน ในทรรศนะของพราหมณ์ธรรมหมายถึง “หน้าที่ที่ใช้เป็นเกณฑ์แบ่งชนชั้นสูง-ต่ำตามที่พระพรหมกำหนดมา” ฉะนั้น การที่คนในแต่ละชนชั้นทำหน้าที่ของตนๆให้ถูกต้อง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่กัน ย่อมถือว่าเป็นความชอบธรรมหรือเป็น “ความยุติธรรม” ตามพระประสงค์ของพระเจ้า

แต่ “ธรรม” ตามความหมายของพุทธศาสนาคือ “ระบบคุณค่า” ที่เป็นมาตรฐานตัดสินว่าคนเราจะประเสริฐ ไม่ประเสริฐอยู่ที่แต่ละคนจะใช้เสรีภาพในการเลือกกระทำสิ่งที่ถูกหรือผิดด้วยตนเอง เมื่อเลือกกระทำสิ่งเดียวกันย่อมได้รับผลเสมอภาคกัน ฉะนั้น โดยสาระสำคัญ “ธรรม” ในความหมายนี้ จึงหมายถึง “ระบบความยุติธรรม” ที่ปฏิเสธชนชั้นโดยเป็นระบบความยุติธรรมที่อยู่บนพื้นฐานของการยอมรับ “เสรีภาพ” และ “ความเสมอภาค” ในความเป็นมนุษย์

สรุปว่าแนวคิดทางสังคมการเมืองของพุทธศาสนายืนยันว่า อำนาจรัฐมาจากความยินยอมของประชาชน และยืนยันว่ามนุษย์มีเสรีภาพและความเสมอภาค จึงสนับสนุนประชาธิปไตยมากกว่าราชาธิปไตย  ไม่ใช่ “ค่อนไปทางสมบูรณาญาสิทธิราชย์” อย่างที่นักวิชาการบางคนตีความ

 

 

 

หมายเหตุ: ชื่อบทความเดิม “พุทธศาสนากับประชาธิปไตย (3) : ศาสนากับเสรีภาพ สหายร่วมต่อสู้” เผยแพร่ในโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 8 (14) ฉบับที่ 407 (13 -19 เมษายน 2556)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท