Skip to main content
sharethis

เริ่มการประชุมระดับโลกเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตครั้งที่ 5 รมช.ต่างประเทศของนอร์เวย์หวังประสบการณ์ยกเลิกโทษประหารชีวิตในยุโรปจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับการยกเลิกโทษประหารทั่วโลก ระบุรู้สึกภูมิใจ ที่ไม่มีชาวนอร์เวย์เรียกร้องให้ใช้โทษประหารชีวิต หลังเกิดเหตุสังหารเยาวชน 77 รายที่เกาะโอตูย่า

12 มิ.ย. 56, มาดริด - การประชุมโลกเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตครั้งที่ 5 (5th World Congress against the Death Penalty) ได้เริ่มขึ้นแล้วที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมทั้งหมดราว 1,500 ทั้งตัวแทนจากรัฐบาล นักกฎหมาย ภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ รวมถึงครอบครัวของผู้ที่ถูกตัดสินประหารชีวิต การจัดงานครั้งนี้ เกิดจากความร่วมมือของภาคีเพื่อการต่อต้านโทษประหารชีวิต (Together  against the Death Penalty) ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ไม่หวังผลกำไรของประเทศฝรั่งเศส พร้อมการสนับสนุนจากรัฐบาลสเปน ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ มีจุดมุ่งหมายร่วมกันเพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิตในประเทศที่ยังคงมีการใช้อยู่

ในพิธีเปิดการประชุมดังกล่าว นอกจากจะมีการกล่าวเปิดจาก ราฟาเอล เชนิล ฮาซาน ผู้อำนวยการองค์กรภาคีเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิต นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ และอาร์คบิชอบเดสมอนด์ ตูตู ผู้ได้รับรางวัลโนเบลสันติภาพเมื่อปี 1984 ผ่านทางวีดีโอ และมีการเสวนาโดยมีรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสเปนและฝรั่งเศส รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสเปน และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ ร่วมพูดคุยถึงความมั่นหมายของประเทศดังกล่าว ต่อภารกิจที่มุ่งยกเลิกโทษประหารชีวิตทั่วโลก

นางกรีย์ ลาร์สัน (Gry Larsen) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ กล่าวว่า สำหรับเรื่องโทษประหารชีวิต ยุโรปถือว่ามีความพิเศษและสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้ประเทศในภูมิภาคอื่นได้ เพราะทุกประเทศในยุโรปได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตหมดแล้วยกเว้นเบลารุสในยุโรปตะวันออก โดยเธอกล่าวถึงบทเรียนสามประการที่ประเทศอื่นๆ สามารถนำไปเรียนรู้จากยุโรปได้

ประการแรก เธอชี้ว่า ยุโรปประกอบไปด้วยประเทศที่มีความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรมและศาสนา แต่การยกเลิกโทษประหารชีวิตก็สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะมันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเลือกของผู้นำทางการเมือง ซึ่งมิได้ผูกติดอยู่กับคุณค่าทางวัฒนธรรมหรือศาสนาแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น 

ประการที่สอง ผู้นำทางการเมืองมักมีความเชื่อโดยทั่วไปว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงเห็นชอบโทษประหารชีิวิตอยู่ จึงไม่อยากเปลี่ยนแปลง แต่ประสบการณ์ได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อผู้นำตัดสินใจผลักดันโทษประหารชีวิตแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่จะเห็นด้วยตาม เพียงแต่ผู้นำทางการเมืองต้องกล้าที่จะตัดสินใจและแสดงเหตุผลที่ชอบธรรมแก่ประชาชน

ประการที่สาม คือสถาบันทางการเมืองที่ปูทางให้กับการยกเลิกโทษประหารชีวิตและให้คุณค่ากับสิทธิมนุษยชน อย่างสภาแห่งยุโรป (Council of Europe) ได้กำหนดเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกว่า ต้องยกเลิกโทษประหารชีิวิตก่อนจึงจะเข้าร่วมได้ 

รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศของนอร์เวย์ กล่าวถึงเหตุการณ์ก่อการร้ายที่กรุงออสโล และในเกาะอูโตย่า ในเดือนกรกฎาคม ปี 2554 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีิวิต 77 ราย ในจำนวนนี้รวมเยาวชนที่ขณะนั้นเข้าค่ายกับสันนิบาตเยาวชนแรงงานในเกาะอูโตย่า 69 คน 

"เราได้ประสบกับเหตุการณ์ที่ร้ายแรงที่สุด แต่เราก็ต้องยึดถือคุณค่าของเรา" เธอกล่าว "สิ่งที่ทำให้ฉันรู้สึกภูมิใจมากที่สุด คือ ไม่มีใครสักคนที่เรียกร้องให้ใช้โทษประหารชีวิต เราเชื่อใจในประชาธิปไตยของเรา เราเชื่อใจในสถาบันของเรา และเราก็ไม่ได้เรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขกฎหมายใดๆ เรายังคงใช้กฎหมายอันเดิมอย่างที่เราเคยมีมา" ตามด้วยเสียงปรบมือกึกก้องในห้องประชุม

ด้านนายลอรองท์ ฟาบิอุส (Laurent Fabius) รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของฝรั่งเศส กล่าวว่า ฝรั่งเศสได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งถือว่าไม่นานมาก ก่อนหน้านี้ประชาชนชาวฝรั่งเศสเห็นชอบกับโทษประหารชีวิตมานานหลายทศวรรษ แต่เมื่อผู้นำทางการเมืองได้ตัดสินใจยกเลิกโทษประหาร เพียง 2-3 ปีหลังจากนั้น ความคิดเห็นของสาธารณะก็ได้เปลี่ยนแปลงไปด้วย เขาจึงย้ำว่า ผู้นำประเทศต้องตัดสินใจอย่างมั่นคงในเรื่องนี้ และอย่ามัวแต่เชื่อว่าประชาชนจะไม่เห็นชอบ ต้องไปให้ไกลกว่าความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ในเรื่องนี้้

"ทุกวันนี้มันแทบจะเป็นไปไม่ได้ในการเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีก ไม่ใช่เพียงในทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังในทางคุณค่าทางสังคมด้วย" รมต. ต่างประเทศฝรั่งเศสกล่าว

เขากล่าวด้วยว่า ฝรั่งเศสยังมีความมุ่งหมายที่จะรณรงค์เรื่องนี้ผ่านทางภารกิจทางการทูต โดยได้มอบหมายให้สถานทูตฝรั่งเศสในหลายๆ ประเทศ ทำการรณรงค์เรื่องนี้เพื่อสร้างความตระหนักรู้ในประเด็นการยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยเฉพาะในประเทศที่ยังคงใช้โทษประหารชีวิตอยู่

สำหรับประเทศสเปน ที่เป็นเจ้าภาพการจัดงานในครั้งนี้ นายอัลแบร์โต รุยซ์ กัลยาร์ดอน (Alberto-Ruiz Gallardon) รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมของสเปนกล่าวว่า สเปนในสมัยการปกครองของนายพลฟรังโก ได้มีการประหารชีวิตของฝ่ายต่อต้านฟาสซิสต์ 5 คน ในปี พ.ศ. 2518 การประหารชีวิตครั้งนั้นได้นำมาซึ่งการประณามอย่างรุนแรงจากสวีเดนและในยุโรป ต่อมา ในปี พ.ศ. 2521 รัฐธรรมนูญของสเปนก็ได้ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิต และให้นิรโทษกรรมความผิดของผู้ที่ได้รับโทษประหารชีวิต เขากล่าวว่า ไม่มีแม้สักหนึ่งเสียงในรัฐสภาที่ค้านการยกเลิกโทษประหารชีวิตในตอนนั้น 

นอกจากนี้ เขายังกล่าวถึงการก่อการร้ายในกรุงมาดริด สเปนเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 191 ราย แต่ไม่มีใครเลยที่เรียกร้องให้ใช้โทษประหารชีวิตแก่ผู้ที่กระทำความผิด ถึงแม้ว่ามีผู้ได้รับผลกระทบมากมาย 

"โทษประหารชีวิตมิได้แก้ปัญหาอะไรเลย แต่กลับทำให้ปัญหาที่เราต้องการจะแก้นั้นแย่ลง" อัลแบร์โตกล่าว "มันจะเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งความขัดแย้งในสังคม ที่ฝังอยู่ในสติปัญญาและระเบียบทางคุณธรรม และส่งผลต่อศักดิ์ศรีของหญิงและชายทุกคน"

ทั้งนี้ ประเทศทั้งหมดในโลกส่วนใหญ่ได้ยกเลิกประหารชีวิตแล้ว คิดเป็น 97 ประเทศ มี 8 ประเทศที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับอาชญากรรมที่ถือว่าไม่ร้ายแรง แต่ยังคงมีข้อยกเว้นสำหรับอาชญากรรมกรณีพิเศษ มี 36 ประเทศที่ถือว่ายกเลิกในทางปฏิบัติ คือไม่ทำการประหารชีวิตเลยในรอบ 10 ปี ส่วนประเทศที่ยังใช้โทษประหารชีวิตอยู่มี 57 ประเทศ คิดเป็นประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย และบางส่วนในแอฟริกา 

ในภูมิภาคเอเชีย จากทั้งหมด 24 ประเทศ มี 5 ประเทศ ที่ยกเลิกการใช้โทษประหารชีวิตแล้ว รวมถึงกัมพูชา ฟิลิปปินส์ มี 6 ประเทศที่ถือว่ายกเลิกในทางปฏิบัติ เช่น บรูไน ลาว พม่า และมีอีก 13 ประเทศ ที่ยังคงใช้โทษประหารชีิวิตอยู่ รวมถึงไทยด้วย สำหรับประเทศไทย ถึงแม้รัฐบาลจะบรรจุแผนการยกเลิกโทษประหารชีวิตไว้ในแผนปฏิบัติการสิทธิมนุษยชนฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2552-2556) แต่ในปี 2552 ไทยได้ประหารชีวิตนักโทษในคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด 2 ราย หลังจากที่เว้นมิได้ประหารชีวิตมาตั้งแต่ 2546

ในปี 2555 ประเทศที่มีการประหารชีวิตสูงสุดในโลกได้แก่ ได้แก่ จีน อิหร่าน อิรัก ซาอุดิอารเบีย และสหรัฐอเมริกา

สำหรับการประชุมโลกเพื่อการยกเลิกโทษประหารชีวิตครั้งที่ 5 จะดำเนินถึงวันที่ 15 มิ.ย.ณ กรุงมาดริด ประเทศสเปน โดยในงานมีการเสวนาทางวิชาการ การแสดงทางศิลปะ วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับเรื่องโทษประหารชีวิต อนึ่ง การประชุมโลก จัดขึ้นทุกๆ 3-4 ปี โดยในปี 2544 จัดขึ้นที่เมืองสตราส์เบิร์ก ฝรั่งเศส ปี 2547 จัดที่เมืองมอนทรีออล แคนาดา ปี 2550 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส และปี 2553 จัดที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net