Skip to main content
sharethis

ช่วงเย็นของวันพฤหัสที่ 5 กันยายน 2556 นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลุ่มหนึ่ง นำโปสเตอร์ 4 แบบ ที่แสดงท่าทางเหมือน ”ชาย-หญิง” และ “ชาย-ชาย” กำลังร่วมเพศในเครื่องแบบนักศึกษา แปะตามบอร์ดต่างๆ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต  โดย แต่ละภาพ มีคำถาม หรือ วลีสั้นๆ ประกอบด้วย “midterm ที่ผ่านมา คุณยังต้องใส่ชุดนักศึกษาอยู่หรือเปล่า?”  “ชุดนักศึกษามีเซ็กซ์มันส์กว่าป่ะ?”  “เมื่อชุดนักศึกษากำลังถูกท้าทาย” “ปลดแอกความเป็นมนุษย์ของคุณออกมา”  ซึ่งทั้งหมดเป็นโปสเตอร์รณรงค์ต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ของนักศึกษากลุ่มดังกล่าว

ต่อมาช่วงเที่ยงของวันที่ 6 กันยายน ทางมหาวิทยาลัย มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่เก็บโปสเตอร์ดังกล่าว และสั่ง เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ดูแลป้องกันไม่ให้มีการติดโปสเตอร์ชุดนี้อีก ขณะเดียวกัน ภาพทั้ง 4 ภาพ ก็ถูกเผยแพร่ทางอินเตอร์เนต เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสม และ ความหมาย ว่า ภาพทั้ 4 เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาอย่างไร

“ประชาไท” สัมภาษณ์ “อั้ม เนโกะ” นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ชั้นปี 2 เอกภาษาเยอรมัน คือ ผู้สวมชุดนักศึกษาหญิงอยู่ในภาพ 3 ภาพ จากทั้งหมด4 ภาพ ซึ่งดูราวกับเธอเป็นนักศึกษาหญิงแท้ๆ แต่หากใครที่ติดตามการเคลื่อนไหวของ “อั้ม” มาตั้งแต่ต้น อาจพอเข้าใจถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดภาพลักษณะนี้ขึ้นมา โดยเฉพาะ แคมเปญชุดนี้ เธอบอกว่า ไม่มีผู้หญิงกล้าเข้าร่วมถ่ายรูปเพื่อรณรงค์แม้แต่คนเดียว 

-ทำไมจึงทำโปสเตอร์ ภาพถ่ายคน ทำท่าร่วมเพศในชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์

ต้องการตั้งคำถามถึงประชาคมธรรมศาสตร์ และ ที่อื่นด้วย ทำไมเราต้องเป็นมหาวิทยาลัยที่บอกว่าตัวเองมีเสรีภาพ แต่กลับมีการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ในหลายๆ วิชา ในหลายๆ คณะ โดยเฉพาะ สายวิทยาศาสตร์จะมีการบังคับเยอะมาก เหมือนหลายๆ รูปที่มีการแปะบอร์ดว่า “วิทยาศาสตร์ มธ. ร่วมใจกันใส่ชุดนักศึกษา เชิดชูเกียรติยศสถาบัน”

เราก็เลยคิดว่า ไหนกฎมหาวิทยาลัยบอกให้ใส่ชุดสุภาพ แต่ในความเป็นจริง กลับไม่ได้รับการยอมรับ แม้กระทั่ง บีบีเอ คณะบัญชีฯ  ที่ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ทุกวันนี้ มีป้ายติดว่า no uniform no service

-รูปที่นำมาเผยแพร่ เกิดจากวิชา TU130 บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาหรือเปล่า (ตามหลักสูตรปีการศึกษา 2556 วิชา TU130 คือวิชาสหการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นวิชาพื้นฐาน 2 หน่วยกิต, เกิดกรณีนักศึกษาจะไม่ได้รับกระดาษคำถามในการสอบในวิชาดังกล่าวหากไม่แต่งชุดนักศึกษา)

มีส่วนคะ คือ เราเล่น 2-3 ประเด็น อย่างแรกคือ TU 130 บังคับใส่ชุดนักศึกษามานานมาก มหาวิทยาลัยก็รู้เรื่อง แต่ไม่ออกมาแสดงอะไร แต่เราก็ไม่รู้ว่า ที่อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล ออกมาให้สัมภาษณ์ คือ เขาไม่รู้จริงหรือเปล่า อันนี้ ก็ไปตัดสินอะไรไม่ได้ อีกประเด็น คือ มีบางวิชา ไม่ว่าจะเป็นคณะวิทย์ฯ หรือบัญชี  ศิลปศาสตร์ภาคภาษาไทยบางคนยังบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา ในการเรียน การสอบ

-ข้อเสนอของคุณ คือ ไม่ควรบังคับใส่ชุดนักศึกษา ทั้งตอนเรียนและสอบ ใช่หรือเปล่า

ใช่ ไม่ควรจะบังคับ ประเด็นที่สามคือ ไม่ควรบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาตอนสอบ เพราะ สุดท้าย มันไม่ได้ชี้วัดว่า คุณเอาชุดนักศึกษาไปสอบ หรือเอาสมองไปสอบ ในประเทศที่เจริญแล้ว ก็ไม่ได้บังคับว่าต้องใส่ชุดนักศึกษาไปสอบ

-หลายคนมองว่า การใส่ชุดนักศึกษา เป็นการให้เกียรติสถานที่

เราก็ต้องถามก่อน ถ้าตัดความเป็นมหาวิทยาลัยแล้ว ตัวปรัชญา เป้าหมายในการศึกษา คืออะไร ในสถานศึกษา แน่นอนอยู่แล้วคำว่ามหาวิทยาลัย คือการรวมศาสตร์ หลายๆ แขนง ทำให้เราได้เรียนรู้ ถึงชุดความคิด ชุดความรู้หลายๆ อย่างไปต่อยอดเพื่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ แล้วก็เกิดประโยชน์สูงสุด

แต่ทำไมสถาบันการศึกษา กลับเป็นสิ่งที่ย้อนแยง ในการตีความในสังคมไทยว่า สถาบันการศึกษา เป็นพื้นที่ของคนที่เรียบร้อย แต่งกายสุภาพ แต่งชุดนักศึกษาเรียบร้อยเท่านั้น จึงจะมีส่วนร่วมในสังคมนี้ได้ ทั้งๆ ที่การศึกษาควรมีความหลากหลายและควรจะเรียนรู้การอดทนอดกลั้น ต่อสิ่งที่แตกต่าง อย่าไปตีความว่า “บ้า”

-ทำไมไม่ภูมิใจในชุดนักศึกษาธรรมศาสตร์  ซึ่งไม่ใช่ทุกคนจะสอบเข้าธรรมศาสตร์ได้

คุณภูมิใจของคุณ คุณก็ภูมิใจไป แต่คุณอย่ามาบังคับ เราไม่ได้ห้ามใครใส่ชุดนักศึกษา เราควรจะเลือกได้ และไม่ควรจะเอาศีลธรรมตัวเองมาชี้วัดคนอื่นว่าไม่เหมาะสม โดยไม่ตั้งคำถามว่า ทำไมคุณคิดว่ามันไม่เหมาะสม มันมาจากค่านิยม อุดมการณ์อะไร ทำไมคุณคิดแบบนั้น

-อธิบายความหมายแต่ละรูปอย่างไร

รูปแรก “midterm ที่ผ่านมา คุณยังต้องใส่ชุดนักศึกษาอยู่หรือเปล่า?”  เป็นรูปที่เป็นอั้มนั่งพื้น ทำออรัลเซ็กส์ เสื้อผ้ากระจุยกระจาย ฟินแบบจำยอม เปรียบเหมือนถูกอำนาจลึงค์ผู้ชาย กำลังครอบงำไม่ให้เราพูด ไม่ให้แสดงความคิดเห็นที่แตกต่างได้ เราจะหันหน้า ไปไหนไม่ได้ เพราะด้านหลังก็มีกำแพง

เราผลิตงานออกมาก็อยากให้คนได้คิดเล่นเห็นต่างด้วย เหมือนเราถูกบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษาไปสอบอย่างที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่ธรรมศาสตร์ บอกว่ามีเสรีภาพ เราต้องการสื่อภาพนี้ว่า พูดไม่ได้ พูดก็โดนด่า ภาพนี้ต้องการให้ตั้งคำถามว่าทำไมเราต้องยอมถูกบังคับ ก็เลยทำภาพให้อาร์ตๆ ดูเซ็กส์ซี่

-ภาพผู้ชายกับผู้ชาย “เมื่อชุดนักศึกษากำลังถูกท้าทาย” มีความหมายอย่างไร

เราเห็นว่า ประเด็นเรื่องเพศ นอกจากจะไม่ได้รับการยอมรับในสังคมไทยแล้ว เรื่อง homosexual (คนรักเพศเดียวกัน) ที่แสดงออกมา ยิ่งโดนตีตราว่า เป็นสิ่ง ที่ไม่ได้รับการยอมรับอย่างมาก เพราะ เป็นการท้าทายการแสดงออกทางเพศแบบ “ชาย-หญิง” หรือ heterosexual  เป็นการบอกสังคมว่า เราควรจะเปิดรับ ต่อสิ่งสิ่งนี้ได้แล้ว โฮโมเซ็กส์ชวลมีอยู่จริง

-แล้วเกี่ยวอะไรกับชุดนักศึกษา

เป็นการบอกว่า สังคมมีความหลากหลาย ไม่ได้มีแค่ชายหญิง โฮโมฯ เป็นภาพแทนการพูดว่า สังคมควรเปิดพื้นที่ให้กับฉัน ควรให้พื้นที่นี้ให้กับความต่าง

-หมายความว่า การมีชุดนักศึกษาชาย ก็ไม่ได้มีเฉพาะความเป็นชายแบบ heterosexual

ใช่คะ เหมือนประเด็นที่หนูรณรงค์ก่อนหน้านี้ เพราะ เขาจะไม่ให้คนที่เป็น transgender  หรือ กระเทยแต่งชุดนักศึกษาหญิง แล้วถ่ายรูปลงบัตรนักศึกษา เราก็เล่นประเด็นว่า ทำไม ผอ.สำนักทะเบียน ไม่ยกเลิกการบังคับใส่ชุดนักศึกษาถ่ายรูปติดบัตร เพราะชุดนักศึกษา บ่งบอกความเป็น hetero มากเลย เป็น Heteronormativity ว่ามันมีแค่ชาย กับหญิง เท่านั้น บางทีคนที่แต่งหญิง อาจจะโคตรแมนเลย แต่เลือกไม่ได้ กลายเป็นว่า ชุดนักศึกษา เป็นตัวควบคุมให้คนไม่เท่าเทียมกันอีก กลายเป็นการปิดทับ identity ปิดทับ gender ของตัวเองเสียอีก

-ทำไมไม่มีภาพ หญิง กับหญิง

หญิงกับหญิง มันหายาก ไม่มีผู้หญิงมาถ่ายด้วย แต่ภาพ ชายกับชาย ก็อยากให้ให้เป็นภาพแทนของ หญิงกับหญิงด้วย หมายถึง Homosexual

-ภาพต่อไป  “ชุดนักศึกษามีเซ็กส์มันส์กว่าป่ะ?”  หมายความว่าอย่างไร

ภาพนี้ได้รับการโหวตจากเพื่อนว่า ภาพนี้แรงสุด ท้าทายสุด เราจะตั้งคำถามว่าทำไมคนถึงคิดอย่างนั้น โดยมีข้อเท็จจริงที่ว่า การอัพค่าตัวของโสเภณี ที่ใส่ชุดนักศึกษา จะได้ราคาดีกว่า ก็เพราะ ค่านิยมต่อชุดนักศึกษา

-หมายความว่า ความรู้สึกต่อชุดนักศึกษา สามารถเพิ่มมูลค่าต่อเรื่องทางเพศได้ด้วย  ไม่ใช่ความหมายถึงการใช้สติปัญญาอย่างเดียวใช่หรือเปล่า

ใช่ มันไม่ได้มีความหมายแค่เรื่องบทบาทนักศึกษา

-ต่อให้มีความหมายแบบนั้น แล้วท่าการร่วมเพศทั้ง 3-4 ท่า ที่ถ่ายรูปออกมา มันเกี่ยวอะไรกับการต่อต้านการบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา

ชุดนักศึกษามันควบคุมร่างกาย เหนือตัวตนคนคนนั้น  แม้แต่การร่วมเพศ ก็ยังเป็นการร่วมเพศกับอัตลักษณ์ ความเป็นนักศึกษา ไม่ได้ร่วมเพศกับตัวตนคนคนนั้น

-มันเสียหายยังไง

มันไม่ได้เสียหาย แต่เรากำลังจะบอกว่า มันคือสิ่งที่กำลังควบคุมร่างกายคุณอยู่ คุณเลือกได้ที่จะปลดแอกมันออกมาได้ การที่เราใช้ sex มาอธิบายส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะเรื่อง sex  เป็นเรื่องที่สังคมรังเกียจ

-หมายความว่า ชุดนักศึกษา ไม่ได้มีความหมายทางปัญญาอย่างเดียว แต่มีความหมายอย่างอื่นก็ได้ แบบนั้น หรือเปล่า

ใช่ แล้วยิ่งการมี sex ซึ่งเป็นสิ่งต้องห้ามของสังคม กำลังเข้าไปผสมพันธุ์กับอุดมการณ์ที่ดีแสนดี ของการเป็นนักศึกษา ศีลธรรมอันดีงาม เป็นเรื่องระหว่าง อำนาจที่สังคมไม่ให้การยอมรับก็คือการร่วมเพศ กับอำนาจ ของการควบคุมความดีงาม ก็คือการนิยามผ่านชุดนักศึกษา

-รูปที่ 4 “ปลดแอกความเป็นมนุษย์ของคุณออกมา” หมายความว่าอย่างไร

ภาพนี้ ใช้มือจิกผ้าสีแดงด้วย ฟินกับความเป็นมนุษย์ที่กำลังถูกปลกแอกมาจากข้างใน เพื่อบอกว่า ความเป็นมนุษย์ของคุณปลดปล่อยผ่าน sex ซึ่ง เป็นสิ่งที่ สังคมบอกว่าน่ารังเกียจ ให้ปลดปล่อยออกมา

-เกี่ยวกับการต่อต้านการบังคับใส่ชุดนักศึกษา อย่างไร

อยากทำให้สังคมดิ้นออกมาตั้งคำถามว่า ทำไมเราจึงทำแบบนี้ แล้วความเป็นมนุษย์ ก็สะท้อนว่า เรือนร่างของความเป็นมนุษย์ ควรจะยอมรับกันได้แล้ว ไม่ว่าจะมี sex ในชุดนักศึกษาหรือไม่ ก็ฟินได้เหมือนกัน ขณะที่ชุดนักศึกษาปิดกั้นความเป็นมนุษย์ของเรา  การสื่อสิ่งเหล่านี้เพื่อจะบอกว่า นี่คือความเป็นมนุษย์ที่ร่วมเพศได้

-หมายความว่า ถ้าวัดจากบรรทัดฐานของสังคม ก็ไม่ควรจะมีภาพแบบนี้ แต่ภาพนี้ กำลังจะบอกให้ปลดปล่อยออกมา

ใช่ อย่าไปตีกรอบด้วยชุดศีลธรรมเดิมๆ

-ทั้ง 4 ภาพนี้ ถ่ายตั้งแต่เมื่อไหร่

ถ่ายประมาณเดือนกว่าๆ ตั้งใจจะทำโปสเตอร์รณรงค์แคมเปญนี้ โดยตั้งใจจะใช้มุมมองทางเพศ เป็นสื่อกลาง เพราะ เรื่องเพศ เป็นเรื่องต้องห้าม ไม่ได้รับการยอมรับให้เปิดเผย  จึงเปรียบกับการไม่ใส่ชุดนักศึกษา ก็เป็นเรื่องต้องห้าม ถ้าไม่ใส่ชุดนักศึกษา ก็ไม่ได้รับการยอมรับ

-เกี่ยวกับ fantasy  ถึงการร่วมเพศในชุดนักศึกษาไหม

อันนี้ ก็มีมุขขำๆ เราก็คิดกัน แต่ภาพ ที่เขียนว่า “ชุดนักศึกษามีเซ็กซ์มันส์กว่าป่ะ”  รูปท่าลิงอุ้มแตง ต้องการจะสื่อว่า ทำไมชุดนักศึกษา ถึงดูมีมิติด้านเพศได้อารมณ์กว่า เราต้องการจะสื่อว่า คุณ ไม่ได้ร่วมเพศกับคนที่คุณกำลังร่วมเพศอยู่ แต่คุณกำลังร่วมเพศกับค่านิยม อุดมการณ์บางอย่าง ที่แฝง ภายใต้ชุดนักศึกษาที่ครอบงำไว้ คือนอกจากคุณได้ร่วมเพศกับคนคนนั้น คุณยังได้ร่วมเพศกับสถาบันการศึกษานั้น

-เบื้องหลังการถ่ายภาพ

นายแบบก็เป็นเพื่อนในมหาวิทยาลัย แต่เขาก็ไม่อยากเปิดเผยตัวออกมา นายแบบมี 3 คน ส่วนภาพที่ออกมาดูเป็นผู้หญิง ก็เพราะเรารับบทคนเดียว เพราะไม่มีใครมาถ่ายด้วยเลย

-คนอื่นไปมีความเข้าใจว่าเราเป็นผู้หญิงจริงๆ ด้วยหรือเปล่า ก็เลยรู้สึกเยอะ

ก็เราก็อยากสะท้อนว่าเราเป็นผู้หญิง ส่วนภาพตัวแทนของ homosexual  ก็คือ ภาพผู้ชายกับผู้ชาย ซึ่งแทน homosexual ประเภทอื่นด้วย ส่วนพี่ตากล้อง ก็ถ่ายให้ดูอาร์ตๆ

-ถ่ายมาเดือนกว่าๆ ตอนนั้น มีเรื่องวิชา TU130 หรือเปล่า

มี มีมานานแล้ว

-ทำไมไม่เผยแพร่ตั้งแต่ตอนถ่าย

เพิ่งจะทำเป็นโปสเตอร์ ติดบอร์ดที่ มธ.ศูนย์รังสิตแล้ว แปะไป 2 วัน ก็โดนเก็บแล้ว เพื่อนบอกว่า ศูนย์ รปภ. ของ มธ.ศูนย์รังสิต สั่งเก็บโปสเตอร์หมด และให้ดูกล้องวงจรปิด ว่าใครเอามาแปะ กลายเป็นว่า เป็นการก่ออาชญากรรมทางความคิด ในสถานที่ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นที่แห่งประชาธิปไตย

-ทำในนามกลุ่มอะไร

กลุ่มอิสระ ไม่มีชื่อ มีคนช่วยคิด ช่วยทำ wording  ช่วยเรื่องไอเดีย รวมถึง การชี้แจงหลังผลิตงานนี้ออกมา เพราะ บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่า ต้องการจะสื่ออะไร

-ทราบอยู่แล้วว่า คนต้องตั้งคำถามว่า ภาพเหล่านี้ เกี่ยวอะไรกับการต่อต้านการบังคับใส่ชุดนักศึกษา

ใช่ เราอยากให้สังคมลองตีความ ระหว่าง เรื่อง sex ซึ่งน่ารังเกียจมาก เมื่อมาผสมกับชุดนักศึกษา ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องจริง แต่ก็เป็นความรับไม่ได้ของสังคมกระแสหลัก

- หมายความว่า บางคนก็อาจจะมี sexual fantasy กับชุดนักศึกษา

ใช่ มีจินตนาการสุดฤทธิ์ สุดเดช แต่เขาไม่กล้าเปิดเผย ไม่ใช่แค่เป็นสัญลักษณ์ของเรื่องทางปัญญา

-ในแง่หนึ่ง จะบอกว่า มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ ขนาดนั้นหรือเปล่า

ใช่ มันไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าคุณอยากจะใส่ คุณก็ใส่ของคุณไป คุณก็คิดของคุณไป ถ้าคนอื่นเขาไม่คิดเหมือนคุณ แล้วทำไมต้องทำตามอย่างที่คุณบอก

บางคนก็บอกว่ากำลังทำลายจิตใจ ทำลายความศักดิ์สิทธิ์ คุณก็ภูมิใจไป ใส่ไป แต่ความคิดของคนเรา มันบังคับให้เหมือนกันไม่ได้ การทำให้คนทั้งประเทศพอใจในสิ่งเดียวกัน มันเป็นไปไม่ได้

-แบบนี้อัตลักษณ์ ความเป็นธรรมศาสตร์ของคุณ อยู่ตรงไหน ถ้าไม่ใช่ชุดนักศึกษา แล้วจะเป็นอะไร

ก็คือการเคารพในสิทธิเสรีภาพของผู้อื่น ยืนหยัดกับประชาธิปไตย ไม่สนับสนุนอำนาจเผด็จการทุกรูปแบบโดยเฉพาะการรัฐประหาร

identity หลักๆ ของธรรมศาสตร์ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 จากั้นมีรัฐธรรมนูญฉบับแรก คือวันที่ 27 มิ.ย. 2475 ซึ่ง 2 ปีต่อมาก็มีการสถาปนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขึ้นในวันที่ 27 มิถุนายน 2477 ฉะนั้น จุดยืนเรา ต้องรักษารัฐธรรมนูญสิ แต่ทุกวันนี้ กลับกลายเป็นว่า ผู้บริหารไปรักษาอำนาจเผด็จการ แล้วยังมาบังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา รักษาความศักดิ์สิทธิ์ รักษาอำนาจที่มันควรจะให้สิทธิเสรีภาพ ตามปรัชญามหาวิทยาลัย

-ชุดนักศึกษา ไม่ได้เป็น identity หนึ่ง ของความเป็นธรรมศาสตร์เหรอ

ถ้าจะเป็น คือ เป็นคำอธิบายของคนที่ภาคภูมิใจ แต่ถามว่า ตั้งแต่แรกเลย ตอนที่เป็น มธก. มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เป็น ตลาดวิชา มหาวิทยาลัยเปิด ก็ไม่มีชุดนักศึกษา  จนหลัง ปี 2500 ที่นายสมัคร สุนทรเวช อยากให้มีชุดนักศึกษา คือ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ด้วยซ้ำ คือ

เราอยากจะเป็นเหมือนจุฬาฯ อยากจะมีบ้าง  ก็คือ เป็นช่วงยุคสายลมแสงแดดแล้ว  ถ้าอยากจะมีก็ไม่ได้ว่า เพราะ คุณมีสิทธิ์ที่จะเสนอความเห็น คุณอยากใส่ อยากมีก็ได้ แต่ไม่ใช่เอาบรรทัดฐานของคนที่ภูมิใจ มาปิดกั้นคนอื่น  ถ้าอยากใส่ก็ใส่ อยากออกแบบชุดนักศึกษาใหม่ก็ทำไป แต่อย่ามาบังคับให้ใส่

-ไม่อยากติดเข็มกลัดตราธรรมจักรของธรรมศาสตร์ที่หน้าอกเสื้อ หรือใส่หัวเข็มขัด ตราธรรมจักรหรือ

คือ เห็นได้ชัดว่า เลียนแบบเครื่องแบบทหาร คือ ต้องมีตราของหน่วยกองที่หน้าอก หรือเข็มหน่วยกอง ซึ่งถ้าเอาความเป็นธรรมศาสตร์ แบบสุดๆ ก็ควรยกเลิกไปเลย เพราะ มันคือรากเหง้าของเผด็จการทหาร ซึ่ง มันก็สืบทอดกันมา แล้วเราก็เป็นไม่กี่ประเทศในโลก ที่บังคับให้ใส่ชุดนักศึกษา แม้ธรรมศาสตร์ จะบอกว่าฉันไม่ได้บังคับ แต่วิธีปฏิบัติก็ยังบังคับ

-สัญลักษณ์ เชิงรูปธรรมเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในใจคุณ จริงๆ จะนึกถึงอะไร

รัฐธรรมนูญฉบับแรก 27 มิถุนายน 2475 หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475

-ไม่คิดถึงตึกโดม หรือ ตราธรรมจักร

ไม่ใช่ เพราะ เป็นสิ่งที่มาสร้างทีหลัง แต่เราก็เห็นความสำคัญ เพียงแต่ สิ่งแรก ที่พูดถึงธรรมศาสตร์เลยคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับแรก 27 มิ.ย. 2475 และ ก่อตั้งมหาวิทยาลัย 27 มิ.ย.2477 เชื่อมโยงการสร้างระบอบใหม่ ให้สิทธิ เสรีภาพ แก่ประชาชนอย่างแท้จริง แต่ทุกวันนี้ ธรรมศาสตร์กลายเป็น สิ่งก่อสร้าง ทั้ง แม่โดม หรือ รูปปั้นพ่อปรีดี แล้วกลายเป็นค่านิยม พ่อแม่ลูก

-แล้วมองว่า อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ สร้างคุณูปการ หรือไม่อย่างไร

อาจารย์ปรีดีสร้างคุณูปการอย่างมาก เพราะ ถ้าไม่มีอาจารย์ปรีดี ไม่มีคณะราษฎร และ ประชาชนที่เรียกร้องประชาธิปไตย ก็ไม่แน่ว่า คนที่ด่าเราอยู่ทุกวันนี้ ก็อาจจะยังเป็น ข้า เป็นทาสอยู่ถึงทุกวันนี้ ก็ได้

การที่คุณมีสิทธิ์ มานั่งพิมพ์เฟซบุคทุกวันนี้ ก็เพราะ เรามีประชาธิปไตย รวมถึงการศึกษา  หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งเกิดขึ้นโดยคณะราษฎร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net