Skip to main content
sharethis

สภาจัดรับฟังความคิดเห็นร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต รับรองสถานภาพชีวิตคู่ LGBT - “เครือข่ายความหลากหลายทางเพศฯ” ยื่นข้อเสนอต่อกรรมาธิการสภาฯ 5 ข้อ ระบุตัวร่างยังขาดเรื่องการรับรองบุตร และขอให้มีการอบรมผู้ใช้กฎหมายทุกระดับ หวังให้กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติ และมีการคุ้มครองความหลากหลายทางเพศขึ้นจริง

เครือข่ายอัตลักษณ์ทางเพศนำโดยนายนที ธีระโรจนพงษ์ ยื่นรายชื่อประชาชน 3 พันรายชื่อต่อนายเจริญ จรรย์โกมล รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 1 เพื่อสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต เมื่อ 19 เม.ย. ที่รัฐสภา (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ)

คณะกรรมาธิการการยุติธรรม การกฏหมาย และสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย" เมื่อ 19 เม.ย. ที่ห้องโถง อาคารรัฐสภา (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ)

เมื่อวานนี้ (19 เม.ย.) คณะกรรมาธิการการยุติธรรม การกฏหมาย และสิทธิมนุษยชน จัดงานเสวนา "ความหลากหลายทางเพศกับกฎหมายการจดทะเบียนคู่ชีวิตของไทย" เพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.การจดทะเบียนคู่ชีวิต อันมีสาระสำคัญเพื่อรับรองสถานภาพของผู้มีความหลากหลายทางเพศในฐานะที่เป็นคู่ชีวิตเยี่ยงชายหญิงทั่วไป

นที ธีระโรจนพงษ์ ตัวแทนกลุ่มกิจกรรมความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เขาก็เสียภาษี พอมีการเลือกตั้ง ก็ไปใช้สิทธิทุกครั้ง แล้วทำไมจะไม่สามารถจูงมือคู่รักไปจดทะเบียนสมรสได้ ทำไมศักดิ์ศรีของพวกเราไม่ได้รับการดูแลกับเท่ากับคู่ชายหญิงทั่วไป พอไปจดทะเบียนสมรสที่ เขาก็ปฏิเสธจะทะเบียนสมรสให้ โดยอธิบายว่า เป็นคนเพศเดียวกัน แต่รัฐธรรมนูญ มาตรา 30 ซึ่งมีสาระสำคัญหนึ่งว่า "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ จะกระทำมิได้" และยังมีการบันทึกในเจตนารมณ์ไว้ด้วยว่า เพศ ไม่ได้หมายความเฉพาะ ชายหรือหญิง คือรวมถึงเพศสภาพอื่นๆ คำถามคือ แล้วมีเหตุผลอะไรอีกที่เราจะไปจดทะเบียนกันไม่ได้

เหตุผลสำคัญในการผลักดัน พ.ร.บ. คู่ชีวิต คือเราต้องการศักดิ์ศรีความเป็นคนไทยเหมือนอย่างชายหญิงทั่วไป นอกจากนี้ก็ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมายด้วย หากใครคนหนึ่งเกิดประสบอุบัติเหตุ เกิดต้องมีการผ่าตัด คู่ชีวิตของเราก็เซ็นให้ไม่ได้ แล้วจะทำอย่างไร และเหตุผลสุดท้าย คือ อยากเห็นเมืองไทยเป็นบ้านเมืองที่เจริญ มีสิ่งดีงามมากมายเกิดขึ้น รอบโลกกว่า 30 ประเทศเขามีกฎหมายคู่ชีวิตแล้ว อยากเห็นสายตาของโลกมองมาที่ไทยแล้วบอกว่า เป็นประเทศที่เจริญ โอบอ้อมอารี และเคารพความเท่าเทียมของมนุษย์

...ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวว่า กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของคนทุกกลุ่ม แน่นอนว่ารวมถึงผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วย กรณีกฎหมายแพ่ง มาตรา 1448 "การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุสิบเจ็ดปีบริบูรณ์แล้ว" เกิดคำถามว่า ถ้าไปผ่าตัดแปลงเพศแล้ว จะสามารถสมรสกันได้หรือไม่ ตรงนี้มีคำตอบตามคำพิพากษาศาลฏีกาว่า "หญิง" ตามพจนานุกรมคือ คนที่ออกลูกได้ หมายความว่าคนที่แปลงเพศมาแล้ว แม้จะสามารถมีเพศสัมพันธุ์ได้ ก็ไม่อาจจะเป็นหญิงได้ เพราะไม่สามารถออกลูกได้ นี่ก็เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข

แต่หากมองไปประเทศต่างๆ ประเทศที่ดูจะเป็นอนุรักษ์นิยมมากๆ อย่างเนปาล ก็ออกกฎหมายให้สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านามตามเพศสภาพที่ปรากฏตามจริง แม้แต่ศาลฏีกาของเนปาลก็อนุญาตให้สามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ บางประเทศเขากำหนดให้มีเรื่อง LGBT อยู่ในหลักสูตรการศึกษาเลย ส่วนประเทศเรายังอยู่เพียงขั้นตอนของการผลักดันกฎหมายอยู่

ปัจจุบันยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการกำหนดให้การรักเพศเดียวกันเป็นความผิดอาญา หลายประเทศมีโทษถึงประหารชีวิต เช่น เยเมน โซมาเลีย ซูดาน อิหร่าน หรือบางประเทศก็กำหนดให้มีโทษขั้นสูงให้จำคุกตลอดชีวิต เช่น มาเลเซีย แต่ทั้งนี้ก็มีประเทศที่มีความก้าวหน้ามากเกี่ยวกับการเป็นคู่ชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจแบ่งได้ 3 ระดับ อย่างแรกคือประเทศที่เปิดกว้างให้จดทะเบียนสมรสกันได้เลย เช่น อาเจนติน่า โปรตุเกส สวีเดน สเปน ระดับที่สองคือเป็นประเทศที่อนุญาตเฉพาะบางรัฐ เช่นบางรัฐในอเมริกา เม็กซิโก บราซิล ส่วนระดับที่สาม คือไม่ใช่การจดทะเบียนสมรส แต่เป็นการรับรองการเป็นคู่ชีวิต เช่น ฟินแลนด์ เยอรมัน อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ และประเทศไทยกำลังจะเดินตามโมเดลนี้

นพ.แท้จริง ศิริพานิช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า ในเรื่องการแต่งงานเขาก็ต้องได้รับสิทธิตรงนั้น ใครก็ไปปฏิเสธไม่ได้ แต่สังคมดันสร้างอะไรบางอย่างไว้ เช่นไปบอกว่า ในโลกมีแค่เพศหญิงหรือชายเท่านั้น แต่ความจริงมันเยอะกว่านั้น ก็เหมือนสีที่ไม่ได้มีแค่ขาวกับดำ แต่มีเขียว แดง อะไรอีกมากมาย แม้แต่ในวงการแพทย์เอง ในอดีตก็เคยถือว่ากลุ่มคนเหล่านี้เป็นผู้ที่มีพฤติกรรมผิดปกติ แต่ปัจจุบันดีกว่าเดิมมาก คือถือว่าเป็นลักษณะการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง แล้วเวลาที่กล่าวว่าหญิงแท้ชายจริง นี่ก็ต้องมีคำถามว่ามันเป็นลักษณะอย่างไร ซึ่งในอนาคตอาจจะไม่ต้องมาติ๊กช่องว่าเป็นชายหรือหญิงด้วยซ้ำ เขาจะอยู่ด้วยกันก็เป็นสิทธิของเขา เดี๋ยวนี้ก็ไม่ค่อยมีใครคิดอะไรมากแล้ว แต่ถึงที่สุดเขาก็ต้องการความคุ้มครองทางกฎหมาย ต้องการสิทธิเกี่ยวกับครอบครัว แต่เรื่องนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย ถ้าเราก้าวข้ามจุดนี้ไปได้ มันจะมีอีกหลายเรื่องที่พัฒนาตามไปด้วย

วิรัตน์ กัลยาศิริ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และรองประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย กล่าวว่า ฝ่ายนิติบัญญัติได้ให้ความสนใจกฎหมายนี้เป็นอย่างยิ่ง และกฎหมายนี้ก็เป็นกฎหมายที่ให้ประชาชนเขียนขึ้นมาเองด้วย ในสมัยก่อน ประเทศไทยถือว่าคนเหล่านี้เป็น "โรคจิตถาวร" มันก็เจ็บปวด ซึ่งต้องขอบคุณรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เปิดช่องทางไว้ให้แล้วตาม มาตรา 30 "การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล เพราะเหตุแห่งความแตกต่างในเรื่องเพศ จะกระทำมิได้" เพียงแต่อาจมีปัญหาในเรื่องการเรียบเรียงถ้อยคำ ทำให้กลายเป็นว่ามีแค่ชายหญิง แต่ในเนื้อแท้ของการพูดคุยนั้น มีการพูดคุยถึงความหลากหลายทางเพศด้วย

เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่่งประเทศไทยยื่นจดหมายเปิดผนึกยื่นข้อเสนอ 5 ข้อ สำหรับร่าง พ.ร.บ.จดทะเบียนคู่ชีวิต (ภาพ: อรทัย ตามยุทธ)

ในช่วงท้ายของงานเสวนา เครือข่ายความหลากหลายทางเพศแห่งประเทศไทยได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกอันเป็นข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างกฎหมายดังกล่าว ต่อ พล.ต.อ.วิรุณห์ พื้นแสน ประธานคณะกรรมาธิการการกฎหมาย ระบุข้อเรียกร้องว่า 1. ร่างพระราชบัญญัติจดทะเบียนคู่ชีวิตจะต้องระบุหลักการและเหตุผล ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของกฎหมายว่า ประสงค์จะสร้างความเท่าเทียมและยุติการเลือกปฏิบัติที่มีอยู่ในระบบกฎหมายและสังคมไทย

2. ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังขาดข้อกำหนดเรื่องบุตร ซึ่งบุคคลที่จดทะเบียนตามกฎหมายนี้อาจมีบุตรได้ไม่ว่าจะเป็นบุตรจากการสมรสครั้งก่อน บุตรบุญธรรม

3. เงื่อนไขเกี่ยวกับอายุของบุคคลที่จะจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ ควรใช้เงื่อนไขเดียวกับบุคคลที่จะจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

4. หลักการตามพระราชบัญญัตินี้ที่กำหนดให้กระทรวงมหาดไทยมีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินั้น อันปรากฏในมาตรา 4 ซึ่งควรเพิ่มเติมไปว่า “โดยมิให้แตกต่างจากระเบียบขั้นตอนการจดทะเบียนสมรสที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน” เพื่อให้เกิดมาตรฐานในหลักการปฏิบัติ

และ 5. การใช้คำว่า “อนุโลม” ตามพระราชบัญญัตินี้ อาจเปิดช่องให้มีการตีความผ่านดุลยพินิจส่วนบุคคลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งอาจเป็นการตีความในลักษณะจำกัดสิทธิ ดังนั้นจึงควรให้ภาครัฐจัดอบรมแก่ผู้บังคับใช้กฎหมายในทุกระดับ อันจะนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net